สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สภาวะการเงินของโลกและนโยบายการเงินของไทย

สภาวะการเงินของโลกและนโยบายการเงินของไทย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมารัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่มประเทศจี7 ออกแถลงการณ์ร่วมกันยืนยันเจตนารมณ์ที่ได้ยึดถือตลอดมา
ให้อัตราแลกเปลี่ยนกำหนดโดยกลไกตลาด โดยหวังว่าตลาดจะคลายความกังวลเกี่ยวกับสงครามอัตราแลกเปลี่ยน (การที่ประเทศต่างๆ แข่งกันลดค่าเงินของตนเองโดยหวังให้ได้เปรียบในการส่งออก) กล่าวคือส่งสัญญาณว่าประเทศที่เป็นเจ้าของเงินสกุลหลักของโลกมิได้มุ่งหวังที่จะทำให้เงินของตนอ่อนค่าแต่อย่างใด

ถ้าดูอย่างผิวเผินก็อาจจะรู้สึกคล้อยตามได้ว่าการออกแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม โดยเฉพาะการเน้นย้ำว่าอัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตาม “ธรรมชาติ” ของกลไกตลาด มิได้มีการปรุงแต่งแต่อย่างใด แต่บทบรรณาธิการของ Wall Street Journal (17 ก.พ. 2013) เตือนสติผู้อ่านว่า “there is no such thing as a free market in paper currencies” กล่าวคืออย่ามาเสแสร้งว่าตลาดเงินตราและอัตราแลกเปลี่ยนนั้นเป็นเรื่องของกลไกตลาดเสรีเลย เนื่องจากสิ่งที่ค้า-ขายกันนั้นคือธนบัตรหรือเงินที่พิมพ์ออกมาได้ในจำนวนที่ไม่จำกัดโดยธนาคารกลางของประเทศต่างๆ กล่าวคือเป็นความจริงที่เอกชนซื้อ-ขายเงินตรา แต่ภาครัฐ (คือธนาคารกลาง) เป็นผู้ผูกขาดการพิมพ์ธนบัตรแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นผู้ที่กำหนด “ค่า” ของเงินหรืออัตราแลกเปลี่ยนคือภาครัฐเป็นหลักนั่นเอง (เวลาเราพูดถึงกลไกตลาดเสรีนั้น เราหมายถึงตลาดที่มีผู้ผลิตเป็นจำนวนมาก และค้า-ขายกับผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก)

หมายความว่าธนาคารกลางของประเทศหนึ่งจะเป็นผู้กำหนด “ค่า” หรือ “ราคา” หรือ “อัตราแลกเปลี่ยน” ของเงินสกุลของตนโดยปริมาณเงินที่พิมพ์ออกมา เช่น ในกรณีของญี่ปุ่นซึ่งรัฐบาลมีท่าทีชัดเจนในการสั่งให้ธนาคารกลางของญี่ปุ่นพิมพ์เงินออกมาอีกเป็นจำนวนมาก (เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายคือการผลักดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากติดลบมาเป็น 2%) นั้นได้ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนตัวลงถึง 15% เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่อาจมองได้ว่าเป็นเรื่องขบขันที่กลุ่มจี7 (หรือแม้กระทั่งกลุ่มจี20) ไม่ได้ตำหนิญี่ปุ่นเกี่ยวกับดำริที่จะพิมพ์เงินเยนเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพียงแต่กล่าวตักเตือนว่าอย่ากล่าวถึงความต้องการให้ค่าเงินเยนอ่อนอย่างชัดเจนจนเห็นเป็นเป้าหมาย เช่น การพูดว่าอยากเห็นอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 95-100 เยนต่อ 1 ดอลลาร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ เพราะว่าธนาคารกลางของสหรัฐ ยุโรป อังกฤษและแคนาดาก็พิมพ์เงินเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเช่นกันโดยให้เหตุผลว่าเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้ระบุว่าอยากให้เงินของตนอ่อนค่า แต่เมื่อพิมพ์เงินออกมาเป็นจำนวนมากก็ย่อมจะส่งผลให้เงินเสื่อมค่าหรืออ่อนค่าอย่างแน่นอน สินค้าอะไรก็ตามที่ผลิตออกมาเป็นจำนวนมากจนเกินความต้องการก็ย่อมจะทำให้ราคาสินค้านั้นปรับลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้นหากกลุ่มจี7 มีความจริงใจที่จะไม่ทำให้เกิดความผันผวนและการอ่อนค่าของเงินสกุลหลักของโลก ก็จะทำได้โดยการยุติการพิมพ์เงินออกมาเป็นจำนวนมาก แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันนั้นต้องบอกว่ากลุ่มจี7 นั้นปากกับใจไม่ตรงกัน ตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางสหรัฐประกาศว่าจะพิมพ์เงินออกมาใหม่เดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์ โดยไม่ได้กำหนดว่าจะหยุดเมื่อใด แปลว่าสหรัฐไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบการเงินของโลกตลอดจนอัตราแลกเปลี่ยนอย่างแน่นอน แต่อยากแก้ปัญหาเศรษฐกิจของตนเองเป็นหลัก ประเด็นคือเกือบ 200 ประเทศในโลกที่เชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจและการเงินในขณะนี้ น่าจะสามารถพึ่งพาให้ประเทศที่เป็นเจ้าของเงินสกุลหลักของโลก (ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร เยนและปอนด์) รักษาวินัยทางการเงิน กล่าวคือพิมพ์เงินออกมาในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการทางการค้าและการลงทุนของเศรษฐกิจโลก แต่ประเทศเงินสกุลหลักดังกล่าวกลับมุ่งเน้นจะพิมพ์เงินและเพิ่มสภาพคล่องเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของตนเป็นหลักโดยไม่ได้คำนึงถึงผลข้างเคียงและผลต่อระบบเศรษฐกิจโลกโดยรวมแต่อย่างใด

