สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บาทแข็งรอบ16ปีจ่อหลุด29ธปท.รับแข็งเร็ว

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ค่าเงินบาทแข็งค่าทุบสถิติรอบ 16 ปี นักวิเคราะห์ชี้หากหลุด 29 บาท/ดอลลาร์ "กิตติรัตน์"ยันไม่มีมาตรการดูแลเป็นพิเศษ "ประสาร" รับบาทแข็งเร็ว

วานนี้ (20 มี.ค.) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจมาหารือสถานการณ์เศรษฐกิจประจำสัปดาห์ ขณะที่ตลาดเงินและตลาดทุนค่อนข้างผันผวน โดยค่าเงินบาทแข็งค่าที่ 29.06/09 บาทต่อดอลลาร์ เป็นระดับที่แข็งค่ามากสุดในรอบเกือบ 16 ปี ขณะที่ตลาดหุ้นวิตกแทรกแซงค่าบาท นักลงทุนเทขายเป็นวันที่สอง ดัชนีลดลง 24.58 จุด อยู่ที่ 1543.67 แต่เทียบกับต้นปี หุ้นไทยยังปรับขึ้น 13.86% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

นักบริหารเงินจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า ค่าเงินบาทวานนี้ (20 มี.ค.) เปิดตลาดมาปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่องจากวันก่อนหน้า โดยเปิดตลาดที่ระดับ 29.13-29.15 บาทต่อดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวทรงตัว ก่อนจะมาแข็งค่าอีกครั้งในช่วงปลายตลาด เนื่องจากมีแรงซื้อจากต่างชาติเข้ามาต่อเนื่อง ทำให้เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 29.06-29.09 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าที่สุดในรอบ 16 ปี โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นแล้ว 5%

"วันนี้มีสัญญาณการเข้ามาดูแลค่าเงินบาทจาก ธปท. เล็กน้อย แต่ไม่มาก เพราะแรงของเงินทุนที่ไหลเข้าแรงมาก คงสู้ไม่ได้ต้องปล่อยเลยตามเลย แล้วค่อยออกมาตรการมาทีเดียว ซึ่งก็คาดว่าจะมีการส่งสัญญาณให้ตลาดรับรู้ก่อนและไม่รุนแรงมากนัก ส่วนดอกเบี้ยก็อาจปรับลดลง แต่การลดดอกเบี้ยคงได้ผลเล็กน้อยเท่านั้นเพราะเงินทุนยังไหลเข้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาษีนิติบุคคลที่ปรับลดลงด้วย"

ส่วนแนวโน้มเงินบาทในระยะถัดไปค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าได้อีก โดยมีระดับทางเทคนิคสำคัญอยู่ที่ 29.00 บาทต่อดอลลาร์ หากหลุดระดับดังกล่าวไปได้จะเห็นเงินบาทแข็งค่าลงไปอย่างรวดเร็ว จึงหวังว่าในระยะสั้นอาจมีการรีบาวนด์กลับขึ้นมาอ่อนค่าได้เล็กน้อยที่ระดับ 29.20 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ สถิติการแข็งค่าของค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่ามาในระดับปัจจุบันนั้น สามารถนับได้ 2 สถิติคือแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี หรือแข็งค่าที่สุดในรอบ 16 ปี เพราะนับตั้งแต่ลอยตัวค่าเงินบาทในปี 2540 เป็นต้นมาค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับ 25 บาทต่อดอลลาร์ ลงไปถึงระดับ 50 บาทต่อดอลลาร์ โดยช่วง 16 ปีที่ผ่านมาการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทและดอลลาร์ที่อยู่ในไทย (ON SHORE) ค่อย ๆ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาจนถึงระดับ 29.15 บาทต่อดอลลาร์ในขณะนี้ถือว่าแข็งค่าที่สุด

ในช่วงที่ไทยประกาศใช้มาตรการกันสำรองเงินลงทุนจากต่างประเทศ 30% เพื่อป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท เมื่อปลายปี 2549 ทำให้เกิดสภาพการซื้อขายเงินบาทออกเป็น 2 ตลาดด้วยกัน คือ ตลาดที่ซื้อขายในประเทศ (ON SHORE) และตลาดที่ซื้อขายเงินบาทในต่างประเทศ (OFF SHORE) มีการกำหนดราคาซื้อขายที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะตลาดออฟชอร์ที่มีสภาพคล่องเงินบาทน้อย โดยช่วงปลายปี 2550 ค่าเงินในตลาดออฟชอร์แข็งค่าถึงระดับ 29.30 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อย้อนดูสถิติค่าเงินบาทแล้ว จึงพบว่าค่าเงินบาทเคยแข็งค่าในระดับดังกล่าวเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา

