สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จี้กนง.ถกฉุกเฉินดูแลบาท อุ้มส่งออก

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

"นักวิชาการ"แนะกนง. ประชุมฉุกเฉินสกัดบาทแข็งค่า เสนอเก็บภาษีเงินทุนไหลเข้าเก็งกำไรระยะสั้น "ทนง"จี้ลดดอกเบี้ย อุ้มส่งออก

สถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าที่สุดในรอบ 16 ปี ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19 เม.ย.) เงินบาทแข็งค่าขึ้นที่ระดับ 28.58 บาทต่อดอลลาร์ จากที่ระดับ 29.02 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อวันเดียวกันของสัปดาห์ก่อนหน้า ส่งผลให้หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้ทางการเร่งหาทางแก้ไข โดยผู้ส่งออกเรียกร้องให้ช่วยเหลือผลกระทบค่าเงิน ทำให้สินค้าไทยแพงและเสียเปรียบคู่แข่งในตลาดโลก

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรเรียกประชุมฉุกเฉิน เพื่อทบทวนมาตรการการแทรกแซงค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่า ว่า ทำไมถึงไม่สามารถสกัดไม่ให้เงินบาทแข็งค่าได้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

"กนง. อาจจะประชุมไปแล้ว แต่เราไม่ทราบก็ได้"

นายพรายพล กล่าวว่า กนง.ควรจะทบทวนมาตรการอื่นๆ ด้วย เช่น มาตรการที่ธปท. ส่งเสริมให้คนไทยนำเงินไปลงทุนในตลาดต่างประเทศ ทั้งผ่าน ตลาดหุ้นและการลงทุนด้านการผลิตและบริหาร ซึ่งมาตรการเหล่านี้อาจจะไม่เพียงพอ สำหรับรับมือกับการแข็งค่าของเงินบาท

เขาเสนอว่า ธปท.อาจจำเป็นต้องใช้มาตรการใหม่เพิ่มเติม เช่น เก็บค่าธรรมเนียมเงินต่างประเทศที่มาลงทุนในพันธบัตรอายุสั้นๆ เพื่อเก็งกำไร ส่วนมาตรการการลดดอกเบี้ยนโยบายลง ตามที่ฝ่ายรัฐบาลเรียกร้องนั้นไม่ควรทำ เพราะจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงมาก เช่น ความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ และฟองสบู่ในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์

คาดบาท 28.50-28.90 ต่อดอลล์ สัปดาห์นี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 28.50-28.90 บาทต่อดอลลาร์ ในสัปดาห์นี้ โดยแนะให้จับตาดูกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ทิศทางค่าเงินหยวน และสถานการณ์หนี้ในยูโรโซน ขณะเดียวกันก็ติดตามดัชนีเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย. ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ และบ้านมือสองเดือนมี.ค. ตัวเลขจีดีพีประจำไตรมาส 1/2556 และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

การประชุมปกติของ กนง. รอบต่อไปจะมีขึ้นในปลายเดือนหน้า การประชุมครั้งที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 3 เม.ย. บอร์ด กนง. ลงมติ 5:1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75%

มีรายงานเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย โดยแข็งค่าขึ้นสูงเกิน 6% ตามมาด้วยเงินรูปีของอินเดียแข็งค่าขึ้นเกือบ 2% และเงินหยวนของจีนแข็งค่าขึ้นเกือบ 1% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุสำคัญ คือ ญี่ปุ่นและสหรัฐ ใช้นโยบายคิวอี อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมาก รวมทั้งนักลงทุนมองถึงผลตอบแทนที่สูงกว่าจากการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย

"ทนง" แนะ กนง.ลดดอกเบี้ย

นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ค่าเงินบาทในปัจจุบันแข็งค่าจนเกินไป ที่ผ่านมาได้เคยสะท้อนปัญหาเหล่านี้ให้กับทางธปท.ได้รับทราบแล้ว

โดยส่วนตัวมองว่า กนง.ควรพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง โดยทยอยลดลงครั้งละ 0.25% เพื่อทดสอบตลาดว่าหากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว จะมีผลต่อค่าเงินบาทอย่างไรบ้าง
บาทแข็ง 1% ฉุดส่งออก 0.2-0.5%

