สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การก่อการร้าย

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ คนเดินตรอก โดย วีระพงษ์ รามางกูร

เมื่อ เร็ว ๆ นี้ ศาล ทั้งศาลอาญาและศาลแพ่ง ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การเผาอาคาร Central World ที่สี่แยกราชประสงค์ ไม่ใช่เป็นความผิดฐาน "ก่อการร้าย" หรือการยิงกันในเหตุการณ์

ดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดฐานก่อการร้าย

เหตุผล ของศาลอาญาที่วินิจฉัยคดีทั้ง 6 ว่าเป็นการกระทำของฝ่าย "รัฐ" คือทหารเป็นผู้ยิง อีก 2 คดีไม่แน่ชัดว่าเป็นการกระทำของผู้ใด จึงยกฟ้อง ส่วนศาลแพ่งวินิจฉัยว่า คดีการเผาตึก Central world ไม่ใช่การกระทำผิดฐาน "การก่อการร้าย"

ทำให้เกิดความสงสัยกันว่า "การก่อการร้าย" หรือ terrorism คืออะไร เพราะตอนหลัง ๆ มีการพูดถึงกันมาก

ใน ระดับสากลยังไม่สามารถตกลงกันได้อย่างแน่ชัดว่า ความผิดฐานก่อการร้ายควรจะมีคำจำกัดความอย่างไร แม้ว่าหลังจากเกิดเหตุการณ์เครื่องบินของสายการบิน United Airlines เที่ยวบิน 175 ถูกบังคับให้บินชนตึก World Trade Center เมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 หรือที่เรียกกันติดปากว่าเป็นกรณี "nine eleven"

แม้ ในสหรัฐซึ่งเป็นประเทศตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้ หน่วยราชการแต่ละแห่งก็ใช้คำจำกัดความแตกต่างกัน เช่น กระทรวงกลาโหม ก็มีคำจำกัดความอย่างหนึ่ง สำนักงานสืบสวนกลาง หรือ FBI ก็ใช้คำจำกัดความอย่างหนึ่ง กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ก็ใช้คำจำกัดความอีกอย่างหนึ่ง

ยิ่งในยุโรปคำจำกัดความของคำว่า "การก่อการร้าย" ก็ยิ่งมีมากกว่าในสหรัฐอเมริกาเสียอีก เช่น รัฐบาลอังกฤษให้คำจำกัดความไว้อย่างกว้าง ๆ ในปี 1974 หลังกรณีการฆ่านักกีฬาอิสลาเอล 11 คน ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เมืองมิวนิก เยอรมนี คือ "การใช้ความรุนแรงเพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมือง รวมทั้งการใช้ความรุนแรงเพื่อก่อให้เกิดความเกรงกลัวใน

หมู่ประชาชน" ภาษาอังกฤษใช้คำว่า "terrorist" แปลตรงตัวว่า "ผู้ที่ทำให้เกิดความหวาดกลัว" ส่วนภาษาไทยใช้คำว่า "ผู้ก่อการร้าย" ฟังดูไม่ค่อยจะสื่อความหมายเท่าไร

ความหมายของ "ผู้ก่อการร้าย" ที่สหประชาชาติใช้ประณามการก่อการร้ายตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นมา คือ

"เป็น อาชญากรรมที่มุ่งให้เกิดหรือหวังให้เกิดสถานการณ์หวาดกลัวขึ้นในบรรดาสาธารณ ชน หรือกลุ่มบุคคล หรือเฉพาะกลุ่มบุคคล โดยมีจุดมุ่งหมายทางการเมือง ซึ่งไม่สามารถอธิบายด้วยเหตุผลทางการเมือง ปรัชญา อุดมคติ เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา หรือด้วยเหตุผลอื่นได้"

Bruce Hoffman นักวิชาการทางด้านสรุปองค์ประกอบของการก่อการร้าย ได้สรุปไว้ 4 ประการ คือ 1.มีจุดมุ่งหมายหรือมูลเหตุจูงใจทางการเมือง 2.ใช้ความรุนแรงหรือขู่เข็ญว่าจะใช้ความรุนแรงหรือวิธีอื่นที่มีความสำคัญพอ ๆ กัน 3.ตั้งใจให้มีผลทางจิตวิทยาแก่ประชาชนมากกว่าเหยื่อที่ถูกกระทำ 4.กระทำการโดยเครือข่ายขององค์กรที่ไม่ใช่องค์กรรัฐหรือบุคคลากรของรัฐ แต่อาจจะเป็นองค์กรใต้ดิน

มีอีกหลาย ๆ ท่านในระดับระหว่างประเทศที่ให้คำจำกัดความของคำว่า "การก่อการร้าย" ไว้ แต่เนื้อหาก็ใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นการกระทำที่แตกต่างจาก สงคราม หรือการจราจล หรืออาชญากรรมอย่างเป็นระบบ (organized crime) หรืออาชญากรรมธรรมดา

ที่สำคัญก็คือ เมื่อมีความขัดแย้งทางการเมือง ฝ่ายรัฐบาลก็มักจะตั้งข้อหา "การกระทำอันเป็นการก่อการร้าย" เพราะเป็นข้อหาที่รุนแรง มีโทษสูงถึงประหาร

ชีวิตและสามารถปฏิเสธการประกันตัวได้ง่าย เป็นเรื่องที่น่าจะทำความเข้าใจได้ ทั้ง ๆ ที่การกระทำส่วนใหญ่ไม่ใช่ "การก่อการร้าย"

เมื่อ ไม่มีการประกาศใช้คำจำกัดความที่แน่นอน สหประชาชาติจึงปล่อยให้แต่ละประเทศตรากฎหมาย องค์ประกอบของความผิดฐานเป็นผู้ก่อการร้ายเอาเอง