"กิตติรัตน์"ยันไม่มีมาตรการพิเศษ

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมว่ารัฐบาลหรือกระทรวงการคลังจะไม่มีมาตรการเป็นพิเศษในการดูแลค่าเงินบาทที่ปรับค่าแข็งค่าในขณะนี้ เพราะจะเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่ให้ถือเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะดูแลให้ค่าเงินมีเสถียรภาพ ซึ่งได้หารือกับทางธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่เป็นประจำในการดูแลค่าเงินบาท

"การที่รัฐบาลจะออกมาตรการผิดธรรมชาติ จะสร้างความไม่เชื่อมั่นต่อประชาคมโลกว่า รัฐบาลชอบเข้าไปเกี่ยวข้องเรื่องนี้ ซึ่งผมก็ไม่เคยเสนอแนะให้แบงก์ชาติกดดอกเบี้ยต่ำแบบผิดธรรมชาติ เพียงแต่บอกดอกเบี้ยมันถูกดันให้สูงผิดธรรมชาติ ดังนั้น ทำให้ใกล้ธรรมชาติอีกหน่อย จะช่วยให้ภาวการณ์ต่างๆ ดีขึ้น และไม่เคยพูดว่า การลดดอกเบี้ยเป็นนโยบายเดียวที่ต้องทำและได้ผล เพราะเรียนไปแล้วว่า เรื่องอื่นที่ควรทำ รัฐบาลก็ทำ เช่น การให้สิทธิประโยชน์เอกชนทางภาษีสำหรับการนำเข้าเครื่องจักร ก็เป็นเรื่องที่ดำเนินการในชั้นบีโอไอ"

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า การติดตามประคับประคองเสถียรภาพค่าเงินเป็นเรื่องสำคัญ แม้ภาคส่งออกอาจไม่ได้มีความสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นภาคสำคัญต่อการจ้างงาน ซึ่งหวังว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทบทวนข้อกังวลของรัฐบาล และไม่มองในลักษณะที่ภาคการเมืองแทรกแซงแนวคิดการทำงานขององค์กร เพราะเรามีหน้าที่ทำงานร่วมกัน เพื่อเสถียรภาพของประเทศ

เผยอยากเห็นค่าบาทมีเสถียรภาพ

ดังนั้น การที่จะคิดเรื่องนี้อีกครั้ง ก็เรียนว่า ค่าเงินจะสมดุลถ้าการไหลเข้าและออกของเงินนั้นใกล้เคียงกัน ปัจจุบันเราอยู่ในสถานะที่เป็นประเทศที่มีดุลการค้าเป็นบวกเล็กน้อย และ การที่เราจะระมัดระวังไม่ให้เงินสั้นเขามาจนเป็นปัญหาก็มีวิธีการที่จะมอง ดังนั้น ในส่วนของรัฐบาล การเสนอโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท โดยมีเจตนาชัดเจนที่จะกู้เงินในประเทศเป็นหลัก และ การลงทุนจะมีการนำเข้าสินค้าประเภททุนไม่น้อย ดังนั้น ก็จะช่วยประคองให้การที่เงินตราต่างประเทศไหลออกได้บ้าง ขณะเดียวกัน ครม.ก็เคยมีมติให้รัฐวิสาหกิจชำระหนี้เงินกู้ก่อนกำหนดด้วย

"ผมไม่ต้องการที่จะพูดเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าบ่อยๆ แต่เข้าใจดีว่า หนีไม่พ้นความรับผิดชอบของรมว.คลังที่ต้องติดตามเอาใจใส่ ซึ่งผมก็ไม่ได้ละเลย แต่ต้องระมัดระวังการแสดงความคิดเห็นซ้ำๆ และผมเคยห่วงใยค่าเงินบาทตั้งแต่เราอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์ ก็อยากให้มีเสถียรภาพในระดับนั้น แต่ระยะเวลาก็ผ่านไป เอาเป็นว่า ถ้าผมพูดซ้ำๆ มากๆ ผมก็เป็นจำเลย ในแง่นักการเมืองไปเซ้าซี้กับผู้ที่ทรงคุณวุฒิกนง.ก็ไม่อยากพูดซ้ำซาก"

