สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สหภาพการธนาคารฉบับ IMF

สหภาพการธนาคารฉบับ IMF

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว นิตยสารไทมส์ได้ขึ้นปกหน้า นางคริสติน ลาร์การ์ด กรรมการผู้จัดการใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

โดยยกย่องว่าเป็นหนึ่งในบุคคลซึ่งมีศักยภาพเพียงพอที่จะช่วยแก้สถานการณ์วิกฤตยูโรให้กลับคืนมาดังเดิม โดยเน้นถึงแนวทางสหภาพการธนาคารของยุโรป ที่จะช่วยให้การแก้วิกฤตสถาบันการเงินในยุโรปเป็นระบบและถูกทางกว่าในปัจจุบัน บทความนี้ จึงขอกล่าวถึงแนวทางดังกล่าวของไอเอ็มเอฟ โดยจะกล่าวถึง หนึ่ง ประโยชน์ของสหภาพการธนาคารว่าจะช่วยสถาบันการเงินในยุโรปได้อย่างไร สอง รูปร่างหน้าตาของสหภาพการธนาคารที่จะออกมาเป็นอย่างไร และ สาม ขั้นตอนหรือแผนการที่จะไปให้ถึงจุดดังกล่าว จะทำได้อย่างไร


แต่ก่อนอื่น ต้องบอกว่า วิกฤตยูโรในครั้งนี้ เป็นวิกฤตคู่ขนานระหว่าง รัฐบาลของประเทศที่มีความอ่อนแอด้านฐานะการคลัง และ สถาบันการเงินที่มีปัญหา จากรูปที่ 1 จะเห็นได้ว่าอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมทั้งจากรัฐบาลและสถาบันการเงินขึ้นและลงเกือบจะพร้อมๆ กัน นั่นก็หมายความว่า วิกฤตของยูโรเกิดขึ้นในลักษณะที่ควบคู่กันไปและมีการเชื่อมโยงถึงกันระหว่างภาครัฐบาลและสถาบันการเงิน นอกจากนี้ จากรูปที่ 2 จะเห็นได้ว่า ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรปลดต่ำลงมาจนไม่ถึงร้อยละ 1 สถาบันการเงินในยุโรปยังปล่อยเงินกู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 4 ในฝรั่งเศสและเยอรมัน และสูงถึงร้อยละ 6-7 ในสเปนและอิตาลีด้วยซ้ำ นั่นหมายถึงสถาบันการเงินต่างๆ ในยุโรปยังมีความแตกต่างระหว่างกัน (Fragmentation) อยู่ไม่น้อย


ขอเริ่มจากประเด็นแรกว่า สหภาพการธนาคาร จะสามารถช่วยแก้ไขวิกฤตยูโรได้อย่างไร คำตอบ แบ่งเป็นสองส่วน โดยส่วนแรก จะเห็นได้ว่าโครงสร้างใหม่ของสหภาพการธนาคารและความสามารถในการควบคุมอัตราดอกเบี้ยในแต่ละประเทศต่างๆ ในยูโรอย่างเป็นอิสระ จะสามารถลดการเชื่อมโยงของปัญหาระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจรวมถึงฐานะการคลังของรัฐบาล กับ สถาบันการเงิน ดังรูปที่ 1 เนื่องจากหากระบบการจัดการสถาบันการเงินมีมาตรฐานสูง การที่เศรษฐกิจจะแย่ลงหรือฐานะการคลังของรัฐบาลจะง่อนแง่น ก็ไม่ส่งผลต่อฐานะของสถาบันการเงินแต่อย่างใด นอกจากนี้ เหตุการณ์ที่การปล่อยสินเชื่อมากๆ ในช่วงเศรษฐกิจบูม โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ จะไปช่วยเร่งฟองสบู่ให้แตกเร็วขึ้นนั้น ก็จะเกิดขึ้นน้อยลงหรือไม่เกิดขึ้นเลย เนื่องจากระบบของสหภาพการธนาคารจะคอยกำกับไม่ให้สถาบันการเงินดำเนินธุรกิจในลักษณะเช่นนั้น

