สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แก้ รธน.ยึดสว. ทอนอำนาจศาลฯ

แก้ รธน.ยึดสว. ทอนอำนาจศาลฯ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

เป็นไปตามคาดทันทีที่ระเบิดเวลาหลายลูกได้รับการจุดชนวนอีกครั้งหลังจาก เสร็จสิ้นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไม่ว่าจะเป็น การนิรโทษกรรม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะมีแต่ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการสร้างความปรองดอง จำนวน 4 ฉบับเท่านั้นที่พรรคเพื่อไทยขอแช่แข็งเอาไว้ก่อน โดยทั้งสองปมกำลังเข้าสู่กระบวนการของสภาเพื่อให้เกิดความเป็นรูปธรรม

เกมนิรโทษกรรมนั้นพรรคเพื่อไทยเริ่มนับหนึ่งแล้วผ่านการเสนอ “ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน” ของ “วรชัย เหมะ” สส.สมุทรปราการ ผู้สวมหมวกแกนนำคนเสื้อแดง

สาระสำคัญโดยสังเขปของกฎหมายอยู่ที่มาตรา 3 กำหนดให้ “การกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการ เมืองตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2549 ถึงวันที่ 10 พ.ค. 2554 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้น เชิง

แต่ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงเวลาระยะเวลาดังกล่าว”

แม้ว่า สส.พรรคเพื่อไทยกว่า 42 คนที่ร่วมลงชื่อจะแสดงท่าทีขึงขังเตรียมใช้เอกสิทธิ์ สส.ขอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้เลื่อนกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาเป็นวาระ ด่วน แต่ในใจก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นไปไม่ได้ ภายหลังจุดยืนของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ได้ยืนยันว่าจะไม่สนองตามที่ สส.เสื้อแดงเสนอ

เป็นอันสรุปว่าคนเสื้อแดงรอต่อไปก่อนเพราะรัฐบาลต้องการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่า

สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีความคืบหน้าให้เห็นแล้วจากการผนึกกำลังร่วมกันระหว่าง สว.เลือกตั้งนำโดย “ดิเรก ถึงฝั่ง” สว.นนทบุรี และ สส.รัฐบาล เพื่อนำไปสู่การแก้ไขเป็นรายมาตราใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.มาตรา 237 และ 68 ว่าด้วยการยุบพรรค 2.มาตรา 117 ที่มาของ สว. และ 3.มาตรา 190 เกี่ยวกับหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ต้องผ่านการลงมติจากรัฐสภา

โดยทุกประเด็นจะเสนอเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กับมือ “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” ประธานรัฐสภาในวันนี้ และคาดว่าภายในสมัยประชุมนี้จะสามารถเปิดประชุมเพื่อพิจารณาในวาระที่ 1 ได้ทันสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติที่กำลังสิ้นสุดในวันที่ 18 เม.ย. ก่อนจะไปพิจารณากันต่อในสมัยประชุมวิสามัญในช่วงเดือน พ.ค.

สาเหตุที่พรรคเพื่อไทยเลือกแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน เนื่องจากคิดว่าเกมนี้มีความเสี่ยงทางการเมืองและทางกฎหมายน้อยกว่าการนิรโทษกรรม

ความเสี่ยงด้านกฎหมายหากเดินหน้านิรโทษกรรมนั้น พรรคเพื่อไทยประเมินว่ากฎหมายนิรโทษกรรมที่เสนอไปยังมีช่องว่างโหว่อยู่พอ สมควร โดยเฉพาะการตีความบุคคลใดบ้างที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งอาจมีผลให้อุณหภูมิการเมืองปะทุขึ้นมาโดยไม่จำเป็น

แต่สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา แทบจะไม่มีความเสี่ยง เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานเมื่อปี 2555 ว่า “การแก้ไขเป็นรายมาตราสามารถกระทำได้ เว้นแต่การยกร่างทั้งฉบับเท่านั้นที่ต้องผ่านกระบวนการประชามติก่อน”

เมื่อความเสี่ยงทางกฎหมายน้อยแล้ว เท่ากับว่าความเสี่ยงทางการเมืองย่อมน้อยลงตามไปด้วย ไม่เพียงเท่านี้พรรคเพื่อไทยยังมีแต่ได้กับได้

การผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวมองทางไหนพรรคเพื่อไทยก็ได้ประโยชน์ อย่างการแก้มาตรา 237 และมาตรา 68 ก็เพื่อให้กระบวนการยุบพรรคการเมืองทำได้ยากมากขึ้น

ทอนอำนาจศาลรัฐธรรมนูญให้น้อยลงด้วยการไม่ให้รับคำร้องยุบพรรคตามมาตรา 68 ได้โดยตรงแต่ต้องผ่านการกลั่นกรองจากอัยการสูงสุดก่อน เช่นเดียวกับมาตรา 237 แก้ไขให้ตัดสิทธิการเมือง 5 ปีเฉพาะบุคคลที่กระทำความผิดเท่านั้นไม่ให้เหมารวมคณะกรรมการบริหารทั้งหมด