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยมีการแข็งค่าเฉลี่ยประมาณ 5% ส่วนมาเลเซียแข็งค่าขึ้นเพียง 2.1% เท่านั้น ซึ่ง

การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก โดยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุกๆ 1% จะส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกที่ลดลงประมาณ 0.2-0.5% และส่งผลให้จีดีพีของประเทศลดลงในระดับ 0.2-0.4%

สถานการณ์ในขณะนี้ผู้ประกอบการภาคส่งออกกว่า 60% ได้รับผลกระทบ โดยบาทแข็งค่ามากกว่าประเทศอื่นๆ เป็นปัจจัยที่ทำให้ยอดส่งออกลดลง ออเดอร์ในการสั่งซื้อสินค้าลดลง ขณะที่ต้นทุนสูงขึ้นแข่งขันกับคู่แข่งยากขึ้น ซึ่งรัฐบาลควรจะมีมาตรการดูแลค่าเงินบาท ไม่ให้แข็งค่าสูงจนเกินไป เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

จี้ ธปท. ออกมาตรการดูแลค่าเงิน

"มาตรการที่รัฐอาจจะออกมา ควรจะเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ให้ค่าเงินบาทมีทิศทางเดียวกับในภูมิภาค และต้องพิจารณาถึงมาตรการรองรับเงินทุนไหลเข้าในระยะยาว เช่นมาตรการภาษี ซึ่งสามารถควบคุมเงินไหลเข้าได้เช่นกัน" นางเสาวณีย์ กล่าว

สำหรับผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ที่ทำธุรกิจส่งออกนั้น จะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการทำธุรกิจให้มากขึ้น ศึกษาผลกระทบที่จะเกิดจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอีก

ขณะที่บางประเทศในภูมิภาคค่าเงินก็ยังมีแนวโน้มที่จะอ่อนตัวลง เช่น สิงคโปร์ จึงแนะนำว่าควรที่จะมีการศึกษาผลกระทบต่อธุรกิจของตนเอง รวมทั้งหากสามารถที่จะทำประกันความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนได้ ก็จะเป็นประโยชน์ในสถานการณ์ที่อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวน

เอกชนผวาแข็งค่าอีก เอสเอ็มอี อ่วม

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท.เชิญสมาชิกประชุมรวบรวมความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าในวันที่ 24 เม.ย. 2556 เพื่อเสนอต่อนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการประชุมร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ในวันที่ 26 เม.ย. 2556 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องการรับฟังความเห็นของภาคเอกชนเกี่ยวกับเงินบาท ที่แข็งค่าต่อเนื่องในขณะนี้และส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยนายบุญทรงได้ชี้แจงว่าถ้าต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการอะไร ก็ให้เสนอมา

นายวัลลภ กล่าวว่า ผู้ส่งออกต้องการชี้แจงกระทรวงพาณิชย์ว่าเงินบาทแข็งค่า เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกในช่วงนี้มาก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ควรเป็นตัวแทนผู้ประกอบการส่งสัญญาณไปถึง ธปท. ว่าปัญหานี้ส่งผลกระทบกับผู้ส่งออก และต้องหารือกับ ธปท. ว่าถ้าไม่ดำเนินการอะไร หลังจากนี้จะกระทบต่อการส่งออกและมีผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีมากที่สุด เพราะรับความเสี่ยงได้น้อยกว่าผู้ส่งออกรายใหญ่

"วันศุกร์ที่ 19 เม.ย. ค่าเงินบาทอยู่ที่ 28.6 บาท ถ้ารัฐไม่ดำเนินการเชื่อว่าจะแข็งค่าขึ้นอีก เราเชื่อว่าบาทแข็งมาจากเงินทุนต่างชาติไหลเข้าเก็งกำไร ถ้า ธปท.บอกว่ามีมาตรการดูแลก็ต้องนำออกมาจัดการ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันน่าเป็นห่วงมากและถ้าไม่มีมาตรการออกมาอาจทำให้ค่าเงินหลุดไปถึง 27 บาท ซึ่งค่าเงินบาทปัจจุบัน ก็คำนวณราคารับคำสั่งซื้อลำบากอยู่แล้วและถ้าแข็งค่าขึ้นอีกคงมีเอสเอ็มอีที่ล้มหายไปมาก" นายวัลลภ กล่าว

