สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วัดปรอทความเชื่อมั่นแบงก์ชาติ รับมือเงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวน

จากประชาชาติธุรกิจ

ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ และการอภิปรายแสดงความเห็นในเรื่องสำคัญ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดำเนินนโยบายการเงิน การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การรับมือกับการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศที่มีจำนวนมหาศาล ที่เป็นประเด็นในพื้นที่สาธารณะขณะนี้ ก็จำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลตัวเลขที่รอบด้านและอิงกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้การถกนั้นก่อเกิดเป็นผลลัพธ์ในการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและเป็นประโยชน์อย่างทั่วถึง

บนโจทย์หิน"เงินท่วมโลกหลั่งไหลทะลักเข้าประเทศไทย" ที่ท้าทายฝีมือการแก้ปัญหาของผู้บริหารประเทศ ไม่ว่าจะเป็น "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ "ดร.วีรพงษ์ รามางกูร" ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (บอร์ดแบงก์ชาติ) ซึ่งมีความเป็นห่วงใยว่าปัญหาอาจบานปลายคล้ายที่เกิดขึ้นในวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อตลาดเงินตลาดทุนฟังความหลายด้านแล้วจะมีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.อย่างไร

"ประชาชาติธุรกิจ" จึงได้สำรวจความเชื่อมั่นต่อการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้การดูแลของ "ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล"ผู้ว่าการ ธปท.คนปัจจุบันก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 20 ก.พ.นี้

เสียงสะท้อนจาก "ดร.บันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เห็นว่า ถ้าให้คะแนนความเชื่อมั่นต่อผู้ว่าการ ธปท. ในขณะนี้ จะให้คะแนนเลย 9-9.5 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 ที่ไม่ให้เต็มเพราะไม่มีใครเปอร์เฟ็กต์ และมั่นใจว่าในสายตานายแบงก์ทั้งไทยและต่างประเทศก็น่าจะให้คะแนนผู้ว่าการไม่ต่ำกว่า 8 คะแนน เพราะเป็นบุคคลที่มีความโปร่งใส มีความสามารถ มีประสบการณ์หลากหลาย ทั้งในตลาดเงิน ตลาดทุน พูดจาเหมาะสมมีหลักการ ไม่ว่าร้ายใคร

"เขาเป็นคนที่มีความเข้าใจทั้งในตลาดเงิน ตลาดทุน และสถาบันการเงิน แล้วผมขอคัดค้านคำวิจารณ์ที่ว่าคนแบงก์ชาติไม่ฟังคนอื่น ซึ่งจากประสบการณ์หลายครั้งแบงก์ชาติก็เชิญคนในสายธนาคารไปร่วมให้ความเห็นในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งจะเห็นตรงกันหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่อง แต่เขารับฟัง ไม่ใช่ไม่ฟังใคร"

ดร.บันลือศักดิ์ยังระบุด้วยว่า แบงก์ชาติอาจไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งไม่ได้เป็นเพราะแบงก์ชาติห่วงเงินเฟ้อตามที่บางคนให้ความเห็น แต่การที่ไม่ลดดอกเบี้ยเพราะแบงก์ชาติห่วงฟองสบู่และหนี้ครัวเรือน ซึ่งสัญญาณฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์มีมากกว่าสถานการณ์เงินทุนไหลเข้าประเทศด้วยซ้ำ โดยจากการสำรวจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสองแห่งระบุว่า ผู้ซื้อคอนโดฯ 1 ใน 4 เป็นการซื้อเพื่อธุรกิจคือให้เช่าและเก็งกำไร แล้วถ้าลดดอกเบี้ย ก็อาจทำให้คนที่ฝากเงินซึ่งได้ผลตอบแทนดอกเบี้ยต่ำไปลงทุนในคอนโดฯเพื่อเก็งกำไร ซึ่งจะเป็นปัญหาฟองสบู่ในระยะยาวต่อไป

