สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หายนะพลังงานไทย ก๊าซหมดอ่าว น้ำมัน 100 ล้านลิตร/วัน-ไฟฟ้าเพิ่ม 1,500 MW

จากประชาชาติธุรกิจ

จากกรณีก๊าซธรรมชาติจากพม่า 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้ารวม 6,000 เมกะวัตต์ หยุดส่งเพื่อซ่อมแท่นผลิตที่ยุบตัวลงในช่วง 5-14 เมษายน 2556 จนกระทรวงพลังงานต้องงัดมาตรการประหยัดพลังงาน ขอความร่วมมือให้ลดการใช้ไฟ เพราะ "เสี่ยง" ที่ไฟฟ้าจะดับ เกิดการวิพากษ์วิจารณ์วงกว้างถึงความมั่นคงทางพลังงานของประเทศว่าอยู่ในภาวะเสี่ยงหรือไม่ ชมรมคอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดเสวนา "หายนะพลังงานไทย" หาคำตอบจากผู้รู้ด้านพลังงาน

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ความเสี่ยงด้านพลังงาน หากมองตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 (2553-2573) จะพบว่าในช่วงท้ายแผนต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า 23-25 ล้านตัน/ปี จากปัจจุบันที่นำเข้าเพียง 500,000 ตัน/ปี

การนำเข้าจำนวนมหาศาลดังกล่าวจะพบว่าประเทศมีความเสี่ยงอยู่หลายประเด็น คือ 1) ไทยยังไม่มีท่าเรือ-คลังเพื่อนำเข้า LNG ขนาดใหญ่ และหากจะก่อสร้างถือว่าเสี่ยงที่จะถูกต่อต้านจากประชาชน ทางเลือกที่มองไว้ แต่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ คือการขนถ่ายกลางทะเลแล้วต่อท่อส่งก๊าซ LNG เข้ามา 2) ข้อจำกัดเรือขนส่ง LNG มีเพียง 5 ประเทศชั้นนำที่ผลิตได้เท่านั้น การผลิตต่อลำใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี และแพงมาก 3) หากต้องลงทุนซื้อเรือต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า50,000 ล้านบาท การนำเข้าที่ 25 ล้านตัน ต้องใช้เรือมากถึง 21 ลำ ไทยพร้อมหรือไม่

ความเสี่ยงที่มากกว่านั้นคือแหล่งที่มีการผลิตก๊าซ LNG ส่วนใหญ่ถูกจับจองไป ทั้งการเข้าไปร่วมลงทุน และเข้าไปทำสัญญาซื้อขายแล้ว ส่วนใหญ่จากจีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น ในขณะที่ไทยยังไม่มีกำลังมากพอที่จะเข้าไป ไทยใช้น้ำมันแซงหน้าผู้ผลิต

นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่นำเข้ามากกว่าส่งออก ความต้องการใช้น้ำมันของประเทศอยู่ที่ 630,000 บาร์เรล/วัน หรือ 100 ล้านลิตร/วัน ในขณะที่โรงกลั่นในประเทศผลิตได้ 200,000 บาร์เรล/วัน หรือเพียง 34 ล้านลิตร/วันเท่านั้น และมีการส่งออกอยู่เพียง 6 ล้านลิตรเท่านั้น ที่ต้องส่งออก เพราะเป็นน้ำมันที่ไม่ตรงกับความต้องการของโรงกลั่น เมื่อปริมาณน้ำมันดิบในประเทศมีน้อย แต่เพื่อให้สามารถเดินเครื่องแบบลดต้นทุนได้มากที่สุด จึงต้องนำเข้าน้ำมันดิบเข้ามาเป็นส่วนใหญ่

ปัจจุบันมีปริมาณสำรองน้ำมันที่พิสูจน์พบแล้ว 3 อันดับแรกของโลก คือ 1) ประเทศเวเนซุเอลา 2) ประเทศซาอุดีอาระเบีย และ 3) ประเทศแคนาคา ในขณะที่ไทยอยู่อันดับที่ 47 ของโลก และสามารถผลิตน้ำมันเพื่อใช้เองเป็นอันดับที่ 32 ของโลก ที่ปริมาณ 300,000 บาร์เรล/วัน ที่สำคัญคือไทยมีความต้องการใช้น้ำมันอยู่อันดับที่ 19 ของโลก ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตด้วยซ้ำ

ไทยเสี่ยงค่าไฟฟ้าทะลุ 6 บาท


ด้านนายพงษ์ดิษฐ พจนา รองผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกปี 1,500 เมกะวัตต์ เชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าในปัจจุบัน คือ 1) เชื้อเพลิงหลัก เช่น ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน 2) เชื้อเพลิงเสริม เช่น พลังงานทดแทนต่าง ๆ วันนี้ประชาชนในประเทศต้องเลือกว่าต้องการใช้เชื้อเพลิงประเภทใด เพราะวันนี้ใช้ก๊าซสูงมากเกินไป

