สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พลิกปูมทีมกฎหมายไทยสู้คดีพระวิหาร

พลิกปูมทีมกฎหมายไทยสู้คดีพระวิหาร

จาก โพสต์ทูเดย์

พลิกปูมทีมกฎหมายไทยสู้คดีพระวิหาร

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

ถือเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ จากกรณีฝ่ายกัมพูชายื่นเรื่องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) หรือศาลโลก เพื่อขอให้ตีความคำพิพากษาเดิม เมื่อปี 2505 กรณีพิพาทพื้นที่รอบตัวปราสาทพระวิหารระหว่างไทย-กัมพูชา

เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ศาลโลกให้กัมพูชาแถลงโดยวาจาก่อน ภายใต้การนำของฮอร์นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศกัมพูชา พร้อมด้วยทีมทนายชาวต่างชาติของฝ่ายกัมพูชา ซึ่งประกอบด้วย ฌอง มาร์ค ซอเรล, เซอร์แฟรงคลิน เบอร์แมน และ ร็อดแมน บุนดี ใช้เวลาทั้งสิ้น 4.30 ชั่วโมง

ขณะที่ฝ่ายไทยแถลงโดยวาจาวันนี้นัดแรกเช่นกัน ซึ่งใช้เวลาเท่ากับฝ่ายกัมพูชา นำโดย วีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็น “ตัวแทน” หรือ Agent ในฐานะหัวหน้าคณะดำเนินคดีปราสาทพระวิหารของไทย และรองตัวแทน คือ วรเดช วีระเวคิน อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีทีมทนายชาวต่างชาติของฝ่ายไทย และถือเป็นผู้มีประสบการณ์อย่างโชกโชนบนเวทีศาลโลก ประกอบด้วย อแลง แปลเล่ต์ ชาวฝรั่งเศส โดนัลด์ แมคเรย์ ชาวแคนาดา และ เจมส์ ครอว์ฟอร์ด ชาวออสเตรเลีย โดยทั้งสามท่านยังเป็นทนายความชุดเดิมที่เคยว่าความเรื่องดังกล่าวสมัย รัฐบาลชุดที่ผ่านมา

สำหรับประวัติการทำงาน อแลง แปลเล่ต์ เป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยปารีส อิกซ์ (น็องแตร์) ภาควิชากฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เคยเป็นผู้อำนวยการของ ซองตร์ เดอ ดรัวต์ แองแตร์นาซิยงนาล (Centre de Droit International-CEDIN) ในช่วงปี 2534-2544 และเคยได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ระหว่างประเทศหลายรายการ

นอกจากนี้ ยังได้รับ Knight of the Legion of Honour ปี 2541 ในฐานะที่ทำงานให้แก่ประเทศชาติ และถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศมีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่ง อีกทั้งเคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนของหลายๆ ประเทศให้ว่าความที่ศาลโลกมากกว่า 35 คดี อาทิ คดีข้อพิพาทเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือหมู่เกาะสิปาดันและลิติกัน และคดีข้อพิพาทเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือเกาะเปดรา บลังกา รวมถึงประเด็นพิพาทกรณีปราสาทพระวิหาร

เจมส์ ครอว์ฟอร์ด / โดนัลด์ เอ็ม. แม็คเรย์ / อแลง แปลเล่ต์

เจมส์ ครอว์ฟอร์ด เป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เป็นทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล และอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ มีประสบการณ์ว่าความในศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ อาทิ คดีเกาะปูเลา บาตู ปูเต๊าะห์ และคดีพิพาทเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือหมู่เกาะสิปาดันและลิติกัน

และยังเคยว่าความในศาลโลก ศูนย์ระหว่างประเทศเพื่อยุติข้อพิพาทด้านการลงทุน (ไอซีเอสไอดี) และศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) อีกทั้งมีความเชี่ยวชาญการว่าความในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายออสเตรเลีย อีกทั้งรัฐบาลออสเตรเลียเคยเสนอชื่อให้เป็นผู้พิพากษาโลก สำหรับการเลือกตั้งปี 2557

ขณะที่ โดนัลด์ เอ็ม. แมคเรย์ ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนด้านกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายการค้าระหว่าง ประเทศที่มหาวิทยาลัยออตตาวา ประเทศแคนาดา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ เคยเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงต่างประเทศแคนาดาในกรณีพิพาทด้านการประมงระหว่าง ประเทศและอนุญาโตตุลาการด้านเขตแดนหลายกรณี เมื่อปี 2541 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะเจรจาของแคนาดาในการตกลงสนธิสัญญาจับปลา แซลมอนในมหาสมุทรแปซิฟิก

การแถลงหักล้างประเด็นฝ่ายกัมพูชาพร้อมนำข้อมูลข้อเท็จจริงโน้ม น้าวศาลโลกไม่มีอำนาจตีความตามคำขอกัมพูชา จึงเป็นภาระอันหนักหน่วงของทีมงานที่ชาวไทยต่างส่งใจช่วย


หมัดน็อค ยก IBRU สยบแผนที่กัมพูชา

หมัดน็อค ยก IBRU สยบแผนที่กัมพูชา

จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ชุษณ์วัฏ ตันวานิช

ปล่อยให้ ฮอร์นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ นำทีมทนายความกัมพูชาให้การถล่มไทยไปแล้วยกแรก วันนี้เวลา 15.00-18.00 น. และ 20.00-21.30 น. ตามเวลากรุงเทพฯ ถึงคิวฝั่งไทยต้องแถลงคดีด้วยวาจาตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม

แม้ถ้อยแถลงตลอด 4 ชม.ครึ่งของกัมพูชาจะมีฟีดแบ็กว่าล้วนเป็นข้อมูลเก่า ไม่เหนือความคาดหมาย แต่ใช่ว่าจะไม่ส่งแรงสะเทือนใดต่อไทย เพราะถือว่าทีมทนายความได้ย้อนปูมหลังที่มาอย่างเป็นระบบพร้อมให้การเน้นย้ำ ใน 4 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1.ทางกัมพูชาโต้แย้งคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรของฝ่ายไทย โดยยืนยันว่าการยื่นร้องครั้งนี้เป็นการขอตีความไม่ใช่เป็นการอุทธรณ์ซ่อนตี ความหรือเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาในปี 2505

2.กัมพูชาเน้นย้ำต่อศาลว่า แผนที่ภาคผนวก 1 หรือแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 เป็นส่วนของเหตุผลสำคัญไม่สามารถแยกออกจากคำพิพากษาเดิมได้ 3.คำพิพากษาของศาลในปี 2505 ที่มีแผนที่ภาคผนวก 1 แนบท้าย ถือว่าศาลได้ยอมรับว่าเส้นบนแผนที่ดังกล่าวเป็นเส้นเขตแดนระหว่างกัมพูชาและ ไทย และ 4.การล้อมรั้วลวดหนามตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของไทยในเดือน ก.ค. ปี 2505 หลังศาลตัดสินให้ตัวปราสาทตกเป็นของกัมพูชาเป็นการตีความคำพิพากษาตามความ เข้าใจของไทยเพียงฝ่ายเดียว

รั้วลวดหนามที่ฝ่ายไทยวาดหวังให้เป็นเกราะป้องกันอธิปไตยในการต่อสู้คดี ครั้งนี้ยังถูกหักล้างจากกัมพูชา โดยทนายร็อดแมน บุนดี ให้การว่าสมเด็จเจ้านโรดม สีหนุ ได้ทักท้วงการล้อมรั้วลวดหนามของไทย โดยส่งหนังสือร้องเรียนไปยังเลขาธิการและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ไม่ได้นิ่งเฉยตามที่ไทยกล่าวอ้าง

หลากข้อโต้แย้งของกัมพูชายังคงโฟกัสที่อาวุธเดิม คือ ต้องการยึดแผนที่ 1:200,000 ไว้อย่างเหนียวแน่น เพราะเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าแผนที่ดังกล่าวศาลได้อ้างในคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ดังนั้นศาลควรตีความย้ำในคำพิพากษาเดิมให้ยึดแผนที่นี้อันจะมีผลให้พื้นที่ 4.6 ตร.กม. ตกเป็นของกัมพูชา

การให้การของกัมพูชายังพยายามโน้มน้าวให้ศาลเชื่อว่าหากไม่ตี ความย้ำในคำพิพากษาเดิมเพื่อให้เกิดความชัดเจนในความเป็นเจ้าของอธิปไตย เหนือดินแดนดังกล่าวแล้วอาจก่อให้เกิด “ข้อขัดแย้ง”ตามมาระหว่าง 2 ชาติ โดยหวังให้ศาลยึดหลักพิพากษาให้เกิดความสงบจบศึกครั้งนี้

ขณะเดียวกันฝั่งไทยตุนข้อมูลเตรียมหักล้างปมของกัมพูชาหลายประเด็น โดยประเด็นแรก ไทยยังคงย้ำว่ากัมพูชาไม่สามารถให้ศาลพิพากษาในคดีเดิมที่ศาลมีคำพิพากษา อำนาจอธิปไตยเหนือตัวปราสาทแล้วเมื่อปี 2505 และกัมพูชายังเคยขอให้ศาลตัดสินเพิ่มว่า “...ขอให้เส้นเขตแดนเป็นไปตามแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 และให้ถือว่าแผนที่ดังกล่าวเป็นสนธิสัญญาหรือไม่” แต่ศาลไม่วินิจฉัยเพราะเป็นประเด็นที่นอกเหนือไปจากคำขอเดิม จึงถือว่าคำร้องของกัมพูชากำลังขอให้ศาลตัดสินในประเด็นที่ศาลได้ปฏิเสธ อย่างชัดแจ้งแล้ว

อีกปมสำคัญคือ ไทยต้องการหักล้างด้วย “ท่าทีนิ่งเฉย” ของกัมพูชาจากการที่รัฐบาลไทยเคยออกมติ ครม.ให้ก่อสร้างรั้วลวดหนามพร้อมป้ายที่แสดงขอบเขต “บริเวณใกล้เคียงปราสาท” รวมถึงการจัดทำเอ็มโอยูไทยกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกปี 2543 โดยไม่ได้อ้างถึงคำพิพากษาปี 2505

ถือเป็นการตอกย้ำท่าทีของกัมพูชาที่ยอมรับตลอดมาว่าไทยปฏิบัติตามคำสั่ง ศาลโลก โดยไทยเตรียมขยายผลว่าต่อมากัมพูชากลับลำเปลี่ยนท่าที และยื่นฟ้องเพียงเพราะหวังประโยชน์จากการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็น มรดกโลกเท่านั้น เพราะที่ผ่านมานิ่งเฉยมาถึง 50 ปี

ส่วนประเด็นเจ้าสีหนุมีท่าที “ทักท้วง” ตามที่ทนายกัมพูชาให้การหรือไม่นั้น ทางฝั่งไทยเตรียมหลักฐานหักล้างเมื่อครั้งเจ้าสีหนุเสด็จยังปราสาทวันที่ 5 ม.ค. 2506

