สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปลดผู้ว่าแบงก์ชาติเขี่ยก้างขวางปั่นเศรษฐกิจ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง


กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ออกมาระบุด้วยความมั่นใจเกินร้อยว่าคิดที่จะไล่ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกจากตำแหน่งทุกวัน เพราะไม่สนองรัฐบาลด้วยการลดดอกเบี้ยนโยบาย ชะลอเงินทุนไหลเข้าที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็ง ส่งผลกระทบให้การส่งออกของไทยมีปัญหา

แม้ว่า กิตติรัตน์ จะออกมาแก้ต่างในภายหลังว่าการไล่ ประสาร เป็นเรื่องแค่คิด แต่ไม่ได้ทำ เพราะ ธปท.เป็นองค์กรอิสระแต่หลายฝ่ายมองว่าเป็นการแก้ต่างคำพูดที่ไม่ควรหลุดจาก ปาก รมว.คลัง เท่านั้น

ข่าวลือว่ารัฐบาลมีความพยายามปลด ประสาร ออกจากตำแหน่งมีมานานแล้ว แต่กฎหมายใหม่ของ ธปท. การจะปลดผู้ว่าแบงก์ชาติไม่ง่ายเหมือนในอดีต ที่คิดอยากจะปลดโดยอ้างแค่เหตุผลว่าเพื่อความเหมาะสมแค่นั้น เหมือนที่รัฐบาลทักษิณ 1 เคยปลด ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ออกจากตำแหน่งผู้ว่า ธปท. เพราะไม่ยอมลดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจให้รัฐบาลเหมือนกัน

แต่การจะปลด ประสาร ไม่สามารถอ้างเพื่อความเหมาะสมได้เหมือนในอดีต รัฐบาลต้องมีเหตุว่าผู้ว่า ธปท.กระทำความผิด ความเสียหาย หรือทุจริตจนเกิดความเสียหายกับเศรษฐกิจของประเทศ

หากย้อนรัฐบาลเพื่อไทย ตั้งแต่ สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี และมี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็น รมว.คลัง ก็มีความพยายามปลด ธาริษา วัฒนเกส ออกจากตำแหน่งผู้ว่า ธปท. แต่ก็หาความผิดที่จะปลดไม่ได้เช่นกัน

สำหรับสาเหตุที่แท้จริงที่ กิตติรัตน์ ต้องการปลด ประสาร เพราะมีความขัดแย้งกันตลอดเกือบ 2 ปีที่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ มีหลายเรื่องที่ ธปท.เห็นต่างกับรัฐบาลชนิดอยู่กันคนละข้าง เนื่องจากรัฐบาลมองผลประโยชน์ทางการเมืองกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อหาเสียงคะแนน นิยมเป็นหลัก ขณะที่ ธปท.ยังยึดกุมการดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

หากไล่ย้อนดูความขัดแย้งของรัฐบาลและ ธปท. เริ่มก่อหวอดมาตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ และมีแนวคิดนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปตั้งกองทุนหาผลกำไร แต่ ธปท.ไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่ามีความเสี่ยงได้ไม่คุ้มเสีย และ ธปท.มีแนวร่วมคือคณะศิษย์ของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ที่ยังสานต่อเจตนารมณ์ของหลวงตาในการปกป้องเงินของชาติในคลังหลวง

ยกต่อมา ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องการโยกหนี้สาธารณะออกจากอ้อมอก โดยขอโอนหนี้เงินต้นกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.1 ล้านล้านบาท ไปไว้กับ ธปท. เพื่อลดจำนวนหนี้สาธารณะและลดภาระงบประมาณชำระหนี้ ซึ่ง ประสาร ออกมาค้านเรื่องนี้สุดตัว จนสุดท้ายรัฐบาลทำได้แค่โอนภาระหนี้ไปแค่นั้น

สิ่งที่รัฐบาลไม่พอใจ ธปท.อย่างมาก ที่ทำให้การโอนหนี้ผิดแผน ไม่สามารถเสกหนี้ให้หายไปได้ ทำให้รัฐบาลมีช่องทางให้กู้เงินมาลงทุนไม่ได้ตามที่คิด

เมื่อรัฐบาลไม่ได้ดังใจ ประกอบกับ ประสาร ไประบายความในใจผ่านจดหมายถึงอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในวารสารภายในของ ธปท. ว่า การโอนหนี้ดังกล่าวเป็นสิ่งที่รัฐบาลแทรกแซงการทำงานของ ธปท. ทำให้รัฐบาลหาช่องเอาผิด ประสาร ออกจากตำแหน่ง แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างที่คิด

หลังจากนั้น ธปท.ก็ทำให้รัฐบาลระคายใจอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ออกมาให้ความเห็นในแง่ลบเกี่ยวกับโครงการประชานิยมของ รัฐบาลที่ทำให้หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง และเริ่มมีปัญหาฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้าน ที่มีประเด็นอื้อฉาวในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ที่ฝ่ายค้านนำข้อมูลเส้นทางการโอนเงินของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประมูลข้าว ของรัฐบาลและพยายามชี้ให้เห็นว่ามีความไม่ชอบมาพากล

