สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เงินบาทแข็งค่าปัญหาที่ยังอยู่

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ชลลดา อิงศรีสว่าง

ปัญหาเงินบาทแข็งค่ายังคงอยู่ แม้จะไม่มีใครยกมาพูดถึงในช่วงนี้

เงินบาทเมื่อวานนี้ ขึ้นลงอยู่ที่ระดับ 29.7029.85 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ยังหลุดกรอบ 30 บาท และแนวโน้มการแข็งค่ายังมีอยู่ โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ ออกบทวิเคราะห์ว่าการอัดฉีดสภาพคล่องของสหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะทำให้มีเงินทุนไหลมายังภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ด้วยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าประเทศ ตะวันตก

บทวิเคราะห์นี้ระบุว่าเงินบาทน่าจะแข็งค่าไปอยู่ต่ำกว่า 28 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ภายในปลายปี 2557 และโอกาสที่ ธปท.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. ยิ่งน้อยลงไปอีก

ปัญหาเงินบาทแข็งค่าของไทยในช่วงนี้ แทบไม่ต่างอะไรจากปี 2539 ที่ไทยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทคงที่ไว้ 27 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

เพียงแต่ในขณะนั้นเงินบาทแข็งค่าเกินพื้นฐานเศรษฐกิจ (Over Value) เนื่องจากในขณะนั้นประเทศมีหนี้สูง ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ต่างชาติเชื่อว่าเงินบาทจะต้องอ่อนค่ากว่านี้จึงเกิดการเก็งกำไรค่าเงินบาท กันยกใหญ่

ในขณะที่ช่วงนี้ ค่าเงินบาทแข็งค่าตามพื้นฐานเศรษฐกิจที่แท้จริง แต่เรากลับต้องการให้ค่าเงินอ่อนค่าลงต่ำกว่าพื้นฐาน (Under Value) ซึ่งก็เปิดช่องให้มีเงินไหลเข้าและเก็งกำไรจากส่วนต่างดอกเบี้ย

สถานการณ์ที่อยากให้ค่าเงินบาทอ่อนค่ากว่าพื้นฐานนี้ จะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทเป็นระยะ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกถึง 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)

การแทรกแซงค่าเงินบาทก็มีต้นทุน ส่งผลให้ ธปท.ต้องรับภาระขาดทุน ทั้งทางตรงคือการเข้าไปซื้อเงิน และขาดทุนทางอ้อมเพราะต้องออกพันธบัตรมาดูดซับเงินบาทออกไปจากระบบ

ขณะนี้ ธปท.ใช้เครื่องมือดูแลค่าเงินบาทเพียงอย่างเดียว คือ ดอกเบี้ยนโยบาย

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. เห็นว่า การใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือ สามารถที่จะกำหนดเป้าได้ดีกว่าอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งดูตัวอย่างกรณีของสิงคโปร์ได้ว่าไม่สามารถควบคุมทิศทางค่าเงินได้มากนัก ขณะที่กรณีของไทยหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.75% ธปท.สามารถปฏิบัติการทางการเงินให้ได้ดอกเบี้ยในตลาดเงินที่ 2.75% หรือใกล้ 2.75% เพราะมีพละกำลังที่จะทำได้

อย่างไรก็ดี หากแนวโน้มของเงินบาทจะทรงตัวไปในทางแข็งค่า การใช้ดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียว คงไม่เพียงพอที่จะดูแลค่าเงินให้มีเสถียรภาพได้

ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ อดีต รมว.คลัง และนักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ แนะนำว่า ธปท.ไม่ควรมองแค่อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงอย่างเดียว แต่ควรมองเครื่องมืออื่นๆ ประกอบด้วย เช่น การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ รวมไปถึงเครื่องมือด้านอัตราแลกเปลี่ยน และมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้า

“ธปท.อาจจะยังให้เป้าหมายหลัก คือ กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ แต่เครื่องมือในการดูแล ไม่ควรใช้ดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว ซึ่งการลดหรือไม่ลดดอกเบี้ยมีผลหลายด้าน เช่น ถ้าลดก็อาจทำให้การใช้จ่ายในประเทศผ่อนคลายมากขึ้น แต่ถ้าไม่ลดก็อาจมีผลต่อเงินทุนไหลเข้ามาก”

ฉลองภพ ยังยกตัวอย่างกรณีของจีน นอกจากจะใช้เครื่องมือด้านอัตราดอกเบี้ยในการคุมเงินเฟ้อและฟองสบู่ภายใน ประเทศแล้ว จีนยังใช้วิธีเพิ่มการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องกับสถาบันการเงินในประเทศด้วย

ปัจจุบันจีนกำหนดให้สถาบันการเงินกันสินทรัพย์สภาพคล่องไว้ประมาณ 20% ขณะที่ของไทยอยู่ในระดับประมาณ 6%

อย่างไรก็ดี แนวคิดจะให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มสำรองสินทรัพย์สภาพคล่อง ซึ่งปัจจุบันถือเป็นเงินสด 2% ส่วน 4% เป็นพันธบัตรที่เปลี่ยนมือได้ในเวลาอันรวดเร็ว เป็นเรื่องที่ ธปท.จะไม่ทำ

เหตุผลที่ ธปท.จะไม่ทำ ก็เพราะขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ต่างจับตาดูหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อการบริโภค ที่มีแนวโน้มจะค้างชำระมากขึ้น

ดังนั้น ธนาคารส่วนใหญ่จึงแห่เพิ่มสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มจนเกินที่กฎหมายกำหนดไว้ ที่ 100% โดยทั้งระบบธนาคารพาณิชย์มีการสำรองไว้แล้ว 152%

การเพิ่มภาระให้กับธนาคาร จึงยังเป็นแนวทางที่ยังไม่ควรทำ หากกลไกของดอกเบี้ยยังใช้ได้ผล และการคงดอกเบี้ยก็ไม่ได้ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจมีปัญหา

ในปีนี้ทุกสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจ ได้เพิ่มคาดการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจขึ้นทั้งหมดว่าจะเติบโตเกิน 5% อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ การส่งออกในเดือน ม.ค. ก็เริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยการส่งออกมีมูลค่า 1.82 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.09%

การลดดอกเบี้ยจึงไม่เป็นปัญหาต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่ ธปท.เป็นห่วงว่าการลดดอกเบี้ยจะทำให้เงินฝากไหลออก คนจะนำเงินออกไปเล่นหุ้น หรือเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์

ดังนั้น การใช้ยาแรงกว่าที่ ธปท.ทำอยู่ คือ บริหารสภาพคล่องและใช้ดอกเบี้ยนโยบาย รวมทั้งเปิดทางให้นักลงทุนนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศได้มากขึ้นจะยังไม่ เกิดขึ้น หากเงินบาทยังไม่หลุดกรอบ 28 บาทลงมา


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เงินบาท แข็งค่า ปัญหา ยังอยู่

view