สำหรับในส่วนที่สอง จะช่วยแก้ปัญหาการออกกฎหมายของประเทศต่างๆ ที่เน้นให้สถาบันการเงินของตนเองได้ประโยชน์สูงสุด โดยในช่วงเศรษฐกิจสดใส มักจะมีแนวทางปฏิบัติไม่มากพอที่จะลดการเกิดฟองสบู่ ในทางกลับกัน หากเกิดวิกฤตในภูมิภาคยุโรป ก็มักจะกันแบงก์ของตนเองมิให้ไปเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาของภูมิภาค

ในทางทฤษฎีแล้ว การใช้โครงสร้างของกฎหมายและการกำกับสถาบันการเงินในรูปแบบเดียวกันทั้งภูมิภาคยุโรป จะช่วยจำกัดความเสี่ยงเชิงระบบและลดแรงจูงใจที่จะทำธุรกิจอย่างหละหลวมของธนาคาร (Moral Hazard) รวมถึงการมีกลไกที่จะช่วยเหลือสถาบันการเงินที่มีปัญหาที่เป็นระบบก็จะสามารถขจัดความอ่อนแอของระบบสถาบันการเงินได้ จะเห็นได้ว่า ในปัจจุบัน ยุโรปเองก็กำลังแบกค่าใช้จ่ายของการไม่ใช้หรือเลื่อนการใช้สหภาพการธนาคารนั้น ผ่านการโอนเงินระหว่างประเทศในกลุ่มยูโรด้วยกันดังรูปที่ 3


สอง สำหรับรูปร่างหน้าตาของสหภาพการธนาคารที่จะออกมานั้น แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่โครงสร้างของการกำกับสถาบันการเงินในรูปแบบเดียวกัน หรือ Single Supervisory Mechanism (SSM) ทั้งนี้ หน้าที่หลักของ SSM ได้แก่ ช่วยให้การติดตามของการก่อตัวของความเสี่ยงที่กระจุกตัวอยู่ในสถาบันการเงินไม่ว่าจะแห่งใดก็ตามมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งยังทำให้การกำกับเศรษฐกิจแนว Macroprudential สามารถนำมาปฏิบัติได้อย่างละเอียดและครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคได้มากยิ่งขึ้น ส่วนที่สอง ได้แก่ กองทุนที่ไว้ช่วยเหลือสถาบันการเงินรายธนาคาร หรือ กองทุนประกันเงินฝาก ซึ่งมักจะให้มีเงินทุนประมาณร้อยละ 1-5 ของหนี้สินรวมของระบบสถาบันการเงิน โดยทั่วไปมักจะไม่เพียงพอหากเกิดวิกฤต

จึงทำให้ต้องมีส่วนสุดท้าย คือ กองทุนที่กันไว้ช่วยเหลือความเสี่ยงเชิงระบบยามที่เกิดวิกฤตเชิงระบบ หรือ Backstops ซึ่งหมายถึงการนำเงินทุนจากชาติต่างๆ มารวมกันในส่วนกองกลางเพื่อเข้าช่วยเหลือแบงก์ที่กำลังล้มละลายรวมถึงสร้างความมั่นใจให้กับภาพรวมของเซกเตอร์สถาบันการเงิน นอกจากนี้ การกำกับสถาบันการเงินที่มีอยู่กว่า 6,000 แห่งทั่วยุโรป ต้องอาศัยทั้งธนาคารกลางยุโรปและตัวแทนของสหภาพการธนาคารคอยช่วยกันทำงานอย่างเป็นระบบในการดูแลให้ทั่วถึง รวมถึงมีการแบ่งรับความเสียหายจากวิกฤตสถาบันการเงินอย่างเป็นระบบและมีความยุติธรรมต่อทุกฝ่าย

และ สาม ขั้นตอนหรือแผนการที่จะไปให้ถึงจุดดังกล่าวนั้น ทางไอเอ็มเอฟตั้งเป้าหมายว่าจะพยายามทำให้หลักการของสหภาพการธนาคารลงตัวกับทุกฝ่ายภายในปีนี้ และให้การดำเนินการในทางปฏิบัติสำเร็จในระดับเบื้องต้นภายในปีหน้า ทั้งนี้ จะเน้นให้การกำกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่เป็นลำดับต้นๆ ก่อน

โดยสรุป แนวทางสหภาพการธนาคารเป็นขั้นตอนเบื้องต้นที่ต้องทำ เพื่อให้ยูโรสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สหภาพการธนาคาร IMF

view