สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ได้เวลาสุมหัวดูแลเงินบาทก่อนวิกฤตจะมาเยือน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ดำรงเกียรติ มาลา

ปรากฏการณ์ของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาพรวดพราด แข็งค่าทะลุ 29 บาท/เหรียญสหรัฐแล้ว ซึ่งถือว่าแข็งค่าสุดนับตั้งแต่ปี 2540 โดยล่าสุดเคลื่อนไหวอยู่ที่ 28.95 บาท/เหรียญสหรัฐ

โดยค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาเมื่อเทียบเงินเหรียญสหรัฐ 1.4% จากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา และแข็งค่า 4% เมื่อเทียบกับค่าเงินเยนในวันศุกร์ของสัปดาห์ก่อน

ในภาพรวมขณะนี้เงินบาทของไทยมีการแข็งค่าขึ้นไปแล้วราว 4.55% จากระดับ 30.59 บาท/เหรียญสหรัฐ ณ สิ้นปี 2555

การแข็งค่าขึ้นเกือบ 5% ภายในกรอบเวลาเพียง 3 เดือน ทำให้เงินบาทถือเป็นหนึ่งในอัตราแลกเปลี่ยนของภูมิภาคเอเชียที่มีการเคลื่อน ไหวรวดเร็วที่สุด เทียบเคียงกับเงินเยนของญี่ปุ่นที่อ่อนค่าลงมาราว 10% และเงินวอนของเกาหลีใต้ที่อ่อนค่าลงมาราว 5.37%

ความรวดเร็วดังกล่าวทำให้กระทรวงการคลังและภาคเอกชนเริ่มร้อนใจตบเท้าออก มาเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาดูแลความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะสั้นให้อยู่ในระดับสอดคล้องกับค่า เงินในภูมิภาค ผ่านเครื่องมือทางการเงินมาใช้ ทั้งมาตรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและการเข้าแทรกแซงค่าเงินในรูปแบบต่างๆ

เหตุผลก็เพราะทุกจุดทศนิยมที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น หมายถึงผลกำไรของผู้ส่งออกที่มียอดการส่งออกอยู่ 1.9-2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อแลกมาเป็นเงินบาทหดหายไป

และยังทำให้การแข่งขันราคาที่ยากขึ้นของผู้ส่งออก ซึ่งนั่นหมายถึงการเติบโตของระบบเศรษฐกิจของไทยที่พึ่งพาการส่งออกเป็น เครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนถึงเกือบ 70%

สถานการณ์แบบนี้ แม้ในขณะนี้คณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะเลื่อนเวลาในการพูดคุยหารือถึงผลกระทบภาวะค่าเงินบาทต่อการส่งออกกับ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อหามาตรการมารองรับออกไป หลังตัวเลขส่งออกเดือน ก.พ. หดตัวลง 5.8%

แต่เชื่อได้ว่า ในเวลาอันใกล้นี้เอกชนจะต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องหามาตรการมาดูแลค่าเงินบาทให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ไม่เช่นนั้นขาดทุนกันหูตูบแน่!!!

ขณะเดียวกันสถานการณ์ของเงินบาทที่แข็งค่าพรวดพราดและรวดเร็วเช่นนี้ ได้สร้างแรงกดดันและสร้างความหวั่นไหวให้กับตลาดหุ้น ตลาดทุนไม่น้อย

ไม่เช่นนั้นคงไม่เกิดปรากฏการณ์ปล่อยข่าวกันอย่างหนักว่า ธปท.กำลังจะออกมาตรการมาดูแลเงินทุนไหลเข้าที่ทะลักอย่างต่อเนื่องในเร็วๆ นี้ เพราะทนแรงกดดันไม่ไหว

เพราะภาคเอกชนยังมีความกังวลว่า การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังมีมติให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา จะทำให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าไปเรื่อยๆ

จากทุนต่างชาติที่มีแนวโน้มจะเข้ามาถือครองตราสารหนี้และลงทุนในหุ้นไทยอีกระลอก หลังคลายความกังวลจากผลประชุมของ กนง.

