สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หนี้สาธารณะของไทย

หนี้สาธารณะของไทย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




การถกเถียงกันเกี่ยวกับการออกกฎหมายเพื่อกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลเพื่อปรับโครงสร้างระบบการขนส่งของประเทศไทยนั้น

ฝ่ายที่คัดค้านนโยบายของรัฐบาลมีข้อกังวล 3-4 ข้อ โดยข้อที่สำคัญที่สุด 2 ข้อคือกลัวปัญหาคอร์รัปชันและการสร้างหนี้สินให้ลูกหลาน ผมขอนำเอาตัวเลขเกี่ยวกับหนี้สาธารณะของไทยในอดีตมาเปรียบเทียบเพื่อชี้ให้เห็นว่าเราควรจะเป็นห่วงเรื่องหนี้สาธารณะมากน้อยเพียงใด สำหรับผมนั้นมีความเห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเป็นห่วงมาก หากพิจารณาจากประสบการณ์ของไทยในอดีต ตรงกันข้ามผมจะเป็นห่วงมากกว่าหากรัฐบาลอยู่เฉยๆ ไม่ลงทุนอะไรเลย

ครั้งนี้ต้องขอนำเสนอตัวเลขเป็นจำนวนมากกว่าปกติเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับหนี้สาธารณะ ดังปรากฏในตารางข้างล่างซึ่งผมได้เปรียบเทียบหนี้สาธารณะ หนี้สาธารณะต่อจีดีพี และการขยายตัวของจีดีพีและการส่งออก ทั้งนี้ตัวเลขหนี้สาธารณะปี 1981-1995 เป็นข้อมูลจากกรมบัญชีกลาง ขณะที่ข้อมูลตั้งแต่ปี 1996-ปัจจุบันเป็นข้อมูลปรับใหม่ของสำนักหนี้

จะเห็นได้ว่าโดยปกติแล้วหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้น น้อยครั้งที่จะลดลง ตัวอย่างเช่นในช่วง 32 ปีที่ผ่านมามีเพียง 5 ปีเท่านั้นที่หนี้สาธารณะลดลงเล็กน้อย (ปี 1989, 1990, 1991 และปี 2006 และ 2007) ซึ่งเป็นช่วงที่มีเหตุการณ์ผิดปกติทางการเมือง เช่นการเข้ายึดครองคูเวตของอิรักและการปฏิวัติในไทยในปี 1990-1991 ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุให้กลไกของรัฐชะงักงันและใช้จ่ายงบประมาณต่ำกว่าปกติก็ได้ ในภาพรวมนั้นต้องสรุปว่าหนี้สาธารณะของไทยในทศวรรษ 80 เพิ่มขึ้น 170% และในทศวรรษ 90 เพิ่มขึ้น 370% (เพราะวิกฤติเศรษฐกิจ 1997 ที่ทำให้รัฐบาลต้องเข้ามาแบกรับความเสียหายของสถาบันการเงิน) ขณะที่ในช่วง 2001-2010 เพิ่มขึ้นเพียง 44% (จาก 2.9 ล้านล้านในปี 2001 มาเป็น 4.2 ล้านล้านในปี 2010) ดังนั้นจึงสรุปได้ว่ารัฐบาลในช่วงดังกล่าวก่อหนี้เพิ่มน้อยที่สุดในรอบ 30 กว่าปีที่ผ่านมา จากปี 2010-2012 หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอีก 9 แสนล้านบาท รวมแล้วในช่วง 2001-2012 หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 68% น้อยกว่าการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะในอดีตมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการลงทุนของภาครัฐลดลงอย่างมากเมื่อคิดเป็นสัดส่วนของจีดีพี

แต่หากมองตัวเลขมูลค่าหนี้สาธารณะแล้วก็สามารถสร้างความกังวลให้เกิดขึ้นได้โดยง่าย เพราะสามารถพูดได้ว่าหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 230,957 ล้านบาท ในปี 1981 มาเป็น 4.937 ล้านล้านบาทในปี 2012 หรือเพิ่มขึ้น 2,000% แต่ผมเชื่อว่าคนไทยไม่ได้รู้สึกว่าได้รับผลกระทบในทางลบหรือมีภาระเพิ่มขึ้นแต่อย่างใดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ตรงกันข้ามส่วนใหญ่น่าจะได้เห็นความเจริญของประเทศที่พัฒนาไปอย่างต่อเนื่องและคุณภาพชีวิตของทุกคนที่ปรับปรุงไปในทางที่ดีขึ้นมาโดยตลอด เว้นแต่ช่วงวิกฤติในบางปี เช่น 1984-1985 และ 1997-1998 เป็นต้น

