สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิด4ทางเลือกป้องบาท ลดผลกระทบศก.

เปิด4ทางเลือกป้องบาท ลดผลกระทบศก.

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



กสิกรไทยเปิด 4 ทางเลือกป้องบาท! ลดผลกระทบเศรษฐกิจ หลังวันนี้แข็งโป๊กในรอบ 16 ปี บอกทุก 1% สะเทือนจีดีพี 0.1-0.3%

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงาน สถานการณ์เงินบาทแข็งค่าปี 2556 ... ประเมินทางเลือกของเครื่องมือ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างรวดเร็วทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 16 ปี และสะท้อนภาพการแข็งค่าที่ฉีกตัวออกจากทิศทางในภาพรวมของสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย

การดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทด้วยเครื่องมือต่างๆ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทางการไทยคงต้องจัดลำดับความสำคัญของโจทย์เศรษฐกิจที่ต้องดูแล และเลือกเครื่องมือที่เหมาะสมเพื่อลดผลกระทบข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ระดับเฉลี่ยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุกๆ 1% จะมีผลกระทบต่อจีดีพีปี 2556 ราว 0.1-0.3%

ณ ขณะนี้ คงต้องยอมรับว่า สถานการณ์ความเคลื่อนไหวของเงินบาทนับจากต้นปี 2556 เป็นไปในจังหวะที่ค่อนข้างรวดเร็ว และเป็นทิศทางที่แตกต่างไปจากหลายสกุลเงินในภูมิภาคเอเชีย โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นทดสอบระดับ 29.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ (ณ วันที่ 20 มีนาคม 2556) ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าสุดในรอบเกือบ 16 ปี ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นแล้ว 5% จากระดับ ณ ปลายปี 2555 ตอกย้ำภาพการแข็งค่าที่ฉีกตัวทิ้งห่างทุกสกุลเงินในเอเชีย

นักลงทุนต่างชาติมีสถานะซื้อสุทธิสะสมในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นไทย 2.59 แสนล้านบาท และ 6.54 พันล้านบาทแล้วนับจากต้นปี 2556 ตามลำดับ

สำหรับ 4 ทางเลือกในการบริหารดูแลค่าเงินบาท ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า 1.การลดส่วนต่างดอกเบี้ยไทยและต่างประเทศ ข้อดี อาจช่วยลดแรงจูงใจในการเพิ่มน้ำหนักลงทุนในตลาดการเงินไทย โดยเฉพาะตราสารหนี้ และช่วยให้ต้นทุนการดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินของธปท.ออกจากระบบเศรษฐกิจลดลง แต่ก็มีข้อเสียเช่นกัน คือ ไม่สามารถรับประกันได้อย่างเด็ดขาดว่าจะสามารถชะลอเงินทุนไหลเข้า และอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงอาจเพิ่มความร้อนแรงของตลาดสินเชื่อภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นประเด็นความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินของประเทศในระยะข้างหน้า

2.การแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศ ข้อดี ชะลอทิศทางการแข็งค่าของค่าเงินบาทได้เป็นระยะ
ลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้ภาคธุรกิจมีเวลาในการปรับตัว ผู้เล่นในตลาดที่มีธุรกรรมขายเงินดอลลาร์ฯ อาจเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการเก็งกำไรจากการแข็งค่าของเงินบาท แต่ก็มีข้อเสีย อาจจะไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทได้ ขณะที่ ผลต่อตลาด/ค่าเงินอาจจะมีจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากธนาคารกลางประเทศชั้นนำของโลกยังคงจุดยืนผ่อนคลายทางการเงิน และปัจจัยพื้นฐานของเงินบาทไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ สถานะของงบดุลธปท. ที่บันทึกยอดขาดทุนในส่วนนี้ต่อเนื่อง