ครั้งนั้นทางการไทยได้อธิบายให้คณะผู้แทนของเจ้าสีหนุเข้าใจว่านายทหาร หรือตำรวจไทยจะไม่ทำสิ่งใดที่เป็นการแทรกแซงการเสด็จเยือน ตราบเท่าที่เจ้าสีหนุและสมาชิกคณะทูตของพระองค์อยู่ในบริเวณที่ทางการไทย พิจารณาว่าเป็นดินแดนกัมพูชาอย่างเคร่งครัด จุดนี้สะท้อนว่าเจ้าสีหนุยอมรับการล้อมรั้วของรัฐบาลไทย

อีกทั้งยังปรากฏบทสนทนาด้วยว่า “...เมื่อพระองค์ (เจ้าสีหนุ) กล่าวถึงการก่อสร้างเขตรั้วลวดหนามของประเทศไทย พระองค์อธิบายสิ่งนี้ว่าเป็นการรุกล้ำของประเทศไทยเข้ามาหลายเมตรในดินแดน กัมพูชาซึ่งศาลโลกตัดสินให้”

“พระองค์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามพระองค์จะไม่ทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นเนื่องจากระยะทางไม่กี่เมตรนี้ไม่มีความสำคัญ”

สำหรับแผนที่ร้อน 1:200,000 ที่กัมพูชาหวังให้ศาลตีความย้ำเพื่อมีผลต่อความเป็นเจ้าของพื้นที่ 4.6 ตร.กม. โดยยังอ้างว่า “ข้อขัดแย้ง” 2 ชาติจะยุติหากศาลวินิจฉัยชี้ชัดนั้น ทางไทยจะเดินหน้าหักล้างว่ายิ่งวินิจฉัยซ้ำจะยิ่งเพิ่มความขัดแย้ง และยิ่งเป็นเหตุผลที่ศาลไม่ควรรับพิจารณาประเด็นนี้ โดยยกรายงานของหน่วยวิจัยเขตแดนระหว่างประเทศ (ไอบีอาร์ยู) ที่ระบุว่า แผนที่ 1:200,000 ที่กัมพูชาจับไว้ไม่หลุดมือนั้นแท้จริงแล้วมีความผิดพลาดสูง

ทั้งนี้ เป็นเพราะการถ่ายทอดเส้นบนแผนที่ 1:200,000 ลงในแผนที่สมัยใหม่หรือลงในภูมิประเทศจริงจะเกิดความผิดพลาด ไม่สามารถเชื่อถือได้ เนื่องจากเทคนิคในการถ่ายทอดมีหลายวิธีการ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีเหตุผลที่สนับสนุนว่าวิธีการถ่ายทอดวิธีใดเหมาะสมกว่าวิธีอื่น ซึ่งความแตกต่างที่เกิดขึ้นจากการใช้วิธีการต่างๆ กันอาจเป็นผลให้เกิดความแตกต่างในพื้นที่กว้างหลายกิโลเมตร

ทั้งนี้ แผนที่ของกัมพูชามีปัญหา อาทิ เส้นในแผนที่เบี่ยงเบนไปอย่างสำคัญจากสันปันน้ำ ไม่มีวิธีที่ชัดเจนที่จะเชื่อมต่อเส้นของแผนที่กับอีกเส้นในแผนที่ซึ่งเข้า มาในส่วนนี้จากทิศตะวันตก ยังมีแผนที่ดังกล่าวฉบับหลังๆ ซึ่งมีข้อผิดพลาดจากการจัดแม่พิมพ์ทำให้ตำแหน่งของเส้นชั้นความสูงผิดไป อย่างมาก

“ด้วยคุณภาพที่ต่ำของแผนที่ภาคผนวก 1 (1:200,000) และข้อผิดพลาดหลายประการในแผนที่ดังกล่าว ทำให้วิธีคณิตศาสตร์ในการถ่ายทอดเส้นเขตแดนมายังโลกจริงจะถูกลดความถูกต้อง ลงโดยการมีอยู่ของข้อผิดพลาดจำนวนหนึ่ง” ทีมไอบีอาร์ยูอธิบาย

ทั้งนี้ ไอบีอาร์ยูค้นพบแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 อีกฉบับหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากแผนที่ภาคผนวก 1 ที่กัมพูชายื่นต่อศาล ดังนั้นศาลไม่ควรตัดสินว่าให้เส้นเขตแดนหรือเส้นบริเวณใกล้เคียงเป็นไปตาม แผนที่ภาคผนวก 1

...หากศาลจะตัดสินให้ใช้แผนที่ภาคผนวก 1 แทนที่จะเป็นการแก้ไขปัญหากลับจะสร้างข้อพิพาทใหม่ให้คู่กรณีแทน


วีรชัยชี้ไทยพร้อมโต้ทุกประเด็นลั่น"สู้เต็มที่"

จาก โพสต์ทูเดย์

วีรชัยชี้ไทยพร้อมโต้ทุกประเด็นลั่น"สู้เต็มที่"

"วีรชัย”เปิดใจก่อนขึ้นแจงศาลโลก ชี้กัมพูชามีแต่ข้อมูลเก่า ลั่นพร้อมโต้กลับทุกประเด็นเน้นเรื่องแผนที่ฝากถึงคนไทย “สู้เต็มที่-สนุกแน่"

นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะตัวแทนฝ่ายไทยสู้คดีปราสาทพระวิหาร เปิดเผยก่อนขึ้นชี้แจงด้วยวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) หรือ ศาลโลก กรณีกัมพูชาขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 เมื่อวันที่ 16 เม.ย. เวลา 18.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ว่า สิ่งที่กัมพูชาพูดเมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา มีเรื่องใหม่น้อย ส่วนใหญ่อยู่ในข้อเขียน

ทั้งนี้ สิ่งที่ใหม่ คือ เรื่องแผนที่ ที่นอกเหนือจากแผนที่ภาคผนวก1 ซึ่งเป็นผนวกคำฟ้องเมื่อปี 2505 แต่ไม่ใช่ผนวกคำพิพากษา โดยกัมพูชายึดแผนที่อันเดียวมาตลอด แต่เมื่อวานเขาบอกว่ามีแผนที่อื่นๆ ซึ่งในการพิจารณาคดีเก่า มีการนำแผนที่มาใช้อ้างอิง 60 ฉบับ ซึ่งศาลได้นำมาผลิตแนบเข้ามาในประมวลคดี 6 ฉบับ ซึ่งแผนที่อื่นๆ กัมพูชาไม่ได้มีท่าทีออกมาชัดเจนในข้อเขียน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 เม.ย.

นอกจากนี้ อันหนึ่งที่เป็นของใหม่ คือ เรื่องข้อเท็จจริงหลังคำพิพากษา คือ พฤติกรรมของคู่คดีจาก 2505 ถึงปัจจุบัน ช่วงต้นกัมพูชาเสนอหลักฐานเพียงนิดหน่อยในช่วงข้อเขียน แต่เมื่อวานได้ออกมาแสดงท่าที ซึ่งมีเพียง 2 ประเด็นที่เป็นเรื่องใหม่ ซึ่งไทยก็ได้ศึกษาและเตรียมการที่จะโต้ตอบเขา และคิดว่าพอจะโต้ตอบได้

“ระหว่างพักกลางวันเมื่อวาน เราอยู่ในห้องฝ่ายถูกฟ้อง ได้นั่งไล่ทีละประเด็นที่คิดว่าจำเป็นต้องตอบในวาจานี้ เพราะหลายประเด็นได้ตอบไปแล้วในข้อเขียน ซึ่งเราใช้วิธีอ้างก็ได้ แต่บางประเด็นเราต้องพัฒนาข้อโต้แย้งข้อต่อสู้ เมื่อตกลงกันเสร็จ ก็ต้องแจกลูกกันว่า ใครจะเป็นคนทำระหว่างผมและที่ปรึกษาอีก 4 คน  หลังช่วงบ่ายก็ทำประเด็นและแจกกันอีกครั้ง เมื่อวาน6โมงเย็น ก็แยกย้ายกันไปเขียนใหม่ค่อนข้างเยอะ เหมือนกังฟูว่าเราต้องปรับให้เข้ากับที่เขาออกอาวุธมาก เมื่อคืนจึงนอนน้อยมาก เพราะวันที่เขากล่าว ยากที่สุด ฟังแล้วต้องมาคิดและเขียนออกมา เมื่อคืนเขียนใหม่และส่งร่างใหม่ในวันนี้  ตอนนี้เป็นขั้นแก้ขั้นสุดท้าย ของผมตอนนี้ 99.99%”นายวีรชัย กล่าว

นายวีรชัย กล่าวว่า ประเด็นที่เป็นไฮไลท์สำคัญมากๆ คือเรื่องแผนที่ โดยศาลไม่ได้ดูแผนที่ฉบับเดียวแต่มีแผนที่อื่นๆมากมาย แต่กัมพูชาก็จำเป็นต้องพูดเช่นนั้น เพราะมันเป็นท่าทีของเขา แต่เราจะมีอะไรให้ศาลดูเยอะ เชิญชวนดูช่วงแผนที่ จะมีการนำเสนอแผนที่มาใช้หลายฉบับ

เมื่อถามว่าฝ่ายกัมพูชาอ้างว่า มีการประท้วงคัดค้านเกี่ยวกับการดำเนินการตามคำตัดสินของศาล ไทยจะหักล้างว่าไม่ควรรับตีความอย่างไร นายวีรชัย กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นส่วนใหม่ที่ออกมาเมื่อวาน เพราะในข้อเขียนของเขา เขาบอกว่ามันไม่เกี่ยวและไม่เข้าใจว่าไทยต้องมาเสนอเอกสารมากมาย ซึ่งเป็นการไม่เคารพศาล ในที่สุดเขาก็ออกมาในส่วนนี้ ซึ่งเราเชื่อว่าเราพอจะโต้แย้งเขาได้ 

นอกจากนี้แผนที่มีหลายฉบับ ไม่ได้มีฉบับเดียว และไม่ได้พูดถึงแผนที่ซึ่งเกิดขึ้นหลังประเด็นอื่นๆ ที่ศาลใช้เป็นเหตุผลในการตัดสิน ซึ่งแผนที่เป็นหนึ่งในเหตุผล จะมีการโต้ตอบตรงนี้ที่ว่ามีเหตุผลอื่นด้วย

