สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คุยกับหมอพิณ รู้ไว้ซักนิด ที่มาวัยทอง สัญญาณการเปลี่ยนแปลง

จากประชาชาติธุรกิจ

วัยทองประตูสู่วัยชรา

คอลัมน์ คุยกับหมอพิณ

โดย พญ.พิณนภางค์ ศรีพหล






โลกเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ร่างกายคนเราก็เปลี่ยนค่ะ

อายุเป็นเพียงตัวเลขคร่าว ๆ ที่แบ่งแยกว่าเราเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น วัยกลางคน วัยชรา

วัยรุ่น คือวัยที่เปลี่ยนจากเด็กเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เด็กผู้หญิงเริ่มมีหน้าอก มีขน มีประจำเดือน

แล้ววัยทองล่ะ ร่างกายเราจะมีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง

วัยทอง คือวัยที่เปลี่ยนจากวัยเจริญพันธุ์ เข้าสู่วัยสิ้นสุดการเจริญพันธุ์ หรือวัยหมดระดูนั่นเอง

จากที่เขียนมาในสัปดาห์ก่อน ๆ ว่ารังไข่มีอายุการใช้งานของมัน จากช่วงสาว ๆ ที่รังไข่เราตกรอบเดือนละครั้ง ผลิตฮอร์โมนปกติ ผิวพรรณเปล่งปลั่ง พออายุมากขึ้น รังไข่ก็ผลิตไข่มาตกบ้าง ไม่ตกบ้าง นาน ๆ เข้า นอกจากไม่ทำหน้าที่ให้ไข่ตกแล้ว ก็ยังไม่สร้างฮอร์โมนอีกด้วย

ฮอร์โมนที่ว่าคือฮอร์โมนเอสโตรเจนนั่นเอง ยิ่งเข้าใกล้วัยหมดระดูมากเท่าไร รังไข่ก็ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยลงเรื่อย ๆ จนไม่สร้างอีกเลย เห็นได้จากช่วงเข้าใกล้วัยหมดระดู ประจำเดือนบางคนจะเริ่มห่างออก จากมาทุกเดือน เป็น 2-3 เดือนมาที ประจำเดือนมาบ้าง ไม่มาบ้าง จนกระทั่งไม่มาอีกเลย

จากฮอร์โมนที่เคยมี กลายเป็นไม่มี นอกจากประจำเดือนที่หายไป ร่างกายเราก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ อีกค่ะ เช่น อาการร้อนวูบวาบ แอร์ในออฟฟิศก็เย็น ลูกน้องสาว ๆ ก็แต่งตัวเหมือนแฟชั่นปารีสหน้าหนาว ทำไมมีเรานั่งเหงื่อแตก หน้าแดงอยู่คนเดียว

อาการร้อนวูบวาบ มักจะเป็นตามใบหน้า ช่วงบนของลำตัว มันจะเป็นในช่วงก่อนหมดประจำเดือน จนหมดประจำเดือนไป 1-2 ปี

บางคนมีอาการมากจนนอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ส่งผลต่ออารมณ์หงุดหงิด แปรปรวน เหวี่ยงกระจาย ซึ่งถ้ามีอาการมากส่งผลต่อการทำงาน ความสัมพันธ์ในครอบครัวควรปรึกษาแพทย์นะคะ

นอกจากนี้ การที่เราขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน จะทำให้เยื่อบุช่องคลอดแห้งและบาง ทำให้มีอาการเจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์ได้ ระบบทางเดินปัสสาวะก็มีการเปลี่ยนแปลง บางคนมีอาการปัสสาวะบ่อย หรือมีติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้ง่ายขึ้น

หลังหมดประจำเดือน ไม่ใช่ความสาว ความชุ่มชื้น และฮอร์โมนเอสโตรเจนที่จากไปเท่านั้น กระดูกของเราก็จะสลายอย่างรวดเร็วมากขึ้น ทำให้คนที่สะสมมวลกระดูกสมัยสาว ๆ มาน้อย (คนที่ไม่ขยันรับประทานนม หรืออาหารที่มีแคลเซียม) เกิดภาวะกระดูกบาง เกิดกระดูกหักได้ง่าย ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตได้ค่ะ

กาลเวลาผ่านไป ร่างกายคนเราก็เปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญคือการดูแลเอาใจใส่สุขภาพ และพบแพทย์เป็นประจำนะคะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คุยกับหมอพิณ รู้ไว้ซักนิด ที่มา วัยทอง สัญญาณ การเปลี่ยนแปลง

view