จะเห็นอย่างชัดเจนว่าช่วงที่เรารู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดีนั้นก็เป็นช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำและการส่งออกติดลบ เช่น ช่วง 1983-1985 (ทำให้ต้องลดค่าเงินบาท) และ ช่วง 1996-1997 (ซึ่งเกิดวิกฤติค่าเงินบาทเช่นกัน) กล่าวคือประเทศไทยมิได้เผชิญกับปัญหาการคลังจนทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ช่วงที่การคลังมีปัญหาอย่าง คือ 1980-1985 ทำให้รัฐบาลต้องขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟและรัดเข็มขัดทางการคลัง โดยถูกซ้ำเติมจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวอย่างกระท่อนกระแท่น ทำให้ต้องลดค่าเงินบาทในปี 1985 และจากนั้นเป็นต้นมาเศรษฐกิจไทยก็ดีวันดีคืน จีดีพีขยายตัวเฉลี่ย 9.5% ในช่วง 1987-1996 ซึ่งเป็นช่วงที่หนี้สาธารณะเกือบจะไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย ไม่ใช่เพราะรัฐบาลไม่ได้ใช้เงินเพิ่มขึ้น แต่เป็นเพราะการขยายตัวของเศรษฐกิจทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้มากและไม่จำเป็นต้องขาดดุลงบประมาณ ที่สำคัญคือหนี้สาธารณะต่อจีดีพีปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 52.8% ของจีดีพีในปี 1986 มาเหลือเพียง 15.3% ของจีดีพีในปี 1996

ช่วงที่หนี้สาธารณะเพิ่มมากที่สุดคือเมื่อเกิดวิกฤติทางการเงิน ทำให้เงินบาทอ่อนค่าอย่างมากและสถาบันการเงินล้มละลาย ส่งผลให้จีดีพีหดตัวติดต่อกัน 2 ปี (1997-1998) และหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 685,230 หรือ 15.3% ของจีดีพีมาเป็น 2.94 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้น 2.2 ล้านล้านบาท) ในปี 2002 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลรับภาระต่างๆ จากวิกฤติเศรษฐกิจรวมทั้งหนี้กองทุนฟื้นฟู 1.1 ล้านล้านบาทด้วย ซึ่งสาเหตุหลักของวิกฤติเกิดจากความผิดพลาดของนโยบายการเงินและการกู้เงินเกินตัวของภาคเอกชน

จึงสรุปได้ว่าสำหรับหนี้สาธารณะนั้น

1. มูลค่าหนี้สาธารณะมีแต่จะเพิ่มขึ้นไม่ลดลง แต่จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนตราบใดที่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี

2. ช่วง 10-12 ปีที่ผ่านมานั้นหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นน้อยกว่าช่วงทศวรรษ 80 และ 90 ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลลดสัดส่วนการลงทุนลง

3. ภาระหนี้สาธารณะนั้นควรนำไปเปรียบเทียบกับจีดีพีหากสัดส่วนต่ำกว่า 50% ก็น่าจะไม่มีปัญหาอะไร แต่การกดสัดส่วนนี้ให้ต่ำควรเกิดจากการขยายตัวที่ดีของเศรษฐกิจไม่ใช่การรัดเข็มขัดทางการคลัง ซึ่งหากต้องทำก็แปลว่าเศรษฐกิจเข้าขั้นวิกฤติแล้ว

4. หากไม่อยากมีภาระหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากก็ควรระวังเรื่องนโยบายการเงินและการธนาคารมากกว่า

ครั้งหน้าผมจะเขียนถึงประโยชน์ที่คาดหวังจากการลงทุน 2 ล้านล้านของรัฐบาลครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หนี้สาธารณะของไทย

view