สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จี20 ไม่สมราคาปล่อยผ่านศึกค่าเงิน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์


“ทุกประเทศเห็นพ้องว่าจะมุ่งดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสร้างการเติบโต และจะหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการที่จะนำไปสู่การลดค่าเงินของตนเอง จนส่งผลกระทบให้ประเทศอื่นต้องใช้นโยบายดังกล่าวตอบโต้กลับ...และเราเห็น พ้องว่าจะไม่กำหนดค่าเงินเพื่อวัตถุประสงค์ในการแข่งขัน และอัตราแลกเปลี่ยนจะต้องเป็นไปตามกลไกของตลาด” แถลงการณ์ ที่ประชุมกลุ่ม 20 ประเทศชั้นนำเศรษฐกิจโลก (จี20) ระบุ

แม้ถ้อยแถลงดังกล่าวจะมีจุดมุ่งหมายที่ต้องการสื่อความหมายว่าต้องการ ป้องปรามไม่ให้ความเสี่ยงสงครามค่าเงินลุกลามไปกว่านี้ แต่หากว่ากันตามตรงต้องบอกเลยว่า แถลงการณ์จี20 เป็นสิ่งที่น่าผิดหวัง และคาดว่าจะไม่ได้ช่วยนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสงครามค่าเงินที่กำลังเริ่ม คุกรุ่นอยู่ในขณะนี้เท่าไรนัก

ซ้ำร้ายจะยิ่งเป็นการยกระดับจนทำให้สงครามค่าเงินโลกยิ่งทวีความร้อนแรงมากขึ้น

เพราะสิ่งที่แถลงการณ์ระบุออกมาเป็นเพียงการกล่าวถึงในหลักการตามทฤษฎี กว้างๆ ทั่วไป ไม่ได้เป็นการกล่าวถึงปัญหาสงครามค่าเงินเลยแม้แต่คำเดียว และในขณะเดียวกันก็ไม่มีการกล่าวถึงญี่ปุ่นที่เป็นตัวจุดชนวนความกังวล เรื่องสงครามค่าเงินอีกด้วย หลังจากที่หันมาดำเนินนโยบายที่นำไปสู่การลดค่าเงินของตนลง จนเกิดความเสี่ยงว่าประเทศอื่นๆ จะทำตามอย่างบ้างเพื่อตอบโต้และรักษาความได้เปรียบในการส่งออกของตนเอง

ล่าสุดค่าเงินเยนต่อเงินเหรียญสหรัฐได้อ่อนค่าลงมาถึง 12% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา และคาดว่าจะอ่อนค่าลงมากกว่านี้ในอนาคต ซึ่งเป็นผลมาจากแถลงการณ์จี20 ที่ไม่ชัดเจน

ฉะนั้นจึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้ประเทศต่างๆ จะเริ่มมองว่าแถลงการณ์ของกลุ่มจี20 ก็ไม่ต่างอะไรกับการออกมารองรับและเปิดทางให้กับญี่ปุ่นยังสามารถที่จะ ดำเนินนโยบายที่จะนำไปสู่การอ่อนค่าของเงินเยนได้ต่อไป

“ตลาดจะมองทันทีว่าแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นการรองรับความชอบธรรมของการใช้ นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และเข้าซื้อสินทรัพย์ต่างๆ และการที่ไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาต่อว่าญี่ปุ่นอย่างตรงไปตรงมาในเวทีจี20 ก็เท่ากับว่าญี่ปุ่นจะยังสามารถอัดเงินเข้าระบบได้ต่อไป” นีล เมลเลอร์ นักยุทธศาสตร์ด้านค่าเงินของแบงก์ออฟนิวยอร์กเมลลอนในลอนดอน กล่าว

นอกจากนี้ แถลงการณ์จี20 ที่ขาดความชัดเจนต่อการเอ่ยถึงสงครามค่าเงินโดยตรงก็จะกลายเป็นข้ออ้างให้ ทุกประเทศหันมาใช้มาตรการกดค่าเงินได้ เพราะทุกประเทศก็จะอ้างว่านโยบายค่าเงินตนเองสอดคล้องกับถ้อยแถลงจี20 ที่ออกมา โดยเฉพาะข้ออ้างที่ว่านโยบายดังกล่าวมุ่งหมายเพื่อเศรษฐกิจภายใน มิได้เป็นการมุ่งกดค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบตามที่ประเทศอื่นๆ กังวล

ทั้งนี้ หากมองกันให้ลึกลงไปกว่านั้น การที่ที่ประชุมจี20 ไม่ออกแถลงการณ์ตำหนิหรือกล่าวถึงญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการจุดชนวนปัญหาสงครามค่าเงิน ทั้งๆ ที่ก่อนการประชุมได้มีหลายประเทศออกมาวิพากษ์วิจารณ์ญี่ปุ่นอย่างหนัก นั่นก็เป็นเพราะว่า ญี่ปุ่นถือเป็นสมาชิกสำคัญและมีอิทธิพลไม่น้อย ในกลุ่มจี20 อีกทั้งในเวลานี้ความสัมพันธ์กับลูกพี่ใหญ่อย่างสหรัฐก็แนบแน่น จึงทำให้การลงโทษหรือการกล่าวว่าใดๆ ดูจะทำได้ไม่ถนัดนัก

