สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประสิทธิภาพกับความเป็นธรรมของตลาด (อีกที) : กรณี High-Frequency Trading (1)

ประสิทธิภาพกับความเป็นธรรมของตลาด (อีกที) : กรณี High-Frequency Trading (1)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เปลี่ยนบรรยากาศจากตลาดทุนไทยที่ตอนนี้ดูจะผันผวนปรวนแปรไม่น้อยกว่าสภาพภูมิอากาศโลก มาดูสถานการณ์นอกบ้านเรากันบ้างว่าเขาไปถึงไหนกันแล้ว

ทุกวันนี้กระแสโลกาภิวัตน์ทางการเงินยังเชี่ยวกราก เงินลงทุนไหลข้ามพรมแดนชั่วพริบตาทีละหลักล้านล้านบาท ตลาดหลักทรัพย์และโบรกเกอร์ทั่วโลกหาวิธีแย่งชิงลูกค้ากันอย่างถึงพริกถึงขิง ยกเว้นตลาดหลักทรัพย์ส่วนน้อยในประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยที่ยังไม่เปิดเสรีตลาดหลักทรัพย์กับธุรกิจหลักทรัพย์ ทำให้นักลงทุนไทยยังไม่มีโอกาสใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเท่าไร เพราะยังต้องส่งคำสั่งซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ (ถึงเล่นหุ้นผ่านเน็ตก็ยังต้องเล่นผ่านระบบโบรกเกอร์อยู่ดี) และถ้าจะซื้อหุ้นของบริษัทไทยก็ต้องซื้อในตลาดเดียวเท่านั้นคือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ในประเทศที่เปิดเสรีตลาดหลักทรัพย์และธุรกิจหลักทรัพย์ไปแล้วเทคโนโลยีได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการดึงดูดลูกค้า โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการสื่อสารรุดหน้าไม่หยุดนิ่ง

ตัวอย่างของเทคโนโลยีไฮเทคในตลาดหุ้นซึ่งจุดประกายการถกเถียงเรื่องประสิทธิภาพกับความเป็นธรรมของตลาดขึ้นมาอีกครั้งอย่างน่าสนใจยิ่ง คือธุรกรรม “เทรดความถี่สูง” (High Frequency Trading ย่อว่า HFT) ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

HFT หมายถึงการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์โดยไม่ต้องใช้คนส่งคำสั่ง แต่ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์วิเคราะห์ข้อมูล ค้นหาโอกาสเสี้ยววินาทีในการลงทุนและส่งคำสั่งซื้อขายโดยอัตโนมัติ โดยในหนึ่งวินาทีจะส่งคำสั่งเป็นจำนวนมากและบ่อยครั้งจะส่งในตลาดหลักทรัพย์มากกว่าหนึ่งแห่ง

กำไรจาก HFT มาจากส่วนต่างราคาหุ้นซึ่งมีมูลค่าน้อยนิด คือ 0.0001-0.002 ดอลลาร์ต่อหุ้นแต่อาศัยการส่งคำสั่งความถี่สูงด้วยความเร็วสูงเพื่อเพิ่มผลกำไรฉะนั้นนักลงทุนที่เทรดวิธีนี้จึงถือครองหลักทรัพย์ในเวลาสั้นๆ โดยมากไม่ถึงหนึ่งนาทีด้วยซ้ำเพราะซื้อมาขายไปอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Tradebot ซึ่งเป็นเทรดเดอร์ HFT ที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในอเมริกาปกติจะถือหลักทรัพย์ไม่ถึง 15 วินาทีก่อนที่จะขายทำกำไร

HFT จัดเป็นการเทรดหุ้นด้วยคำสั่งคอมพิวเตอร์หรือ Algorithmic Trading (ย่อว่า Algo) ประเภทหนึ่ง แต่คำว่า Algo นั้น “ใหญ่กว่า” เนื่องจากความหมายรวมถึงการถือหุ้นระยะยาว (ข้ามคืน) ด้วยไม่ใช่แต่เฉพาะการซื้อมาขายไปชั่วพริบตาของ HFT

ยิ่งเทคโนโลยีก้าวไกล HFT ยิ่งได้รับความนิยม โดยเฉพาะหลังจากที่เป็นข่าวฮือฮาว่าในปี 2008 ซึ่งอเมริกาประสบวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ นักลงทุน HFT (ซึ่งมักเป็นนักลงทุนสถาบัน เพราะมีเงินลงทุนในระบบคอมพิวเตอร์) กลับได้กำไรรวมกันถึงกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ทำให้นักลงทุนจำนวนมาก โดยเฉพาะเฮดจ์ฟันด์และบริษัทหลักทรัพย์จับจ้องตาเป็นมันทุ่มเงินลงทุนพัฒนาระบบเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงมาทำ HFT มากขึ้น

แน่นอนว่าถ้าเทคโนโลยีนักลงทุนเร็วจี๋ แต่เทคโนโลยีฝั่งตลาดหลักทรัพย์ยังช้าเป็นเต่าคลานก็จะทำ HFT ไม่ได้ ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ จึงเร่งพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ของตลาดให้ทันสมัยรวดเร็วทันใจจะได้ตอบสนองต่อความต้องการเสี้ยววินาทีของนักลงทุน HFT

นักลงทุน HFT ดีต่อตลาดหลักทรัพย์อย่างไร? คุณูปการสำคัญของ HFT คือช่วยสร้างสภาพคล่องมหาศาลให้กับตลาดหลักทรัพย์ เพราะส่งคำสั่งซื้อขายได้รวดเร็วระดับมิลลิวินาที (1/1,000 วินาที) หรือไมโครวินาที (1/1 ล้านวินาที) เลยทีเดียว หนึ่งคำสั่งอาจใช้เวลาเพียง 200 ไมโครวินาทีเท่านั้น ถ้าอยากรู้ว่าตัวเลขนี้เร็วขนาดไหนลองดูตัวอย่างเปรียบเทียบ - คนเรากะพริบตาครั้งหนึ่งใช้เวลาประมาณ 350,000 ไมโครวินาที เท่ากับว่า HFT เทรดได้ 1,750 ครั้งภายใน “พริบตาเดียว” จริงๆ!

นอกจากจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องแล้ว ธุรกรรม HFT ยังช่วยทำให้ส่วนต่างราคาเสนอซื้อและเสนอขาย (Bid-Offer Spread) แคบลง ซึ่งแปลว่าต้นทุนในการซื้อขายลดต่ำลง ช่วยให้นักลงทุนอื่นๆ รวมถึงรายย่อยที่ไม่ได้ใช้ HFT ได้ประโยชน์ไปด้วยและอยากเข้ามาทำธุรกรรมมากขึ้น

ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งที่รองรับ HFT พบว่า HFT ช่วยให้ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ในแต่ละวันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น สูงถึง 1.5 เท่าในกรณีของตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก

นอกจากจะ “ลงมือ” ทำรายการซื้อขาย (execute trade) แล้ว ระบบคอมพิวเตอร์ความถี่สูงยังผลิตและส่งรายงานธุรกรรมรวมถึงสภาพตลาดซึ่งแน่นอนว่ามีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจซื้อขาย (ของคนและของโปรแกรม) ดังนั้น เวลาที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างโปรแกรมกับระบบคอมพิวเตอร์ของตลาดยิ่งช้า โอกาสในการทำกำไรยิ่งน้อยลง ด้วยเหตุนี้นักลงทุน HFT จึงให้ความสำคัญกับความเร็วในการส่งข้อมูลและทำรายการ หรือที่ภาษาคอมพิวเตอร์เรียกว่า latency (ยิ่งต่ำยิ่งเร็ว) ซึ่งในบริบทของธุรกรรมอัตโนมัติอย่าง HFT หมายถึงเวลาที่เสียไประหว่างระบบของตัวเองกับระบบของตลาด (พูดง่ายๆ คือ เวลาที่คอมพิวเตอร์ใช้ “คุยกัน”)

ตลาดหลักทรัพย์ไหนโฆษณาว่ามี latency ต่ำ นักลงทุน HFT ยิ่งสนใจเข้าไปลงทุน ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ จะแข่งกันพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ให้ทวีประสิทธิภาพและความเร็ว รวมทั้งในทวีปเอเชียด้วย อาทิเช่น วันนี้ตลาดหุ้นสิงคโปร์ทำรายการได้ภายใน 90 ไมโครวินาทีเท่านั้น จากที่ไม่กี่ปีก่อนยังต้องใช้เวลา 3-5 มิลลิวินาที (ซึ่งก็นับว่าเร็วมากแล้ว)

ในเมื่อ “ความเร็ว” เป็นหัวใจของการทำกำไรแบบ HFT ปัจจุบันจึงมีบริการใหม่ๆ ที่ผุดขึ้นมารองรับความต้องการของนักลงทุนประเภทนี้อย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น

๐ การส่งคำสั่งซื้อขายโดยตรงความเร็วสูง (Ultra-low Latency Direct Market Access ย่อว่า ULLDMA) โดยไม่ต้องผ่านระบบของโบรกเกอร์ (Sponsored Access) ก่อน ปัจจุบันอย่าว่าแต่ DMA ความเร็วสูงเลย แม้แต่ DMA ขั้นพื้นฐานคือให้นักลงทุนส่งคำสั่งตรงไปที่ตลาดหลักทรัพย์เอง ตลาดหุ้นบ้านเราก็ยังไม่มี มีแต่ “แผน” ที่จะเปิดทางให้ทำ ซึ่งผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจะเกิดได้เมื่อไร ตราบใดที่โบรกเกอร์ยังมีอำนาจควบคุม ตลท.อยู่ เพราะ DMA ย่อมกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมของโบรกเกอร์โดยตรง

๐ การติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ของนักลงทุน HFT ในพื้นที่เดียวกันกับระบบของตลาดหลักทรัพย์ (Co-location) เพื่อลดเวลาในการส่งข้อมูลและทำรายการ (latency) ให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ นอกจากนี้ยังเป็นการการันตีว่าคำสั่งซื้อขายของนักลงทุน HFT จะได้อยู่ในอันดับต้นๆ ของคิวทำรายการในระบบของตลาดหลักทรัพย์

นอกจากบริการเชิงระบบและฮาร์ดแวร์ยังมีบริการใหม่ๆ ในแง่ซอฟต์แวร์ที่ผุดขึ้นมารองรับโมเดล HFT อย่างไม่ขาดสาย อาทิเช่น เทคโนโลยี Complex Event Processing (CEP) ซึ่งรวบรวมและประมวลผลข้อมูลมหาศาลจากเหตุการณ์จริงมาป้อนโปรแกรมรวมถึงซอฟต์แวร์มากมายที่นำเสนอการจัดการข้อมูล หลายตัวเชื่อมต่อตรงไปยังระบบของตลาดหลักทรัพย์เพื่อความรวดเร็ว

ในเมื่อ HFT มีประโยชน์ต่อตลาดหลักทรัพย์ขนาดนี้ แล้วมันมีอะไรให้ต้องกังวล? คำตอบคือประเด็นเรื่องความผันผวนของราคา และความเป็นธรรมในตลาดหลักทรัพย์ระหว่างนักลงทุนที่ใช้ HFT กับนักลงทุนที่ไม่ใช้ HFT

โปรดติดตามตอนต่อไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ประสิทธิภาพ ความเป็นธรรม ตลาด High-Frequency Trading

view