สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดสูตรธปท.ประเมินทุนไหลเข้า

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เปิดสูตรแบงก์ชาติประเมินเงินทุนไหลเข้า ส่วนต่างดอกเบี้ยไม่ใช่ "ปัจจัยหลัก"

จากสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องและประเด็นการลดดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินทุนไหลเข้าได้มีการพูดถึงอีกครั้งหนึ่ง แต่จากรายงานนโยบายการเงินเดือนเม.ย. 2556 ได้มีการวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ทำให้เงินทุนไหลเข้าไทย ซึ่งเป็นท่าทีของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ยืนยันมาโดยตลอดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยหลัก และชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมของนักลงทุนได้เปลี่ยนไปแล้ว นับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจโลก มีรายละเอียดดังนี้)

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าสู่ไทย

กระแสเงินทุนที่ไหลเข้าจากต่างประเทศสู่ไทยกำลังเป็นประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจที่ถูกกล่าวถึงมากในขณะนี้ เนื่องจากเงินทุนดังกล่าวมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเงินลงทุนในหลักทรัพย์ ส่งผลให้หลายฝ่ายกังวลถึงผลกระทบที่จะตามมา อาทิ ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยน ที่อาจส่งผลต่อไปยังความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศได้

ที่ผ่านมา หลายงานศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้เงินทุนไหลเข้าประเทศมักศึกษาจากตัวแปรที่เป็นข้อมูลภาวะเศรษฐกิจโดยปัจจัยต่างๆ ถูกจำแนกออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ (1) ปัจจัยดึงดูดให้เงินทุนไหลเข้า (Pull Factor) ซึ่งเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจของประเทศผู้รับทุน อาทิ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ อัตราเงินเฟ้อ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และ (2) ปัจจัยผลักดันให้เงินทุนไหลเข้า (Push Factor) ซึ่งเป็นปัจจัยต่างประเทศ อาทิ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและสภาพคล่องในระบบการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจโลกและวิกฤติหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยูโรเป็นต้นมา ทำให้มุมมองและพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนเปลี่ยนไปเช่นกัน กล่าวคือ ภายใต้ภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน นักลงทุนกังวลต่อความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและมีพฤติกรรมการเก็งกำไรระยะสั้นมากขึ้น

ดังนั้น การศึกษาปัจจัยที่ทำให้เงินทุนไหลเข้าประเทศโดยคำนึงถึงผลตอบแทนและปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอาจไม่เพียงพอ ควรพิจารณาถึงปัจจัยที่สะท้อนการคาดการณ์และความกังวลด้านความเสี่ยงจากการลงทุนด้วยเช่นกัน

ปัจจัยที่ทำให้เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าในหลักทรัพย์ไทย

ปัจจัยที่ทำให้เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าในหลักทรัพย์ไทย โดยใช้ข้อมูลการซื้อขายเงินบาทสุทธิเพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์ของสถาบันการเงินกับลูกค้าต่างประเทศ ซึ่งมีความแม่นยำมากกว่าข้อมูลดุลการชำระเงินที่ใช้ศึกษาในอดีตเนื่องจากข้อมูลดังกล่าวถูกบันทึกจากธุรกรรมที่มีการรับจ่ายเงินจริงตามเกณฑ์เงินสด จึงสะท้อนกระแสเงินทุนใหม่ที่ไหลเข้าออกประเทศและผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนได้ดีกว่าข้อมูลดุลการชำระเงิน ซึ่งบันทึกจากธุรกรรมที่มีการเปลี่ยนสิทธิความเป็นเจ้าของเพียงอย่างเดียวโดยไม่พิจารณาถึงธุรกรรมการชำระเงิน

สมมติฐานที่ใช้ คือ นักลงทุนต้องการผลตอบแทนสูง แต่ไม่ชอบความเสี่ยงที่จะเกิดจากการลงทุน โดยมีเหตุจูงใจมาจากการแสวงหาผลตอบแทนในตราสารทุนและตราสารหนี้ อัตราดอกเบี้ย และการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน โดยใช้วิธีการวิเคราะห์สมการถดถอยจากข้อมูลรายเดือนตั้งแต่เดือนก.ค. 2550 ถึงเดือนก.ย. 2555