มองเรื่องหายนะทางพลังงาน ไทยมี 2 เรื่อง คือ 1) ความมั่นคง ปัจจุบันใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ร้อยละ 68 ใช้ถ่านหิน ร้อยละ 19 (BLCP/Greco-one) พลังงานทดแทน ร้อยละ 6 นำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ร้อยละ 6 และใช้น้ำมัน ร้อยละ 1 เมื่อการผลิตก๊าซจากอ่าวไทยจะเหลือใช้ในระดับดังกล่าวได้เพียง 10 ปีข้างหน้า เมื่อไม่ต้องการถ่านหิน หรือนิวเคลียร์ ก็จะเห็นว่าการเปิดประมูลโรงไฟฟ้ารอบใหม่ 5,400 เมกะวัตต์ กำหนดให้เป็นก๊าซธรรมชาติเท่านั้น ฉะนั้นอัตราค่าไฟฟ้าของไทย 10 ปีต่อจากนี้อยู่ที่ 6 บาท/หน่วยแน่นอน หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ สิ่งที่ต้องเผชิญ คือไทยจะแข่งขันกับประเทศอื่นได้หรือไม่ ยิ่งเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ไทยจะแข่งขันอย่างไร ในเมื่อค่าไฟฟ้าเพื่อนบ้านถูกกว่า ฉะนั้นสิ่งแรก คือเสี่ยงหายนะทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นต้องเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาโรงไฟฟ้าในประเทศใหม่

ทั้งนี้ กฟผ.ขอเสนอว่า ในการปรับแผน PDP ใหม่นั้นจะต้องมีการนำเสนอราคาค่าไฟฟ้าในปีนั้น ๆ ด้วยว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าช่วยประเมินด้วยว่ายอมรับค่าไฟฟ้าระดับนี้ได้หรือไม่

ได้เวลามองถ่านหิน-นิวเคลียร์


ในขณะที่นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านพลังงาน กล่าวว่า ทรัพยากรในประเทศมีไม่มาก แต่ยังคงใช้ฟุ่ยเฟือย เพราะถูกตั้งราคาไว้ถูก และกำลังจะหมดไป เกิดวิกฤตแย่งชิงทรัพยากร อย่างกรณีก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) จนต้องนำเข้ามากขึ้น ไทยเป็นประเทศที่นำเข้าพลังงานมากกว่าส่งออก ผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ ในขณะที่ก๊าซในอ่าวไทยจะหมดไปในช่วง 10 ปี จากปัจจุบันที่ใช้อยู่ 4,800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และยังต้องนำเข้าอีก 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน อีก 10 ปีข้างหน้าจะเหลือใช้แค่ประมาณ 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เมื่อถึงตอนนั้นเราต้องนำเข้าเพิ่มขึ้นอีก จากปัจจุบันก็นำเข้าพลังงานค่อนข้างมาก 1.2 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต/ปี และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

ความเสี่ยงสูงของพลังงานไทย คือต้องพึ่งพาพลังงานจากภายนอก อย่างกรณีนำเข้าก๊าซจากพม่า จะทำอย่างไร หากในอนาคตพม่าไม่สามารถเพิ่มปริมาณให้ได้ เพราะพม่ากำลังเปิดประเทศ ความต้องการใช้ต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน อาจจะไม่ขายเพิ่มให้ไทย มองว่าในอนาคตไทยอาจจะต้องซื้อไฟฟ้าจากโครงการนิวเคลียร์ ที่กำลังพัฒนาในประเทศเวียดนาม ประเทศจะเสียดุลการค้ามากขึ้นอีก จากการนำเข้าพลังงาน โดยเฉพาะการนำเข้าก๊าซ LNG ที่คาดว่าราคาจะอยู่ที่ 15-16 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ในขณะที่ราคาก๊าซอ่าวไทยอยู่ที่ 9-10 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู เท่ากับว่า LNG นำเข้าแพงกว่าร้อยละ 50 ซึ่งกว่าจะถึงในช่วงปี 2573 ที่ประเทศมีความต้องการใช้ถึง 25 ล้านตัน ราคาจะปรับขึ้นไปอีกเท่าไร

ศจ.ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ นักวิจัยอาวุโสด้านพลังงาน กล่าวว่า เทียบการใช้พลังงานกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) การใช้พลังงานสูงกว่าตลอด การใช้พลังงานทดแทนควรเพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบัน เพราะประเทศอังกฤษยังปรับเป้าหมายจากแค่เพียงร้อยละ 20 ให้เพิ่มเป็นร้อยละ 30 มองว่าในช่วง 15 ปีนี้ ไทยยังไม่ได้เผชิญหายนะ แต่หลังจากนี้ต้องกังวลแล้ว และควรมองไปถึงเชื้อเพลิงทางเลือกอื่น เช่น ถ่านหิน ซึ่งมีปริมาณสำรองที่ใช้ได้อีก 200 ปี และปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ่านหินสะอาด ทางเลือกอื่น คือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และพลังงานน้ำขนาดเล็ก ที่ต้องกลับมาพิจารณา เพื่อไม่ให้พลังงานไทยอยู่ในภาวะเสี่ยง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หายนะ พลังงานไทย ก๊าซหมดอ่าว น้ำมัน ล้านลิตร ไฟฟ้าเพิ่ม

view