สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปฏิบัติการแก้หนี้เน่า ไอแบงก์ คลัง สางปมช้า...ปัญหายิ่งลาม

จากประชาชาติธุรกิจ

ในความเหมือนกันของวิกฤตหนี้เน่าที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) หรือ "เอสเอ็มอีแบงก์" กับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ "ไอแบงก์" ซึ่งต้นตอของปัญหามาจากการถูกเข้าไปล้วงลูกโดยกลุ่มคนการเมือง ขณะที่คนในก็ฉกฉวยช่องหาผลประโยชน์ด้วยการผ่อนปรนเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อ ให้กับพวกพ้องส่งผลให้แบงก์เอสเอ็มอีกับแบงก์อิสลามฯมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิด รายได้ (เอ็นพีแอล) รวมเกือบ 7 หมื่นล้านบาท แยกเป็นหนี้

เอ็นพีแอล ของเอสเอ็มอีแบงก์ 3.9 หมื่นล้านบาท จากยอดปล่อยสินเชื่อรวม 9 หมื่นล้านบาท ส่วนเอ็นพีแอลของไอแบงก์อยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท สูงกว่าประมาณการเดิมที่คาดว่าจะมีหนี้เสีย 2.4 หมื่นล้านบาท จากยอดปล่อยสินเชื่อรวม 1.2 แสนล้านบาท เทียบฟอร์มกันแล้ว ตกที่นั่งลำบากพอ ๆ กัน แต่หากเจาะลงลึกจะเห็นว่าในความเหมือนกันมีความแตกต่างที่นำมาซึ่งวิกฤตของ ทั้ง 2 แบงก์


 

 


ไม่แปลกที่แผนแก้หนี้เสียโดยนำเอสเอ็มอีแบงก์ กับแบงก์อิสลามฯเข้าควบรวมกับธนาคารออมสิน ซึ่งสถานะทางการเงินค่อนข้างแข็งแกร่ง มีสินทรัพย์รวมแล้วกว่า 2 ล้านล้านบาท สินเชื่อรวม 1.5 ล้านล้านบาท แต่มีหนี้เสียน้อยมากเพียงแค่ 0.9% ถูกเก็บเข้าลิ้นชักตั้งแต่ต้น

คลังขีดเส้นตาย 2 เดือนคลอดแผนฟื้นฟู

โดย เฉพาะธนาคารอิสลามฯ หรือไอแบงก์นั้น หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าตรวจสอบหลายครั้ง และพบว่าปัญหาหลักที่ทำให้มีหนี้เสียมโหฬารมาจากการปล่อยสินเชื่อหละหลวม ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่ง ธปท.ได้รายงานถึงความไม่ชอบมาพากลดังกล่าวให้กระทรวงการคลังทราบเป็นระยะ ๆ ล่าสุด นอกจากมีการแต่งตั้งคณะทำงานเข้าไปตรวจสอบแล้ว กระทรวงการคลังยังกำหนดเส้นตายให้ไอแบงก์เร่งจัดทำแผนฟื้นฟูการดำเนินการ และแผนปฏิบัติการ ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน พร้อมกับขู่ว่าหากดำเนินการไม่แล้วเสร็จ หรือแผนที่จัดทำขึ้นไม่มีความชัดเจน ก็จะเข้าควบคุมกิจการ

ปัญหาลามลูกหนี้ดี-NPL พุ่งขึ้นอีก

ที่ น่าห่วงคือ ในระหว่างกระบวนการตรวจสอบในเชิงลึกเกี่ยวกับรายละเอียดในการปล่อยสินเชื่อ ให้ลูกค้ารายที่มีปัญหาซึ่งต้องใช้เวลาดำเนินการ กระแสเงินฝากของไอแบงก์ยังไกลออกตลอดเวลา เป็นผลมาจากลูกค้าจำนวนมากเกิดความวิตกกังวลและไม่มีความมั่นใจ ขณะเดียวกันในส่วนของลูกค้าที่ยื่นขอสินเชื่อก็เริ่มประสบปัญหา จากที่ผู้บริหารไอแบงก์มีนโยบายหยุดปล่อยสินเชื่อเพื่อตรวจสอบเข้ม ผลคือลูกค้าเก่าที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว แม้จะเป็นลูกหนี้ดีก็ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินค่างวดได้ ส่งผลกระทบถึงการทำธุรกิจ และเสี่ยงต่อการเกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับลูกค้ารายใหม่ที่ถูกดึงเรื่องการยื่นขอ

สินเชื่อตรวจสอบ ซ้ำ จนเกิดความล่าช้าทั้งกระบวนการ น่าห่วงอย่างยิ่งว่าหากกระทรวงการคลังในฐานะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล แบงก์เฉพาะกิจของรัฐไม่เร่งดำเนินการ ยอดหนี้เสียที่ปัจจุบันอยู่ในระดับ 30% ของสินเชื่อรวมจะขยับเพิ่มขึ้นจนถึงจุดวิกฤต

อดีตขุนคลังแนะควบรวมแบงก์กรุงไทย

นาย ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีคลัง เสนอความเห็นผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้เสียธนาคารอิสลามฯ โดยระบุว่า กระทรวงการคลังมีทางเลือก 2 ทาง ทางที่หนึ่ง คือให้ทำธุรกิจนี้ต่อไปเป็นอิสระ ซึ่งถ้าเลือกแนวทางนี้ กระทรวงการคลังก็ต้องเพิ่มทุนให้ อย่างไรก็ตาม ถ้าหากใส่ทุนเข้าไปเฉย ๆ จะสามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องตีกรอบการทำงานให้แคบลงด้วย

