สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จับตา ธปท.จัดยา สกัดบาทแข็ง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ดำรงเกียรติ มาลา

ถึงตอนนี้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าพรวดพราดขึ้นมาจากต้นปีแล้ว 56% กำลังกลายเป็นปัญหาหนักอกให้กับรัฐบาลในการดูแลไม่ให้กระทบกับเศรษฐกิจภาพ รวม

ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาทดสอบระดับ 29.15 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ณ วันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นระดับที่แข็งค่าสุดในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่มีการปล่อยลอยตัวในปี 2540

ที่สำคัญเป็นการแข็งค่าอย่างรวดเร็วสวนทางกับค่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค อาทิ อินโดนีเซีย เงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าลง 1.1% สิงคโปร์ ดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง 2.4% และริงกิต มาเลเซีย ที่อ่อนค่าลง 2.2%

ขณะเดียวกันเงินบาทยังแข็งค่าเร็วกว่าสกุลเงินในภูมิภาคที่มีแนวโน้มแข็ง ค่าขึ้นด้วยกัน อาทิ ฟิลิปปินส์ เปโซที่แข็งค่าขึ้นเพียง 0.7%

ทำให้กลุ่มผู้ที่มีผลกระทบโดยตรงอย่างผู้ส่งออก ซึ่งหลายรายเริ่มมีไข้อ่อนๆ แล้ว เริ่มถามหา “ยา” หรือมาตรการดูแลจาก “หมอ” อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีอำนาจดูแลตามกฎหมาย เนื่องจากเกรงว่าอาการจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น จนทำให้ผู้ส่งออกไทยต้องนอนซมพิษไข้กันระนาว

ธุรกิจที่เชื่อว่าจะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทมากที่สุด คือ กลุ่มผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ข้าว ยาง น้ำตาล ผลไม้และผลไม้สำเร็จรูป กุ้งและอาหารทะเลแช่แข็ง ไก่แช่แข็ง ที่กำไรลดลงตามอัตราแลกเปลี่ยน

รองลงมาเป็นกลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า รองเท้าและชิ้นส่วน โรงแรม ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับยาง เครื่องหนัง ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องประดับและอัญมณี ลดหลั่นกันไป

ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ต่างได้มีการซื้อและจองสัญญาอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า หรือฟอร์เวิร์ด เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองไว้แล้ว จึงถือว่าเป็นกลุ่มที่ยังไม่น่ากังวล

ทว่า กลุ่มเอสเอ็มอีหรือธุรกิจรายย่อย ส่วนใหญ่กลับยังมีการป้องกันความเสี่ยงในสัดส่วนน้อย จึงถือเป็นกลุ่มที่น่าห่วง เพราะมีภูมิต้านทานต่ำ จึงแข่งขันราคาไม่ได้

ธุรกิจที่มีภูมิต้านทานต่ำเหล่านี้ ถือเป็นกลุ่มที่ทางการจำเป็นต้องอัดยาเข้าไปดูแล ซึ่งยาขนานต่างๆ ในมือหมออย่าง ธปท. ที่ถูกหยิบยกมาพูดกันมากขณะนี้ มีตั้งแต่ยาขนานเบาอย่างการเข้าแทรกแซงจาก ธปท.เพื่อดูแลความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเชื่อว่า ธปท.ได้มีการฉีดยานี้แบบเงียบๆ มาเป็นระยะอยู่แล้ว

ขณะเดียวกันยาสรรพคุณครอบจักรวาลที่มีผลข้างเคียงสูงอย่างการลดดอกเบี้ยนโยบายก็มีการพูดถึงมาโดยตลอด

ล่าสุดเริ่มมีการพูดถึงยาแรงอย่างการนำมาตรการทางภาษีมาใช้เพื่อชะลอการไหลเข้าของเงินร้อนหนาหูขึ้น