3.มาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุน เช่น มาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น มาตรการภาษีที่เก็บจากกำไร-ดอกผลจากการลงทุน หรือมาตรการภาษีเงินทุนขาออก ข้อดีมีผลโดยตรงต่อกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุน ลดแรงจูงใจในการเก็งกำไรจากการแข็งค่าของเงินบาท ข้อเสีย บิดเบือนกลไกตลาด เป็นการยากที่จะกำหนดระดับความเข้มงวดในการดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุน เพราะส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับผลทางจิตวิทยา

4 ปล่อยตามกลไกตลาด ข้อดี เป็นไปตามกลไกตลาดเสรี ซึ่งอาจช่วยเร่งให้การ Correction ของตลาดการเงินไทยเกิดขึ้นและสิ้นสุดเร็วขึ้น ธปท.ไม่มีภาระต่อเนื่อง ที่เกิดขึ้นจากการแทรกแซง และการดูแลระดับสภาพคล่อง ข้อเสีย ความผันผวนสูงในตลาดการเงิน เงินบาทที่แกว่งตัวมากอาจสร้างความเสียหายต่อภาคการส่งออกของไทย ที่เผชิญกับโจทย์การแข่งขัน และการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของความต้องการจากต่างประเทศ เศรษฐกิจไทยขาดแรงขับเคลื่อน และอาจชะลอตัวกว่าที่ตัวเลขที่ประมาณการไว้


เงินทะลักเข้าไทย บาทแข็งรอบ 5 ปี

เงินไหลเข้าต่อเนื่อง ดันบาทแข็งรอบ 5 ปี เหตุเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง-ปรับเครดิต จับตาอีกทะลุ 29 บาทต่อดอลลาร์ ด้าน ธปท.รับแข็งค่าเร็ว

วานนี้ (19 มี.ค.) ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นมาแตะระดับ 29.31 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากเปิดตลาดที่ระดับ 29.40-29.42 บาทต่อดอลลาร์ โดยขยับไปที่ 29.34 บาทต่อดอลลาร์ ระหว่างวัน ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่แข็งค่าสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2550 โดยค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในตลาดต่างประเทศ (ออฟชอร์) และหากเทียบกับการซื้อขายในประเทศแล้วค่าเงินบาทในระดับ 29.34 บาทต่อดอลลาร์ ถือว่าแข็งค่าสุด นับตั้งแต่ลอยตัวค่าเงินบาท
ขณะที่ ภาพรวมตลาดหุ้นไทย ดัชนีปรับตัวลดแรงในช่วงบ่ายของวันกว่า 30 จุด จากความกังวลสถานการณ์ในไซปรัส และค่าเงินบาทที่แข็งค่า โดยดัชนีปรับขึ้นสูงสุดที่ระดับ 1,601.34 จุด และปรับลดลงต่ำสุดที่ระดับ 1,554.27 ปิดตลาดที่ระดับ 1,568.25 จุด ปรับลง 23.40 จุด หรือ 1.47% มูลค่าการซื้อขาย 7.06 หมื่นล้านบาท

นักบริหารเงินจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า เงินบาทแข็งค่าจากเงินทุนที่ยังคงไหลเข้าตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่จะมีการลงทุนและไทยได้รับการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาดูแลค่าเงินที่ระดับ 29.34 บาท ทำให้เงินบาทเริ่มทรงตัว

ค่าบาทต่อดอลลาร์ ช่วงท้ายตลาด อยู่ที่ระดับ 29.34-29.36 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับกรอบเงินบาทในระยะสั้น ต้องจับตาที่ระดับ 29.25 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับทดสอบสำคัญ หากหลุดไปได้จะไปถึงระดับ 29.00 บาท

นายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทวานนี้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้มาก โดยปัจจัยสำคัญคือตลาดเกิดความไม่สมดุล มีแต่แรงเทขายค่าเงินดอลลาร์เป็นหลัก ประกอบกับตั้งแต่ต้นปีมีเงินทุนไหลเข้าในตลาดพันธบัตรรัฐบาลและเอกชนจำนวนมากถึง 8 แสนล้านบาท