ชี้รับออเดอร์29บาทยังขาดทุน

นายวัลลภ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์คงต้องมาพิจารณาว่าเป้าหมายการส่งออกปีนี้ที่ตั้งไว้ 9% เป็นไปได้ยาก เพราะสภาพแวดล้อมไม่เป็นใจและเงินบาทแข็งค่าทำให้คาดการณ์ว่าการส่งออกไตรมาส 1 ปีนี้จะเป็นบวกไม่มาก โดยคำสั่งซื้อที่เจรจาในขณะนี้ ถ้าใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ 29 บาท มาคำนวณราคาก็ยังเสี่ยงต่อการขาดทุน แต่ถ้าผู้ส่งออกรายใด ต้องการให้โรงงานเดินเครื่องก็ต้องยอมใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ 29 บาท และถ้าไม่ยอมรับคำสั่งซื้อ ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเสียลูกค้าไปเลย ซึ่งทำให้ผู้ส่งออกมีทางเลือกไม่มาก ระหว่างขาดทุนเพื่อรักษาฐานลูกค้า หรือรับคำสั่งซื้อเพื่อให้มีเงินและมีเงินทุนหมุนเวียนเข้ามา หรือไม่รับคำสั่งซื้อ เพราะรับภาระขาดทุนไม่ไหวและต้องปิดตัว

"การหาตลาดเพิ่มต้องใช้เวลา ผู้ส่งออกต้องการให้ ธปท.เข้ามาดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวน ส่วนการหาตลาดใหม่ในระยะสั้นที่เห็นผลได้เร็วอยู่ที่การค้าชายแดน และอาจจะไม่ชดเชยการส่งออกที่ชะลอตัวได้ทั้งหมด แต่ถ้าไม่ดำเนินการอะไรจะทำให้การส่งออกชะลอตัวมากกว่านี้ "นายวัลลภ กล่าว

กลุ่มรองเท้าตัดออเดอร์ลดขาดทุน

นายธำรง ธิติประเสริฐ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า ส.อ.ท. กล่าวว่า ผู้ส่งออกรองเท้าต้องการให้ภาครัฐเข้ามาดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้แข็งค่าเกินไปกว่าภูมิภาคเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีมาถึงปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปแล้ว 6% เป็นเรื่องที่ผู้ส่งออกหนักใจมาก เพราะความสามารถในการแข่งขันลดลงเมื่อเทียบกับเวียดนามและอินโดนีเซีย ที่เป็นผู้ส่งออกรองเท้าสำคัญในภูมิภาคนี้

ตั้งแต่ค่าเงินบาทผันผวนมากเมื่อเดือนม.ค. ที่ผ่านมา ผู้ส่งออกรองเท้าได้ขอปรับราคาขึ้น 2-3% ซึ่งขอปรับขึ้นได้ไม่มาก เพราะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าก็มีปัญหา เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) รวมทั้งสินค้าบางรายการที่ขอขึ้นราคาไม่ได้ ก็ยอมรับภาระขาดทุนบางส่วน และบางรายการที่ขาดทุนมากก็ไม่รับคำสั่งซื้อ

นายธำรง กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกรองเท้ากำลังเจรจารับคำสั่งซื้อรองเท้า ที่จะส่งมอบในอีก 4-6 เดือนข้างหน้า ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ 29 บาทเศษในการคำนวณราคา ส่วนที่เหลือก็ซื้อประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ เพราะถ้าใช้ค่าเงินบาทปัจจุบันจะเจรจาลำบากและถูกปฏิเสธราคา ซึ่งผู้ส่งออกบางรายเห็นว่ารับคำสั่งซื้อในขณะนี้ไปแล้ว ยังมีเวลาพอสมควรกว่าจะส่งมอบ ก็จะมาดูการบริหารต้นทุนว่าลดส่วนไหนได้ โดยรองเท้าประเภทใดที่ใช้วัตถุดิบนำเข้าได้ก็อาจนำเข้าเพิ่มมากขึ้น เช่น รองเท้าหนัง ส่วนรองเท้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศมาก ก็หาทางปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เช่น รองเท้าผ้าใบ