นายวีรชัย กล่าวด้วยว่า ฝ่ายไทยที่จะขึ้นพูดเรื่องแผนที่ คือ ทนายความหญิงอลินา มิรอง ผู้ช่วยของ ศ.อแลน แปลเล่ต์ เพราะเป็นผู้ที่ทำงานเรื่องแผนที่โดยเฉพาะกว่า 60 ฉบับ ซึ่งตนกับอลินา ทำงานเรื่องแผนที่ด้วยกันมาถึง 3 ปี และมีผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่จากมหาวิทยาลัยเดอรัมอีก2คน ซึ่งตนเห็นว่าเก่งที่สุดในโลก คือ นายมาร์ติน แครป และ นายอสาสแตร์ เม็กโคนัล  สำหรับวันที่ 17 เม.ย.นี้ ตนจะขึ้นพูดเป็นลำดับแรก จากนั้น ศ.โดนัล เอ็ม แม็คเรย์  น.ส.อลินา มิรอง  ศ.เจมส์ ครอว์ฟอร์ด  และสุดท้ายคือ ศ.แปลเล่ต์ ส่วนที่มีการสลับลำดับขึ้นพูดหลายครั้ง ก็เพื่อให้ตรงกับสถานการณ์

ผู้สื่อข่าวถามว่า ภารกิจครั้งนี้ถือเป็นความรับผิดชอบค่อนข้างใหญ่ จะฝากอะไรถึงคนไทยที่ติดตามดู นายวีรชัย กล่าวว่า “ผมไม่เคยพูดว่าเราชนะแน่ ปกติผมจะตอบสามคำ "สู้เต็มที่" แต่วันนี้ขอเพิ่มสองคำ "สนุกแน่" และสำหรับวันที่ 17 เม.ย.นี้ ตนก็สวมชุด “มอร์นิ่ง โค้ต” ซึ่งเป็นชุดทางการของเนเธอร์แลนด์  


"วีรชัย"ชี้เขมรให้ข้อมูลเท็จหวังฮุบแดนไทย

"วีรชัย" ขึ้นให้การต่อศาลโลกย้ำไทยปฏิบัติตามคำสั่งศาลมาตลอด ซัดเขมรให้ข้อมูลบิดเบือน รุกล้ำอธิปไตยไทยหวังฮุบดินแดน

เมื่อเวลา 15.00น.ตามเวลาในประเทศไทย นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะตัวแทนฝ่ายไทยพร้อมทีมทนายความได้ขึ้นให้การทางวาจาคดีตีความคำ พิพากษาคดีเขาพระวิหารปี2505ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก

นายวีรชัย กล่าวว่า ประเทศไทยปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลกมาตั้งแต่ปี2505 และกัมพูชาไม่เคยประท้วงจนกระทั่งกัมพูชาได้นำปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียน เป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว ทำให้กระทบต่ออธิปไตยของไทย โดยไทยได้คัดค้านผ่านกลไกการเจรจามาตลอด

ข้อพิพาทปัจจุบันเกิดจากการเรียกร้องดินแดนใหม่ของกัมพูชา เพื่อยื่นเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว ดังนั้น จึงไม่เกี่ยวกับคดีเดิมหรือเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือปราสาท ซึ่งได้รับปฏิบัติแล้วทันทีภายหลังจากการมีคำพิพากษา

ไทยมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้กำหนดขอบเขตบริเวณใกล้เคียงปราสาท โดยมีการสร้างรั้วและป้าย และเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2505 ไทยก็ได้คืนปราสาทให้กัมพูชาพร้อมถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่  ซึ่งถือว่ากัมพูชาได้ในสิ่งที่ขอในคำขอเมื่อปี 2502 คือ อธิปไตยเหนือปราสาทและการถอนกำลังทหารออกจากที่ดินผืนหนึ่งบนดินแดนกัมพูชา หรือเรียกว่าบริเวณสิ่งหักพังของปราสาท และกัมพูชาได้แสดงความพึงพอใจโดยหัวหน้าทางการทูตของกัมพูชาต่อหน้าที่ ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ และประมุขของรัฐกัมพูชาที่เดินทางไปทำพิธีครอบครองปราสาทอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ต้นปี 2543 กัมพูชาได้พยายามรุกล้ำเข้ามาในแดนไทย และการปะทะกันตามแนวชายแดนก็ล้วนแต่เกิดจากการรุกล้ำและยั่วยุของฝ่าย กัมพูชา ซึ่งจุดประสงค์ที่แท้จริงของกัมพูชาในการรุกรานไทยก็คือต้องการพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรของไทยไปร่วมกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร

นายวีรชัยยืนยันว่า นโยบายการต่างประเทศที่ก้าวร้าวของกัมพูชาทำให้เกิดปัญหา ไม่ใช่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงการเมืองภายในประเทศไทย เพราะกัมพูชาอ้างแผนที่ 1 ต่อ 200,000 หรือระวางดงรัก โดยไม่สนใจเรื่องภูมิประเทศว่าเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ไทยตกลงในกระบวนการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนร่วมภายใต้บันทึกความ เข้าใจเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2543 เพื่อกำหนดเส้นเขตแดน มิใช่เป็นกระบวนการทางยุติธรรมครอบคลุมถึงพื้นที่ ซึ่งกัมพูชาอ้างในปัจจุบัน

"กัมพูชาใช้ศาลโลกเป็นเครื่องมือในการริดรอนสิทธิของไทย และยังทำให้ศาลเข้าใจผิดพลาดในข้อเท็จจริง ทั้งการกล่าวอ้างพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร และกัมพูชายื่นเอกสารที่ไม่ถูกต้องกว่า 10 ประเภท ที่เป็นการปลอมแปลงตกแต่งขึ้นมาเอง"นายวีรชัยกล่าว

ระหว่างการให้การทางวาจา นายวีรชัยยังได้ยกตัวอย่างเอกสารที่กัมพูชา บิดเบือนข้อมูลในเอกสารที่เผยแพร่เกี่ยวกับการจัดทำหลักเขตแดนระหว่างไทยกับ กัมพูชามาแสดงต่อศาลด้วย

ก่อนหน้านี้นายมนัสวี ศรีโสดาพล อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้สรุปสาระสำคัญการให้การต่อศาลโลกของกัมพูชาไว้ดังนี้

1.กัมพูชามิได้ขออุทธรณ์คดีหรือประสงค์จะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาปี 2505 เพียงแต่ต้องการให้ศาลฯ ชี้ให้ชัดเจนว่า ขอบเขตดินแดนของกัมพูชาและบริเวณใกล้เคียงปราสาทที่ระบุไว้ในคำพิพากษาอยู่ ที่ใด

2.กัมพูชาและไทยมีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับคำพิพากษาและอธิบายว่า "แผนที่ภาคผนวก1" หรือ "แผนที่มาตราส่วน 1:200,000" เป็นส่วนของเหตุผลสำคัญที่ไม่อาจแยกจากคำพิพากษาเดิมเมื่อปี 2505 ได้ ดังนั้น กัมพูชาจึงอ้างว่า คำขอของกัมพูชาเข้าเงื่อนไขของการขอให้ศาลฯ ตีความคำพิพากษา

3.การตีความดังกล่าวจะทำไม่ได้หากไม่อ้างอิง “แผนที่ภาคผนวก1” แนบท้ายคำฟ้องของกัมพูชาในคดีเดิม ซึ่งกัมพูชาเห็นว่า ศาลฯ ได้ยอมรับแล้วว่าเส้นบนแผนที่ดังกล่าวเป็นเส้นเขตแดนระหว่างกัมพูชากับไทย

4.การปฏิบัติตามคำพิพากษาของฝ่ายไทยเมื่อปี 2505 เป็นการตีความคำพิพากษาตามความเข้าใจของไทยฝ่ายเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การล้อมรั้วลวดหนามรอบปราสาทพระวิหารตามมติคณะรัฐมนตรีของไทยเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 ซึ่งกัมพูชาไม่ยอมรับ


'ทูตวีรชัย'ให้การศาลโลก กัมพูชาล้ำอธิปไตย

"ทูตวีรชัย" ขึ้นให้การทางวาจาต่อศาลโลก ยัน กัมพูชาพยายามล่วงล้ำอธิปไตย ปลอมแปลงเอกสาร ทำลายความน่าเชื่อถือ

นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำเนเธอร์แลนด์ ในฐานะตัวแทนประเทศไทย ได้ชี้แจงด้วยวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ไทยให้ความเคารพต่อคำสั่งศาล 2 ฝ่ายเข้าใจตรงกัน 50 ปีผ่านไปกัมพูชายื่นให้มีการอุทธรณ์ และหลังจากมีคำพิพากษาออกมาในปี 1962 ไทยก็ได้ถอนกำลังออกมา เห็นได้ชัดจากรั้วและป้ายที่เป็นไปตามมติครม.ก่อนหน้านั้น และในต้นปี 2000 มีการรุกล้ำเข้าสู่แผ่นดินไทยเป็นการละเมิดซึ่งหน้าตามเอ็มโอยู ซึ่งไม่เกิดการเสถียรสองฝ่ายทำให้เกิดการประท้วงตามมา การที่จะเป็นพี่น้องกันในอาเซียน ประเทศไทยพยายามยับยั้งและใช้กลไกเจรจาในคณะกรรมการเจบีซี ซึ่งกัมพูชารุกล้ำเข้ามา 4,000 ตร.กม. พยายามหยิบฉวยดินแดนของไทยที่จะขึ้นทะเบียน และไทยก็ประท้วงมากยิ่งขึ้นในการรุกล้ำอธิปไตยเหนือดินแดน และทั้งหมดยั่วยุโดยกัมพูชา ไทยพยายามใช้สิทธิป้องกันตนเองตามกฎหมายประเทศ

ส่วนข้ออ้างปัจจุบันไม่มีข้อเท็จจริงทางกฎหมายที่จะดำเนินการเจรจาต่อรองอย่างถูกต้องตามเอ็มโอยูไม่เหมือนอย่างที่กัมพูชากล่าวอ้าง เพราะคำร้องของกัมพูชาไม่ได้อ้างดินแดนขนาดนี้ หรือขอบเขต ศาลจึงไม่สามารถตัดสินในสิ่งที่กัมพูชาร้องขอ แม้คำขอครั้งแรกของกัมพูชาจะขอให้ศาลตัดสินเรื่องขอบเขต เขตแดน และแผนที่ภาคผนวกมีความถูกต้อง ซึ่งไม่เกี่ยวกับกับแผนที่ 4.1 ตร.กม.

