สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ยุคข้อมูลท่วมหัว

ยุคข้อมูลท่วมหัว

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ภายในปีนี้ถ้าไม่มีอุบัติเหตุอีก เราน่าจะได้เห็นการประมูลช่องทีวีดิจิตอลในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เรามีช่องฟรีทีวีเพิ่มขึ้นเป็น 48 ช่อง

ในขณะเดียวกัน วงการเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม ก็กำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่โดยผู้เล่นรายใหญ่ๆ ซึ่งจะทำให้เรามีช่องทีวีเพิ่มขึ้นอีกนับ 200 ช่อง

นี่ยังไม่นับสื่อใหม่ในช่องทางอื่น ที่ทุกวันนี้เราเริ่มคุ้นชินกับมันมากขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็น เว็บข่าว ยูทูป เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ รวมทั้ง สื่อแบบเก่า เช่น วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ที่มีมานานแล้ว เป็นต้น จะว่าไปอีเมลก็เป็นข่าวสารอีกอย่างหนึ่ง ทุกวันนี้บางคนต้องรับอีเมลใหม่กว่า 200 ฉบับต่อวัน ทั้งที่คัดกรองอีเมลขยะออกไปแล้ว

พูดได้เต็มปากเลยว่า ทุกวันนี้เรากำลังอยู่ในยุคข้อมูลท่วมหัว (Information Overload)

คำคำนี้เป็นคำที่คิดขึ้นโดย Alvin Toffler ตั้งแต่เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว ที่เขามองเห็นว่า มนุษย์ในอนาคตจะต้องเผชิญกับสภาวะนี้อย่างแน่นอน ข้อมูลข่าวสารที่ถูกผลิตขึ้นตามสื่อเหล่านี้ในแต่ละวัน มีจำนวนมากขนาดที่คุณอาจจะต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเสพมันได้หมด

แต่ไม่ว่าเราจะมีสื่อให้เลือกมากขึ้นแค่ไหน แต่สิ่งที่เรายังคงมีเกือบเท่าเดิมคือ เวลา ที่ใช้ในการเสพสื่อ

โดยเฉลี่ยแล้ว คนอเมริกันเสพสื่อต่างๆ ประมาณเกือบ 2 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก แม้จะมีสื่อเพิ่มขึ้นมาก เพราะหากเยอะไปกว่านี้ ก็จะเริ่มเบียดบังเวลาสำหรับทำกิจวัตรประจำวันอย่างอื่น เช่น นอน กินข้าว เดินทาง ออกกำลัง คุยกับครอบครัว ปัจจุบันนี้มีคนเสพสื่อหลายอย่างพร้อมๆ กันมากขึ้น (นั่งเล่นไอแพดไปด้วยขณะดูทีวี) โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ แต่ความสามารถในการเสพสื่อหลายอย่างพร้อมกันของเราก็มีค่อนข้างจำกัด และก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีด้วย เวลาจึงยังเป็นคอขวดอยู่ดี

ถ้าสังเกตให้ดี ดูเหมือนเราทุกคนจะมีขีดจำกัดในการรับข้อมูลข่าวสารด้วย เมื่อเรารับข้อมูลข่าวสารมากขึ้น อาจทำให้เราใช้ชีวิตได้ดีขึ้น เพราะเรารู้อะไรมากขึ้น แต่เมื่อใดก็ตาม ที่คุณรับข้อมูลข่าวสารมากเกินไป คุณจะเริ่ม "มึน" คราวนี้แทนที่ข้อมูลจะช่วยทำให้คุณทำงาน หรือใช้ชีวิตได้ดีขึ้น กลับให้ผลตรงกันข้าม ประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตของคุณกลับลดลงแทน

ดังนั้น มนุษย์ในยุคข้อมูลข่าวสารจึงไม่ได้แข่งขันกันที่ปริมาณในการรับรู้ข้อมูล แต่อยู่ที่ใครจะสามารถ "เลือก" หรือคัดกรองข้อมูลข่าวสารจำนวนมากในแต่ละวันให้เหลือเข้าสมองเราเฉพาะแต่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องและมีประโยชน์ต่อเรามากพอ และอยู่ในระดับที่เราสามารถย่อยมันได้อย่างมีประสิทธิภาพในแต่ละวันด้วย นั่นแหละถึงจะเรียกว่าเป็นคนที่ได้ประโยชน์จากการอยู่ในยุคข้อมูลข่าวสารอย่างแท้จริง

