สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กองทุน AIF

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ พร้อมรับ AEC หรือยัง? โดย ณกฤช เศวตนันทน์

แม้ว่าประเทศสมาชิกอาเซียนจะมีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ ผ่านมา แต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจยังถือได้ว่าล้า หลังมาก

หากเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวัดด้วยอัตราส่วนของจำนวนทางหลวง ทางรถไฟ และการเข้าถึงไฟฟ้าต่อประชากรแต่ละคน

ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน หรือ ASEAN Finance Ministers จึงมีแนวคิดร่วมกันให้มีการจัดตั้ง "กองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน" (ASEAN Infrastructure Fund) หรือที่เรียกโดยย่อว่า "กองทุน AIF" ขึ้น

การจัดตั้งกองทุน AIF เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือทางการเงินของประเทศสมาชิกอาเซียน ที่จะร่วมมือกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค

โดย มีวัตถุประสงค์ในการเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งภายในและระหว่างพรมแดนของประเทศสมาชิกอาเซียน กับทั้งส่งเสริม "การนำเงินออม" ภายในภูมิภาคอาเซียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในการสนับสนุนทางการเงินสำหรับการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

กองทุน AIF มีสถานะทางกฎหมายเป็น บริษัทจำกัด จดทะเบียนในประเทศมาเลเซีย ซึ่งก็เป็นชาติที่ลงเงินทุนเบื้องต้นสูงที่สุด คือ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กอง ทุน AIF มีคณะกรรมการบริหารกองทุน (Board of Directors-BOD) ซึ่งประกอบด้วยผู้ถือหุ้นทุกรายจะมีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจ โดยจะแบ่งประเด็นการตัดสินใจออกเป็น 2 แบบ ได้แก่

1.ประเด็นทั่วไป จะต้องได้รับการตัดสินใจโดยผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิในการออกเสียงในกองทุน AIF รวมกันมากกว่าร้อยละ 50 (1 ประเทศ 1 เสียง) 2.ประเด็นพื้นฐาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเข้าร่วมในกองทุน AIF ของผู้ถือหุ้นใหม่ การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนเงินทุนของกองทุน การตัดสินใจเรื่องสถานที่ตั้งของกองทุน และ การยกเลิกกองทุน ซึ่งผู้ถือหุ้นจะต้องหาข้อสรุปในประเด็นต่าง ๆ ดังกล่าวโดยฉันทามติ ภายใน 30 วัน

หากยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จะต้องได้รับการตัดสินใจโดยผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิในการออกเสียงในกองทุนรวม กันมากกว่าร้อยละ 67 และได้รับการสนับสนุนจาก

ผู้ถือหุ้นจำนวนมากกว่าร้อยละ 67

กอง ทุน AIF มีอำนาจในการทำสัญญาและดำเนินการต่าง ๆ ในนามของตนเอง มีทุนเริ่มต้นทั้งหมด 485.2 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นเงินร่วมลงทุนที่มาจากประเทศสมาชิกอาเซียน จำนวน 335.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ยกเว้นประเทศพม่า ซึ่งยังไม่ได้เข้าร่วมในกองทุนนี้

นอกจากนี้ ยังมาจากธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ Asian Development Bank : ADB จำนวน 150 ล้านเหรียญสหรัฐ

ADB นอกจากจะเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในกองทุนนี้แล้ว ยังทำหน้าที่เป็น ผู้บริหารกองทุน และเป็น ผู้ให้ความมั่นใจ ว่าการลงทุนทั้งหลายของกองทุน AIF นี้ จะดำเนินไปอย่างสมเหตุสมผลในทางการเงินด้วย

สำหรับประเทศไทยมีสัดส่วนการลงเงินทุนจัดตั้ง 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 450 ล้านบาท และมีสิทธิในการออกเสียงร้อยละ 3.09

การ ชำระเงินเข้ากองทุน AIF จะแบ่งออกเป็น 3 งวดเท่า ๆ กัน ซึ่งประเทศสมาชิกจะต้องชำระเงินงวดแรกภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 งวดที่เหลือจะต้องชำระเมื่อครบรอบของแต่ละปีของการชำระเงินงวดแรก

ส่วนเป้าหมายของกองทุน คือ การให้การสนับสนุนเงินกู้กับโครงการต่าง ๆ ประมาณ 6 โครงการต่อปี

ใน แต่ละโครงการมีเพดานการกู้ยืม (Project Limit) ไม่เกิน 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โครงการที่จะได้รับเงินทุนจากกองทุน AIF นอกจากจะต้องเป็นโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ยังต้องเป็นโครงการที่สามารถลดความยากไร้ ส่งเสริมการค้า และกระตุ้นการลงทุนได้

และเพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับกอง ทุน ในช่วง 3 ปีแรกของการดำเนินการกองทุน AIF จะให้เงินกู้เฉพาะโครงการที่เป็นของภาครัฐ หรือโครงการที่รัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันเท่านั้น

เมื่อกองทุนได้รับการจัดอันดับความ

น่าเชื่อถือได้ตามเป้าหมาย คือที่ระดับ AA แล้ว กองทุนจึงจะพิจารณาโครงการของภาคเอกชน (Private Sector Development) ต่อไป

โดย ภายใน ค.ศ. 2020 กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ตั้งความหวังว่าโครงการนี้จะสามารถปล่อยเงินกู้ได้เพิ่มขึ้นในระดับ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีมูลค่าทางการเงินด้านต่าง ๆ รวมทั้งหมดสูงกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์

กองทุน AIF จึงถือเป็นก้าวสำคัญ ที่ประเทศสมาชิกได้ร่วมลงทุนจัดตั้งเป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งจะมีส่วนช่วยพัฒนาความเชื่อมโยงทั้งในด้านการซื้อขาย การขนส่งสินค้า การค้า บริการ และการลงทุนภายในภูมิภาค

กับทั้งกองทุน AIF ยังจะเป็นส่วนสำคัญในการลดช่องว่างของพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ระหว่างประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียน อันเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของแผนการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอีกด้วย

เพราะปัจจัยหลักที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศประสบความสำเร็จได้ก็คือ การมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม เพียงพอนั่นเอง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กองทุน AIF

view