ประเทศไทยไม่เคยโต้แย้งแผนที่ภาคผนวกหนึ่ง มีหลักฐานมากมายว่ากัมพูชากล่าวอ้างเฉพาะปลายปี 2000 ซึ่งประเทศไทยค้นพบปัญหานี้เมื่อปี 2007 เมื่อกัมพูชายื่นขอขึ้นทะเบียน แต่ปี 1962 กัมพูชาไม่เคยมีหลักฐานอันน่าเชื่อได้เลย ส่วนที่ว่าปัญหามาจากการเมืองภายในประเทศไทย แต่แท้จริงเป็นปัญหาก้าวร้าวของกัมพูชาและขยายไปยังปัญหาด้านกฎหมาย เขตแดน แสดงให้เห็นชัดเจนในเรื่องบริเวณพื้นที่ข้อพิพาท แผนที่ภาคผนวกหนึ่งจึงกลายเป็นตัวปักปันเขตแดน และมีการจัดทำเขตแดน โดยไม่สนใจลักษณะภูมิภาคเลย ในแง่แผนแม่บท หรือทีโออาร์ เป็นไปตามปี 2000 ไม่ตรงกับปี 1962 ตามที่กัมพูชากล่าวอ้าง ซึ่งเอ็มโอยู 43 ไม่พูดถึงสนธิสัญญาฝรั่งเศส - สยาม หมายความว่ายังตกลงกันไม่ได้ และเป็นเพียงขั้นตอนจำเป็นในการสำรวจร่วมแนวสันปันน้ำ ที่ไม่รวมอยู่ในคำพิพากษา สิ่งที่ตามมาหลังคำพิพากษาคือ การไม่มีข้อพิพาทใดเกี่ยวกับขอบเขตคำพิพากษาเลย ซึ่งกัมพูชาให้เอกสารกว่า 10 รายการที่ไม่ถูกต้อง ไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจน และมีการปลอมแปลงให้ข้อมูลไม่ถูกต้องเกี่ยวกับแผนที่ภาคผนวก หลอกให้คนดูเว็ปไซต์สถานทูตกัมพูชาในปารีส แต่ก็ไม่สามารถให้คำอธิบายได้ชัดเจน ซึ่งประเทศไทยมีหลักฐานพิสูจน์พื้นที่ 4.5 ตร.กม. เป็นพื้นที่โต้แย้งใหม่ไม่เกี่ยวกับคำพิพาท และไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ ครม.ไทยตัดสินเลือกใช้วิธีที่ 2 ในการกำหนดว่าขอบเขตปราสาทพระวิหารอยู่ที่ใด สิ่งที่กัมพูชาทำเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือ


ทนายไทยอัดเขมรหวังเปลี่ยนคำพิพากษา

จาก โพสต์ทูเดย์

ทนายไทยระบุกัมพูชาหวังเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา อำพรางคำถามในการยื่นขอให้ศาลตีความ ชี้คำร้องสับสน-ไม่ชัดเจน

เมื่อวันที่ 17 เม.ย. นายโดนัล เอ็ม.แมคเรย์ ทนายความฝ่ายไทย ได้ให้การทางวาจาในคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี2505ต่อศาล ยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก

นายโดนัลกล่าวว่า กัมพูชายื่นคำร้องให้ศาลตีความเพื่อขอความชัดเจนจากคำพิพากษาของศาลในปี 2505 แต่แท้จริงแล้วทางกัมพูชาไม่ได้เป็นการขอให้ตีความ แต่เป็นความพยายามในการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา เพื่อให้ศาลตัดสินว่าเส้นเขตแดนเป็นไปตามแผนที่ภาคผนวก 1 หรือ แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 หรือระวางดงรัก ซึ่งศาลได้ปฏิเสธที่จะตัดสินไปแล้วในปี 2505 เพราะศาลไม่สามารถวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวได้ 

ทั้งนี้กัมพูชาได้ขอให้ศาลประกาศพันธกรณีที่ไทยต้องถอนตำรวจและทหารออก จากตัวปราสาทและบริเวณที่เป็นข้อพิพาท ซึ่งเป็นส่วนปฏิบัติการในคำพิพากษา ปี 2505 รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่าตัวปราสาทอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา เพื่อที่จะให้ศาลตีความย้ำว่าดินแดนของกัมพูชาอยู่ในทั้งพื้นที่ปราสาทและ บริเวณใกล้เคียง ซึ่งถูกกำหนดไว้โดยแผนที่ 1:200,000 แต่เหล่านี้เป็นถ้อยแถลงที่ไม่ได้เป็นคำถามในการตีความดินแดนของกัมพูชา เป็นการขอให้พูดซ้ำในสิ่งที่ศาลพูดไปแล้ว ซึ่งทำให้เกิดการเสียเวลา และไม่เกิดผลใดๆ

"การขอให้ศาลตีความว่าตัวปราสาทและบริเวณใกล้เคียงนั้นเคยพิพากษาโดยใช้ แผนที่ในภาคผนวก 1 ไม่ได้เป็นการบอกโดยตรง แต่เป็นการแทรกหรือการเสริมคำขอที่ส่งมายังศาล ทั้งที่เมื่อปี 2505 ศาลไม่ได้วินิจฉัยว่าเส้นบนแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นเส้นกำหนดเขตแดนระหว่างคู่ความ แต่ได้ปฏิเสธอย่างชัดแจ้งไปแล้ว จึงถือว่าทางกัมพูชาอำพรางคำถามในการยื่นขอให้ศาลตีความ"นายโดนัลกล่าว

นายโดนัล กล่าวด้วยว่า ข้อ 50 ของธรรมนูญศาลกฎระเบียบชัดเจนอยู่แล้วว่าคำขอที่ให้ศาลตีความต้องเป็นสิ่ง ที่จำเพาะเจาะจง ทั้งนี้ข้อที่ 98 ของระเบียบศาลยังระบุถึงความจำเพาะเจาะจงในเรื่องที่เป็นข้อพิพาทหรือขอบเขต ของคำพิพากษา แต่ในคำร้องของคำขอของกัมพูชาไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย ไม่มีทั้งความชัดเจนหรือความจำเพาะเจาะจงที่ชัดแจ้ง สิ่งที่กัมพูชาขอศาลล้วนเป็นความสับสนและความไม่ชัดเจน


โดนัลด์'ยัน'ไทย-กัมพูชา'ไม่มีพิพาทถอนทหาร

โดนัลด์"ยันต่อศาลโลก"ไทย-กัมพูชา"ไม่มีข้อพิพาทเรื่องถอนทหาร แฉเหลี่ยมต้องการได้ดินแดนเพิ่ม

นายโดนัลด์ เอ็ม แม็คเรย์ ทนายความฝ่ายไทย ให้ถ้อยแถลงด้วยวาจาต่อคณะผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กล่าวว่า คำร้องที่กัมพูชาได้ขอให้ศาลฯ ได้ตีความคำพิพากษาของศาลฯ เมื่อปี 1962 ถือเป็นคำขอที่ไม่ชัดเจน โดยพบว่ามีการซ่อนความต้องการที่ต้องการให้ศาลฯ ตีความเรื่องของเขตแดนโดยรอบปราสาทพระวิหาร ที่เคยได้มีการปฏิเสธการพิจารณาไปแล้ว ส่วนที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าศาลฯ ได้ระบุถึงบทปฏิบัติการให้ถอนกองกำลังทหารนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ข้อพิพาท เพราะประเทศไทยได้ทำโดยทันที หลังจากที่ศาลโลกมีคำพิพากษา แต่ฝ่ายกัมพูชากลับทำเป็นคำขอให้ศาลฯ พิจารณาอีก จึงเป็นสิ่งที่ประหลาด และทำให้เห็นเล่ห์เหลี่ยมที่ได้อำพรางไว้

"ยืนยันว่าระหว่างไทย กับ กัมพูชา ไม่มีข้อพิพาท ในคำพิพากษาของศาลโลก ปี 1962 เพราะตัวปราสาทพระวิหารนั้นเป็นของกัมพูชา แต่หากศาลฯ ยังเปิดทางให้มีการตีความคำพิพากษาเดิม เท่ากับเป็นการบ่อนทำลายคำวินิจฉัยตนเองที่ให้ไว้เมื่อปี 1962 และโดยตามธรรมนูญศาลโลกระบุชัดเจนแล้วว่าไม่สามารถทำได้ สิ่งที่กัมพูชาได้กระทำคือต้องการให้ศาลโลกยืนยันอำนาจพื้นที่อธิปไตยที่ใหญ่กว่าพื้นที่ที่ศาลโลก เคยพิพากษาในปี 1962 คือพื้นที่ใกล้เคียงปราสาท รวมถึงพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร นั่นหมายถึงต้องการให้ศาลโลกฯ ได้ตีความในเรื่องของเขตแดนให้มีความชัดเจน" นายโดนัลด์ ให้ถ้อยแถลงต่อคณะผู้พิพากษาฯ


ยกท่าที"สีหนุ"สะท้อนไทยทำตามคำพิพากษา

จาก โพสต์ทูเดย์

ยกท่าที"สีหนุ"สะท้อนไทยทำตามคำพิพากษา

ทนายยกท่าทีสมเด็จฯสีหนุครั้งเสด็จฯพระวิหารสะท้อนไทยปฏิบัติตามคำพิพากษาศาล ชี้เอ็มโอยู 43ไม่เกี่ยวเนื่องคำพิพากษา      

เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ศ.อแลง แปลเล่ต์ ทนายความฝ่ายไทย ได้ขึ้นให้การทางวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ในคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี2505

ศ.อแลง ให้การระบุว่า การเสด็จไปยังปราสาทพระวิหารของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงเดชานุภาพเมื่อปี 2473  ทำให้ศาลมีคำพิพากษาว่าไทยได้ยอมรับอธิปไตยเหนือดินแดนของกัมพูชาโดยปริยาย เพราะฉะนั้นศาลก็ไม่สามารถดำเนินการสองมาตรฐานได้เพราะสมเด็จเจ้านโรดม สีหนุ อดีตกษัตริย์ของกัมพูชาก็เสด็จฯไปยังปราสาทพระวิหารเช่นกัน โดยพระองค์มีท่าทีเงียบเเละนิ่งเฉยต่อมาตรการล้อมรั้วลวดหนามและป้ายติดตั้ง ระบุเขตแดนของรัฐบาลไทย

ศ.อแลงกล่าวอีกว่า ท่าทีของสมเด็จฯสีหนุถือว่ามีนัยยะสำคัญอย่างใหญ่หลวง เพราะตามสถานการณ์ชี้ว่าสมเด็จฯสีหนุเห็นว่าสภาพรอบปราสาทเป็นไปตามคำ พิพากษาของศาลอย่างน่าพึงพอใจ

ขณะเดียวกันถือได้ว่าทั้ง 2 กรณียังมีน้ำหนักต่างกัน ทางฝ่ายไทยนั้นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงเดชานุภาพเสด็จไปในฐานะผู้ได้รับการอนุญาตจากกษัตริย์สยามเท่า นั้น ขณะที่สมเด็จเจ้านโรดมเดินทางเสด็จเยี่ยมในฐานะประมุขของประเทศหลังศาลมีคำ พิพากษาให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชาเเล้ว ดังนั้นคงไม่มีอะไรที่ชัดเจนไปกว่านี้ที่บ่งชี้ว่าไทยดำเนินการตามคำพิพากษา ของศาลโลกแล้ว

ศ.อแลง กล่าวด้วยว่า ในปี 2543 ทั้งไทยและกัมพูชาได้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขต แดนทางบก (เอ็มโอยู 43) ถือเป็นกรอบในการจัดทำหลักหลักเขตแดน โดยไม่ได้อ้างถึงคำพิพากษาในปี 2505 แต่อย่างใด การนิ่งเฉยไม่อ้างถึงไม่ได้บ่งชี้ว่า ไทยไม่ได้เคารพในคำพิพากษา แต่แสดงว่าคำพิพากษาไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับเส้นแบ่งเขตแดนในบริเวณพนมดง รัก รวมทั้งบริเวณปราสาทพระวิหาร 