มิฉะนั้น อีกไม่นาน ธนาคารอิสลามฯก็จะมีฐานะทรุดลงเช่นเดิมอีก จะต้องมีการเพิ่มทุนอีกครั้งแล้วครั้งเล่า และเงินที่ใช้แก้ปัญหา ก็คือเงินภาษีอากรของพวกคนไทยทุกคน

"ในช่วงที่ผมดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง ผมได้มีหนังสือแจ้งธนาคารอิสลามฯ กำหนดเป็นนโยบายให้ธนาคารอิสลามฯกลับไปเน้นทำธุรกิจตามวัตถุประสงค์เดิม แต่หนังสือดังกล่าว เป็นเพียงการแจ้งให้ทราบถึงนโยบาย ไม่มีผลเป็นกฎหมาย หาก รมว.คลังคนใหม่ไม่เห็นด้วย ก็สามารถยกเลิกได้"

ดังนั้นแนวทางที่ ถูกต้อง จึงเห็นว่าควรมีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อตีกรอบการทำงานของธนาคารอิสลามฯ โดยให้กู้เฉพาะกับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามเท่านั้น เพื่อป้องกันปัญหามิให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ที่สำคัญควรจะกำหนดนโยบาย เพื่อแก้ไขกฎหมายเสียก่อน จึงเพิ่มทุนทางเลือกที่สอง คือควบรวมแบงก์อิสลามฯเข้ากับธนาคารกรุงไทย โดยรัฐชดเชยความเสียหายให้แก่ธนาคารกรุงไทย

วิธีนี้จะเสียเงินครั้งเดียว เพราะธนาคารกรุงไทยมีระบบการบริหารที่รัดกุม จะสามารถป้องกันปัญหามิให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทยก็เคยมีแผนกพิเศษ ที่จะให้กู้แบบอิสลามอยู่แล้ว การที่ธนาคารกรุงไทยจะสางต่อธุรกิจนี้ จึงน่าจะทำได้

อดีต รมว.คลังยังชี้ว่า ในส่วนของธนาคารอิสลามฯนั้น วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งขึ้นก็เพื่อให้สินเชื่อธุรกิจของลูกค้าที่นับถือ ศาสนาอิสลาม แต่ในทางปฏิบัติปรากฏว่ามีการปล่อย

สินเชื่อให้กับ องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่จำนวนมาก ปล่อยกู้ให้กับคนอิสลามจริง ๆ เพียงแค่ 3% ของยอดปล่อยสินเชื่อรวมเท่านั้น อีก 60% เป็นการทำธุรกิจแข่งขันกับการทำธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งน่าจะผิดวัตถุประสงค์หลัก

สอดคล้องกับความเห็นของ นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ อดีต รมว.คลัง ที่เห็นด้วยกับแนวทางที่จะให้ ธปท.เข้ามากำกับดูแลธนาคารอิสลามฯโดยตรง เพราะที่ผ่านมาแม้กระทรวงการคลังจะให้ ธปท.เข้าไปตรวจสอบ แต่ ธปท.ไม่มีอำนาจในการดำเนินการใด ๆ ต้องส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังดำเนินการ ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาล่าช้าเพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบาย

คลังส่ง สศค.-สคร.สางปัญหา

สำหรับ ความเคลื่อนไหวในการแก้ไขปัญหาและหาแนวทางฟื้นฟูธนาคารอิสลามฯ ล่าสุด กระทรวงการคลังได้ส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เข้าตรวจสอบ และติดตามความคืบหน้าในการแก้ปัญหาหนี้เสียของทั้งเอสเอ็มอีแบงก์และไอแบงก์ โดยในส่วนของไอแบงก์ขณะนี้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) ติดลบ 5% มีความจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มทุนประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่เอสเอ็มอีแบงก์ บีไอเอสติดลบ 0.95% ต้องเพิ่มทุนราว 6 พันล้านบาท

ทั้ง นี้ คณะทำงานดังกล่าวจะหารือกับผู้บริหารของทั้ง 2 สถาบันการเงิน และรายงานความคืบหน้าเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลัง นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล และนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลังโดยตรง ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังก็มีแผนจะปรับเปลี่ยนคณะกรรมการของไอแบงก์บางส่วน ด้วย เพราะจากการตรวจสอบพบว่าบอร์ดบางคนเกี่ยวโยงกับการปล่อยสินเชื่อที่เป็นหนี้ เสียด้วย

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาหนี้เสียของไอแบงก์ เวลานี้กระทรวงการคลังได้ส่งทีมเข้าไปดูแลการบริหารแผนฟื้นฟูรายวัน ยังจะให้ นายธานินทร์ อังสุวรังษี กรรมการผู้จัดการไอแบงก์ จ้างทีมที่ปรึกษามาช่วยดูเรื่องการปล่อยสินเชื่อด้วย โดยเฉพาะการประเมินปล่อยกู้ และการปรับโครงสร้างหนี้ โดยจะให้เวลาไอแบงก์ดำเนินการตามแผนฟี้นฟูกิจการให้เสร็จเรียบร้อยภายในเวลา 6 เดือน จากนั้นกระทรวงการคลังจะพิจารณาว่าจะเพิ่มทุนให้หรือไม่ และหากไม่สามารถเพิ่มทุนให้ได้จะมีแนวทางดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะนอกจาก

ไอแบงก์แล้ว กระทรวงการคลังยังต้องเพิ่มทุนให้เอสเอ็มอีแบงก์อีกแห่งหนึ่ง รวมแล้วต้องใช้เงินเพิ่มทุนทั้งหมดราว 2 หมื่นล้านบาท

ผลจะออกมาอย่างไร สามารถฟื้นสถานะไอแบงก์ให้กลับมาดีดังเดิมได้หรือไม่ คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปฏิบัติการ แก้หนี้เน่า ไอแบงก์ คลัง สางปมช้า ปัญหายิ่งลาม

view