ส่วนการเปลี่ยนที่มาของ สว.ตามมาตรา 117 จากระบบลูกผสมระหว่างสรรหาและเลือกตั้งมาเป็นจากการเลือกตั้ง 200 คนเท่านั้น และให้ สว.เลือกตั้งดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้เกิน 1 วาระ ย่อมเป็นประโยชน์ทั้งตรงและทางอ้อมให้กับพรรคเพื่อไทย

ดังนั้น ไม่ว่าใครก็ตามที่จะสมัคร สว.จะต้องอิงกับฐานการเมือง ซึ่งปัจจุบันพรรคเพื่อไทยถือครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ย่อมทำให้พรรคมีอำนาจเบ็ดเสร็จในฝ่ายนิติบัญญัติอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่ความพยายามปรับแก้มาตรา 190 เป็นแค่ไม้ประดับเพื่อให้ภาพการแก้ไขรัฐธรรม นูญไม่หนักไปในทางการเมืองมากเกินไป

ด้วยเหตุผลทั้งหมดคงจะได้เห็นแล้วว่าชั่วโมงนี้สำหรับพรรคเพื่อไทยไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการแก้รัฐธรรมนูญและการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท


"ทักษิณ"สั่งลุยแก้รธน.

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเมือง

ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ (รธน.) ที่ถูกจุดขึ้นเวลานี้ ถือเป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่ม สว.เลือกตั้ง กับรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่ประกาศพร้อมผลักดันให้มีการรับหลักการในวาระแรกก่อนปิดสมัยประชุมสภา นิติบัญญัติในวันที่ 18 เม.ย. โดยที่ไม่ได้สนใจเสียงคัดค้านแต่ประการใด

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้|สไกป์เข้ามายังการประชุม สส.พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 19 มี.ค. โดยได้ระบุว่า ขณะนี้อยากให้แก้ รธน.รายมาตรา เพราะการแก้ รธน. ปี 2550 ทั้งฉบับเสี่ยงต่อการถูกยื่นตีความ อาจทำให้รัฐบาลล้มได้ เชื่อว่า หากแก้ไขรายมาตราจะไม่มีปัญหาใดสามารถทยอยแก้เรื่อยๆ เป็นรายมาตราได้ โดยเฉพาะการแก้ไขในมาตราให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยและเป็นประโยชน์ต่อ ประชาชน เพราะหากไม่ใช้วิธีนี้จะไม่สามารถแก้ รธน.ได้

ขณะเดียวกัน โภคิน พลกุล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และอดีตประธานคณะทำงานศึกษาแนวทางแก้ รธน. ได้เสนอในที่ประชุมพรรคเพื่อไทย ให้แก้ 4 มาตรา ประกอบด้วยมาตรา 68 เรื่องการพิทักษ์ รธน. ที่ควรจะเขียนให้ชัดเจนว่าการยื่นตีความ รธน.จะต้องผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้น มาตรา 190 หนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ต้องผ่านสภา มาตรา 237 การยุบพรรคการเมือง และ มาตรา 111 ว่าด้วยที่มาของ สว.เลือกตั้งทั้งหมด โดย โภคิน ยืนยันว่าไม่มีความเสี่ยงเพราะเป็นไปตามคำแนะนำของศาล รธน.

หลังจากนั้น พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า พรรคมีมติสนับสนุนการแก้ รธน.รายมาตราตามที่กลุ่ม สว.เลือกตั้งเเละวิปรัฐบาลเห็นร่วมกันเสนอแก้ 4 มาตราดังกล่าว โดยจะให้ สส.ร่วมกับ สว.ยื่นร่างแก้ รธน. เพื่อบรรจุในวาระการประชุมในวันที่ 20 มี.ค. เช่นเดียวกับพรรคชาติไทยพัฒนา |ของ บรรหาร ศิลปอาชา ก็มีมติเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว และพร้อมจะลงชื่อร่วมกับ สว.และพรรคเพื่อไทย

ด้าน ดิเรก ถึงฝั่ง สว.นนทบุรี ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมือง และศึกษาการแก้ รธน. ก็ได้แถลงขานรับว่า ขณะนี้ สว.ได้ร่วมลงชื่อ 60 คน เห็นควรว่าควรมีการแก้ รธน.รายมาตรา ใน 3 ประเด็น 4 มาตรา และจะยื่นร่างแก้ไขเป็น 3 ร่าง

ฟากฝ่ายค้านเตรียมประกาศคัดค้านอย่างเต็มที่ พร้อมตั้งข้อหาหนักว่าการแก้ไข รธน.ครั้งนี้เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ส่วนจะขวางได้สำเร็จหรือไม่ ต้องติดตามอย่ากะพริบ


จารุพงศ์'ลั่นฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจแก้รธน.