"เงินบาทที่หลุด 29.50 บาทต่อดอลลาร์ กำลังทดสอบระดับถัดไปที่ระดับ 29.00 บาท ซึ่งมีโอกาส แต่หากมีมาตรการดูแลค่าเงินบาทออกมา ควรจะเน้นที่ตลาดพันธบัตรระยะสั้นเป็นหลัก เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด เพราะสะท้อนการเก็งกำไรชัดเจนมากกว่าลงทุนจริง"

ด้าน นายธีรพล รัตตกุล ผู้จัดการฝ่ายค้าเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าเงินทุนที่ไหลเข้าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้บาทแข็งค่า เพราะตลาดมองว่าเงินบาทต้องแข็งอยู่แล้ว จึงทำนิวไฮตลอด และหลุดระดับสำคัญมาเรื่อยๆ จนระดับนี้ถือว่าแข็งค่าที่สุดนับตั้งแต่ลอยตัวค่าเงินบาทในปี 2540 ซึ่งก็มีความชัดเจนว่าจะแข็งค่าขึ้นไปอีก

"ระดับ 29.00 บาท เป็นระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ตลาดกำลังมอง คาดว่ามีโอกาสจะได้เห็นอีกไม่เกิน 2 สัปดาห์นี้"

ธปท.ชี้เป็นไปตามกลไกตลาด

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.จะดูแลค่าเงินตามความเหมาะสม และการปล่อยให้เงินบาทแข็งตามกลไกตลาด ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการดูแลค่าเงิน เพราะถ้าเงินบาทแข็งค่าเกินไปก็จะอ่อนตัวลงมาเอง

ทั้งนี้ แม้ว่าค่าเงินจะเปลี่ยนแปลงมาก และรวดเร็วนั้น คงต้องรอดูอีกสักระยะหนึ่ง เพราะว่ายังเป็นเพียงแค่วันเดียว โดยเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากข่าวเกี่ยวกับตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่ออกมาค่อนข้างดี ทำให้มีเงินไหลเข้ามาลงทุน

"คงต้องรอดูอีกสักระยะ ช่วงนี้ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยค่อนไปทางดี เขาจึงเข้ามาลงทุน"

อย่างไรก็ตาม เห็นว่าการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงนี้ไม่สร้างความกังวลใจให้กับธปท. และยืนยันว่ายังไม่มีการเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวาระเร่งด่วนแต่อย่างใด

ไซปรัสป่วนตลาดบอนด์ช่วงสั้น

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่ากรณีปัญหาที่เกิดขึ้นกับไซปรัสหลังมีผู้ฝากเงินจำนวนมาก แห่ถอนเงินฝาก เนื่องจากกังวลว่าจะมีการเก็บภาษี ส่งผลกระทบกับตลาดพันธบัตรในช่วงสั้น โดยเห็นได้จากเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (บอนด์ ยิลด์) ปรับตัวลดลง เนื่องจากนักลงทุนมีการโยกเงินเข้าซื้อพันธบัตรสหรัฐ เพื่อป้องกันความเสี่ยงและกดดันบอนด์ ยิลด์ ของไทยระยะยาว และระยะกลางปรับตัวลงตาม

"เชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับไซปรัส กระทบตลาดพันธบัตรในช่วงสั้น เพราะไซปรัสเป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก"

ต่างชาติถือตราสารหนี้เพิ่มต่อเนื่อง

ส่วนภาพรวมการลงทุนตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติย้อนหลัง 5 ปี พบว่า มีอัตราการขยายตัวต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นจาก 76,100 ล้านบาท ในปี 2551 เพิ่มเป็น 811,524 ล้านบาท ในวันที่ 15 มี.ค. 2556 หากคิดเป็นสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติถือครองตราสารหนี้ เมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ออกจะพบว่า ในปี 2551 ต่างชาติถือครองตราสารหนี้ 1.5% ปี 2552 ลดลงมาเหลือเพียง 1.2% ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐ ทำให้มีการถือครองลดลง อย่างไรก็ตาม ในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 4.1% ปี 2554 อยู่ที่ 5.9% ปี 2555 อยู่ที่ 8.3% และในปี 2556 ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-15 ม.ค. เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 9%