ในระยะสั้นนั้นสภาพคล่องส่วนเกินทำให้ราคาสินทรัพย์ปรับตัวขึ้นทั่วโลกและสินทรัพย์ยิ่งเสี่ยง (เช่นหุ้น) ราคาก็จะยิ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งหลายคนจะมองว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่มีความเสี่ยงอย่างยิ่งว่าการสร้างฟองสบู่หรือปั่นราคาสินทรัพย์ให้สูงกว่ามูลค่าพื้นฐานนั้นจะจบลงด้วยความเสียหายจากการสร้างหนี้สินมากเกินไป การใช้จ่ายเกินตัว ปัญหาเงินเฟ้อ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะอาจเกิดขึ้นได้ใน 2-3 ปีข้างหน้า แต่ผลประโยชน์และความระเริงในระยะสั้นอาจทำให้หลายคนขาดความระมัดระวังและจะเจ็บตัวได้ในที่สุด

หากหันกลับมามองนโยบายการเงินของไทย ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงินได้ตัดสินใจคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.75% เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ก็ต้องบอกว่าเป็นการตัดสินใจตามกรอบของนโยบายการเงินที่มีเงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย (inflation targeting หรือไอที) แต่ผมมีความเห็นว่าจะไม่ได้ตอบโจทย์ในการช่วยให้ไทยรอดพ้นจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เพราะธนาคารกลางของประเทศหลักพิมพ์เงินออกมาจนล้นโลก ผมมีความเห็นว่านโยบายไอทีนั้นเป็นนโยบายที่เหมาะสมสำหรับประเทศที่เศรษฐกิจมีขนาดใหญ่และค้า-ขายกับต่างประเทศไม่มาก แต่ประเทศไทยมีเศรษฐกิจเปิด การส่งออก+การนำเข้าสูงถึง 140% ของจีดีพีและเงินทุนก็ไหลเข้า-ออกได้โดยเสรี ดังนั้นเมื่อจีดีพีไทยขยายตัวปีละ 5% ในขณะที่จีดีพีของประเทศเงินสกุลหลักขยายตัวเพียง 1-2% และเมื่อไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด (มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศมากกว่ารายจ่าย) นอกจากนั้นดอกเบี้ยไทยก็ยังสูงกว่าดอกเบี้ยในประเทศหลักดังกล่าวอย่างมาก ก็น่าจะสรุปได้ว่าเม็ดเงินน่าจะไหลเข้ามายังประเทศไทยอย่างแน่นอน อาจไม่ใช่วันนี้หรือพรุ่งนี้ แต่จะมีความเสี่ยงที่จะมีเงินไหลเข้ามาหาผลประโยชน์จากส่วนต่างและ/หรือเก็งกำไรค่าเงิน ตราบเท่าที่ประเทศเงินสกุลหลักยังพิมพ์เงินออกมาอย่างไม่เกรงใจใคร ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าน่าจะยืดเยื้อไปอีกประมาณ 2 ปีเป็นอย่างต่ำ

กล่าวคือนโยบายไอทีไม่มีคำตอบในการเผชิญกับความเสี่ยงดังกล่าวที่ทำให้เกิดความมั่นใจ โดยพูดได้ว่าอาจมีการเข้าไปแทรกแซงเพื่อไม่ให้เงินบาทแข็งค่า แต่ยิ่งเข้าไปแทรกแซง ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยิ่ง “เจ็บตัว” คือขาดทุน หรืออาจพยายามส่งเสริมให้คนไทยขนเงินออกไปต่างประเทศแม้ว่าจะได้ผลกำไรกลับมาส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนจะตกเป็นของประเทศที่ไปลงทุน คือทำให้จีดีพีประเทศนั้นดีขึ้น หรืออาจจะต้องทำการควบคุมการไหลเข้าของเงินซึ่งก็เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและมีความเสี่ยงที่จะกระทบกับบรรยากาศการลงทุน

นโยบายไอทีนั้นมีกฎเกณฑ์หลักๆ คือหากเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยก็ต้องสูงโดยไม่ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ แต่ที่ผมเป็นห่วงคือเมื่อข้อสรุปของ Wall Street Journal คือ “the real G7 policy, which is every currency for itself, the weaker the better” นั้นนโยบายไอทีจะ “เอาอยู่” หรือไม่


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สภาวะการเงิน โลก นโยบายการเงิน ไทย

view