นายกิตติรัตน์ ย้ำว่า แม้ปัจจุบันเราจะมีดุลการค้าและดุลบริการที่เป็นบวก แต่การลงทุน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งจะมีการนำเข้าสินค้าในสัดส่วนประมาณเกือบ 50% ของเงินลงทุนรวม ก็จะทำให้เราไม่ต้องเกินดุล ถ้าจะขาดดุลบ้างก็ไม่เกิน 1% ซึ่งเป็นภาวะที่ดี ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องเรื่องนี้ ถ้าเขามองอะไรระยะปานกลางยาว ก็คงจะเห็นว่า ค่าเงินบาท ไม่จำเป็นต้องแข็งค่าขึ้น เพราะในที่สุดความสมดุลก็จะเข้ามา

"แต่คนที่เป็นนักลงทุนและหาผลตอบแทนระยะสั้น ก็ไม่สนใจอะไรยาว แต่ยอมรับว่า กว่าจะใช้จ่ายบาทแรกของเงินลงทุน 2 ล้านล้านบาท อาจปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ดังนั้น ระหว่างนี้จะอยู่อย่างไร ก็ขอให้อยู่ด้วยความเข้าใจ หากใครผสมโรงเก็บกำไรด้วย ถึงเวลาขาดทุนจะบ่นไม่ได้ เพราะได้บอกข้อมูลชัดเจนแล้ว"

ไม่ห่วงตลาดหุ้น มั่นใจ ก.ล.ต.ดูแล

สำหรับการปรับลดลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในช่วง 2 วัน จากระดับ 1,600 จุด ลงมาอยู่ที่ระดับ 1,541 จุด จากการเก็งกำไร นายกิตติรัตน์กล่าวว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้มีมาตรการเข้ามาดูแลเป็นอย่างดีแล้ว โดยเฉพาะหุ้นที่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงราคารวดเร็ว ผลกำไรอาจจะไม่มากเมื่อเทียบกับระดับราคา ก็ได้รับการดูแลไม่ให้กู้เงินมาซื้อ และ กำหนดเงินฝากให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดการกู้ยืมเก็งกำไร

"ผมไม่ได้หมายความว่า หุ้นที่มีลักษณะราคาต่อกำไรหรือพีอีสูงจะเป็นหุ้นที่มีราคาแพงทั้งหมด ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทด้วย ก็ขอให้นักวิเคราะห์ช่วยชี้แนะด้วย แต่บางคนก็บอกว่า ก็คนเล่นหุ้นกู้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ดี เอาเป็นว่า ในซีกตลาดทุนก็ได้รับการดูแลโดย ก.ล.ต." นายกิตติรัตน์ กล่าว

"ประสาร"รับบาทแข็งค่าเร็ว

ด้าน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เป็นเพียงการรายงานภาวะเศรษฐกิจให้ที่ประชุมรับทราบ รวมทั้งได้รายงานสถานการณ์เงินทุนที่ไหลเข้าประเทศ ซึ่งก็ยืนยันว่าระดับการไหลเข้าของเงินทุนนั้นไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้

นายประสาร ยอมรับว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไทยช่วง 1-2 วันแข็งค่าค่อนข้างเร็วและมีการเคลื่อนไหวค่อนข้างมาก ส่วนจะมีมาตรการอะไรออกมาดูแลเพิ่มเติมหรือไม่นั้น นายประสาร กล่าวว่า ยังไม่อยากให้ความเห็นในช่วงนี้

ย้ำมาจากปัจจัยพื้นฐาน

นายประสาร ยังย้ำว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าเป็นผลจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ดี ซึ่งทำให้มีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุน โดยเงินทุนเหล่านี้ส่วนใหญ่เข้ามาในตลาดตราสารหนี้ที่มากกว่าตลาดหุ้น ดังนั้นการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในช่วงนี้จึงเป็นเรื่องของนักลงทุนในประเทศมากกว่า

หากเทียบปริมาณเงินที่ไหลเข้าประเทศไทยในช่วงนี้ ถือว่าไม่ได้มีมากนักเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า แต่สาเหตุที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็วเป็นเรื่องของราคาซื้อและขายมากกว่า

"พูดถึงปริมาณเงินในช่วงนี้ไม่ได้มากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า ซึ่งเราต้องระวังในเรื่องระหว่างโฟลกับราคา เพราะว่าโฟล คือ จำนวนเงินที่ไหลเข้ามา ตรงนี้ถือว่าไม่ได้ผิดปกติอะไร เพียงแต่ถ้าคนไปซื้อขายหรือซื้อตราสาร แล้วเขาอยากได้อัตราแลกเปลี่ยน เขาก็จะไปที่ราคานั้น ดังนั้นที่เราเห็นเปลี่ยนแปลงเร็วในช่วง 1-2 วันนี้ จึงเป็นเรื่องราคาที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากกว่าที่จะเป็นเรื่องโฟลที่ไหลเข้ามามาก" นายประสาร กล่าว

