สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ต้องเห็นศพถึงสั่งแบน แร่ใยหิน

จาก โพสต์ทูเดย์

ต้องเห็นศพ ถึงสั่งแบน “แร่ใยหิน” ? จับตาโต๊ะเจรจาต่างตอบแทนรัสเซีย

แม้คณะรัฐมนตรี(ครม.)จะมีมติเห็นชอบมาตรการ "สังคมไทยไร้แร่ใยหิน" ตามข้อเสนอของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 ไปแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2554 แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังมีความพยายามขัดขวางไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.ดังกล่าวจากคนบางกลุ่มที่เสียผลประโยชน์มหาศาล และนำมาสู่การเคลื่อนไหวหลายอย่าง ไม่ว่าการล็อบบี้หน่วยงานภาครัฐให้ยืดระยะเวลาการยกเลิกการใช้แร่ใยหินออกไป และเปิดสงครามข้อมูลข่าวสารเต็มรูปแบบทั้งจากภายในและต่างประเทศ

การดิ้นรน-ต่อรองในเกมผลประโยชน์ที่เห็นชัดเจนก็คือ กรณีประเทศรัสเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกแร่ใยหินรายใหญ่มายังผู้ผลิตในประเทศไทย ทำหนังสือเตือนถึงรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีว่า หากประเทศไทยยกเลิกใช้แร่ใยหินจะกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พร้อมมีแรงขับเคลื่อนเพื่อ "ลาก" มตินี้ออกไปให้ไกลที่สุด

คำถามที่เกิดขึ้นในหมู่นักวิชาการและภาคประชาสังคม ก็คือการให้น้ำหนักบนทางสองแพร่ง ระหว่างคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชน 67 ล้านคน กับคำขู่ของพญาหมีและภาคธุรกิจที่ยังมีการใช้แร่ใยหินอยู่ในประเทศไทย ซึ่งล้วนตั้งอยู่บนเงื่อนไขทางธุรกิจทั้งสิ้น....ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะ เลือกเส้นทางใด?

นั่นเพราะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า “แร่ใยหิน” ซึ่งผสมอยู่ในวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างต่างๆ อาทิ กระเบื้องมุงหลังคา ท่อซีเมนต์ เบรก คลัช ฯลฯ ถือเป็นวัสดุอุปกรณ์ที่ล้วนอยู่ใกล้ชิดกับบ้านเรือนประชาชนและใช้ในชีวิต ประจำวัน ต่างมีสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแทบทั้งสิ้น หากสูดดมเข้าไปทุกวันก็จะก่อให้เกิดโรคร้ายตามมา

"แร่ใยหินก่อให้เกิดมะเร็งปอด มะเร็งกล่องเสียงและมะเร็งรังไข่ ขณะนี้มีคนจำนวนกว่า 125 ล้านคน ที่กำลังสัมผัสแร่ใยหินผ่านวัสดุก่อสร้าง ซึ่งทุกรายสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทบทั้งสิ้น จุดยืนของ WHO คือให้หยุดการใช้แร่ใยหินทุกชนิด" มัวรีน อี. เบอร์มิ่งแฮม อดีตผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำประเทศไทย ยืนยัน

อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ “มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน ภายในปี 2555” ตามที่ครม. มีมติ กลับยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง คำถามคือ เหตุใดมติครม.จึงไม่ศักดิ์สิทธิ์

นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล ฝ่ายวิชาการ สมาพันธ์อาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน อธิบายว่า สาเหตุหลักที่มติครม.ยังไม่บรรลุ เนื่องด้วยหน่วยงานรัฐเองไม่ดำเนินการตามมติครม.ดังกล่าว โดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์

“อำนาจการประกาศแร่ใยหินให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 อยู่ที่กระทรวงอุตสาหกรรม จากนั้นกระทรวงพาณิชย์ต้องประกาศห้ามนำเข้า แต่ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมกลับซื้อเวลาด้วยการให้นักวิชาการของมหาวิทยาลัย สุโขทัยธรรมาธิราชศรีนครินทรวิโรฒทำการศึกษา” นพ.พรชัย ระบุ

หนึ่งในเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมไทยไร้แร่ใยหิน (TBAN) รายนี้ อธิบายอีกว่า มติครม. กำหนดให้กระทรวงอุตสาหกรรม จัดทำแผนในการยกเลิกการนำเข้า ผลิต และจำหน่ายแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ ทว่าผลการศึกษาที่ที่ได้รับจากนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ศรีนครินทรวิโรฒ กลับไม่ตอบโจทย์ใดๆ

นอกจากนี้ มติครม.ยังกำหนดให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ศึกษาผลกระทบของแร่ใยหินที่มีต่อสุขภาพของผู้ใช้แรงงานที่ทำงานสัมผัส ซึ่งแม้ว่า สธ.จะตั้งคณะกรรมการหาหลักฐานและจัดประชุมแล้ว ทว่าหลักฐานในประเทศไทยยังมีน้อยมาก

สำหรับประเทศไทยที่มีสถิติผู้ป่วยที่เสียชีวิตน้อย เนื่องระยะฟักตัวของโรคนี้ยาวมาก เมื่อคนไข้เจ็บป่วยแพทย์ก็วินิจฉัยและแจ้งเพียงว่าเป็นมะเร็งปอด แต่ขาดเทคโนโลยีในการพิสูจน์ว่าเกิดจากแร่ใยหินหรือไม่ เพราะไม่มีระบบเก็บข้อมูลที่ดีพอ หากพบผู้ป่วย 4 คน ก็ประมาณการณ์ได้ว่ามีอีกหลายคนกำลังป่วยอยู่ แต่ในต่างประเทศนั้นมีหลักฐานชัดเจนแล้ว โดยเฉพาะผลการศึกษาจำนวนผู้ป่วย รวมทั้งในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วกว่า 60% ก็ได้ดำเนินการห้ามใช้และห้ามนำเข้าแร่ใยหินหมดแล้ว ถามว่าเหตุใดคนไทยจะต้องมาทนสารก่อมะเร็งมากกว่าชาติอื่น เพราะนอกจากมะเร็งปอดแล้ว ยังมีโรคแฝงอื่นๆอยู่อีกด้วย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ต้องเห็น ศพ สั่งแบน แร่ใยหิน

view