สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Currency War

Currency War

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ผมไปใช้สิทธิมาแล้วครับ เสร็จแล้วก็มานั่งเขียนบทความอันนี้แหละครับ

กว่าบทความนี้จะไปถึงท่านผู้อ่าน ผลก็คงเป็นที่รู้กันไปได้ 2-3 วันแล้ว จะเป็นอย่างไร ถูกใจไม่ถูกใจก็ต้องยอมรับนะครับ ความจริงเรื่องที่จะเล่าในเดือนนี้ก็มีท่านผู้สัดทัดกรณีหลายท่านได้เคยแสดงทรรศนะไปบ้างแล้ว ผมส่วนตัวก็ค่อนข้างเจียมเนื้อเจียมตัว ไม่เคยพูดถึงเลย แต่คิดว่ามุมมองของผมน่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อย ก็เลยขออนุญาตแสดงความคิดเห็นบ้างนะครับ หากว่าไปซ้ำกับของท่านใด ก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย

คนพูดถึงเรื่อง Currency War มาบ้างเป็นครั้งเป็นคราวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมมีข้อสังเกตคือ ทุกครั้งที่มีการพูดถึง “สงคราม” ดังกล่าวมักจะมาจากหลังที่ค่าของเงินสกุลหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งดอลลาร์มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว และผันผวนมาก และครั้งล่าสุดก็เนื่องมาจากการที่ดอลลาร์มีค่าสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับเงินเยนของญี่ปุ่น

ค่าของเงินเยนอ่อนตัวอย่างรวดเร็วจนถึงระดับที่ใกล้ 95 เยนต่อหนึ่งดอลลาร์ในปัจจุบัน หลายท่านก็สงสัยว่ามันมาถึงขนาดนี้ได้อย่างไร บางท่านก็อธิบายว่าเพราะญี่ปุ่นเองทำกิจกรรม “QE” ของตนเอง บางท่านก็ว่าเพราะฐานะทางการค้าของญี่ปุ่นอ่อนแอลง (เกินดุลการค้าน้อยลงจนถึงไม่เกินดุล) บางท่านก็ว่าคนญี่ปุ่นไปซื้อสินทรัพย์เงินสกุลอื่นมากขึ้นเพราะว่า อัตราผลตอบแทนของเงินเยนมันช่าง “น่าน้อยใจ” เสียจริงๆ แล้วจริงๆ มันเป็นเพราะอะไร และที่สำคัญแล้วเราจะทราบได้แบบล่วงหน้าว่าจะเป็นอย่างไร

คำถามที่สอง ตอบได้ยาก (แต่จริงๆ ผมเคยอธิบายไปแล้วในเรื่องการเป็น Trader ยากไหม และ Trader เขาคิดอย่างไรในการซื้อ/ขาย) คำถามแรกสำหรับผมดูเหมือนจะยากกว่าที่จะตอบให้ท่านเข้าใจ เพราะหากจะอธิบายแบบคนในตลาดเงินล้วนๆ ชาวบ้านก็จะฟังไม่รู้เรื่อง เอาเป็นว่าผมขออธิบายแบบ “บ้านๆ” ในสไตล์ผมนะครับ ขออนุญาตย้อนอดีตไปสักปีกว่าถึงสองปีนะครับ ผมเคยเรียนว่า สภาวะราคาทรัพย์สินที่เป็นดอลลาร์จะสูงขึ้น เนื่องจากราคาได้ต่ำต้อยมานาน (ผมยัง “ชวน”ให้ท่านไปซื้อบ้านที่อเมริกาสักคนละหลังสองหลังเลย) ซึ่งหมายความว่าความต้องการดอลลาร์จะต้องมีมากขึ้นและจะส่งผลทำให้ค่าของเงินดอลลาร์มีค่าสูงขึ้น ตอนนั้นดอลลาร์มีค่าอยู่ที่ระดับต่ำกว่าแปดสิบเยน หากเมื่อเทียบกับปัจจุบันก็จะเห็นว่ามาได้ไกลพอควรอยู่ และในขณะนั้นค่าของเงินสกุลที่มีผลตอบแทนสูง ได้แก่ ออสซี่ และกีวี (Australian Dollar และ New Zealand Dollar) ก็มีค่าสูงมาก ผมเคยได้เรียนว่า ทั้ง 2 สกุลนั้นเป็นที่ถูกใจของแม่บ้านชาวญี่ปุ่นมาก สินทรัพย์สกุลเงินทั้งสองมีแม่บ้านญี่ปุ่นถือครองไว้เป็นสัดส่วนที่สูง และหากเรามาดูค่าของเงิน Aussie และ Kiwi ในปัจจุบันก็จะเห็นว่ามีค่าลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Aussie