จากตัวแปรอิสระทั้งหมด 8 ตัวแปร ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ (1) ตัวแปรด้านภาวะเศรษฐกิจ ได้แก่ ดัชนี PMI (Purchasing Managers Index) ดัชนี BSI (Business Sentiment Index) ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและสหรัฐ อัตราการว่างงานของแรงงานไทย และอัตราเงินเฟ้อไทย และ (2) ตัวแปรสะท้อนมุมมองของนักลงทุน ได้แก่ ดัชนี VIX แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท และ Implied volatility ของค่าเงินบาท

ผลการศึกษา พบว่า การเปลี่ยนแปลงความกังวลต่อความเสี่ยงของนักลงทุน การคาดการณ์ความผันผวนของค่าเงินบาทและอัตราเงินเฟ้อของไทย มีผลกระทบเชิงลบต่อการไหลเข้าของเงินลงทุนในหลักทรัพย์จากต่างประเทศ ขณะที่การคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทย แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท และการเปลี่ยนแปลงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและสหรัฐ มีผลกระทบเชิงบวก

สอดคล้องกับหลักการที่ว่า นักลงทุนต่างประเทศต้องการผลตอบแทนที่สูงจาก (1) อัตราดอกเบี้ย (2) ผลประกอบการที่คาดว่าจะอยู่ในระดับดีจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ และ (3) การเก็งกำไรค่าเงินบาท แต่ไม่ชอบความเสี่ยงและความผันผวนจากการลงทุน

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าผลการศึกษานี้ไม่สอดคล้องกับทฤษฎี Interest parity ที่อธิบายพฤติกรรมของนักลงทุนที่มองว่าสินทรัพย์จากสองประเทศสามารถทดแทนกันได้อย่างสมบูรณ์ (Perfect substitutes) และนักลงทุนจะลงทุนในสินทรัพย์ของประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า

กล่าวคือ ระดับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและสหรัฐ มิใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าในหลักทรัพย์ไทย ขณะที่การเปลี่ยนแปลงความกังวลต่อความเสี่ยงของนักลงทุน และการเปลี่ยนแปลงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและสหรัฐ เป็นปัจจัยที่มีนัยสำคัญ

ดังนั้น เมื่อมีการทดสอบเพิ่มเติมต่อไป พบว่าระดับอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐ มีค่าสัมประสิทธิ์ต่ำมากและไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

นอกจากนี้ การศึกษานี้ ยังได้ศึกษาความสำคัญของตัวแปรแต่ละตัวที่มีผลต่อการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศในหลักทรัพย์ไทยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติการศึกษานี้ จึงใช้วิธีทางสถิติในการหาความสำคัญเปรียบเทียบ (Relative importance) และพบว่าปัจจัยที่สะท้อนมุมมองของนักลงทุน เช่น การเปลี่ยนแปลงความกังวลต่อความเสี่ยงของนักลงทุนและแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทมีระดับความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของเงินลงทุนจากต่างประเทศในหลักทรัพย์ไทยมากกว่าปัจจัยทางภาวะเศรษฐกิจ

ข้อสรุปและนัยสำคัญเชิงนโยบาย

การไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศในหลักทรัพย์ไทยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน ทั้งด้านภาวะเศรษฐกิจ และด้านที่สะท้อนมุมมองของนักลงทุน ในส่วนของการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ย จากผลการศึกษาสามารถสรุปนัยเชิงนโยบายได้ว่าการใช้นโยบายลดอัตราดอกเบี้ยของไทยเพื่อลดการไหลเข้าของเงินลงทุนในหลักทรัพย์จากต่างประเทศนั้น จะมีผลน้อยและมีผลเพียงระยะสั้นเท่านั้น เพราะนักลงทุนจะมีพฤติกรรมตอบสนองต่อข้อมูลข่าวสารที่ออกมาใหม่เท่านั้น

หากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและสหรัฐ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่นๆ ยังคงเดิม นักลงทุนต่างประเทศจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงการลงทุนในหลักทรัพย์ไทยแต่อย่างใด

ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบายจึงควรชั่งน้ำหนักระหว่างการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อชะลอการไหลเข้าของเงินทุนได้ในระยะสั้นกับผลข้างเคียงจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อาจไม่อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปิดสูตร ธปท. ประเมินทุนไหลเข้า

view