สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พันธบัตร 100 ปี สร้างหนี้หลายชั่วคน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

การกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองและเศรษฐกิจไทย

ในทางการเมือง รัฐบาลถูกโจมตีกลืนน้ำลายตัวเอง จากคนที่ว่าฝ่ายตรงข้ามดีแต่กู้ แต่มาวันนี้รัฐบาลกู้เองสนั่นเมือง เพราะนอกจาก 2 ล้านล้านบาท ยังมีกู้บริหารนำ 3.5 แสนล้านบาท และกู้จำนำข้าวอีก 5 แสนล้านบาท ยังไม่นับรวมกับการกู้เงินชดเชยขาดดุลอีกปีละหลายแสนล้านบาท

การกู้เงินก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติ 2 ล้านล้านบาท ทางเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นภาระหนักอึ้งของประเทศ เมื่อการกู้เงินครั้งนี้ต้องใช้หนี้ให้หมดภายในเวลาถึง 50 ปี ในระหว่างนั้นทำให้มีภาระดอกเบี้ยอีก 3 ล้านล้านบาท รวมเป็นภาระหนี้ที่ต้องใช้ทั้งหมดถึงกว่า 5 ล้านล้านบาท

ขณะที่โครงการลงทุนไม่มีความชัดเจน ไม่มีผลการศึกษาว่าจะเป็นผลดีเกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจอย่างไร นอกจากตัวเลขกลมๆ ว่าจะทำให้เศรษฐกิจโตเพิ่มขึ้น 1% ในช่วง 7 ปีที่มีการกู้เงิน แต่หลังจากนั้นไม่มีการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะพุ่งขึ้นฟ้าหรือจะดิ่งลงเหว จากการแบกหนี้ 5 ล้านล้านบาท

รัฐบาลพยายามอธิบาย ว่า การลงทุนด้านการขนส่ง รถไฟความเร็วสูง จะทำให้การเดินทางสะดวกสบาย คนไทยจะได้กินผัดสดผลไม้สด แต่การลงทุนถึงขนาดต้องกู้ 2 ล้านล้านบาท มันคุ้มจริงหรือไม่ที่จะลงทุนเพื่อเป้าหมายดังกล่าว

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ออกมาระบุว่า การลงทุนของรัฐบาลไม่สร้างรายได้ที่คุ้มค่า ซึ่งจะเป็นวิกฤตของการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพราะไม่มีทางใช้ได้หมดภายใน 50 ปี แต่จะต้องใช้เวลาถึง 100 ปี จึงจะใช้หมด

แน่นอนว่า กระทรวงการคลังและรัฐบาลออกมาประสานเสียงโต้ทันควันว่าไม่จริง สามารถใช้หนี้ได้ 50 ปี แต่ก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่าจะหารายได้จากไหนมาใช้หนี้

สาเหตุสำคัญที่รัฐบาลตอบไม่เต็มปากว่าจะใช้หนี้ 2 ล้านล้านบาท และดอกเบี้ย 3 ล้านล้านบาท ให้หมดภายใน 50 ปี เพราะดูจากการบริหารหนี้ในปัจจุบันที่มีอยู่รัฐบาลก็ยังไม่สามารถบอกได้เลย ว่าจะใช้หนี้ได้หมดภายในกี่ปี

ปัจจุบันรัฐบาลมีหนี้สาธารณะล่าสุดทะลุ 5 ล้านล้านบาท หรือ 44% ของจีดีพี ซึ่งจะเห็นว่าภาระหนี้ที่มีอยู่ตัวเลขบังเอิญเท่ากับที่รัฐบาลก่อหนี้ใหม่พอ ดี แต่รัฐบาลกลับไม่มีแผนว่าจะใช้หนี้ก้อนนี้ได้ภายใน 50 ปี เหมือนกู้ 2 ล้านล้านบาท หรือไม่

ที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐบาลรู้เต็มอกว่าไม่มีทางเป็นไปได้ ยิ่งหนี้ก้อนนี้ต้องเพิ่มขึ้นอีกจากการกู้ พ.ร.ก. 3.5 แสนล้านบาท เพื่อมาบริหารจัดการน้ำ แต่ยังไม่มีโครงการ ซึ่งต้องกู้เงินมาแช่น้ำรอไว้ก่อน ไม่รู้ว่าจะใช้จริงปีไหน

เมื่อเป็นเช่นนี้ หนี้สาธารณะของไทยจะถูกแยกบริหารเป็นสองส่วน ในส่วนแรกคือหนี้ที่กู้ 2 ล้านล้านบาท ที่จะต้องหารายได้มาโปะใช้หนี้ให้หมดภายใน 50 ปี

อีกส่วนคือหนี้สาธารณะที่มีอยู่เดิม และจะมีเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมากในอนาคตจากการกู้ส่วนอื่นที่ไม่ใช่ 2 ล้านล้านบาท ก็จะถูกบริหารอีกแบบหนึ่ง ชนิดว่าถูกดองใช้แต่ดอก เงินต้นค้างไว้ก่อน ทำให้ไม่รู้ว่าหนี้ส่วนนี้จะใช้หมดได้เมื่อไหร่