นางสาวอริยา กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ต่างชาติถือครองตราสารหนี้เพิ่มขึ้นทุกปี ยกเว้นปี 2552 ที่การถือครองลดลง 6.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยลดลงมาเหลือเพียง 7.6 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2551 ถือครอง 7.6 หมื่นล้านบาท

ในปี 2553 เป็นช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ หรือ QE โดยมียอดซื้อสุทธิกว่า 2.8 แสนล้านบาท ปี 2554 เพิ่มเป็น 4.2 แสนล้านบาท ปี 2555 เพิ่มเป็น 7.1 แสนล้านบาท และในปี 2556 จนถึงเมื่อวันที่ 15 มี.ค. เพิ่มเป็น 8.1 แสนล้านบาท

ชี้ยังไม่พบผิดปกติจากบาทแข็ง

นางสาวอริยา กล่าวว่า ผู้เล่นในตลาดตราสารหนี้ส่วนใหญ่ของไทยยังคงเป็นนักลงทุนสถาบัน กองทุน บริษัทประกัน และธนาคารพาณิชย์ และการที่มีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนตราสารหนี้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเข้ามาหากำไรส่วนต่างดอกเบี้ย (สเปรด) ที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ยังไม่เห็นสัญญาณการย้ายเข้ามาลงทุน หรือเข้ามาเก็งกำไรในตลาดตราสารหนี้ เพราะมูลค่าการซื้อขายยังเป็นปกติ ซึ่งในช่วงนี้เงินทุนไหลเข้าน้อยกว่าในช่วงเดือนม.ค. ที่มีเงินไหลเข้าจำนวนมาก

นักลงทุนอ่อนไหวฉุดหุ้นดิ่ง

สำหรับตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงแรงเมื่อวานนี้ (19 มี.ค.) นักวิเคราะห์ระบุว่านักลงทุนไม่มีความมั่นใจในทิศทางตลาด เนื่องจากตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและเกรงว่าจะมีมาตรการสกัดเงินทุนออกมา หลังจากค่าเงินบาทแข็งค่า
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่าตลาดหุ้นไทยที่ปรับลดลงแรง มาจากความอ่อนไหวของนักลงทุน ที่กังวลว่าตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นสูงแล้ว อาจจะมีการปรับฐานลดลง ดังนั้นเมื่อมีเหตุการณ์หรือปัจจัยลบเกิดขึ้น จึงเทขายออกมา โดยปัจจัยลบที่นักลงทุนกังวลหลักๆ มาจากสถานการณ์ในไซปรัส มากกว่าความ

กังวลเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

"นักลงทุนกังวลอยู่แล้ว แค่ใบไม้ไหวก็พร้อมจะเทขาย ประกอบกับมีความกังวลสถานการณ์ในไซปรัส ส่วนเรื่องค่าเงินบาท ที่มีความกังวลว่าธปท. อาจจะออกมาตรการดูแลค่าเงินนั้น ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะหากมีสัญญาณ ตลาดเงินจะรับรู้ก่อน ค่าเงินก็จะลง แต่ค่าเงินบาทก็ยังแข็งค่าขึ้นอยู่"

ด้าน นายกวี ชูกิจเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยที่ปรับลดลงกว่า 30 จุด คาดว่าเป็นผลจากการที่นักลงทุนมีความกังวลว่า ธปท.จะออกมาตรการดูแลค่าเงินบาท เพื่อป้องกันไม่ให้แข็งค่าไปมากกว่านี้

