สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สินเชื่อ สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน (2) : เขื่อนไซยะบุรีที่ไร้หลักอีเควเตอร์

สินเชื่อ สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน (2) : เขื่อนไซยะบุรีที่ไร้หลักอีเควเตอร์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ปัญหาใหญ่ประการหนึ่งของการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งมักต้องอาศัยเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่

คือ ที่ผ่านมารัฐแทบไม่เคยคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสิทธิของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบอย่างเพียงพอ ขณะที่ไม่เพียงแต่คุ้มครองสิทธิของนักลงทุนและบริษัทผู้ดำเนินโครงการ แต่ยังมักจะออกมาตรการจูงใจต่างๆ มากมาย เพราะกลัวจะสูญเสียเม็ดเงินลงทุนมากกว่ากลัวชาวบ้านเดือดร้อนและระบบนิเวศเสียหาย

ความไม่สมดุลนี้คือบ่อเกิดของ “การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน” ในอดีต ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นนับไม่ถ้วน

รายงานประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) “ที่ดี” จึงหมายถึงรายงานที่ระบุและประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการ ก่อน ที่โครงการจะได้รับอนุมัติให้สร้าง

“หลักอีเควเตอร์” (Equator Principles, http://www.equator-principles.com) คือชุดมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับการยอมรับสูงสุดในโลก เป็นมาตรฐานโดยสมัครใจ ตั้งอยู่บนมาตรฐานของบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: ไอเอฟซี) องค์กรลูกของธนาคารโลก ปัจจุบันมีสถาบันการเงิน 79 แห่ง จาก 32 ประเทศทั่วโลกร่วมลงนามในหลักอีเควเตอร์ ปล่อยสินเชื่อรวมกันกว่าร้อยละ 90 ของสินเชื่อโครงการทั้งโลก

น่าเสียดายที่ยังไม่มีธนาคารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใดแม้แต่ธนาคารเดียวร่วมลงนามรับหลักอีเควเตอร์ไปใช้ในกระบวนการปล่อยสินเชื่อ ถึงแม้ว่าธนาคารที่ลงนามไปแล้วจำนวนมากจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หลักอีเควเตอร์เป็นประโยชน์ต่อธนาคารเพราะช่วยระบุ “ความเสี่ยง” และ “ประเด็นร้อน” ต่างๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบโครงการ และช่วยให้ธนาคารได้พูด “ภาษา” เดียวกันเกี่ยวกับประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม จากที่ก่อนหน้านี้ไม่มีมาตรฐานกลางใดๆ ในเรื่องนี้เลย แต่ละธนาคารใช้วิจารณญาณของตัวเอง

หลายธนาคารบอกว่าหลักอีเควเตอร์ช่วยปรับปรุงกลไกบริหารจัดการความเสี่ยงภายในของธนาคาร ซึ่งเป็นหัวใจของโมเดลธุรกิจธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ยังช่วยลด “ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง” เพราะหลักอีเควเตอร์เป็นมาตรฐานระดับสูง การนำไปใช้โดยเฉพาะในประเทศที่กฎหมายประชาพิจารณ์และธรรมาภิบาลยังไม่ได้มาตรฐานสากล ทำให้ธนาคาร “ดูดี” ยิ่งขึ้นในสายตาประชาคมโลก และลดความไม่ไว้วางใจของคนในชุมชนลง

พูดง่ายๆ คือ การใช้หลักอีเควเตอร์เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของธนาคาร และเป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ตั้งแต่ลูกหนี้ ชุมชน สิ่งแวดล้อม รัฐ ฯลฯ

น่าเสียดายที่เขื่อนไซยะบุรีในลาว โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำมูลค่ากว่าแสนล้าน นอกจากจะไม่ใช้หลักอีเควเตอร์ ยังน่าข้องใจว่าเป็นการ “ส่งออก” กระบวนการด้อยมาตรฐานจากไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ด้อยพัฒนากว่าหรือไม่

โครงการไซยะบุรี มี 4 บริษัทจากไทยร่วมลงทุน ประกอบด้วย 1. บริษัท ช.การช่าง จำกัด ถือหุ้น 57.5% 2. บริษัท นที ซินเนอร์ยี่ จำกัด (บริษัทลูก ปตท.) ถือหุ้น 25% 3. บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (บริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) ถือหุ้น 12.5% และ 4. บริษัท พี.ที. คอนสตัคชั่น แอนด์ อิริเกชั่น จำกัด ถือหุ้น 5%

เขื่อนนี้ใช้เงินกู้ทั้งโครงการ 115,000 ล้านบาท ปล่อยกู้โดยธนาคารไทยล้วนหกแห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ กสิกรไทย กรุงไทย ไทยพาณิชย์ ทิสโก้ และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์)

ไซยะบุรีเป็นเขื่อนแรกใน 11 โครงการเขื่อนที่มีการวางแผนก่อสร้างในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ในลาว พรมแดนไทย-ลาว และกัมพูชา เป็นหัวใจของแผนระดับชาติของลาวที่จะเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” โดยจะผลิตไฟฟ้าขนาด 1,260 เมกะวัตต์ ขายไฟฟ้าร้อยละ 95 ให้แก่ไทย

ตอนนี้ผู้เขียนลองเปรียบเทียบหลักอีเควเตอร์แต่ละข้อกับกรณีโครงการไซยะบุรี (ดูตารางประกอบในไฟล์แนบ) ตอนหน้าจะมาว่ากันต่อว่า ทั้งหมดนี้หมายความว่าอะไร


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สินเชื่อ สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน เขื่อนไซยะบุรี ไร้หลัก อีเควเตอร์

view