สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดอกเบี้ยนโยบายผ่อนคลายได้แล้ว

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ชลลดา อิงศรีสว่าง

ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มไปในทางแข็งค่าทางเดียวและพร้อมจะทำลายสถิติแข็ง ค่ามากที่สุดนับตั้งแต่ประกาศลอยตัวค่าเงินบาทมา เป็นแรงกดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องกลับมาพิจารณาถึงความเหมาะสมของอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งว่ายังคงจะ สร้างความสมดุลให้กับระบบเศรษฐกิจอีกหรือไม่

แม้ผู้ว่าการ ธปท. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล จะยืนยันว่า ดอกเบี้ยไม่ได้มีผลต่อการไหลเข้าของเงินร้อน เพราะเงินไม่ได้ไหลมากินกำไรจากส่วนต่างดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศที่ ห่างกันมาก แต่เพราะเงินไม่มีที่ไป เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศผู้บริโภครายใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (อียู) ยังไม่ฟื้นตัวอย่างแท้จริง แม้รัฐบาลของประเทศนั้นจะพยายามออกมาตรการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างมหาศาลก็ตาม

เงินร้อนจากต่างชาติจึงยังไหลเข้ามาในเอเชีย ทำให้ทุกประเทศมีปัญหาชีวิตคล้ายๆ กัน และหลายเทศก็ต้องออกมาตรการมาสกัดเงินทุนต่างชาติที่ไหลบ่าเข้ามาเข้มงวดและ ผ่อนคลายต่างกัน

แม้ ธปท.จะมองว่าดอกเบี้ยจะมีผลต่อการไหลเข้าของเงินไม่มากก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขึ้นหรือลงดอกเบี้ยของ กนง.มีผลต่อตลาด เสมือนการส่งสัญญาณจาก ธปท.ว่าต้องการให้เศรษฐกิจไปในทิศทางใด

แต่หากพิจารณาถึงการส่งสัญญาณผ่านความเป็นห่วง ปริมาณหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น โดย ธปท.ใช้ข้อมูลของการขยายตัวของสินเชื่อบุคคลและยอดคงค้างของหนี้ที่มีการ ชำระน้อยลง ทำให้เห็นแนวโน้มว่าหนี้เสียภาคครัวเรือนกำลังไต่ระดับขึ้นเช่นเดียวกัน

และแน่นอนว่า การลดดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นการส่งสัญญาณให้ครัวเรือนยิ่งออมน้อยลงไปอีก และมีแนวโน้มที่เงินออมจะไหลออกไปหาแหล่งอื่นที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า เช่น ไปเล่นหุ้น ซื้ออสังหาริมทรัพย์ หากทุกคนมองไปในทางเดียวกัน สิ่งที่จะตามมาก็คือการเก็งกำไรและฟองสบู่

ดังนั้น ก่อนที่ ธปท.จะลดดอกเบี้ยก็จะต้องจัดการปิดจุดอ่อนเสียก่อน

จึงไม่น่าแปลกใจที่ในช่วงนี้ผู้บริหาร ธปท.เริ่มส่งสัญญาณว่าจะคุมการขยายตัวของอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสกัดฟองสบู่ที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากลดดอกเบี้ย

ไล่มาตั้งแต่ อาจจะพิจารณาปรับเพิ่มเกณฑ์อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน หรือ Loan to Value (LTV) สำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 และบ้านหลังที่ 3 จาก 510% เป็น 20% หรือมากกว่านั้น เพื่อที่จะให้คนซื้อบ้านเพิ่มเป็นคนที่ต้องการซื้อบ้านเพื่อลงทุนจริง ไม่ได้ซื้อเพื่อเก็งกำไร

ต่อมา ธปท.ก็มาดูด้านสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ที่ให้กู้บ้านดอกเบี้ย 0% จะให้ธนาคารเปิดเผยอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยตลอดอายุสัญญาเงินกู้ว่าผู้กู้บ้านจะ เสียดอกเบี้ยเท่าไหร่

เหล่านี้เป็นมาตรการเบาที่ ธปท.กำลังเตรียมดำเนินการเพื่อสกัดการเก็งกำไรภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ขณะนี้เริ่มมีสัญญาการเก็งกำไรในคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าเท่านั้น แต่หากลดดอกเบี้ยแล้วการเก็งกำไรอาจจะกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากเห็น

โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ ระบุว่า การเพิ่ม LTV สำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 นั้น เป็นเรื่องปกติที่ต่างประเทศมีการดำเนินการอยู่แล้ว เช่น ฮ่องกง และจีน เนื่องจากความต้องการพื้นฐานจะอยู่ที่บ้านหลังแรก แต่บ้านหลังที่ 2 เริ่มจะมีเรื่องของการลงทุนและหากไปถึงหลังที่ 34 ยิ่งถือได้ว่าเข้าข่ายการเก็งกำไร

