สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จับตาแบงก์ชาติปรับกลยุทธ์วัดดวงสินทรัพย์เสี่ยง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ณัฐสุดา จิตตปาลพงศ์

นับเป็นความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด สำหรับการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนของบรรดาธนาคารกลางทั่วโลก

เพราะล่าสุด ธนาคารรอยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ (อาร์บีเอส) ได้ทำการสำรวจธนาคารกลางของ 60 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีทุนสำรองระหว่างประเทศรวมกันสูงถึง 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 210 ล้านล้านบาท) พบว่าส่วนใหญ่นั้นกำลังวางแผนนำทุนสำรองระหว่างประเทศเข้าไปลงทุนใน สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นและสกุลเงินและพันธบัตรของรัฐบาลประเทศเศรษฐกิจเกิด ใหม่ หลังจากที่ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น สินทรัพย์เหล่านี้ถือเป็นแหล่งลงทุนที่แบงก์ชาติส่วนใหญ่ไม่กล้าแม้แต่จะแตะ ด้วยซ้ำ

ผลการศึกษาครั้งนี้ พบว่า 8 ใน 60 ของธนาคารกลางได้เข้าไปลงทุนในหุ้นบ้างแล้ว ส่วน 1 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมดยอมรับว่า มีหุ้นเป็นทุนสำรองแล้ว หรืออย่างน้อยก็มีแผนที่จะเข้าไปลงทุนในหุ้นภายในช่วงเวลา 5 ปี ข้างหน้านี้

ขณะเดียวกัน 70% เปิดเผยว่า สนใจลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่ถูกจัดอันดับเครดิตในระดับ A มากขึ้น ซึ่งมากกว่าสัดส่วนแบงก์ชาติที่ยังให้ความสำคัญกับพันธบัตรรัฐบาลในระดับทริ ปเปิลเอ (AAA) หรือระดับสูงสุด ขณะที่ 20% นั้นสนใจลงทุนในพันธบัตรที่มีเครดิตในระดับขยะหรือ “จังก์” รวมทั้งหุ้นกู้ภาคเอกชน

ในส่วนของสกุลเงินหรือสินทรัพย์ต่างประเทศที่ได้รับความสนใจมากที่สุดขณะ นี้ ประกอบด้วยเงินเหรียญแคนาดา เงินเหรียญออสเตรเลีย เงินเหรียญนิวซีแลนด์ ตลอดจนสกุลเงินกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เงินเรียลของบราซิลและเงินหยวนของจีน

แน่นอนว่า สาเหตุหลักของความเคลื่อนไหวครั้งนี้คือ ความพยายามของแบงก์ชาติที่จะเสาะหาแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า หลังการดำเนินมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินของบรรดาเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ นำโดย สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งล่าสุดประกาศอัดฉีดเงินล็อตใหญ่มูลค่าสูงถึง 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 42 ล้านล้านบาท) ได้ฉุดผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเหล่านี้อย่างหนัก โดยข้อมูลจากอาร์บีเอสยังพบว่า มากถึง 4 ใน 5 ของตัวแทนแบงก์ชาติที่เข้าร่วมการสำรวจครั้งนี้ตัดสินใจเปลี่ยนกลยุทธ์การลง ทุนเพราะความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ล้วนๆ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ของรัฐบาลสหรัฐและเยอรมนี ซึ่งถูกยกให้เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยมากที่สุด อยู่ที่ระดับ 1.75% และ 1.24% ตามลำดับ ซึ่งนับว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับผลตอบแทนจากเงินปันผลของดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 ในตลาดหุ้นสหรัฐ ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.45%

“พันธบัตรเหล่านี้ปลอดภัยก็จริง แต่ก็เริ่มหมดเสน่ห์แล้วเพราะผลตอบแทนต่ำมาก ในทางตรงกันข้าม สัดส่วนของหุ้นในทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งเมื่อ 5 ปีที่แล้ว แทบจะอยู่ที่ระดับ 0 นั้น ก็พุ่งขึ้นอย่างแรง และมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอีก” แกร์รี สมิต จากบีเอ็นพี พาริบาส์ อินเวสต์เมนต์ พาร์ตเนอร์ กล่าว

สอดคล้องกับความเห็นของแพททริก ทอมป์สัน จากเจพี มอร์แกน แอสเซท แมนเนจเมนต์ ซึ่งมองว่า การซื้อหุ้นได้กลายเป็นเทรนด์ใหม่เสียแล้ว โดยเฉพาะในบรรดาธนาคารกลางที่มีปริมาณทุนสำรองในระดับสูง

ไล่เรียงตั้งแต่ประเทศเช็ก ซึ่ง อีวา แซมราซิโลวา คณะกรรมการธนาคารกลางของประเทศ เปิดเผยว่า ทางธนาคารได้เพิ่มการถือครองหุ้นจนปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนของทุนสำรองทั้ง หมดถึง 10%