ลองสำรวจดูว่าตัวคุณเองปล่อยให้ข้อมูลข่าวสารพุ่งเข้าหาตัวเราทุกวันแบบไม่จำกัดรึเปล่า ถ้ามันเยอะมากเกินไป จำกัดมันบ้างเสียก็ได้

Carl Shapiro (UC Berkeley) กล่าวไว้นานแล้วว่า ข่าวสารในอินเทอร์เน็ตเป็นสินค้าโภคภัณฑ์อย่างหนึ่ง (ใครๆ ก็เสนอข่าวเดียวกันได้) แต่สุดท้ายแล้ว บริษัทที่ขายข่าวบนอินเทอร์เน็ต ก็จะยังสามารถทำกำไรได้ ถ้าหากสามารถคัดกรองหรือจัดระเบียบข่าวสารให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้ เพราะแม้ข่าวสารจะมีอยู่ฟรีมากมายบนอินเทอร์เน็ต แต่ผู้บริโภคก็มี Search Cost มหาศาล คุณค่าของผู้ขายข่าวจึงอยู่ที่การประหยัดเวลาให้กับผู้บริโภคมากกว่าตัวข่าว

ข้อแตกต่างที่สำคัญอย่างหนึ่งระหว่างสื่อยุคเก่ากับสื่อยุคใหม่ คือ สื่อยุคเก่ามักเป็นแบบกระจายเสียง (Broadcast) กล่าวคือ ต้นทางเป็นผู้กำหนดเนื้อหา ปลายทางต้องรับฟังอย่างเดียว สื่อสารกลับก็ไม่ได้ ในขณะที่ สื่อใหม่ จะอนุญาตให้ผู้รับสารเป็นผู้เลือกเนื้อหาที่ต้องการเสพเองได้มากขึ้น เช่น มีช่องให้เลือกหลากหลายมากขึ้น มีระบบ Pay per view ที่เลือกดูรายการอะไร เวลาไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องรอชมพร้อมๆ กันทุกบ้าน รวมถึงสื่ออินเทอร์เน็ตที่ผู้เสพเป็นผู้เลือกเนื้อหาที่ต้องการเสพเองทั้งหมดผ่านการสืบค้น และยังสามารถแสดงความเห็นส่วนตัวกลับไปโดยแทบไม่มีค่าใช้จ่ายเลย

ว่ากันว่า สื่อใหม่จะทำให้ผู้คนในสังคมแตกต่างกันมากขึ้น เนื่องจากเราสามารถเลือกชมแต่สิ่งที่เราอยากชมได้ เราก็จะชมแต่เรื่องที่เราสนใจ รวมไปถึงการรับชมแต่สื่อที่ฟังแล้วถูกหู เหมือนอย่างที่นักสังคมวิทยาบอกว่า โลกของเรากำลังวิ่งเข้าสู่ยุค Microcultures หรือยุคที่ไม่มีค่านิยมอะไรที่เป็นค่านิยมหลักที่ทุกคนในสังคมเห็นตรงกันอีกต่อไป แต่สังคมจะประกอบด้วยกลุ่มเล็กๆ ที่มีวัฒนธรรมในแบบของตัวเองปะปนกันอยู่เต็มไปหมด

การที่คนในสังคมคิดต่างกันมากขึ้น ไม่ได้มีแต่ด้านบวกเสมอไป เพราะการคิดต่างกันไม่ได้แปลว่าจะยอมรับความแตกต่างกันซึ่งกันและกันด้วยเสมอไป บางกรณีอาจเป็นตรงกันข้ามเสียด้วยซ้ำ เพราะการได้ยินได้ฟังแต่คนที่คิดแบบเดียวกับตัวเองจะทำให้คนเรามีความคิดสุดโต่งมากขึ้นเรื่อยๆ และนำไปสู่ความรู้สึกเป็นศัตรูกับคนอื่นที่คิดไม่เหมือนกันเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรระวังครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ยุคข้อมูลท่วมหัว

view