"จารุพงศ์" ยก 4 ประเด็น ลุยยื่นแก้ไข รธน.รายมาตรา ลั่นฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจทำได้โดยเป็นความเห็นร่วมกันของทั้งส.ส.และส.ว.

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและส.ว.จะเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราต่อประธานรัฐสภาในวันนี้(20มี.ค.)ว่า ตามแนวทางของสถาบันพระปกเกล้า คณะกรรมการอิสระตรวจสอบความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดอง มีความเห็นตรงกันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สามารถทำได้หากเสนอให้มีการแก้ไขเป็นรายมาตรา แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ได้เสนอคำแนะนำให้แก้ไขเป็นรายมาตรา จึงเป็นที่มาของการที่ฝ่ายนิติบัญญัติเสนอแก้ไขครั้งนี้

เมื่อถามว่า ห่วงสถานการณ์จะมีความรุนแรงจากกระแสคัดค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายจารุงพงศ์ กล่าวว่า การคัดค้านเป็นเรื่องปกติที่คิดไว้อยู่แล้ว แต่การดำเนินการเรื่องนี้ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจที่จะทำได้โดยเป็นความเห็นร่วมกันของทั้ง ส.ส.และส.ว. เมื่อทำแล้วมีกระบวนการสอบถามความเห็นของประชาชนอย่างถูกต้องชัดเจนไม่ออกนอกกรอบไม่มีความรุนแรงย่อมสามารถทำได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการให้สัมภาษณ์นายจารุพงศ์ได้มอบเอกสารเหตุผลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราจัดทำโดยพรรคเพื่อไทย ระบุเหตุผลของการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยมีสาระสำคัญอธิบายว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มีข้อบกพร่องใน 4 ประเด็น คือ มีที่มาไม่ชอบธรรม โดยมีที่มาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่ไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริงเนื่องจากอยู่ในช่วงรัฐประหาร บางมาตราขัดต่อหลักนิติธรรม เช่น มาตรา 68 และมาตรา 237 วรรคสอง การยุบพรรคการเมือง ,การเพิกถอนสิทธิทางการเมือง ฯลฯ ,บางมาตราขัดต่อหลักประชาธิปไตย เช่นมาตราที่เกี่ยวกับที่มาของวุฒิสภา และปัญหาเกี่ยวกับการทำสัญญากับต่างประเทศ (มาตรา 190 )


สุกำพล'ให้เร่งแก้รธน.รายมาตรา หยุดตั้งแง่

สุกำพล"หนุนเร่งแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ย้ำแก้แล้วต้องดีขึ้น จี้หยุดตั้งแง่ไม่เอาด้วย

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม กล่าวถึง กรณีที่ส.ส.พรรคเพื่อไทยและส.ว.สรรหาเตรียมยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อแก้แล้วต้องดีขึ้น เราต้องเข้าใจว่าที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และองค์กรต่าง ๆ มาได้อย่างไรจึงต้องหาวิธีการที่ได้มาของรัฐธรรมนูญให้ดีและถูกต้อง รวมถึงขอบเขตของกฎหมายที่กำหนดไว้ ทั้งนี้มั่นใจว่า หากมีการแก้ไขต้องทำให้ดีขึ้น และต้องปล่อยไปตามเกม

ที่สำคัญ เมื่อมีเวทีพูดคุยควรให้น้ำหนักตรงนี้ แต่ไม่ควรมาตั้งแง่ว่า รัฐธรรมนูญเป็นเอย่างนี้แล้วไม่เอาด้วย เราต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ต้องทำใจให้ได้ ส่วนจะแก้เป็นรายมาตราหรือแก้ทั้งฉบับ ไม่ขอแสดงความเห็น แต่ควรรีบแก้กันเสียที เริ่มทำกันได้แล้วและต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าจะต้องอยู่ในกรอบกติกาอย่างไร เราต้องทำเพื่อคนส่วนใหญ่ทุกคนต้องมีสิทธิเท่าเทียมกัน

เมื่อถามถึงกรณีที่พล.ท.ภารดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ระบุว่า ควรเลื่อนการออกพ.ร.บ.ปรองดอง ไปก่อนเพราะเกรงว่าสถานการณ์การเมืองในเดือนเม.ย.จะรุนแรง พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า เป็นความคิดเห็นของเลขาสมช. อยากถามว่า ถ้าไม่แก้ตอนนี้แล้วจะแก้เมื่อไร เพราะมีการยื่นเรื่องมาแล้ว หากทำได้ก็ต้องทำ ซึ่งพูดในฐานะส่วนตัวไม่ใช่รัฐบาล และตนไม่ได้เป็นส.ส. อย่างไรก็ตามการนิรโทษกรรมต้องทำเพื่อคนส่วนรวม แต่หากไปพุ่งเป้าเพื่อคนคนเดียวก็ไม่ถูกต้อง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แก้ รธน. ยึดสว. ทอนอำนาจศาลฯ

view