เนื่องจากผลตอบแทนของการเข้ามาลงทุนในไทยเวลานี้ นับว่ายั่วยวนและหอมหวานในสายตานักลงทุนต่างชาติที่กำลังอยู่ในรูปของการ ย้ายจากการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย มาถือครองสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น จากความเชื่อมั่นในทางเศรษฐกิจไทยที่จะมีการลงทุนขนาดใหญ่จากภาครัฐ และการที่ไทยได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลระยะยาวของประเทศไทยเป็น BBB+

ยิ่งหากเทียบกับตลาดเกิดใหม่ในแถบเอเชีย ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทยหรือโดดเด่นกว่า เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จะเห็นว่าเกาหลีใต้ยังต้องเผชิญกับความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี มาเลเซียก็มีความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการเลือกตั้งใหม่ อินโดนีเซียมีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

ขณะที่ฟิลิปปินส์ แม้ภาพรวมจะดูดีและได้รับการยกระดับอันดับเครดิตของประเทศ แต่ยังมีข้อจำกัดของตลาดการเงินที่ยังมีขนาดเล็ก สภาพคล่องต่ำ ทำให้ไทยกลายเป็นตลาดที่น่าดึงดูดที่สุด

จึงไม่น่าแปลกใจเพราะเงินที่ไหลเข้ามาในตลาดตราสารหนี้และตลาดทุนไทยขณะ นี้ จะสามารถทำกำไรได้ถึง 2 เด้ง ทั้งจากค่าเงินที่แข็งค่า ซึ่งหากคำนวณจากระดับการแข็งค่าจากต้นปีจนถึงขณะนี้ ถ้ามีการขายทำกำไรจะเท่ากับผลตอบแทนหลายสิบเปอร์เซ็นต์ต่อปี เป็นเด้งแรก

เด้งต่อมา คือ ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยตามปกติ ซึ่งล่าสุดผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ประเภทอายุ 5 ปี อยู่ที่ระดับ 3.18% เทียบกับผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ ประเภทอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 1.76% ต่างกันอยู่ราว 1.42%

เช่นเดียวกับผลตอบแทนในตลาดหลักทรัพย์ไทยช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ซึ่งมีค่าเฉลี่ยสูงลิ่วถึง 12 % เรียกว่ายั่วยวนใจไม่น้อย

ยิ่งเมื่อพิจารณาจากข้อมูลภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายล่าสุดของ ธปท. ระบุว่า ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา มีเงินจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรไทยทั้งสิ้น 684 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่เงินไทยที่ไหลออกไปลงทุนในพันธบัตรต่างชาติกลับมีเพียง 119 ล้านเหรียญสหรัฐ สะท้อนให้เห็นว่า ท่อเงินไหลเข้าออกในตลาดของไทยในเวลานี้ไม่สมดุลกัน

และสะท้อนได้ว่า มาตรการที่ ธปท.นำออกมาใช้ในขณะนี้ ไม่สามารถดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนได้ และทำให้ผู้ประกอบการในประเทศแข่งขันกับคู่แข่งได้

ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในมาตรการนั้นแทบจะวัดกันไม่ได้ แม้จะยกข้ออ้างว่า เศรษฐกิจของไทยมีอัตราการขยายตัวที่ดีและต่อเนื่องมาอรรถาธิบายก็ตาม

ขืนดำเนินนโยบายแบบดันทุรังต่อไป เชื่อได้ว่า ปัญหาเศรษฐกิจและกำลังซื้อจะกลายมาเป็นปัญหาที่ทำให้คนไทยทุกคนอ่อนแอได้ในอนาคต

เพราะระดับปัจจุบันถือว่าแข็งค่าสุดนับตั้งแต่ปี 2540 ที่มีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเข้าไปแล้ว

ถึงเวลาแล้วที่ ธปท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระทรวงการคลัง และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล จะต้องหันมาสุมหัวกันเพื่อหามาตรการในการดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งค่าพรวดพราด จนเกิดผลข้างเคียงต่อระบบเศรษฐกิจ

เพราะการที่ต่างฝ่ายต่างคำนึงถึงจุดยืนและวัตถุประสงค์ของตัวเอง ทำให้การแก้ปัญหาค่าเงินของไทยยิ่งไปกันคนละทิศคนละทาง

การแสวงหาจุดกึ่งกลางเพื่อนำมากำหนดนโยบายหรือใช้เป็นหางเสือในการทำงาน มีแต่คุณ ไม่มีโทษ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ได้เวลา สุมหัว ดูแลเงินบาท ก่อนวิกฤต มาเยือน

view