แน่นอนว่ายาทุกประเภทย่อมมีผลข้างเคียง การดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทด้วยเครื่องมือเหล่านี้ก็ย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสียเช่นกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้โพรงลงไปชัดว่า “การลดส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยไทยและต่างประเทศ” อาจลดแรงจูงใจในการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดการเงินไทย โดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้ได้

ทว่า ข้อเสียของเครื่องมือนี้ คือ ไม่สามารถรับประกันได้อย่างเด็ดขาดว่า จะชะลอหรือยุติกระแสการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติได้

ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงอาจไปเพิ่มความร้อนแรงของตลาดสินเชื่อภาคครัวเรือน อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นการเปิดประเด็นความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินของประเทศในระยะข้าง หน้า

นี่คือสิ่งที่ ธปท.แสดงความกังวลอย่างชัดเจน

ขณะที่ “การแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศ” ด้วยการเข้าซื้อเงินสกุลเหรียญสหรัฐ มีข้อดีในแง่การชะลอทิศทางการแข็งค่าของค่าเงินบาทได้แค่ระยะหนึ่ง เพื่อให้ภาคธุรกิจมีเวลาในการปรับตัว และทำให้ผู้เล่นในตลาดระวังในการเก็งกำไรค่าเงิน

แต่ข้อเสีย คือ อาจไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทได้ ผลต่อตลาดและค่าเงินอาจจะมีจำกัด โดยเฉพาะในยามที่ธนาคารกลางประเทศชั้นนำของโลกยังคงจุดยืนผ่อนคลายทางการ เงินและปั๊มเงินออกมา

ที่สำคัญการเข้าแทรกแซงของ ธปท. ย่อมสะท้อนไปถึงสถานะงบดุลของ ธปท.ในอนาคตที่อาจเป็นตัวแดง

หากมีการนำยาแรงอย่าง “มาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย” เช่น มาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น มาตรการภาษีที่เก็บจากกำไรการลงทุนมาใช้ก็อันตรายไม่น้อย

แน่นอนว่าข้อดีของวิธีนี้ คือ มีผลโดยตรงต่อกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้ชะงัด ลดแรงจูงใจในการเก็งกำไรเงินบาทได้ทันที

แต่ข้อเสีย คือ เป็นการบิดเบือนกลไกตลาด และยากที่จะกำหนดระดับความเข้มงวดในการดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุน เพราะมีผลทางจิตวิทยาจนอาจแตกตื่นกันทั้งระบบ ทั้งตลาดหุ้น ตลาดการเงิน ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วที่วันเดียวหุ้นร่วงนับร้อยจุด มูลค่าหุ้นลดฮวบฮาบ นักลงทุนจนกันทั้งเมือง

สุดท้าย คือ “ปล่อยตามกลไกตลาด” ข้อดีของวิธีนี้ คือ กลไกเสรีจะช่วยเร่งให้การสร้างสมดุลของตลาดการเงินไทยเกิดขึ้นและสิ้นสุด เร็วขึ้น นอกจากนี้ ธปท.จะไม่มีภาระต่อเนื่องที่เกิดขึ้นจากการแทรกแซง

อย่างไรก็ดี ข้อเสียคือเงินบาทที่แกว่งตัวมากอาจสร้างความเสียหายต่อภาคการส่งออกของไทย ที่กำลังเผชิญกับโจทย์การแข่งขัน

ดังนั้น การปรุงยาออกมาแก้ปัญหาในเรื่องค่าเงินจึงต้องพิถีพิถันและรัดกุม แต่ไม่ทำก็ไม่ได้

เพราะมีการประเมินกันว่า ค่าเฉลี่ยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุกๆ 1% อาจมีผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจราว 0.1-0.3%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า กรณีพื้นฐานที่ค่าเฉลี่ยเงินบาทอยู่ที่ 29.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ 4.8% และการส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 10.5%

กรณีที่ค่าเฉลี่ยเงินบาทอยู่ที่ 28.90 บาทต่อเหรียญสหรัฐ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้แค่ 4.2% การส่งออกขยายตัวได้ 6.5%