แปลเล่ต์'โต้เขมร ไทยไม่ปฏิบัติตามศาลโลก

"ศ.อแลง แปลเล่ต์"ปัดเขมรกล่าวหาไทยไม่ปฏิบัติตามศาลโลก ยกเหตุ"สีหนุ" ร่วมพิธีคืนปราสาทพระวิหาร

ศ.อแลง แปลเล่ต์ ทนายความชาวฝรั่งเศสของไทย ขึ้นกล่าวชี้แจงทางวาจาต่อศาลโลก ระบุ กัมพูชา ไม่มีข้อมูลใหม่ๆ และกัมพูชายังคงพยายามดำเนินการให้ศาลโลกตีความเรื่องอาณาบริเวณปราสาทพระวิหาร เป็นการตีความไปมากไปกว่าคำตัดสินศาลโลก ปี 2505 โดยขอเน้นย้ำ ประเทศไทยได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลกแล้ว ดูจากมีพระบาทสมเด็จเจ้านโนดม สีหนุ เดินทางมาร่วมงานเฉลิมฉลอง ในพิธีการที่ทางการไทย มอบปราสาทพระวิหารและวัตถุโบราณคืนให้กับทางการกัมพูชา และมีการกล่าวชื่นชมการดำเนินการไทย โดยปราศจากข้อขัดข้อง จากเหตุการณ์ดังกล่าว แสดงถึงนัยยะสำคัญอย่างใหญ่หลวง ที่กษัตริย์กัมพูชา ไม่มีความขัดข้องในเรื่องรั้วลวดหนามกับป้ายที่ทางการไทยจัดทำขึ้น สิ่งนี้น่าจะมีน้ำหนักและความสำคัญเช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ไปปรากฎตัวที่ปราสาทพระวิหาร ที่กัมพูชานำมาใช้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาคำตัดสินศาลโลก ปี 2505 และมีน้ำหนัก ทำให้กัมพูชาชนะคดีในครั้งนั้น

ศ.แปลเล่ต์ กล่าวว่า ไทยไม่เคยไม่ยอมรับอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหาร แต่คำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี 2505 เห็นได้ชัดว่า ศาลจงใจไม่พูดถึงเรื่องเส้นเขตแดน โดยต่อมาในปี 2543 ไทยและกัมพูชาได้ลงนามในเอ็มโอยูเพื่อเป็นกรอบการจัดทำหลักเขตแดน ไม่มีส่วนใดที่ระบุถึงคำพิพากษาปี 2505 ตามที่กัมพูชาอ้าง การนิ่งเฉยของทั้งสองฝ่าย คือไทยและกัมพูชา สะท้อนให้เห็นว่ามาจากการเห็นตรงกันแล้วถึงคำพิพากษาปี 2505 ตลอดจนการดำเนินการใดๆ ของไทย อาทิ การติดตั้งประตูทางเข้าออกสู่ปราสาท ห่างไปจากตอนเหนือของปราสาทราว 100 เมตร กัมพูชาก็ไม่เคยทักท้วงหรือต่อต้าน ดังนั้นถือว่ากัมพูชายอมรับแล้ว

ศ.แปลเล่ต์ กล่าวว่า แต่ตั้งแต่ปี 2544 กัมพูชากลับเปลี่ยนจุดยืน และการที่กัมพูชาอ้างว่า ไทยไม่เคยประท้วงใดๆต่อการเข้ามาอยู่อาศัยของชาวกัมพูชาในพื้นที่ดังกล่าวนั้นไม่จริง ไทยได้เคยประท้วงไปหลายครั้งแล้ว แต่กัมพูชาไม่เคยสนใจ มิหนำซ้ำยังกล่าวหาว่า ไทยยังไม่ได้ถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ในแผนที่ภาคผนวก 1 ของกัมพูชา แล้วสรุปเอาว่า ไทยไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลก ถือว่าขัดแย้งกันกับการยอมรับที่ประมุขของประเทศเคยยอมรับในอดีต


กต.สรุป5ประเด็นไทยแจงศาลโลก

จาก โพสต์ทูเดย์

กระทรวงต่างประเทศสรุป 5 ประเด็นไทยให้การต่อศาลโลก ยันปฏิบัติตามคำพิพากษา ชี้เขมรพยายามพลิกคำตัดสิน

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ ได้โฟนอินมายังกระทรวงการต่างประเทศว่า ไทยให้ข้อเท็จจริงโต้แย้งเพื่อหักล้างข้อมูลกัมพูชาชี้แจงเมื่อวันที่15 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยเน้นย้ำใน 2 แนวทาง คือ ขอให้ศาลไม่รับพิจารณาตามที่กัมพูชายื่นร้องขอให้ศาลโลกตีความอาณาบริเวณรอบ ปราสาทพระวิหาร และหากรับพิจารณาคดี ก็ขอให้พิจารณาว่าไม่มีเหตุใดที่จะต้องตีความ เพราะศาลเคยได้พิจารณาไปแล้วเมื่อปี 2505 และไทยได้ปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลกสมบูรณ์แล้ว

ทั้งนี้ภาพรวมวันที่ 17 เม.ย.ไทยได้ชี้แจง 5 ประเด็น คือ

1.การตีความในครั้งนี้เป็นการซ้อนคำอุทธรณ์ของกัมพูชา เพื่อพลิกคำพิพากษาที่ศาลเคยได้ตัดสินไปแล้ว โดยไทยได้ชี้แจงว่าคดีดังกล่าวได้ไปจบแล้ว แต่กัมพูชา ขอให้ศาลตัดสินเรื่องเขตแดน

2.กัมพูชาพยายามชี้แจงว่าเขตแดนต้องไปเป็นตามภาคผนวก 1 ซึ่งศาลก็เคยได้ปฏิเสธที่จะตัดสินไปแล้วปี 2505 เนื่องจากศาลได้ตัดสินตามแผนที่ภาคผนวก 1 ว่าปราสาทพระวิหารเคยเป็นของไทยหรือกัมพูชา ไม่ใช่ตัดสินเรื่องเขตแดน

3.ทีมทนายไทยได้ชี้แจงให้เห็นว่าพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ที่กัมพูชาเรียกร้องและอ้างว่าเป็นเรื่องใหม่ ทั้งที่จริงเกิดขึ้นตั้งแต่กัมพูชาเคยนำปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ปี 2550 ไทยจึงชี้ให้เห็นว่าไทยกับกัมพูชา เคยตกลงเรื่องเขตแดนตามตามเอ็มโอยู 2543

4.ไทยชี้ให้ศาลเห็นว่า พื้นที่ใกล้เคียงตามคำพิพากษา ปี 2505 กับพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่กัมพูชาเรียกร้องไม่ใช่พื้นที่เดียวกัน เนื่องจากกัมพูชาไม่เคยนำหลักฐานมายืนยันเรื่องในเรื่องดังกล่าว

5.มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2505 ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล ที่ถือเอารั้วลวดหนาม เป็นหลัก ซึ่งสอดคล้องกับพื้นที่ใกล้เคียงปราสาท แต่กัมพูชา ไม่เคยทักท้วงว่าไทยไม่ทำตามคำพิพากษาของศาล รวมทั้งความไม่ชอบมาพากลของเอกสารหลักฐานที่กัมพูชาใช้ในศาลครั้งนี้ โดยเอกสารแผ่นที่มีหลายชุดแผ่นที่ที่ใช้ในปี 2505 กับครั้งนี้ก็แตกต่างกัน เนื่องจากกัมพูชาได้ใช้แผนที่ของไทยเมื่อปี 2505 นำมาดัดแปลง

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่กัมพูชาได้กล่าวอ้างว่า ไทยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ซึ่งทีมทนายไทยได้ชี้แจงว่าไทยปฏิบัติตามคำสั่งศาล ตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2554 ซึ่งไม่มีเหตุการณ์ปะทะกันแนวชายแดน และไม่มีการสูญเสียชีวิต ขณะที่ไทยกับกัมพูชา ได้มีการหารือและดำเนินการร่วมกัน รวมทั้งยังมีการบันทึกการประชุมไว้เป็นหลักฐานมาโดยตลอด

นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันความสัมพันธ์ไปเป็นด้วยดี และช่องทางกลไกการพูดคุย โดยเฉพาะเรื่องพื้นที่เขตแดน ที่สามารถพูดคุยกันได้ คือ ช่องทางตามเอ็มโอยู 2543 ที่ทุกฝ่ายได้ลงนามร่วมกัน ทั้งนี้ การชี้แจงต่อศาลโลกของฝ่ายไทยวันนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะทำเป็นลายลักษณ์อักษรและเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ และเข้าใจต่อไป


"ฮอร์นัมฮง"โต้ไทยใช้แผนที่ไม่ตรงกับคดี

จาก โพสต์ทูเดย์

“ฮอร์นัมฮง”โต้ไทยแจงไม่ตรงประเด็นใช้แผนที่คนละชุดกับฝ่ายกัมพูชา อ้างไม่ได้เสนอให้ตีความเรื่องเขตแดน

นายฮอร์นัมฮง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศกัมพูชา เปิดเผยว่า ข้อมูลที่ไทยนำเสนอผิดไปจากข้อเท็จจริง เนื่องจากฝ่ายไทยได้นำเสนอแผนที่หลายชิ้น แต่แผนที่ซึ่งศาลใช้ในคำตัดสินเมื่อปี 2505 ก็คือแผนที่ซึ่งฝ่ายกัมพูชานำเสนอ การที่ไทยนำแผนที่หลายชุดมาแสดงวันนี้ (17เม.ย.) เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อคดีเลย

เมื่อถามว่า ไทยบอกว่าศาลไม่อยู่ในสถานะที่จะตีความเรื่องเส้นเขตแดนเพราะศาลโลกในอดีต เคยปฏิเสธมาแล้ว นายฮอร์นัมฮง กล่าวว่า ไม่ได้เสนอให้ศาลตีความเรื่องเส้นเขตแดน และในความเป็นจริงเรื่องเส้นเขตแดนที่เคยเสนอเมื่อ 50 ปีก่อน ศาลก็ไม่ปฏิเสธเสียทีเดียว เพียงแต่ได้ส่งเรื่องเข้าไปล่าช้าและศาลไม่มีเวลาจะพิจารณาให้

"มาคราวนี้เราก็ไม่ได้ขอให้ศาลกลับไปพิจารณาเรื่องเส้นเขตแดนแต่อย่างใด เรื่องพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ที่ไทยอ้างในศาลนั้นเป็นการตีความของฝ่ายไทยเอง กัมพูชาเสนอว่าพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ในความเป็นจริงก็รวมอยู่ในแผนที่ภาคผนวก 1 (แผนที่ 1 ต่อ 200,000หรือระวางดงรัก)ในเขตแดนด้านของกัมพูชาอยู่แล้ว"นายฮอร์นัมฮง กล่าว


