สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประสาร ชี้ขาดทุนเพื่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

"ประสาร"เปิดใจ แจงจดหมาย รมว.คลัง ที่แสดงความห่วงใยงบดุล "แบงก์ชาติ"ยืนยัน ธปท.ขาดทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ

กระแสสังคมเริ่มหันมามอง "งบดุล" ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีกครั้ง หลัง กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ทำหนังสือแสดงความห่วงใยไปยัง คณะกรรมการธปท. โดยหนึ่งในเรื่องที่หนังสือฉบับนี้ระบุถึงนั้น เป็นการ "ขาดทุน" ของธปท.ที่ปัจจุบันมีกว่า 5.3 แสนล้านบาท ซึ่ง รมว.คลัง ย้ำว่า หากไม่หาแนวทางลดอาจสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศได้

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ชี้แจงอย่างชัดเจนบนเวทีเสวนา "Nation Exclusive Insights for CEOs : จับสัญญาณ ค่าเงินบาท 2013" ว่า เครื่องชี้วัดการทำงาน หรือ “เคพีไอ” ของธนาคารกลางทั่วโลก ไม่ได้อยู่ที่การแสวงหากำไร แต่อยู่ที่การดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ

กรณีของเมืองไทยนั้น ประสาร บอกว่า ตอนที่ ธปท.มีกำไรมากสุด คือ หลังวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ตอนนั้นเงินบาทกระโดดจาก 27 บาทต่อดอลลาร์ ไปอยู่ที่ 50 บาทเศษๆ ต่อดอลลาร์

ช่วงนั้น ธปท. มีกำไรเป็นกอบเป็นกำ ในขณะที่ภาคธุรกิจล้มระเนระนาด หนี้เสียของธนาคารพาณิชย์กระโดดขึ้นพรวด ดังนั้นในยามที่ทุกคนเดือดร้อน จึงเป็นช่วงที่ ธปท.มีกำไร

มาในปัจจุบัน หลังจากวิกฤติครั้งนั้นผ่านไปกว่า 15 ปี การค้าขายของไทยดีขึ้น มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ต่อเนื่อง เศรษฐกิจไทยกลับมาได้รับความนิยมมากขึ้น เงินบาทจึงค่อยๆ แข็งค่าจาก 50 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ราวๆ 30 บาทต่อดอลลาร์ คราวนี้ทุกคนในประเทศมีกำไร แต่ ธปท.ซึ่งต้องถือเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในรูปดอลลาร์สหรัฐกลับขาดทุน เพราะนั่นคือ การตีราคาค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แปลงมาเป็นเงินบาทได้น้อยลง

ถามว่าในเมื่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ทำไม ธปท.ต้องถือเงินดอลลาร์เอาไว้ด้วย ซึ่ง “ประสาร” บอกว่า เป็นเพราะต้องสำรองไว้เผื่อกรณีที่นักลงทุนต่างชาติที่นำเงินดอลลาร์มาแลกเป็นเงินบาทแล้วไปลงทุน เกิดเปลี่ยนใจอยากนำเงินบาทมาแลกเป็นเงินดอลลาร์กลับออกไป ดังนั้นกรณีนี้ ธปท.ก็ต้องมีเงินดอลลาร์สำรองไว้ เพราะไม่เช่นนั้นอาจมีปัญหาได้

นอกจากนี้ การขาดทุนจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ระหว่างดอกเบี้ยรับกับดอกเบี้ยจ่าย ซึ่งถือเป็นการขาดทุนที่แท้จริงของ ธปท.นั้น ก็เป็นการขาดทุนที่เกิดจากการเข้าดูแลเสถียรภาพด้านอัตราแลกเปลี่ยน ผ่านการแทรกแซงในตลาดเงินของธปท. เพื่อที่ดูแลเงินบาทไม่ให้แข็งค่าหรือผันผวนเร็วเกินไปจนกระทบต่อผู้ประกอบการภาคส่งออก

การแทรกแซงในตลาดเงินของ ธปท. ทำโดยการพิมพ์เงินบาทเพื่อไปรับแลกเงินดอลลาร์สหรัฐมาถือไว้ในรูปเงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งเงินดอลลาร์ที่ ธปท.ได้มานั้นก็นำไปลงทุนต่างประเทศเพียงแต่อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับปัจจุบันเฉลี่ยที่ 1-2%

ส่วนเงินบาทซึ่ง ธปท.ปล่อยออกไปนั้น จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทำให้ปริมาณเงินในระบบเพิ่ม ก่อให้เกิดความเสี่ยงเงินเฟ้อและฟองสบู่ได้ ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงนี้ ธปท.จึงต้องออกพันธบัตรเพื่อดูดซับเงินเหล่านั้นกลับมา โดยพันธบัตรที่ ธปท.ออกมีต้นทุนดอกเบี้ยประมาณ 3-4% ทำให้ ธปท.มีภาระส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยติดลบประมาณ 2%

อย่างไรก็ตาม ประสาร บอกว่า ถ้าดูในแง่รายรับ จะเห็นว่า ธปท. เองก็มีรายได้จากการออกใช้ธนบัตร ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีธนบัตรออกใช้ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 8% เป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจ 5% และเงินเฟ้อ 3% ดังนั้นแล้วในระยะต่อไป ผลขาดทุนที่เคยติดลบก็มีแนวโน้มว่าจะกลับมาดีขึ้นได้