ส่วนเหตุผลที่สองคือ ต้องยอมรับว่า ญี่ปุ่นไม่ใช่ประเทศเดียวที่ใช้นโยบายการกดค่าเงินในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากหลายประเทศในจี20 ก็ยังคงใช้นโยบายการกดค่าเงินเช่นกัน อาทิ จีน ฉะนั้นการต่อว่าญี่ปุ่นก็อาจหมายถึงการประจานตนเองไปด้วย

เหตุผลสุดท้ายคือ ด้วยการที่กลุ่มจี20 มาจากหลากหลายกลุ่ม เช่น ประเทศพัฒนาแล้ว กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งจุดยืนในผลประโยชน์ต่างกันมากเกินไป ก็ทำให้การมองประเด็นปัญหายากแก่การหาฉันทามติร่วมกัน

ดังจะเห็นได้ว่า ในเวทีที่ประชุมดังกล่าวจึงมีบางประเทศในกลุ่มจี20 เช่น อินโดนีเซีย ออกมากางปีกปกป้องการดำเนินนโยบายการเงินของญี่ปุ่นอย่างออกนอกหน้า เพราะสถานการณ์ดังกล่าวกำลังสร้างประโยชน์ให้กับประเทศตนเองอยู่ ในขณะเดียวกันอินโดนีเซียกับญี่ปุ่นก็เป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ทาง เศรษฐกิจที่แนบแน่น เห็นได้จากการที่ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนรายสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ในอินโดนีเซีย นอกจากนั้นเมื่อเดือนก่อน ชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ก็เพิ่งเดินทางไปเยือน

ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้สงครามค่าเงินโลกร้อนแรงมากขึ้นก็คือ ความกดดันจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกที่ต่างอยู่ในภาวะย่ำแย่ ไปตามๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นจีดีพีญี่ปุ่นไตรมาส 4 ปีที่แล้วที่หดตัวลงเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน ยูโรโซนในช่วงเวลาเดียวกันก็หดตัวลง 0.6% ก็คาดว่าจะทำให้ประเทศเหล่านี้หันมาใช้นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจหนักขึ้น กว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของนักวิเคราะห์บางส่วนก็ไม่ได้จะเห็นด้วยเสมอไปกับประเด็นที่ว่า การลดค่าเงินเยนของญี่ปุ่นอย่างรวดเร็วในปัจจุบันจะเป็นปัญหานำไปสู่สงคราม ค่าเงินโลก ซ้ำยังอาจเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม

เพราะมองว่าส่วนหนึ่งต้องเห็นใจญี่ปุ่นพอสมควร เนื่องจาก แม้ว่าค่าเงินเยนจะอ่อนลงมาก แต่หากมองไปให้กว้างกว่านั้น เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เงินเยนญี่ปุ่นต่อเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้นมาถึง 13% ในขณะที่เงินสกุลอื่นๆ ในโลกกลับอ่อนค่าลง เช่น ยูโร ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อ่อนค่าลงถึง 16% ขณะที่เงินปอนด์ของอังกฤษ อ่อนลงถึง 20% เมื่อเทียบกับเงินสกุลเหรียญสหรัฐ

ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า การที่ค่าเงินอ่อนค่าลงถึง 15% ในปัจจุบัน ก็ไม่น่าใช่เรื่องเสียหาย และเป้าหมายของญี่ปุ่นก็เพื่อกู้ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาจากภาวะเงินฝืด และค่าเงินที่แข็งค่ามากเกินไปเท่านั้น ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ชอบธรรมที่รัฐบาลแดนปลาดิบจะทำได้

“ค่าเงินเยนที่อ่อนลง เป็นแค่การลดค่าเงินจากจุดที่แข็งค่ามากเกินไปเท่านั้น และคิดว่าจี20 จะต้องให้พื้นที่กับญี่ปุ่นได้หายใจบ้าง กับการลดค่าเงินของตนเองลง” วาสุ มีนอน รองประธานบริหารจัดการความมั่งคั่งของธนาคารโอซีบีซี กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซี

นักวิเคราะห์จาก โอซีบีซี ยังกล่าวเสริมอีกว่า ประเด็นหนึ่งที่ทั่วโลก สื่อมวลชน และนักวิชาการ มองข้ามอยู่ก็คือ ญี่ปุ่นคือประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นเบอร์ 3 ของโลกรองจาก สหรัฐและจีน ดังนั้นการใช้นโยบายกระตุ้นต่างๆ ที่มุ่งหวังจะเพิ่มการบริโภค การใช้จ่ายในประเทศให้มากขึ้น ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวมอีกด้วย

จึงเป็นที่น่าจับตามองต่อแต่นี้ไปว่า สถานการณ์สงครามค่าเงินโลกจะเดือดขึ้นอีกครั้งหนึ่งหรือไม่


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จี20 ไม่สมราคา ปล่อยผ่าน ศึกค่าเงิน

view