เปิดข้อมูลแผนที่เขมรผิดพลาดทางภูมิประเทศ

จาก โพสต์ทูเดย์

เปิดข้อมูลแผนที่เขมรผิดพลาดทางภูมิประเทศ

ทนายสาวของฝ่ายไทยชี้แผนที่ 1 ต่อ 200,000ของกัมพูชาไม่มีความแม่นยำ-ผิดพลาดทางภูมิประเทศ ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ทางสากล

น.ส.อลินา มิรอง ทนายความฝ่ายไทย ขึ้นให้การต่อศาลโลก ว่า โดยได้ชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องของแผนที่อัตราส่วน 1:200,000 หรือ แผนที่ภาคผนวกที่ 1 ที่กัมพูชาได้นำเสนอต่อคณะผู้พิพากษาฯ รวมถึงคำร้องของกัมพูชาได้ใช้แผนที่มาอ้างอิงหลายฉบับ สังเกตได้จากคำว่า “maps” ที่เป็นพหูพจน์ ดังนั้น ขอให้คณะผู้พิพากษาฯได้พิจารณาให้รอบคอบ

ทั้งนี้ แผนที่ของกัมพูชาได้นำมาแสดงนั้น เป็นการเลือกใช้แผนที่ซึ่งเป็นประโยชน์กับตัวเอง โดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ ได้ให้ความเห็นไว้ว่าแผนที่ที่กัมพูชานำมาอ้างนั้น ในทางสากลไม่สามารถนำมาปฏิบัติใช้ได้จริงเพราะมีความผิดพลาดทางภูมิประเทศ  แม้ว่ากัมพูชาระบุหลายครั้งว่าศาลโลกฯ ได้รับรองแผนที่ตามภาคผนวกที่ 1 ตามคำพิพากษา เมื่อปี 2505 แต่เมื่อทีมต่อสู้คดีของไทยไปค้นดูคำพิพากษาความยาว 1,500 หน้า ไม่ปรากฎการบันทึกใดที่เป็นการรับรองแผนที่ฉบับดังกล่าว รวมถึงคำพิพากษาในปี 2505 ศาลโลกใช้แผนที่ฉบับใดมาเป็นหลักในการพิจารณา

“ถ้านำแผนที่เก่าของกัมพูชามาวางไว้บนแผนที่ปัจจุบัน จะพบว่าไม่มีความแม่นยำ แต่ไม่ทราบว่ามีการนำแผนที่มาสับเปลี่ยนกันหรือไม่ และต้องขอชื่มชมกัมพูชา หากเราจะตัดสินจากความละอายของกัมพูชาที่ไม่มีการโต้แย้งในเรื่องนี้ สิ่งที่ทนายฝ่ายกัมพูชา ให้ถ้อยแถลงต่อคณะผู้พิพากษา เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ระบุว่าแผนที่ที่ได้นำเสนอนั้นเป็นการขีดเส้นตัดกันระหว่างแผนที่ในภาคผนวก 1 และแนวเส้นสันปันน้ำ ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากการถ่ายทอดแผนที่ในอดีตมายังแผนที่ปัจจุบันมีความยาก เพราะต้องใช้วิธีทางคณิตศาสตร์ และหากนำแผนที่ตามถ้อยแถลงของทนายฝ่ายกัมพูชามาอ้างอิงจะพบว่าส่วนที่ตัดกัน นั้นอยู่ห่างจากตัวปราสาท มากถึง 6.8กม.” น.ส.อลินนากล่าว

นอกจากนี้ ที่สำคัญผู้เชี่ยวชาญหน่วยวิจัยเขตแดนระหว่างประเทศ ระบุว่าวิธีการของกัมพูชาจะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนของแผนที่ มากถึง 500 เมตรในทางตอนเหนือของปราสาทพระวิหาร ดังนั้น เห็นชัดว่ากัมพูชาไม่สนใจในความถูกต้องของภูมิประเทศรอบปราสาท รวมถึงภูมะเขือ และเทือกเขาพนมดงรัก ทั้งที่เป็นพื้นที่ที่สำคัญ และไม่สามารถพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ภายในเวลา 50 ปี

สำหรับพื้นที่ 4.6 ตร.กม. กัมพูชาไม่มีแผนที่ที่สามารถพิสูจน์พื้นที่ได้แน่นอน แม้จะอ้างว่าปราสาทพระวิหารนั้นจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรกดกโลกแล้ว เพราะตามแผนที่ศาลโลกใช้ประกอบการตัดสินคดีเมื่อปี 2505 แต่ข้อเท็จจริงยูเนสโก ได้ใช้แผนที่ของปี 2011 ส่วนหลักฐานเกี่ยวกับพื้นที่ 4.6 ตร.กม. เป็นสิ่งที่น่าประหลาดว่ากัมพูชาได้ยื่นเพิ่มเติมหลังจากจบการนำเสนอ

อย่างไรก็ดี กัมพูชาได้อ้างอิงสนธิสัญญา ปี 1904 ว่าได้ให้อำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร เป็นของกัมพูชา แต่สนธิสัญญาดังกล่าวไม่ได้พูดถึงตัวปราสาทพระวิหาร ระบุเพียงแค่เขตแดน และในแผนที่ฉบับอื่นๆ เช่น แผนที่ในปี 1937 ที่แสดงให้เห็นว่าตัวปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตของกัมพูชา แต่ไม่สามารถใช้กำหนดเขตแดนได้ เพราะไม่ชัดเจนในแง่ภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ, แผนที่ปี 1947 ที่ประเทศไทย ได้เสนอต่อคณะกรรมการระหว่างสยาม – ฝรั่งเศส มีลักษณะคล้ายกับแผนที่ภาคผนวก 1  คือ แสดงให้เห็นว่าปราสาทพระวิหารอยู่ทางตอนใต้ของเส้นเขตแดน แต่ส่วนอื่นๆ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ดังนั้น ทำให้คณะพิพากษา ปี 2505 ไม่ได้ให้คุณค่าที่จะใช้พิสูจน์เขตอธิปไตย

“เส้นในแผนที่ที่กัมพูชานำเสนอนั้น มีความแตกต่างเฉพาะเขตที่เป็นพื้นที่ปราสาท ประเด็นที่กัมพูชาขอให้ศาลวินิจฉัยว่าแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นเส้นเขตแดนหรือไม่ ทั้งที่ไม่มีความชัดเจน แสดงให้เห็นว่าฝ่ายกัมพูชาต้องการให้ศาล เห็นชอบให้ใช้เส้นตามแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นเส้นเขตแดน และหากพิจารณาตามแผนที่ 85 D เท่ากับกัมพูชามีความต้องการขยายอาณาเขตเดิมมาในพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ด้วย”น.ส.อลินา กล่าว

ทั้งนี้ น.ส.อลินา มิรอง ทนายความชาวโรมาเนียของฝ่ายไทย เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องแผนที่ และเป็นผู้ช่วยของ ศ.อแลง แปลเล่ต์


ทนายโรมาเนียอัดกัมพูชา หวังฮุบ4.6ตร.กม.

อลินา มิรอง"อัดกัมพูชาใช้แผนที่ปลอม ยื่นศาลชี้ขาดหวังฮุบ 4.6 ตร.กม. หลังได้อธิปไตยเหนือปราสาท

อลินา มิรอง ทนายความชาวโรมาเนีย ผช.ศ.แปลเลต์ นำเสนอหลักฐานที่เป็นแผนที่ที่เป็นกรณีพิพาท ว่า กัมพูชาไม่มีการแนบแผนที่ ซี่งน่าประหลาดว่าหลักฐาน 4.6 ตร.กม. จะเป็นเอกสารทำงานที่กัมพูชายื่นหลังจากการนำเสนอในคดีความนี้แล้ว กัมพูชานำแผนที่มาเพื่อให้ท่านเชื่อว่าพื้นที่ที่เรียกร้องนี้เป็นพื้นที่ที่พิพาทกันในปี 1962 โดยผ่านแผนที่หลายๆ ฉบับ และมีแผนที่ฉบับที่ 3 ได้ถูกใช้เป็นหลักฐานหลักของกัมพูชาโดยไม่คำนึงถึงแผนที่รูปแบบดั้งเดิม แม้ศาลจะมีอำนาจรับรองได้จริง แต่ก็ทำไม่ได้ และไม่มีการบันทึกไว้เลย จึงไม่สามารถพูดได้ว่ามีการรับรอง และเส้นไหนเป็นเส้นไหน ซึ่งเราก็ทราบว่ากัมพูชาไม่มีความแม่นยำในแผนที่ แต่เราไม่ทราบว่ากัมพูชาจะถึงกลับนำแผนที่มาเปลี่ยนกัน ซึ่งต้องขอชื่นชมกัมพูชาหากจะตัดสินจากความละอายของกัมพูชาที่ไม่ออกมาโต้แย้งเรื่องนี้ ดังนั้นความจริงกัมพูชายังไม่ให้ดูหลักฐานใดเลยว่าในปี 1962 มีพื้นที่นั้นอยู่จริง และได้ไปดูเอกสารทั้ง 1,500 หน้าก็ไม่มีการพูดถึงแผนที่ แต่แผนที่นี้ก็ไม่มีความน่าเชื่อถือ กัมพูชาบอกว่าเส้นในแผนที่เป็นเส้นแบ่งเขตทางเหนือ และเส้นสันปันน้ำแบ่งเขตทางใต้ กัมพูชาไม่สามารถให้คำอธิบายเรื่องนี้ได้ทำให้มีความคลาดเคลื่อน 500 เมตรไปทางปราสาท และยังมีการขีดเส้นทางเชิงกระไดของปราสาท ดูเหมือนว่าเส้นนี้จะเคลื่อนไหวได้ ส่วนทางตะวันตก ตะวันออก เราไม่รู้ว่าเส้นอยู่ทางไหน แล้วจะนำมาบอกว่า 4.6 ตร.กม.เป็นพื้นที่พิพาทได้อย่างไร เราไม่สามารถที่จะพลิกหน้ามือเป็นหลังมือได้ภายใน 50 ปี

กัมพูชาไม่ได้ให้แผนที่ใดมาพิสูจน์ แต่บอกว่ามาจากแผนที่ที่มีเส้นสองเส้นตัดกัน กัมพูชาอ้างว่า 4.6 ต้องขึ้นทะเบียนมรดกโลกและการตัดสินในปี1962 ไม่เกี่ยวกับพื้นที่รอบพระวิหาร หลักฐานของพื้นที่ 4.6 ที่ว่าเป็นข้อพิพาทเป็นแค่เอกสารที่กัมพูชายื่นหลังจบการนำเสนอในคดีความนี้แล้ว กัมพูชานำเอาแผนที่ที่ใช้อย่างมากคือแผนที่ฉบับที่ 3 ที่อยู่ในคำค้านของคำฟ้อง ซึ่งแผนที่แผ่นที่ 3 ได้ถูกมาใช้เป็นหลักฐานของกัมพูชา ไม่ได้คำนึงถึงแผนที่ในรูปแบบดั้งเดิม