ยูโรโซนแนะไซปรัสเลิกเก็บภาษีเงินฝาก

ขณะที่ความเคลื่อนไหวในไซปรัส ซึ่งกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ และมีแนวคิดที่จะเก็บภาษีเงินฝากนั้นรัฐมนตรีคลังยูโรโซนแถลงหลังเสร็จสิ้นการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ ที่ประชุมมีความเห็นว่าผู้ฝากเงินรายย่อยควรได้รับการปฏิบัติแตกต่างจากผู้ฝากเงินรายใหญ่ พร้อมยืนยันถึงความสำคัญของการรับประกันเงินฝากต่ำกว่า 100,000 ยูโร

แหล่งข่าวยูโรโซน เผยว่า แถลงการณ์ดังกล่าวน่าจะหมายความถึงการยกเลิกแผนการเก็บภาษี 6.75% สำหรับผู้มีเงินฝากต่ำกว่า 1 แสนยูโร ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 3 ใน 5 ของบัญชีเงินฝากทั้งหมดในไซปรัส

มีบางกระแสรายงานว่ารัฐมนตรีคลังยูโรโซน แนะให้จัดเก็บภาษีเงินฝากเพิ่มขึ้นเป็น 15.6% สำหรับผู้ฝากที่มีเงินในบัญชีสูงกว่า 100,000 ยูโร จากเดิมที่จะจัดเก็บภาษีเงินฝาก 6.7% สำหรับบัญชีที่มีเงินฝากต่ำกว่า 100,000 ยูโร และ 9.9% สำหรับบัญชีเงินฝากสูงกว่า 100,000 ยูโร

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของไซปรัส ล่าสุดได้ปิดธนาคารจนถึงวันพฤหัสบดี (21 มี.ค.) เป็นอย่างน้อย หลังจากประชาชนแห่ไปกดเงินออกจากเอทีเอ็ม นอกจากนั้น ชาวไซปรัสหลายร้อยคนยังไปชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภา เพื่อแสดงความไม่พอใจแผนการเก็บภาษีเงินฝาก ขณะที่ตลาดหุ้นไซปรัสยังปิดทำการอยู่เช่นกัน

นักวิเคราะห์คนหนึ่ง กล่าวว่า หากผู้กำหนดนโยบายยุโรปกำลังมองหาทางบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อระบบธนาคาร พวกเขาก็ดูเหมือนว่าทำสำเร็จกับแผนการเก็บภาษีเงินฝาก

คาดสภาไม่ผ่านแผนเก็บภาษีเงินฝาก

นายคริสตอส สไตลิอานิเดส โฆษกรัฐบาลไซปรัส คาดการณ์ว่า ร่างกฎหมายเก็บภาษีเงินฝากจะไม่ได้รับการอนุมัติจากสภาที่มี ส.ส. อยู่ทั้งหมด 56 คน เพราะพรรคการเมือง 3 พรรคแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุนร่างกฎหมายจัดเก็บภาษีดังกล่าว ในขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลอีกพรรค ก็กล่าวเช่นกันว่า ไม่สามารถที่จะสนับสนุนแผนการดังกล่าวได้ ทำให้ไม่ชัดเจนจะมีการเลื่อนลงคะแนนเสียงออกไปอีกหรือไม่

เมื่อวันจันทร์ (18 มี.ค.) ประธานาธิบดีนิคอส สตาซิอาเดซ ได้โทรศัพท์ขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากนายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิล ของประเทศเยอรมนี และเขาได้โทรศัพท์หาผู้นำประเทศเยอรมนีอีกครั้งเมื่อวานนี้ (19 มี.ค.) นอกจากนี้ โฆษกรัฐบาลไซปรัส ยังกล่าวว่า ประธานาธิบดีอนาสตาซิอาเดซ อาจจะขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียด้วย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปิด ทางเลือก ป้องบาท ลดผลกระทบศก.

view