ที่เป็นเช่นนี้ มาจากข้อจำกัดของรายได้ประเทศ ปัจจุบันรัฐบาลมีงบเพื่อชำระหนี้ปีละกว่า 2 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เกือบทั้งหมดชำระดอกเบี้ยทั้งหมด ขณะที่ภาพรวมของการเก็บรายได้ประเทศอยู่ที่ 20% ของจีดีพีเท่านั้น น้อยกว่าสัดส่วนการเป็นหนี้ของประเทศถึง 2 เท่า

การบริหารหนี้ของไทยในอนาคตจึงเห็นวิกฤตว่าชักหน้าไม่ถึงหลัง

รัฐบาลจึงต้องดิ้นอย่างหนัก กดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำกว่า 2.75% ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยอ้างว่าแก้ปัญหาค่าบาทแข็ง ซึ่งอาจจะมีนัยแอบแฝงต้องการปั่นเศรษฐกิจให้เฟื่องฟูใน 12 ปีนี้ เพื่อเคลมเป็นผลงานของรัฐบาล

ขณะที่อีกส่วนหนึ่งต้องการให้ภาระต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาลลดลง จะได้ไม่มีปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลังในอนาคต

แต่ ธปท. ไม่เห็นด้วย เพราะเห็นการลดดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง และจะเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์ และ ตลาดหุ้น เร่งให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น จนกลายเป็นวิกฤตรอบใหม่ได้ง่ายๆ หากไม่สกัดไฟแต่ต้นลม

รัฐบาลต้องหาแผนสำรอง หนึ่งในนั้นคือการออกพันธบัตร 100 ปี เพื่อระดมเงินมาลงทุนให้กับรัฐบาลที่จะมีการดำเนินการใน 12 ปีข้างหน้า ซึ่งการออกพันธบัตรรัฐบาล 100 ปี มองในแง่ดีเป็นการพัฒนาตลาดตราสาร จากปัจจุบันที่ยาวที่สุด 50 ปี

อย่างไรก็ตาม การออกพันธบัตร 100 ปี ในอีกด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาหนี้ของไทยเริ่มมีปัญหาใช้หนี้ไม่ทัน จนต้องมีการขยายหนี้ออกไปให้ยาวเพื่อผ่อนให้น้อยลง

กระทรวงการคลัง อ้างว่า การออกพันธบัตร 100 ปี เพื่อกู้เงินระดมทุนมาให้รัฐบาลลงทุน ก็เท่ากับว่าโครงการที่ไปลงทุนกว่าจะใช้หนี้คืนหมดต้องใช้เวลาถึง 100 ปี

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็ไปสอดคล้องกับความเห็นของนายธีระชัย ที่ระบว่า การกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ต้องใช้เวลาการใช้คืนถึง 100 ปี ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน

เพราะรัฐบาลต้องไม่ลืมว่า การใช้หนี้เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ภายใน 50 ปี ไม่ได้มีการเขียนไว้ในกฎหมาย เป็นเพียงรายงานให้คณะรัฐมนตรีรับทราบเท่านั้น และก็ไม่ได้มีการระบุไว้เลยว่า หากใช้ได้ไม่ทันตามกำหนด ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

ที่สำคัญเดิมการใช้เงินภายใน 50 ปี ต้องระบุไว้เป็นมาตรการหนึ่งของกฎหมายกู้เงิน แต่รัฐบาลตัดออก ก็เป็นการฟ้องให้เห็นว่ารัฐบาลกลัวทำไม่ได้

การออกพันธบัตร 100 ปี ยังเป็นเครื่องมือในการแปลงหนี้เก่าของรัฐบาลให้เป็นหนี้ยาวมากขึ้น เพราะวันหนึ่งรัฐบาลอาจจะออกพันธบัตร 100 ปี ระดมทุนมาใช้คืนหนี้เงินกู้จาก พ.ร.ก. 3.5 แสนล้านบาท ทำให้เงินกู้ 5 ปี กลายเป็นเงินกู้ 100 ปี ก็เป็นไปได้ ซึ่งนั่นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโครงการน้ำเป็นภาระของผู้เสียภาษีที่ต้องใช้หนี้ คืนภายใน 50 ปี

อย่างไรก็ตาม การออกพันธบัตร 100 ปี นอกจากทำให้ไทยเป็นหนี้กันข้ามอายุคนแล้ว ยังมีต้นทุนที่สูงเช่นกัน เพราะการออกพันธบัตรเงินกู้ถึง 100 ปี ดอกเบี้ยต้องแพงเป็นที่จูงใจมากพอ เพราะไม่เช่นนั้นก็จะล้มเหลว

มองไปในอนาคตแล้วไม่เห็นแสงสว่างว่าประเทศไทยจะหาทางออกจากกองหนี้มหึมาที่รัฐบาลกำลังจะก่อขึ้นได้อย่างไร


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พันธบัตร 100 ปี สร้างหนี้ หลายชั่วคน

view