“อัตราผลตอบแทนเงินปันผลพุ่งแซงหน้าผลตอบแทนพันธบัตรแล้ว” แซมราซิโลวา เปิดเผย พร้อมย้ำว่า แม้จะลงทุนในหุ้นมากขึ้น ทว่า ธนาคารกลางก็สามารถรักษาสถานะความเสี่ยงในระดับต่ำได้

เช่นเดียวกับแบงก์ชาติเกาหลีใต้ ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้เข้าไปซื้อหุ้น โดยเฉพาะในตลาดหุ้นจีน จนดันให้การถือครองหุ้นพุ่งแตะระดับ 5.4% จากระดับ 3.1% เมื่อปี 2552 ตลอดจนธนาคารกลางอิสราเอล ที่เพิ่งเริ่มลงทุนในสินทรัพย์ประเภทหุ้นครั้งแรกเมื่อปีที่ผ่านมา โดยซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ และตั้งเป้าจะเพิ่มการถือหุ้นเพิ่มขึ้นจากเดิม 2% เป็น 8% คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.4 แสนล้านบาท)

ด้านผู้ว่าการแบงก์ชาติจีนก็เคยเผยแผนที่จะเข้าซื้อ สกุลเงินประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มากขึ้น เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับทุนสำรองระหว่างประเทศของแดนมังกร ตลอดจนหวังกอบโกยผลตอบแทนในอัตราที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากไม่ระมัดระวังการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ย่อมมีความเสี่ยงไม่น้อย สำหรับธนาคารกลาง ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนเตือนว่าอาจถึงขั้นสั่นคลอนตลาดการเงิน รวมทั้งระบบเศรษฐกิจของประเทศได้

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า “ทุนสำรองระหว่างประเทศ” คือ สินทรัพย์ที่ถือครองหรืออยู่ภายใต้การควบคุมของธนาคารกลางของแต่ละประเทศ โดยทุนสำรองนั้นมีหลากหลายประเภทไล่เรียงตั้งแต่เงินตราต่างประเทศ ทองคำ ตลอดจนพันธบัตรรัฐบาล

หน้าที่สำคัญของทุนสำรองระหว่างประเทศ คือ การรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งใช้เพื่อแทรกแซงค่าเงิน และใช้ค้ำประกันการพิมพ์ธนบัตร ทว่า ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางสามารถนำทุนสำรองไปลงทุนได้เพื่อให้เกิดดอกผล

ความเสี่ยงที่อันตรายสุด คือ ความเสี่ยง “ขาดทุน” เพราะต้องไม่ลืมว่า การเปลี่ยนแปลงของมูลค่าสินทรัพย์ประเภทหุ้นนั้นขึ้นอยู่กับสภาวะตลาด รวมทั้งผลประกอบการของแต่ละบริษัท

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทางบีโอเจจะเคยประกาศผลประกอบการขาดทุน 281 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 8.43 พันล้านบาท) เมื่อปี 2554 หลังมูลค่ากองทุนรวมที่จดทะเบียนซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ (อีทีเอฟ) ที่ธนาคารถือครองอยู่นั้นดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 27 ปี

เช่นเดียวกับธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (เอสเอ็นบี) ซึ่งเมื่อปี 2554 ยอมรับว่า ขาดทุน 1.35 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.05 แสนล้านบาท) หลังก่อนหน้านั้น ทุ่มซื้อสกุลเงินต่างประเทศในปริมาณมหาศาลเพื่อพยายามสกัดการแข็งค่าของเงิน ฟรังก์สวิส จนทำให้ธนาคารเสี่ยงหนักต่อความผันผวนของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ

ในส่วนของ “จังก์บอนด์” นั้น แน่นอนว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะหมายถึงตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลหรือบริษัทที่มีความเสี่ยงสูงที่จะ “ผิดชำระหนี้” นั่นเอง

“การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนของแบงก์ชาติหลายแห่งสร้างความกังวลให้ กับนักลงทุนไม่น้อยว่า การไหลทะลักของเงินทุนปริมาณมหาศาลในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง ซึ่งบางทีขาดความโปร่งใส ก็อาจนำไปสู่ภาวะสั่นคลอนในตลาดการเงินได้” ไฟแนนเชียล ไทมส์ ระบุ

ยิ่งไปกว่านั้นคือ หลายฝ่ายกังวลว่า หากธนาคารกลางประสบภาวะขาดทุนยับเยินก็จะกระทบต่อการทำงานของธนาคารอย่าง หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันปริมาณการลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงของธนาคารกลางยังคงไม่ มากนัก ทว่า ผู้เชี่ยวชาญต่างเชื่อว่าหากบรรดาเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลก ยังคงเดินหน้าอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แบงก์ชาติเหล่านี้ก็จะยอมเสี่ยงเพื่อให้ได้มาซึ่งผลตอบแทนที่ดีกว่า

จะเป็นเดิมพันที่คุ้มค่าหรือไม่นั้น เวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จับตา แบงก์ชาติ ปรับกลยุทธ์ วัดดวง สินทรัพย์เสี่ยง

view