ขณะที่ "ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ" กรรมการผู้จัดการ (หัวหน้าสายงานวิจัย) บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) มีความเห็นถึงการดำเนินนโยบายของผู้ว่าการธนาคารกลาง ว่า ตราบใดที่ ธปท.ยังคงดำเนินนโยบายด้วยการใช้เป้าหมายกรอบเงินเฟ้อพื้นฐาน (inflation targeting) แบบนี้ ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศเป็นระบบเปิดและขนาดเล็ก แล้ว ธปท.จะรับมือกับปัญหาในสถานการณ์ของโลกแบบปัจจุบันนี้ได้อย่างไร

"เมื่อประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างอเมริกา อังกฤษ ยุโรป และญี่ปุ่น พร้อมใจกันเพิ่มเงินเข้ามา แต่แบงก์ชาติยังยึดกับกรอบที่ว่าเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยสูง เงินเฟ้อต่ำ ดอกเบี้ยต่ำ อย่างนี้แล้วจะรับมืออย่างไร เมื่อความเสี่ยงมีอยู่"

"แม้ผมจะเห็นว่าแบงก์ชาติตระหนักถึงความเสี่ยงนี้ แต่การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อตอบรับกับความเสี่ยงที่มีอยู่กลับไม่เปิดทางให้เลย"

อีกทั้ง ด้วยกรอบนโยบายดอกเบี้ยที่ ธปท. ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ไม่สามารถรับมือกับถานการณ์นี้ได้ไหว แล้วธปท.ต้องยังต้องเข้าไปแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน จนทำให้งบฯ ธปท. ขาดทุนอีกด้วย

ด้าน "ดร.ลัษมณ อรรถาพิช" เศรษฐกร ธนาคารพัฒนาเอเชีย สำนักงานผู้แทนประจำประเทศไทย หรือเอดีบี ระบุว่า การดำเนินนโยบายการเงินที่แบงก์ชาติทำอยู่ ก็เป็นที่เข้าใจได้ และถ้าเป็นธนาคารกลางทุกแห่งในโลกก็น่าจะมองปัจจัยความเสี่ยงจากปัญหาเงินร้อนไหลทะลักเข้าเหมือนกัน

สถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไทยประสบในเวลานี้ จะเป็นเรื่องของเงินทุนผันผวน ไหลเข้า-ไหลออกสลับกันไป ซึ่งเป็นภาพใหญ่ที่จะอยู่กับระบบเศรษฐกิจไทยในระยะ 2-3 ปีนี้ ต่างจากเมื่อปี 2551-2552 ซึ่งเป็นช่วงที่เงินไหลเข้าอย่างเดียวจนแบงก์ชาติต้องนำมาตรการกันสำรองเงินทุนไหลเข้า 30% มาใช้ แต่วันนี้เงินไม่ได้ไหลเข้าอย่างเดียว มีไหลออกสลับกันไปมาด้วย

"สถานการณ์ตอนนี้คิดว่าไทยน่าจะรับมือได้ เนื่องจากตลาดทุนไทยมีเครื่องไม้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงเพิ่มขึ้นกว่าเมื่อปี 2540 มาก วันนี้ตลาดทุนไทยก็เข้มแข็ง ตลาดตราสารหนี้ก็ดี ตลาดซื้อขายล่วงหน้า (ฟิวเจอร์) ก็ดี เรียกว่าไทยมีพื้นฐานดีและครบ อีกทั้งยังเคยผ่านประสบการณ์วิกฤตมาแล้ว วันนี้เราจึงได้เห็นการดูแลการไหลเข้าออกของเงินทุน และการสนับสนุนจากทั้ง ก.คลังและแบงก์ชาติในเรื่องการปล่อยให้เงินไหลออกอย่างมีผลิตภาพ (productive)"

ดังนั้นความเชื่อมั่นกับการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อรับมือกับเงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวน น่าจะมีคลี่คลายในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ซึ่งธปท. ย้ำมาตลอดว่าต้องพิจารณาจากเศรษฐกิจภายในก่อน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วัดปรอทความเชื่อมั่นแบงก์ชาติ  รับมือ เงินทุนเคลื่อนย้าย ผันผวน

view