สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความกังวลที่เพิ่มมากขึ้น

ความกังวลที่เพิ่มมากขึ้น

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




วันที่ 12 มี.ค. เป็นอีกหนึ่งวันที่เงินบาทมีการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผมจำได้ว่าผ่านปีพุทธศักราชใหม่ได้เพียง 2 สัปดาห์ ค่าเงินบาทได้ break 30.54 ไปแตะ 29.80 และแกว่งตัวในกรอบแคบๆ 29.80-29.70 ตลอดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ต่อมาจนถึงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม ก่อนที่จะ Break ระดับ 29.70 ในวันที่ 12 มี.ค. ลงแตะ 29.53 บาท/ดอลลาร์ และอ่อนค่าเล็กน้อยไปปิดสิ้นวันที่ 29.59 …. ถือเป็นการแข็งค่าที่สุดของเงินบาทในรอบ 28 เดือน

ว่ากันว่าการแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วในครั้งนี้มาจากสาเหตุ 2 ประการ คือ 1) เป็น Trading flow จากกลุ่ม Hedge funds ที่เก็งกำไรในตลาด Spot เมื่อ THB ผ่านระดับจิตวิทยาที่ 29.70 และ 2) เป็นการชำระราคา พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ 15 ปี ของรัฐบาลไทย (Inflation-linked bond) ที่ออกเสนอขายเป็นครั้งที่ 2 ในวงเงิน 40,000ล้านบาท ประมาณกันว่า 60% ของวงเงินที่เสนอขาย หรือ ราว 25,000 ล้านบาทนั้นเป็น Demand จากนักลงทุนต่างชาติ (Non-residents) ข้อมูลดังกล่าวมีความสอดคล้องกับข้อมูลจากรายงานของ ThaiBMA (ณ วันที่ 12 มี.ค.) ที่แสดงว่า เม็ดเงิน (สุทธิ) จาก NR ได้ไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทยสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 28,024 ล้านบาท (เม็ดเงินจำนวนดังกล่าวมีความสอดคล้องกับ Trading value ของ spot market ซึ่งอยู่ในระดับ USD 1.0-1.5 Bln/วัน) ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 13 มี.ค. เงินบาทได้แข็งค่าขึ้น 3.4% กล่าวได้ว่าเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในเอเชีย

จริงๆ แล้ว USD/THB เริ่มมีอาการที่ไม่ปกติตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว (วันศุกร์ที่ 8 มี.ค.) และเริ่มมีดีกรีที่สูงขึ้นต้นสัปดาห์นี้ ผ่านทั้งตลาด Spot และตลาด Forward ระยะสั้น (ที่เรียกกันว่า Tom/Next) กล่าวคือ ในวันจันทร์ Spot มีการเคลื่อนไหวใน range ประมาณ 29.71-29.79 และได้ทะลุลงสู่ระดับ Low 29.53 ในเช้าวันอังคาร ในขณะที่ Swap point (Tom/Next) ที่ปรับตัวสูงขึ้น (และส่งผลให้ดอกเบี้ยขากู้เงินบาท Tenor เดียวกันสูงขึ้นประมาณ 0.20%) สะท้อนว่า มีความต้องการ(กู้)เงินบาทระยะสั้น หลังจากนั้นเพียง 2 วัน (ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ การชำระราคาพันธบัตรรัฐบาลประเภท Inflation-linked bond เสร็จสิ้นลง) Swap point ได้ปรับเข้าสู่ระดับปกติ จึงคาดว่าการเคลื่อนไหวของ Spot rate และ Swap point อย่างมีนัยสำคัญในช่วงสัปดาห์นี้น่าจะเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการชำระราคาพันธบัตร ILB โดยนักลงทุนต่างชาตินั่นเอง