ต่างชาติซื้อตราสารระยะยาวมากขึ้น

ส่วนเงินที่ไหลเข้าตลาดตราสารหนี้นั้น เขากล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นการเข้าลงทุนในพันธบัตรระยะยาว สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในพื้นฐานเศรษฐกิจไทย ประกอบกับสัดส่วนการถือครองตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างประเทศในประเทศไทยยังค่อนข้างน้อย โดยอยู่ที่ประมาณ 12-15% เทียบกับมาเลเซียและอินโดนีเซียที่อยู่ระดับ 30% และ 40% ตามลำดับ ดังนั้นการเข้าลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศก็ต้องคำนึงถึงเรื่องของสภาพคล่องในการซื้อขายด้วย

"เวลาต่างชาติเข้าลงทุน เขาก็ต้องมองเรื่องสภาพคล่องด้วยว่าจะสามารถทำได้รวดเร็วแค่ไหน เช่น เวลาเกิดปัญหาการเงินโลกแล้วเขาต้องการขาย กลายเป็นว่าเขาต้องไปขายแข่งกับนักลงทุนต่างประเทศอื่นอีกตั้ง 30-40% ส่วนของเรานั้น เดิมเคยอยู่แถวๆ 5-6% เวลานี้ก็ขึ้นมาอยู่ระดับ 12-15% ก็ยังไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติ" นายประสารกล่าว

ต่างชาติซื้อตราสารหนี้กว่า3พันล้าน

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยวานนี้(20 มี.ค.) มีมูลค่าการซื้อขายรวม 105,356 ล้านบาท โดยกลุ่มนักลงทุนที่มียอดซื้อสุทธิสูงสุด คือ กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน 5,534 ล้านบาท รองลงมา เป็นกลุ่มสถาบันการเงินที่ไม่มีใบอนุญาตค้าตราสารหนี้ 5,204 ล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติ มียอดซื้อสุทธิ 3,072 ล้านบาท

สำหรับผลตอบแทน (Yield Curve) ค่อนข้างคงที่ทุกช่วงอายุ โดยนักลงทุนจับตาดูค่าเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งนักลงทุนต่างชาติมีแรงขายในพันธบัตร รุ่นอายุ 1-3 ปี และเข้าซื้อพันธบัตรรุ่นอายุ 5-10 ปี

หุ้นผวา'ไซปรัส'ร่วงหนักวันที่สอง

ส่วนภาวะตลาดหุ้นไทยวานนี้ (20 มี.ค.) ดัชนีเปิดตลาดร่วงแรงจากความกังวลสถานการณ์ไซปรัส และความกังวลสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่า โดยระหว่างวันดัชนีปรับลดลงต่ำสุดที่ระดับ 1,534.27 จุด ลดลงกว่า 34 จุด ก่อนจะดีดตัวขึ้นในช่วงบ่ายของวัน โดยปรับสูงสุดที่ระดับ 1,569.70 จุด ปิดตลาดที่ระดับ 1,543.67 จุด ปรับลดลง 24.58 จุด หรือ 1.57% มูลค่าการซื้อขาย 8.36 หมื่นล้านบาท

ด้าน นายทวีรัชต์ มัททวีวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายค้าหลักทรัพย์ บล.ฟินันเซียไซรัส กล่าวว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง เนื่องจากนักลงทุนกังวลปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปหลังจากรัฐบาลไซปรัส ปฏิเสธแผนของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป หรือ อียู ในการเก็บภาษีเงินฝากธนาคาร ส่วนปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ต้องติดตามว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกมาตรการดูแลค่าเงินในทิศทางใด

สำหรับตลาดเอเชียปิดซื้อขายวานนี้ (20 มี.ค.) ไร้ทิศทางชัดเจน หลังรัฐสภาไซปรัสปฏิเสธแผนเก็บภาษีบัญชีเงินออม ส่วนหนึ่งของข้อตกลงรับเงินช่วยเหลือ โดยดัชนีหั่งเส็ง ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ปรับตัวขึ้น 0.97% หรือ 214.58 จุด มาอยู่ที่ 22,256.44 จุด ขณะที่ตลาดอื่นปรับลดลงและเคลื่อนไหวในช่วงแคบ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : บาทแข็ง จ่อหลุด ธปท. แข็งเร็ว

view