กรณีเลวร้ายสุดหากเงินบาทแข็งค่าไปถึงระดับ 27.90 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เศรษฐกิจจะขยายตัวเพียง 3% การส่งออกจะเติบโตเพียง 2.5%

แม้ล่าสุด ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. จะออกมายืนยันว่า ธปท.ยังไม่จำเป็นต้องเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อหารือถึงมาตรการดูแลการเคลื่อนไหวของเงินบาท แต่ก็ยอมรับว่าค่าเงินบาทในระยะนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วกว่าปกติ เป็นเรื่องที่ ธปท.จะติดตามดูอย่างใกล้ชิด

ข้อความดังกล่าวได้ส่งผลทางจิตวิทยาต่อนักลงทุน และส่งผลให้การซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวานนี้ (20 มี.ค.) เคลื่อนไหวในแดนลบจากความกังวลว่า ธปท.จะมีการออกมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้า โดยปิดตลาดที่ 1,568.25 จุด ปรับตัวลดลง 23.4 จุด

การใช้จิตวิทยาสู้กับจิตวิทยานี้ ถือเป็นยาอีกขนานที่ ธปท.สามารถนำมาใช้ได้ในช่วงนี้ ควบคู่ไปกับการเข้าแทรกแซงเป็นครั้งคราว

จุดที่ต้องจับตา คือ หากค่าเงินบาทยังคงปรับตัวแข็งค่าในอัตราที่เร็วกว่าภูมิภาคเช่นนี้ ท้ายที่สุดเชื่อว่า ธปท.จะต้องอัดยาเพิ่มด้วยการนำเครื่องมือทางการเงินอื่นเข้ามาใช้อย่างหลีก เลี่ยงไม่ได้

เครื่องมือที่คาดว่า ธปท.น่าจะนำมาใช้มากที่สุด คือ มาตรการควบคุมตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อสกัดจุดเงินร้อนที่เข้ามาเก็งกำไรจากส่วนต่างของค่าเงิน โดยพักเงินไว้ในตราสารหนี้กินผลตอบแทนอีกทอดหนึ่ง

ข้อมูลล่าสุด ระบุว่า ขณะนี้เงินทุนต่างชาติมีการถือครองตราสารหนี้ไทยแล้วรวมเป็นมูลค่าราว 8.1 แสนล้านบาท ซึ่งนับเป็นสถิติใหม่ โดยเป็นการซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปีเพียงอย่างเดียวถึง 2.59 แสนล้านบาท และยังพบว่ามีการถือตราสารระยะสั้นเพิ่มขึ้น จุดนี้จึงน่าจะเป็นจุดที่ ธปท.กังวลที่สุด

การใช้ยาแรงเฉพาะจุดจึงน่าจะมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยที่ความแรงของยาไม่มีผลข้างเคียง ทำให้นักลงทุนที่หวังจะเข้ามาลงทุนจริงๆ ถอยหนีไปด้วย

ขณะที่ทางเลือกอย่างการลดดอกเบี้ย เชื่อว่า ธปท.จะไม่เข้าไปแตะโดยไม่จำเป็น เพราะที่ผ่านมาได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่า ไม่ต้องการกระตุ้นให้เกิดหนี้ครัวเรือนในระบบเพิ่มขึ้น และมีความกังวลต่อภาวะฟองสบู่ ที่ต้องใช้เวลาแก้ไขที่ยาวนาน

ที่สำคัญการลดดอกเบี้ยเพียง 0.25-0.50% ยังไม่แน่ว่าจะช่วยชะลอเงินทุนไหลเข้าได้ เนื่องจากเงินที่ไหลเข้ามาในขณะนี้หวังหากำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าผล ตอบแทนจากดอกเบี้ย

การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพในภาวะที่มีความผันผวนสูง ถือเป็นโจทย์หินของ ธปท.ที่จะต้องทำ

เพียงแต่จะใช้ยาสูตรไหนเท่านั้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จับตา ธปท.จัดยา สกัด บาทแข็ง

view