ปีนี้เป็นอีกหนึ่งปีที่กลุ่มประเทศเกิดใหม่ หรือ Emerging Markets (ที่ใช้นโยบาย Inflation Targeting และใช้อัตราดอกเบี้ยเส้นเดียวสำหรับทุกกลุ่มนักลงทุน) จะต้องรับมือกับปัญหาเม็ดเงินที่ทะลักเข้าประเทศ EM จำนวนมหาศาลอันเป็นผลจากการดำเนินนโยบายแบบผ่อนปรน (Accommodative monetary stance) ของประเทศสหรัฐฯ และญี่ปุ่น การแข็งค่าของเงินสกุล EM โดยเฉพาะในเอเชียย่อมสร้างความกังวลให้แก่ผู้ดำเนินนโยบายการเงินของประเทศและกลุ่มบริษัทส่งออกอย่างแน่นอน ในวันพุธที่ผ่านมาท่านผู้ว่าการฯ ธปท. ได้ย้ำว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเรียกประชุมกนง.ก่อนกำหนด (Emergency meeting) ในขณะที่ท่านรมต. คลังฯ ได้เน้นย้ำอย่างต่อเนื่องให้ธปท.เพิ่มระมัดระวังในการแก้ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท

เมื่อมองรอบข้าง สถานการณ์ของประเทศฟิลิปปินส์คงไม่ต่างจากประเทศไทยนัก เพราะในปีที่แล้ว เงิน Peso ของฟิลิปปินส์เป็นสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในกลุ่มประเทศ Emerging Markets และยังคงทำ New high อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2008 นอกจากนั้น ตลาดหุ้นของฟิลิปปินส์ยังเป็นตลาดที่ร้อนแรงที่สุดแห่งหนึ่งนับตั้งแต่ปี 2008 ..... หลังจากการใช้มาตรการทางการเงินเพื่อสกัดกั้น Hot money อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเพดานบน Forward position ของธนาคารพาณิชย์ หรือ การคุมเข้มเรื่องการปล่อยกู้ให้ภาคอสังหาริมทรัพย์แล้วก็ตาม ล่าสุดฟิลิปปินส์ได้ประกาศแนวคิดที่จะใช้อัตราดอกเบี้ยแบบ 2 Tiers (ที่มา : Bloomberg วันที่ 14 มี.ค.) หวังสกัดเม็ดเงินไหลเข้าโดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้แก่นักลงทุนต่างชาติผ่านนโยบายดอกเบี้ยแบบ 2 Tier และเมื่อวานนี้ ธนาคารกลางของฟิลิปปินส์ประกาศคง Benchmark rate ไว้ที่ 3.00% แต่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะสั้นลง 0.50% คาดว่านี่คือก้าวแรกของมาตรการดอกเบี้ย 2 Tier ซึ่งจะบังคับใช้กับนักลงทุนต่างชาติ

ในด้านของตลาดบอนด์ไทย ยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย (Outstanding value) ของนักลงทุนต่างชาติได้แตะจุดสูงสุดที่ประมาณ 835,430 ล้านบาท ในวันที่ 13 มี.ค. คิดเป็นเม็ดเงินใหม่ราว 125,000ล้านบาทสำหรับปี 2013 และหลังจากที่ตลาดดอกเบี้ยไทยขาดปัจจัยใหม่ๆมาช่วงเวลาหนึ่ง ความคาดหวังของนักลงทุนสถาบันได้เพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากมีความเห็นจากท่านกิตติรัตน์ที่ต้องการเห็นบาทอ่อน ส่งผลให้มีแรงซื้อเข้ามาในพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5-10 ปี อัตราผลตอบแทนปรับลดลง 2-3Bps บนความคาดหวังว่า กนง.จะพิจารณาลดดอกเบี้ย

ในปีนี้ สถานการณ์การลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนในตลาดเงินและตลาดหุ้นทั่วโลกก่อนการเลือกตั้งของอิตาลีเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ หรือการที่ดัชนี Dow Jones Industrial Average ของสหรัฐฯ ทำ New High เมื่อตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ออกมาดีต่อเนื่อง ... เราคงต้องจับตาดูผลการประชุมสำคัญของ FOMC meeting ในวันที่ 20 มี.ค. ว่าจะมีผลต่อทิศทางของ Risky assets ต่างๆ อย่างไร


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความกังวล เพิ่มมากขึ้น

view