แต่เดิม บ้านเราก็ไม่ได้มีบทบัญญัติกำหนดความผิดฐานก่อการร้ายไว้ในประมวลกฎหมายอาญา จนกระทั่งมีเหตุการณ์เครื่องบินโดยสารถูกบังคับให้บินชนตึก World Trade ที่มหานครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 เราจึงได้ตราพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาเมื่อปี 2546 เพิ่มความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายไว้ในภาคความผิดลักษณะ 1/1 ดังนี้

มาตรา 135/1 ผู้ใด (1) ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือ อันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกายหรือเสรีภาพของบุคคลใด ๆ (2) กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบขนส่งสาธารณะ ระบบโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ (3) กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐใดรัฐหนึ่ง หรือบุคคลใดหรือต่อสิ่งแวดล้อม อันก่อให้เกิดหรือน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างสำคัญ

ถ้า การกระทำนั้นกระทำโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศให้กระทำการ หรือได้กระทำการอันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย หวาดกลัวในหมู่ประชาชน ผู้นั้นกระทำความผิดฐานก่อการร้าย

การกระทำในการเดินขบวน ชุมนุมประท้วงโต้แย้ง หรือเคลื่อนไหวให้รัฐช่วยเหลือ หรือให้ได้รับความเป็นธรรม อันเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญไม่เป็นฐานก่อการร้าย

ส่วนมาตรา 135/2 มาตรา 135/3 การขู่เข็ญว่าจะต้องทำการก่อการร้าย และความผิดฐานเตรียมการ ก็เป็นความผิด ส่วนมาตรา 135/3 การสนับสนุนก็เป็นความผิดฐานตัวการสนับสนุน มาตรา 135/4 ความผิดฐานเป็นสมาชิกของคณะบุคคลหรือองค์กร ที่สหประชาชาติได้มีมติกำหนดให้เป็นคณะบุคคลที่มีการกระทำเป็นผู้ก่อการร้าย และรัฐบาลไทยได้ประกาศรับรองมติดังกล่าว การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นขบวนการก่อการร้ายสากล

บทบัญญัติของมาตรา 135/1 ถึง 135/3 มีข้อความค่อนข้างชัดเจนในตัวอยู่แล้วว่าบัญญัติองค์ประกอบของความผิดเป็นไป ตามหลักสากล หรือใกล้เคียงกับหลักสากล ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ดังนั้น การประทุษร้ายต่อร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สิน อาจจะไม่ใช่การก่อการร้ายเสมอไป การก่อการร้ายต้องประกอบด้วย การกระทำของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่การกระทำของรัฐบาลที่ถูกต้องตาม กฎหมาย ไม่ใช่การประทุษร้ายเพื่อเรียกร้องให้แก้ไขความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นจริง หรือคิดว่าเกิดขึ้นจริง และมุ่งเรียกร้องต่อรัฐบาล ที่ตนคิดว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม

ถ้าลักษณะไม่เป็นดังที่กล่าวมา การ

กระทำนั้นก็ไม่ใช่การก่อการร้าย เช่น

ถ้า การกระทำนั้นมิได้ทำโดยเจตนาก็ไม่ใช่ก่อการร้าย เป็นอุบัติเหตุ หรือถ้าเป็นการกระทำของรัฐบาลหนึ่งเพื่อให้มีผลต่อรัฐบาลอีกประเทศหนึ่งก็ ไม่ใช่การก่อการร้าย แต่เป็น "สงคราม"

ถ้าเป็นการกระทำของรัฐบาล มุ่งมีผลต่อประชาชนตัวเอง ก็ไม่เป็นการก่อการร้าย เป็นเพียง "นโยบาย" ถ้าเป็นการกระทำต่อประชาชนหรือทรัพย์สินของรัฐที่

ข่มขู่รัฐโดยไม่มีเหตุผลที่อธิบายได้ ก็ไม่เป็นการก่อการร้าย เป็น "อาชญากรรมธรรมดา"

และ ถ้าเป็นการกระทำที่ไม่ได้มุ่งไปที่จะบังคับขู่เข็ญรัฐ แต่ขู่เข็ญบุคคลหรือคณะบุคคลก็ไม่เป็นการก่อการร้ายเป็น "อาชญากรรมธรรมดา" แม้ว่าจะเป็นการขู่เข็ญให้บุคคลหรือคณะบุคคลให้แก้ไขความไม่เป็นธรรม การกระทำดังกล่าวเป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคลกับบุคคล แม้จะมีการประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน ก็ตาม

เหตุการณ์ ชุมนุมเมื่อเดือน เมษายนและเดือนพฤษภาคม 2553 รวมทั้งกรณี 14 ตุลาคม 2516 9 ตุลาคม 2519 หรือกรณีพฤษภาทมิฬ 2535 แม้จะมีการวางเพลิงกองสลาก กรมประชาสัมพันธ์ หรือกองบัญชาการตำรวจนครบาล ก็ไม่น่าจะเป็น "การก่อการร้าย" ตามความหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาปัจจุบัน

แต่ การกระทำที่ทำกันอยู่ใน 3 จังหวัดภาคใต้ ปัจจุบันน่าจะเข้าข่าย แม้ว่าในทางการเมืองไม่อยากให้ใช้คำนี้ก็ตาม คราวหน้าคราวหลังต้องระวังการตั้งข้อหาให้ดี มิฉะนั้นจะเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

เรื่องนี้จะจบอย่างไรต้องดูกันต่อไป เพราะมีการกล่าวหาว่าเป็นการก่อการร้ายแล้วใช้กำลังทหารเข้าจัดการ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การก่อการร้าย

view