โดยรัฐบาลมองว่า ข้อมูลการเงินที่ฝ่ายค้านนำมาใช้มัดรัฐบาล มาได้จากสองแหล่งเท่านั้น คือ จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) หรือมาจาก ธปท.เท่านั้น ทำให้การอภิปรายของฝ่ายค้านมีน้ำหนักว่ามีกระบวนการทุจริตในโครงการรับจำนำ ข้าว จนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับเรื่องสอบเอาผิด ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์

นอกจากนี้ ธปท. ยังตกเป็นจำเลยของรัฐบาล เรื่องการตรวจสอบการดำเนินงานของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ ที่แบงก์ชาติระบุไว้ในรายงานตรวจสอบว่ามีเครือญาติของผู้นำประเทศได้รับการ โอนเงินจากลูกหนี้ที่ได้สินเชื่อทั้งที่มีความเกี่ยวข้องทำธุรกิจด้วยกัน ทำให้กระทรวงการคลังนั่งไม่ติด ต้องตั้งกรรมการตรวจสอบเพื่อหาทางกลบเรื่องดังกล่าวไว้ใต้พรมอยู่ในปัจจุบัน

เรื่องนี้ว่ากันว่า ฝ่ายการเมืองไม่พอใจ ประสาร อย่างมาก จนมีข่าวจะปลดออกจากตำแหน่ง โดยมีการคุยกันว่าจะดัน อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ไปเป็นผู้ว่า ธปท. เพื่อเปิดทาง เบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมศุลกากร ที่มีความใกล้ชิดฝ่ายการเมืองขึ้นมาเป็นปลัดกระทรวงการคลังก่อนที่จะเกษียณ อายุ

แม้ว่าที่ผ่านมา ฝ่ายการเมืองและคนที่อยู่ในโผโยกย้ายว่าเป็นเรื่องไม่มีมูล แต่เมื่อ กิตติรัตน์ ออกมาระบุว่าคิดไล่ ประสาร ออกจากตำแหน่งทุกวัน ทำให้หลายฝ่ายเชื่อแผนการดังกล่าวมีจริง แต่ปัญหาอยู่ที่ยังหาความผิดเอา ประสาร ออกจากตำแหน่งไม่ได้เท่านั้น

จนเป็นที่มาในภายหลังตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามบี้เอาผิด ประสาร เรื่องการไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อชะลอเงินทุนไหลเข้าจนทำให้เงินบาทแข็งกระทบการส่งออก

ซึ่ง กิตติรัตน์ ถึงขนาดทำจดหมายถึง ธปท.ให้ดำเนินการลดดอกเบี้ย หากไม่ดำเนินการและเกิดความเสียหาย ธปท.จะต้องรับผิดชอบ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะปลด ประสาร ได้ เพราะรัฐบาลยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการที่ ธปท.คงดอกเบี้ยไว้ระดับปัจจุบันทำให้เศรษฐกิจโดยรวมเสียหายอย่างไร เมื่อการขยายตัวของเศรษฐกิจยังดีอยู่ โดยมีการคาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจปี 2556 จะขยายตัวได้ 56% ต่อปี

กรณ์ จาติกวณิช สส.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีต รมว.คลัง ออกมาระบุว่า รัฐบาลกดดัน ธปท. ลดดอกเบี้ยมีนัยแอบแฝงต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวแบบสุดขั้ว จากทั้งโครงการประชานิยมจำนวนมาก และการกู้เงินลงทุน 2 ล้านล้านบาท รวมถึงการลดดอกเบี้ย

นักวิชาการหลายคนมีความทิศทางเดียวกันนายกรณ์ เพราะการลดดอกเบี้ยทำให้เศรษฐกิจการขยายตัว ทำให้หนี้สาธารณะที่รัฐบาลกู้มาจำนวนมากลดลงเมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศ

นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยยังทำให้ต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาลลดลงอีกด้วย

ขณะเดียวกัน รัฐบาลไม่ต้องการให้เงินบาทแข็งเกินไป เพราะนอกจากจะกระทบการส่งออกของภาคเอกชนแล้ว ยังไม่อยากให้กระทบการส่งออกข้าว ที่ปัจจุบันรัฐบาลเป็นผู้ค้ารายใหญ่ไปเสียแล้ว

การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าทำให้รายได้ข้าวของรัฐบาลลดลง ทำให้การระบายข้าวของไทยสาหัสมากขึ้น เพราะนอกจากขายข้าวไม่ได้ เพราะราคาแพงกว่าชาวบ้านเขาจำนวนมากแล้ว เมื่อขายแล้วยังขาดทุนเพิ่มขึ้นจากค่าเงินบาทแข็ง

เมื่อการลดดอกเบี้ยเป็นทางลัดที่รัฐบาลจะเป่าเศรษฐกิจให้พองโต แต่ยังมี ธปท.เป็นหอกข้างแคร่ ก็ไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลอยากเปลี่ยนตัวผู้ว่า ธปท.ทุกวัน และหากความต้องการพุ่งถึงขีดสุด อาจจะเสนอให้แก้ไขกฎหมาย ธปท. อาศัยเสียงข้างมากในสภา เพื่อให้ความต้องการเป็นจริงได้สักวันหนึ่ง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปลด ผู้ว่าแบงก์ชาติ เขี่ย ก้างขวาง ปั่นเศรษฐกิจ

view