"ในคำพิพากษาก็ไม่มีการเอ่ยถึง คู่ความทั้งสองก็ไม่ได้เอ่ยถึงพื้นที่นั้น กัมพูชาไม่สามารถให้คำอธิบายในเรื่องเขตแดนได้ มีการคลาดเคลื่อน 500 เมตรไปทางเหนือปราสาท และกัมพูชาไม่ได้สนใจภูมิประเทศรอบ ๆ แต่อย่างใด"

อลินา มิรอง ยังได้แสดงการกำหนดตามทฤษฏีสีต่าง ๆ ที่ทำให้พื้นที่ต่างกัน หากดูจากแผนที่นี้จะเห็นว่าพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ไม่มีความเกี่ยวข้องเลย ซึ่งแผนที่นี้ทำให้ศาลเข้าใจถูกต้องตามที่ตัดสินไปในปี 1962 และแผนที่นี้คือแผนที่ที่ไทยจะต้องถอนกำลังทหารออกไป ส่วนสนธิสัญญา 1904 ไม่ได้พูดถึงปราสาท แต่แผนที่นี้พูดถึงเขตแดนซึ่งมีคุณค่าพิสูจน์ได้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมประเทศไทยจึงต้องคัดค้าน และแผนที่ในภาคผนวก 1 ก็ระบุถึงที่ตั้งปราสาทด้วย จึงได้มีการเรียกร้องให้ศาลต้องพิจารณาว่าปราสาทอยู่ทางเหนือหรือทางใต้ของเส้นเขตแดน ซึ่งศาลตอบว่าปราสาทนั้นอยู่ในเขตแดนของกัมพูชา แม้ว่าจะมีความชัดเจนเรื่องปราสาท แต่แผนที่ภาคผนวก 1 ไม่สามารถปฏิเสธว่ากัมพูชามีสิทธิเหนือพื้นที่อื่นๆ จึงคิดว่าแผนที่นี้มีคุณค่าในการพิสูจน์ แต่จะใช้กำหนดเขตแดนหรือไม่เพราะไม่ชัดเจนเรื่องภูมิศาสตร์ ภูมิรัฐต่างๆ และแผนที่อีกฉบับที่ไทยได้ส่งเมื่อปี 1947 ซึ่งเสนอต่อคณะกรรมการประนอมที่ให้ความสนใจในที่ตั้งของปราสาทพระวิหาร และมีความคล้ายกันทั้งหมดที่แสดงให้เห็นว่าปราสาทตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเขตแดน จึงสามารถสรุปได้ว่าแผนที่ภาคผนวก 1 ไม่สามารถใช้เป็นตราสารที่แยกจากสนธิสัญญา 1904 เนื่องจากไม่มีความแม่นยำทางเทคนิค จึงไม่สามารถนำแผนที่เก่าๆ มาใช้ในการปักปันเขตแดน จึงควรใช้แผนที่ภาคผนวก 1 หลายๆ ฉบับมากกว่า การที่นายร็อดแมน บันดี ทนายชาวอเมริกันของฝ่ายกัมพูชา บอกว่าการมีหลายฉบับไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญคือแผนที่ที่กัมพูชาแนบมากับคำร้องเมื่อปี 1959 ซึ่งถือเป็นการด่วนสรุปเกินไปว่า แผนที่ที่ศาลใช้นั้นมีฉบับเดียว แต่ที่จริงศาลได้มีการเผยแพร่แผนที่ภาคผนวก 1 แล้วทำไมเอกสารที่ศาลนำเผยแพร่จึงมีความสำคัญน้อยกว่า

แผนที่ในภาคผนวกบอกถึงที่ตั้งปราสาทกัมพูชาเรียกร้องให้ศาลพิจารณาปราสาทอยู่เหนือหรือใต้เส้นเขตแดนซึ่งศาลก็ว่าแผนที่ได้แสดงให้เห็นว่าปราสาทอยู่ในกัมพูชา แม้มีความชัดเจนเรื่องปราสาทและแผนที่ภาคผนวก 1 ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ากัมพูชามีสิทธิอื่น ๆ อยากให้ดูแผนที่อื่น ๆ ด้วย ทุกแผนที่แสดงให้เห้ปราาทอนู่ในเส้นเขตแดน แต่เส้นเขตแดนส่วนอื่นไม่เหมือนกัน แต่ตอนนั้นผู้พิพากษาก็คิดว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในแง่พิสูจน์อธิปไตยของปราสาท ก็สรุปว่า แผนที่ภาคผนวกไม่มีคความแม่นยำทางเทคนิคเราก็ไม่สามารถใช้แผนที่เก่า ๆ ปักปันเขตแดนได้

เส้นสันปันน้ำควรเป็นเส้นที่เห็นได้ชัดเจน แต่วิธีการสังเคราะห์ในการกำหนดเส้นเขตแดนคือการนำเอาเส้นที่เห็นได้ตามธรรมชาติไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีอะไรที่เห็นได้ตามธรรมชาติ ต้องใช้วิธีการคำนวณทางคณิตศาสตร์ การนำเอาเส้นพรมแดนมาถ่ายทอดทำให้เส้นต่างๆที่เป็นจุดร่วม แต่ก็มีความแตกต่างจากเส้นสันปันน้ำ บางครั้งก็เป็นคุณต่อบางประเทศ ซึ่งอาจจะมีคาวมมั่นคงและความเสถียรแตกต่างกันไป การที่จะใช้วิธีการถ่ายทอดทางภูมิประเทศทางธรรมชาติควรใช้เมื่อปี 1962 และกัมพูชาก็เคยทำเพียงครั้งเดียว จึงน่าประหลาดใจมากว่าเส้นที่กัมพูชาเสนอมีความแตกต่างเฉพาะเส้นที่เป็นปราสาทพระวิหารเท่านั้น และกำลังขอให้ศาลวินิจฉัยว่าเส้นในแผนที่ตามภาคผนวก 1 เป็นเส้นเขตแดน จึงไม่น่าจะเป็นการตัดสินที่ดี และยังพูดถึงเขตพื้นที่ที่คำพิพากษากำหนดไว้แล้ว แต่ปัจจุบันกลับขอให้ศาลพิพากษาว่าพื้นที่่ 4.6 ตร.กม. หลังจากที่พิสูจน์ว่ามีอธิปไตยเหนือปราสาท กลับต้องการขอขยายพื้นที่ออกมาจาก 4.6 ตร.กม. และจากเดิมที่ต้องมีเขตตามสันปันน้ำ ก็จะขอให้ขยายออกมาจากพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ด้วย


ไทยย้ำศาลไม่ควรรับตีความกัมพูชา

จาก โพสต์ทูเดย์

ไทยย้ำศาลโลกไม่ควรรับตีความ ประเด็นพระวิหารตามฝ่ายกัมพูชายื่นขอ ขณะที่ผู้พิพากษาถาม 2 ฝ่ายใช้ดุลยพินิจอะไรกำหนดพื้นที่บริเวณปราสาท

ศ.อแลง แปลเล่ต์ ทนายความฝ่ายไทย กล่าวสรุปด้วยวาจาต่อศาลโลก ว่า ขณะนี้ศาลโลกคงจะเห็นถึงความแตกต่างใน 2 ด้านที่ชัดเจนที่กัมพูชาพยายามจะกล่าวหาในเรื่องไทยปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลก เชื่อมโยงกับความไม่ชัดเจนในเรื่องเส้นเขตแดน ที่นำไปสู่การรุกราน และข้อพิพาทตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา ในสภาพที่ศาลต้องรับตีความ โดยใช้ธรรมนูญศาลโลก ข้อ 60 ว่า ไทยและกัมพูชา เห็นต่างในคำตัดสินศาลโลก ปี 2505 ทั้งที่ความจริง ขอย้ำว่า ไทยได้ยอมรับปราสาทพระวิหารอยู่ในดินแดนกัมพูชา ซึ่ง 2 ฝ่ายไม่มีข้อขัดแย้งในประเด็นนี้

ทั้งนี้ กัมพูชามีความพยายามที่จะให้เรื่องนี้เกิดความเข้าใจเป็นอย่างอื่น อย่างที่การตั้งคำถามว่า เส้นเขตแดนอยู่ที่ไหน ซึ่งไทยได้ถอนทหารออกมาแล้วในพื้นที่ตั้งปราสาทพระวิหารภายใต้อธิปไตยของ กัมพูชา ทำให้เห็นว่า ไม่จำเป็นที่ศาลต้องตีความข้อบทปฏิบัติการของคำพิพากษา ปี 2505 และการที่กัมพูชาขอให้ศาลชี้ชัดเส้นเขตแดน โดยใช้วิธีบังหน้าด้วยการขอตีความเส้นเขตแดน ทั้งที่ศาลได้ปฏิเสธมาแล้ว สิ่งนี้กัมพูชาน่าจะเข้าใจในคำตัดสินศาลโลก ปี 2505 ว่าถือเป็นที่สิ้นสุดแล้ว และเห็นด้วยอย่างยิ่งกับศาลโลก ที่กำหนดเส้นเขตแดนของไทย-กัมพูชา เนื่องจากเห็นว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นข้อพิพาท มีความจำเป็นต้องปักปันเขตแดนต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการชี้แจงด้วยวาจาของฝ่ายไทย นายอับดุลคาวิ อะห์เม็ด ยูเซฟ ผู้พิพากษาศาลโลก ชาวโซมาเลีย ได้ถามคู่ความทั้ง 2 ฝ่าย ในเรื่องดินแดนของคู่ความแต่ละฝ่ายคิดว่าเป็นบริเวณปราสาทพระวิหารที่อยู่บน ดินแดนกัมพูชา ในข้อ 2 ของบทปฏิบัติการ ตามคำสั่งเมื่อปี2505 ได้ใช้หลักภูมิศาสตร์หรือแผนที่ที่ได้ยื่นต่อศาลไว้แล้ว

ขณะที่ นายปีเตอร์ ทอมกา ประธานศาลโลก ระบุว่า อยากให้ทั้ง 2 ฝ่าย ตอบด้วยวาจาในรอบที่ 2 หรือจำเป็นให้ตอบเป็นลายลักษณ์อักษร ในวันที่ 26 เม.ย. เวลา 17.00 น. ส่วนข้อสังเกตคำตอบฝ่ายตรงข้ามให้ยื่นวันที่ 3 พ.ค.ของปีนี้ เวลา 17.00 น.


