สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อันตราย อาหารถุง ภัยเงียบทำลาย ไต

จากประชาชาติธุรกิจ

จากข้อมูลล่าสุดที่ "เครือข่ายลดบริโภคเค็ม" รายงานจำนวนตัวเลขที่น่าตกใจออกมาก่อนถึง "วันไตโลก" ในวันที่ 17 มีนาคมนี้

พบว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมากถึง 11.5 ล้านคน ป่วยเป็นโรคไต 7.6 ล้านคน โรคหัวใจขาดเลือด 750,000 คน และโรคหลอดเลือดสมอง (อัมพฤกษ์-อัมพาต) อีก 500,000 คน

ที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นคือ จำนวนผู้ป่วยยังเพิ่มขึ้นในอัตรารวดเร็วอีกด้วย !

สำหรับสาเหตุหลักของการก่อให้เกิดโรคทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมการบริโภคเกลือ (โซเดียม) ของผู้คนในปัจจุบันมีมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ 2-3 เท่า เมื่อนานวันไปจึงส่งผลร้ายให้เกิดความดันโลหิตสูง เพิ่มโอกาสรั่วของโปรตีนในปัสสาวะและส่งผลเสียต่อไตโดยตรง

อีกทั้งยังกระทบไปถึงหัวใจ ทำให้ต้องทำงานหนักเกินความจำเป็นจนมีโอกาสเกิดสภาวะหัวใจวายได้ ที่สำคัญคือความดันโลหิตสูงยังทำให้ความดันในสมองเพิ่มขึ้น จนอาจพัฒนาไปสู่โรคอัมพฤกษ์-อัมพาตก็เป็นได้

"น.พ.เกรียง ตั้งสง่า"
ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย อธิบายว่า พฤติกรรมการบริโภคเค็มของมนุษย์นั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ สังเกตได้จากการคิดค้นกรรมวิธีถนอมอาหารของผู้คนในยุคก่อนที่มักจะใช้เกลือเข้ามาเป็นส่วนประกอบ จนตอนนี้พฤติกรรมเหล่านั้นได้ถูกวิวัฒน์ให้กลายมาเป็นธรรมชาติของการกินที่รู้สึกว่า "รสเค็ม" คือรสชาติที่อร่อยไปแล้ว


"หากผู้คนยังคงบริโภคอาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมในปริมาณที่มากเกินพอดีต่อไป ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่เป็นผลร้าย สร้างภัยเงียบต่อสุขภาพร่างกายอย่างที่ใครหลายคนคาดไม่ถึง ดังนั้นจึงควรที่จะต้องตระหนักในเรื่องนี้ ก่อนที่จะต้องไปหาหมอเพราะกินเค็มมากเกินไป"

ในความเป็นจริง คนไทยควรบริโภคเกลือไม่เกิน 5 กรัมต่อวัน (โซเดียม 2,400 มิลลิกรัม) แต่จากการสำรวจพบว่าคนไทยบริโภคเกลือเฉลี่ย 10.8 กรัมต่อวัน (โซเดียม 5,000 มิลลิกรัม) โดยร้อยละ 71 มาจากการเติมเครื่องปรุงรสระหว่างการประกอบอาหาร

โดยปกติแล้วอาหารธรรมชาติจะมีเกลือเป็นส่วนประกอบในตัวเองอยู่แล้ว แต่เมื่อมีการใช้เครื่องปรุงรส เช่น เกลือ, น้ำปลา, ซีอิ๊ว, ซอสปรุงรส, กะปิ หรือซอสหอยนางรม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่คนไทยนิยมใช้มากที่สุด ผสมลงไปในอาหารปริมาณมากจะทำให้ปริมาณเกลือในอาหารสูงตามขึ้นไปด้วย

"น.พ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ" ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยกล่าวว่า คนไทยได้รับโซเดียมเกินพอดีจากการกินอาหารในแต่ละมื้อโดยไม่รู้ตัว โดยส่วนใหญ่มักจะมาในรูปของอาหารสำเร็จรูป

เมื่อนำเครื่องปรุงรสมาเปรียบเทียบกันแล้ว พบว่าเกลือ 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 6,000 มิลลิกรัม, น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 1,120-1,420 มิลลิกรัม, ซีอิ๊ว 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 690-1,420 มิลลิกรัม, ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 1,150 มิลลิกรัม, กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 1,430-1,490 มิลลิกรัม และซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 420-490 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ยังพบว่าอาหารถุงสำเร็จรูปที่ขายตามร้านอาหารทั่วไปมีปริมาณโซเดียมเฉลี่ยต่อถุง 815-3,527 มิลลิกรัม อาทิ ไข่พะโล้, แกงไตปลา, คั่วกลิ้ง ฯลฯ ส่วนอาหารจานเดียวมีปริมาณโซเดียม 1,000-2,000 มิลลิกรัมต่อหนึ่งจาน เช่น ข้าวหน้าเป็ด, ข้าวมันไก่, ข้าวขาหมู, ข้าวคลุกกะปิ ฯลฯ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อันตราย อาหารถุง ภัยเงียบ ทำลายไต

view