"เราจะมีรายได้เพิ่มปีละ 8% เพียงแต่ฐานตรงนี้มันยังแค่ 1.4 ล้านล้านบาท ในขณะที่รายจ่ายจากส่วนต่างดอกเบี้ยซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 2% นั้น ฐานตรงนี้สูงถึง 4 ล้านล้านบาท ดังนั้นในช่วงแรกจึงอาจติดลบอยู่บ้าง แต่ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวขึ้นทุกปี รายได้จากส่วนนี้ก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย"

ประสาร ย้ำด้วยว่า การขาดทุนของ ธปท. นั้น ไม่มีผลต่อการทำหน้าที่ของธปท. เพราะว่าพันธกิจหลักของธปท. คือ การดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ และเคพีไอของธปท.ก็ไม่ได้อยู่ที่การแสวงหากำไร เนื่องจากการวัดกำไรของธปท.อยู่ตรงที่ ความสามารถในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจว่าทำได้ดีหรือไม่ อีกทั้งการขาดทุนของธปท.ก็ไม่ได้กระทบการดำเนินงานแต่อย่างใด สะท้อนจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ยังสนใจลงทุนในพันธบัตรธปท.อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้มีข้อถกเถียงจากนักเศรษฐศาสตร์ในกลุ่มที่กังวลกับการขาดทุนของธปท.อยู่บ้าง โดยมองว่าการขาดทุนของ ธปท. นั้น ยังไงก็มีข้อที่ควรต้องกังวล เพราะถ้า ธปท. ขาดทุนมากเกินไป จะกลายเป็นผู้ที่สร้างความไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หรือเป็นผู้ที่ "พิมพ์เงินเฟ้อ" เข้าสู่ระบบเอง

เรื่องนี้ ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด (มหาชน) ระบุว่า กรณีที่ ธปท. บอกว่า ธปท.มีรายได้จากการออกธนบัตรที่ใช้หมุนเวียนในระบบ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 1.4 ล้านล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ยปีละ 8% จากการเติบโตเศรษฐกิจ 5% และเงินเฟ้อ 3% เท่ากับว่า ธปท.จะพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบเพิ่มปีละ 1.14 แสนล้านบาทนั้น

คำถามมีอยู่ว่า ปัจจุบัน ธปท. มีส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับกับดอกเบี้ยจ่าย ที่ต้องพิมพ์เงินออกมาจ่ายจริงตกปีละ 7-8 หมื่นล้านบาท ถ้าผลขาดทุนส่วนนี้เพิ่มขึ้นเกินกว่า 1.14 แสนล้านบาท เท่ากับว่า สถานการณ์บีบบังคับให้ ธปท. ต้องพิมพ์เงินออกมา (เพื่อจ่ายดอกเบี้ย) มากกว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเงินที่พิมพ์เพิ่มออกมานั้น จะเป็นตัวเร่งให้เกิดเงินเฟ้อเอง เท่ากับว่า ธปท.นั่นเองที่เป็นคนสร้างเงินเฟ้อให้กับระบบเศรษฐกิจใช่หรือไม่?

ศุภวุฒิ บอกว่า ในกรณีที่ ธปท. ไม่ขาดทุนเพิ่ม แต่ถ้าเศรษฐกิจเกิดเติบโตเพียงเล็กน้อยโดยรวมเงินเฟ้อแล้วโตแค่ 4% กรณีนี้เท่ากับว่าปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นในระบบควรมีเพียงแค่ 5-6 หมื่นล้านบาท แต่ด้วยผลขาดทุนจากส่วนต่างดอกเบี้ยที่ปัจจุบันมีกว่า 7-8 หมื่นล้านบาท จึงเท่ากับว่าผลขาดทุนตัวนี้ จะบีบบังคับให้ ธปท.ต้องพิมพ์เงินออกมาเกินกว่าความต้องการทำเศรษฐกิจ ซึ่งก็เป็นตัวทำให้เกิดเงินเฟ้อเช่นกัน

"นี่เป็นเหตุผลที่ผมมองว่าแบงก์ชาติขาดทุนไม่ได้ เพราะถ้าแบงก์ชาติขาดทุนถึงจุดหนึ่ง จะไม่สามารถคุมปริมาณเงินได้ และที่บอกว่าแบงก์ชาติขาดทุนไม่เป็นไรนั้น ทำไมเมื่อปี 2545 แบงก์ชาติถึงโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ (กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน) ไปไว้ที่รัฐบาล เพราะนั่นก็คือการขาดทุนเช่นกัน"

ประเด็นข้อถกเถียงเหล่านี้ ทำให้นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มที่กังวลกับการขาดทุนของ ธปท. ยังคงต้องการ "ดีเบต" ในเชิงลึกว่า แท้จริงแล้วผลขาดทุนของ ธปท. น่ากังวลต่ออนาคตเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงใด!



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ประสาร ชี้ ขาดทุน เพื่อเสถียรภาพ เศรษฐกิจ

view