ยกข้อมูลย้ำเขมรจ้องเปลี่ยนคำพิพากษา

จาก โพสต์ทูเดย์

ทีมทนายยกข้อมูลแจงศาลโลก ย้ำกัมพูชาจ้องเปลี่ยนคำพิพากษาในอดีต เพราะที่ผ่านมาไม่เคยยื่นตีความเรื่องเขตแดน

เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ศ.เจมส์ ครอว์ฟอร์ด ทนายความฝ่ายไทย ได้ขึ้นให้การด้วยวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ในคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี2505 โดยระบุว่า ศาลไม่จำเป็นต้องให้สถานะอะไรกับแผนที่ภาคผนวก 1 (แผนที่1ต่อ 200,000 หรือ ระวางดงรัก) เพราะในปี 2505 ศาลไม่ได้มีการพิจารณา อีกทั้ง ประเด็นแผนที่ไทยกับกัมพูชาไม่เคยมีข้อพิพาท แม้ในสมัยฝรั่งเศสปกครองกัมพูชาจะอ้างถึงอธิปไตยเหนือดินแดน

ทั้งนี้ ไทยได้ยินยอมปฏิบัติการ และไม่ได้แก้ไขในความคลุมเครือหรือความบกพร่องของแผนที่ดังกล่าว โดยมีหลักฐาน เมื่อปี 1974 ของคณะกรรมการประนอมระหว่างประเทศสยาม – ฝรั่งเศส รวมถึงการเสด็จพระราชดำเนินไปยังตัวปราสาทของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรง ราชานุภาพ ระหว่างที่มีกิจกรรมอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว จนมีเหตุที่นำไปสู่การพิจารณา

อย่างไรก็ดีเมื่อผลสรุปออกมา ไทยก็ยอมรับเขตอธิปไตยของฝรั่งเศสเหนือดินแดนดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่ว่าแผนที่ฉบับใดของกัมพูชาที่มาแสดง บอกเพียงพื้นที่ตั้งของปราสาทพระวิหารเท่านั้น ไม่ได้มีการระบุถึงเส้นเขตแดน โดยเจตนาของทั้ง 2 ประเทศ ได้ใช้เส้นสันปันน้ำเป็นเขตแดนในการกำหนดแผนที่ หากไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยอาจทำให้เกิดข้อบกพร่อง และความพยามยามใดๆ ที่จะถ่ายทอดแผนที่สู่ภูมิศาสตร์อาจทำให้เกิดข้อพิพาทกันได้

ขณะที่ ศ.โดนัลด์ เอ็ม แม็คเรย์ กล่าวว่า ก่อนเป็นที่มาของคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พบว่าเกิดจากทางฝรั่งเศสแจ้งมายังทางการของสยามว่าขอให้ชาวสยาม จำนวน 3 คนที่อยู่ในพื้นที่ปรักหักพังของตัวปราสาทพระวิหาร ออกจากไปจากพื้นที่ดังกล่าวในปีค.ศ. 1948

หลังจากนั้นเมื่อกัมพูชาได้เอกราชแล้วในปีค.ศ.1969 ก็ได้ส่งเรื่องให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นเดียวกัน คือ ขอให้ราชอาณาจักรไทยถอนบุคลากรและกองกำลังออกไปจากปราสาทพระวิหาร เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อธิปไตยของกัมพูชา ดังนั้น ประเด็นที่กล่าวมานั้นเห็นชัดเจนว่ากัมพูชาได้ยื่นให้ศาลพิจารณาเรื่อง พื้นที่อธิปไตยเท่านั้น ไม่ได้มีเรื่องของเขตแดน

“ที่มาของข้อพิพาท คือ มีคนไทยเข้าไปในตัวปราสาท กัมพูชาจึงขอให้มีการถอนออกมา นั่นเป็นสาระที่แท้จริง ไม่ใช่การกำหนดว่าเขตแดนอยู่ที่ไหน ส่วนประเด็นบริเวณปราสาท คือ พื้นที่ที่ติดกับตัวปราสาทพระวิหาร ไม่ใช่แผนที่ตามภาคผนวก 1 อย่างที่กัมพูชาได้มีการร้องเพิ่มเติมภายหลัง เพื่อหวังการเปลี่ยนแปลงและขยายคำร้องในคดีดังกล่าวออกไป”ศ.โดนัลด์กล่าว

อย่างไรก็ตาม มุมมองที่แตกต่างกันของเรื่องดินแดนใกล้ตัวปราสาท  ศาลได้ระบุไปแล้วว่าการถอนกำลังทหารออกจากตัวปราสาทและบริเวณปราสาทก็คือ พื้นที่ที่ติดกับตัวปราสาท ซึ่งแตกต่างจากสิ่งที่กัมพูชาต้องการให้ถอนทหารออกจากบริเวณปราสาท ซึ่งหมายถึงพื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกิโมเมตร ดังนั้นการขอตีความคดีปราสาทพระวิหารรอบนี้ ถือเป็นการขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำพิพากษาในอดีต


ศาลให้2ฝ่ายแจงอาณาเขตต้องถอนทหาร

จาก โพสต์ทูเดย์

ศาลให้2ฝ่ายแจงอาณาเขตต้องถอนทหาร

ผู้พิพากษาให้2ฝ่ายส่งข้อมูลอาณาเขตที่ต้องถอนทหาร26เม.ย.นี้ "พงษ์เทพ"เผยเป็นเพียงชี้ปริมณฑลไม่เกี่ยวเขตเเดนระหว่างประเทศ   

เมื่อวันที่ 17 เม.ย.นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมคณะต่อสู้ปราสาทพระวิหารฝ่ายไทย ให้สัมภาษณ์ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์โดยโฟนอินเข้ามายังศูนย์ข่าว กระทรวงต่างประเทศว่า ขณะนี้ทางผู้พิพากษาได้ถามคู่ความทั้งสองฝ่ายไทย-กัมพูชาว่า ในความหมายของปริมณฑลรอบปราสาทซึ่งเป็นไปตามบทปฏิบัติการข้อ 2 ที่ให้ไทยต้องถอนทหารออกจากปราสาททั้งหมดนั้น ทั้งสองฝ่ายเข้าใจว่าเป็นอาณาเขตจุดใดก็ขอให้อ้างอิงแผนที่ฉบับที่ทั้งสอง ฝ่ายเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่ถูกต้อง เพื่อระบุตำแหน่งพิกัดของพื้นที่ให้ศาลนำไปพิจารณาหากมีการรับตีความคำร้อง ดังกล่าว 

นายพงษ์เทพ ยืนยันว่า เส้นเขตแดนที่ศาลต้องการให้อ้างอิงเป็นเรื่องปริมณฑลและอาณาบริเวณรอบปราสาท ที่ไทยต้องถอนทหารออกไป ไม่เกี่ยวข้องกับเขตแดนระหว่างประเทศแต่อย่างใด เพราะปกติเมื่อมีข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตแดน ปริมณฑล การที่ศาลจะตัดสินได้ต้องมีขอบเขตและพื้นที่ที่แน่นอน ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถเขียนคำวินิจฉัยได้ ดังนั้นศาลต้องการความแน่ชัด เพราะแม้แต่แผนที่ภาคผนวก 1 ยังมีหลายชุด

ทั้งนี้ศาลกำหนดให้ทั้งสองฝ่ายส่งข้อมูลภายในวันที่ 26 เม.ย.นี้ จากนั้นทั้งสองฝ่ายสามารถที่จะยื่นข้อโต้แย้งแผนที่ได้ภายในวันที่ 3 พ.ค.


มทภ.2ยันไม่มีธงกัมพูชาบนพื้นที่พิพาท

แม่ทัพภาค2ยันไม่มีธงชาติกัมพูชาบนพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร เพราะปฎิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของศาลโลก

พลเอกปรีชา เอี่ยมสุพรรณ แกนนำเครือข่ายอาสาพิทักษ์ดินแดน เขาพระวิหาร นำสมาชิกกว่า 500 คน บุกประชิดด่านสุดท้ายที่เจ้าหน้าที่ชุด ชรบ.เฝ้าตรึงกำลัง ปิดถนนป้องกันการบุกขึ้นไปสู่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารเนื่องจากเกรงว่าจะเป็นชนวนในการสร้างความเข้าใจผิดกับทหารกัมพูชา ที่เฝ้าตรึงกำลังอยู่ชายแดนเช่นกัน เหตุการณ์เริ่มรุนแรง เมื่อสมาชิกรายหนึ่งพยายามขับรถชนฝ่ากำแพงแผงกั้นชุด ชรบ.เข้าไป แต่ก็ต้องล่าถอยเนื่องจากมีเจ้าหน้าที่คอยดูแล ป้องกันอย่างแน่นหนา พันเอกปรีชา จึงเข้าเจรจากับตัวแทนเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร และฝ่ายปกครอง จากนั้นตัดสินใจนำธงชาติไทยมอบให้พันเอก พิเศษ ธัญญา เกียรติสาร ตัวแทนแม่ทัพภาคที่2 และนายเพิ่มศักดิ์ ฉวีรักษ์ นายอำเภอกันทรลักษ์ ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อนำไปปักไว้บนพื้นที่อธิปไตยของไทยแทนการอนุญาตให้เครือข่ายเดินทางขึ้นไปเพื่อความปลอดภัยทั้งสองฝ่ายยืนยันร่วมต่อสู้กับคนไทยและทหารทุกหมู่เหล่าในการรักษาแผ่นดินไทย

พลโทจีระศักดิ์ ชมประสบ แม่ทัพภาคที่ 2 ให้สัมภาษณ์ที่กองกำลังทหารพรานที่ 23 บ้านน้ำเย็น กล่าวว่า ขอยืนยันไม่มีธงชาติของกัมพูชา หรือธงชาติใดบนพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร เพราะต่างเคารพ และปฎิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของศาลโลกการเดินทางในครั้งนี้เพื่อประชุมหารือกับนายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ในการปฎิบัติหน้าที่ อำนวยความสะดวกแก่กลุ่มพลังมวลชนที่จะเดินทางมาแสดงเจตนารมย์ในการรักษาอธิปไตยแต่ก็ไม่สามารถอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึก เพราะผิดกฎหมายและไม่ปลอดภัย ส่วนเรื่องที่อาสาพิทักษ์แผ่นดิน มอบธงให้ทหารนำขึ้นไปปักแทน จะดำเนินการให้ตามคำขอ ในพื้นที่ที่ธงชาติไทยปักอยู่เป็นปกติ พร้อมยืนยันว่าทหารทุกนายจะรักษาอธิปไตยของไทยไว้เช่นคนไทยทุกคน

นางสาวเสวลักษ์ คอกสี ชาวบ้านภูมิซรอล บ้านเลขที่ 25 หมู่ที่ 2 ตำบลเสาธงชัย เปิดเผยว่าเห็นด้วยกับกลุ่มอาสาเครือข่ายพิทักษ์แผนดิน เพราะคนทั่วโลกจะได้รู้ว่าประเทศไทยยังมีหมู่บ้านภูมิซรอล และมีคนที่แสดงออกถึงความรักแผ่นดินไทยอย่างสงบไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงแต่อย่างใด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พลิกปูม ทีมกฎหมายไทย สู้คดีพระวิหาร

view