ในขณะที่บ้านเรายังคงมีข้อถกเถียงว่าบาทแข็งเกินไป (หรือเปล่า ) ดอกเบี้ยสูงเกินไป (หรือเปล่า) ตลาดเงินได้มองข้ามช็อตไปแล้วว่าค่าเงินดอลลาร์จะสูงขึ้นไปแค่ไหน เพราะค่าของเงินดอลลาร์เมื่อเทียนกับเยนมาไกล (และผมเชื่อว่าจะไปต่อ)

ออสซี่ก็มีค่าลดลงมาพอควร (และจะลงต่อ) เพราะเหตุผลการทำกำไรในสินทรัพย์เงินสกุลออสซี่ โดยขายทิ้งและไปซื้อสินทรัพย์เงินสกุลดอลลาร์ (จริงๆ เขาก็ซื้อมาโดยตลอดตั้งแต่กว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา) แต่เมื่อเราวิเคราะห์ให้ดี โลกมันก็ยังคงยุ่งยากกว่านั้น เพราะยุโรปก็ยังไม่ดีและยังมองเห็นไม่ชัด (ไม่ใช่มองไม่เห็นนะครับ) ว่าจะพ้นจากความยุ่งยากอย่างไร และดูเหมือนว่าเอเชียเป็นภูมิภาคที่พร้อมที่สุดที่เงินจะไหลเข้ามา อ่านไปอ่านมา ท่านผู้อ่านก็คงจะ “มึน”ว่าอะไรกัน (วะ) เอาเป็นว่าผมขอเรียนท่านเป็นประเด็นๆ ไปเลยนะครับ

1. ค่าของเงินดอลลาร์จะยังคงมีค่าสูงขึ้นแบบเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับเยนญี่ปุ่น ผมเชื่อว่าน่าจะไปทดสอบระดับเกือบร้อยเยนได้ภายในปี 2556 นี้

2. จากข้อ 1. (ก็จะหมายความว่าสินทรัพย์ในอเมริกาก็จะมีมูลค่าสูงขึ้น (แต่ก็ยังถูกเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ ในโลก) ขณะที่สินทรัพย์อย่างเงินสกุลอื่นๆ ซึ่งมีราคาแพงไปแล้ว (เช่น Aussie และ Kiwi) ก็คงมีการ take profit และค่าเงินทั้งสองก็จะอยู่ในขาลง

3. มองเข้ามาให้ใกล้ตัว หากท่านผู้ใดต้องการหรือมีความจำเป็นต้องซื้อเงินดอลลาร์ ควรใช้โอกาสนี้ จัดการตามความ ประสงค์ได้เลย ท่ามกลาง Window of Opportunity ที่เงินบาทยังคงแข็งอยู่ ถึงแม้ผมจะมองว่าเงินบาทอาจจะแข็งไปได้ถึงระดับ 27-28 บาท/ดอลลาร์ก็ตาม ผมก็ยังคงเชียร์ให้พวกเราซื้อดอลลาร์เริ่มในตอนนี้เลย

4. หากท่านหรือ fund manager ของท่าน ต้องการลงทุนในต่างประเทศก็คงต้องพิจารณาเรื่อง เงินตราต่างประเทศให้มากๆ มิฉะนั้นอาจจะ “ติด” position ได้ แต่ผมต้องยอมรับว่าการจัดสรรการลงทุนจะทำได้ยาก เพราะอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ทางการเงินสกุลดอลลาร์ก็ยังคงต่ำอยู่ เพราะว่า Fed ยังคง “กด” อัตราดอกเบี้ยของตนให้อยู่ในระดับต่ำ สิ่งที่ผมแนะนำได้ก็คือต้องทยอย “trim” ฐานะเงินสกุลอื่นๆ และ “เพิ่ม” สินทรัพย์เงินดอลลาร์แบบค่อยๆ ทำ

หากท่านไม่ทยอยทำตามข้อสี่หรือลุยเลยตามข้อสามแต่อยากรอ คำถามยอดฮิตและอมตะตลอดกาลก็คือ แล้วเมื่อไหร่ล่ะ ผมก็ตอบอย่างนี้ว่า หากเราเอาประวัติศาสตร์มารับใช้ปัจจุบัน ก็พอจะบอกได้ว่าเมื่อทางการ "ทนไม่ไหว” แล้วออกมาตรการ (จะแบบเดี่ยวหรือเป็นชุดก็ตาม) ในการลดความร้อนแรงหรือพยายามชะลอการแข็งของเงินบาท ขอให้ท่าน “รอ” ต่อไปอีกเล็กน้อยสักหนึ่งเพลินพอให้ฝุ่นหายตลบ ท่านก็จะสามารถลงมือตามที่ผมเรียนข้างต้น

สุดท้าย ความเห็นทั้งหมดเป็นความเห็นส่วนตัวไม่ว่าจะ 27-28 บาท หรือ หนึ่งร้อยเยน และขอได้โปรดใช้วิจารณญาณในการรับรู้นะครับ สวัสดี


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Currency War

view