“บ้านหลังที่ 2 ยังไม่ต้องถึงกับห้าม เพราะเป็นการลงทุน แต่ต้องมีเงื่อนไข เช่น ต้องมีเงินออมส่วนหนึ่ง ซึ่งหลายประเทศมีเงื่อนไขต้องวางดาวน์ 2025% หากบ้านราคาดิ่งหลักประกันก็ยังคุ้ม”

อย่างไรก็ดี มาตรการของ ธปท.อาจจะไม่เป็นที่ถูกใจของผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะไปทำให้การค้าขายไม่สะดวก จึงพยายามชี้แจงว่า ไม่ได้เกิดสัญญาณฟองสบู่ในอสังหาฯ ธปท.อาจจะกังวลใจจนเกินไป

ธำรงค์ ปัญญาสกุลวงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ขณะนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ไม่มีฟองสบู่ เอ็นพีแอลอยู่ในระดับต่ำ เพียง 12% จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มมาตรการ LTV

นายกสมาคมอาคารชุดไทย ระบุว่า มีสมาคมบางแห่งที่เสนอว่าควรจะปรับ LTV ส่วนของคอนโดมิเนียมจากเดิมที่วางเงินดาวน์ 10% เพิ่มเป็น 20% และบ้านจาก 5% เพิ่มเป็น 15% การเสนออย่างนี้เป็นการวางยาสลบให้กับภาคอสังหาริมทรัพย์ เหมือนการฉีดยาชาให้หยุดสร้างความเดือดร้อนให้กับคนที่จะซื้อบ้าน โดยเฉพาะคนที่มีรายได้น้อย กว่าที่จะหาเงินดาวน์ได้ตามกำหนด ราคาบ้านก็ปรับขึ้นไปอีก หมดโอกาสที่จะซื้อบ้าน

แต่ไม่ว่าผู้ประกอบการจะว่าอย่างไรก็ตาม แต่หน้าที่ของ ธปท.จะต้องดูแลเมื่อเห็นสัญญาณที่ไม่ดี ไม่ใช่จะเข้ามาออกมาตรการใดๆ เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว การกันไว้ดีกว่าแก้จึงเป็นสิ่งที่ ธปท.ทำมาตลอด แม้จะโดนโจมตีว่าทำช้าไป แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

และเมื่อ ธปท.ทำกรอบกั้นเงินจะไหลไปสู่การเก็งกำไรเสร็จ ขั้นต่อไป ธปท.ก็จะดูด้านดอกเบี้ย ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าการประชุมคณะกรรมการ กนง.ครั้งหน้าอาจจะเห็นการลดดอกเบี้ยนโยบายลง

การลดดอกเบี้ยนโยบายนี้ กนง.จะพิจารณาความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ได้ส่งสัญญาณค่อนข้างชัดเจนว่าอาจจะชะลอตัวมากกว่าที่คาดหมาย วิกฤตเศรษฐกิจยังไม่จบ ทำให้อาจเกิดเงินไหลบ่าเข้ามาอีก

นอกจากนี้ ดอกเบี้ยนโยบายกับดอกเบี้ยที่แท้จริงในตลาด ขณะนี้ได้แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง ดอกเบี้ยที่แท้จริงในตลาดจะปรับเพิ่มหรือลดตามความต้องการขยายตัวของสิน เชื่อ ซึ่งจะเห็นได้ว่าธนาคารพาณิชย์ระดมเงินฝากเพิ่มด้วยการออกเงินฝากพิเศษ ดอกเบี้ยสูง แย่งเงินฝากกับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่กู้โดยตรงจากประชาชนด้วยการออกหุ้นกู้ จำหน่าย

ความต้องการเงินกู้ของรัฐบาล เพื่อทำโครงการขนาดใหญ่นั้น อาจจะได้เห็นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเฉพาะเงินกู้เพื่อโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่กระทรวงการคลังไปลงนามกู้เงินล่วงหน้า 1 แสนล้านบาทกับธนาคารพาณิชย์ อาจจะได้เบิกจ่ายถ้าสามารถเปิดประมูลโครงการที่จะดำเนินการได้ทัน

ทางด้านครัวเรือนที่ ธปท.เป็นห่วงมากมายนั้น ก็คงจะไม่ต้องห่วงมากไปกว่านี้ เพราะเมื่อครัวเรือนก่อหนี้เต็มเพดานก็จะกู้จากธนาคารเพิ่มอีกไม่ได้ นอกเสียจากไปกู้เงินนอกระบบ

การลดดอกเบี้ยลง น่าจะส่งผลดีต่อคนมีหนี้ให้หายใจสะดวกขึ้น อาการชักหน้าไม่ถึงหลังจะผ่อนคลายลง

ดังนั้น นับจากนี้ไปให้จับตาการประชุม กนง. เพราะเริ่มจะเห็นสัญญาณการลดดอกเบี้ยนโยบายแล้ว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ดอกเบี้ยนโยบาย ผ่อนคลาย

view