วอนพยุงค่าเงิน 29 บาทต่อดอลล์

นายวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ส.อ.ท. กล่าวว่า ในระยะสั้นผู้ส่งออกอาหารต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ส่งสัญญาณให้ ธปท. รู้ว่าผู้ส่งออกอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันกระทบผู้ส่งออกและต้องการให้พยุงอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 29 บาท ซึ่งขณะนี้คงไม่มองเรื่องการให้ค่าเงินบาทกลับไปอยู่ที่ 30 บาทแล้ว เพราะว่าเป็นไปได้ยาก

สถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบัน ทำให้ผู้ส่งออกอาหารที่เปิดแอลซีแล้ว ต้องรีบไปประกันความเสี่ยงค่าเงินไว้ทันที รวมทั้งพยายามเจรจากับผู้นำเข้า เพื่อขอปรับราคา แต่ส่วนใหญ่ก็เจรจาได้เฉพาะลูกค้าเก่า ซึ่งทำให้สินค้าส่งออกที่มีมาร์จินต่ำและมีการแข่งขันสูงรับคำสั่งซื้อได้ลำบาก และอาจต้องมองตลาดในประเทศเพิ่มมากขึ้นเพราะรัฐบาลพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐที่จะทำให้การบริโภคภายในสูงขึ้นได้

"ระยะยาวต้องการให้ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ขยายตลาดการส่งออกให้กว้างขึ้น รวมทั้งต้องการให้ช่วยผลักดันการค้าชายแดน ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การส่งออกผ่านด่านศุลกากรต่างๆ สะดวกขึ้นและยกระดับด่านชั่วคราวให้เป็นด่านถาวรเพื่อเพิ่มความสะดวก"

หนุนธปท.ออกมาตรการคุมเงินทุน

นายสุกิจ คงปิยาจารย์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ส.อ.ท. กล่าวว่า ผู้ส่งออกเครื่องนุ่งห่มต้องการเสนอต่อกระทรวงพาณิชย์ ว่า ควรให้ ธปท.มีมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้า เหมือนที่เคยทำสมัยนางธาริษา วัฒนเกส เป็นผู้ว่าการ ธปท. ซึ่งกระทบต่อเงินทุนไหลเข้าระยะหนึ่ง แต่หลังจากนั้นก็มีเงินเข้ามาเป็นปกติ แต่ช่วยควบคุมไม่ให้เข้ามาเก็งกำไรได้

ภาครัฐ ควรมองว่าประเทศต้องการเงินทุนเข้ามาลงทุนภาคเรียลเซคเตอร์จริง มากกว่าการลงทุนเพื่อเก็งกำไรหรือลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันไม่ควรปล่อยให้เงินทุนไหลเข้ามาอย่างอิสระ จนกดดันให้เงินบาทแข็งค่ามากกว่าภูมิภาค

นายบุญหาญ อู่อุดมยิ่ง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ส.อ.ท.กล่าวว่า การนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตล้อยาง จะช่วยลดผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าได้ จึงต้องการนำเข้าให้คล่องตัวขึ้น


ผ่าทางตันบาทแข็ง 'จัตุมงคล'แนะซื้อดอลล์

ผ่าทางตันค่าเงินบาทแข็งโป๊ก อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติแนะซื้อเงินตราต่างประเทศ แทนลดดอกเบี้ย ชี้ปลดผู้ว่าธปท.ยาก!

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอแนะให้ ธปท. ใช้วิธีซื้อเงินตราต่างประเทศแทนการใช้นโยบายดอกเบี้ย เพื่อแก้ปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องแทนการใช้นโยบายดอกเบี้ย เพราะนโยบายดอกเบี้ยขณะนี้ใช้เพื่อสกัดอัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูงขึ้น ดังนั้น จึงเห็นว่านโยบายซื้อเงินตราต่างประเทศเป็นแนวทางที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม เป็นน่าสังเกตว่า ธปท.น่าจะไม่นำแนวทางนี้ไปใช้แก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า เพราะระดับทุนสำรองระหว่างประเทศศอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้วที่ประมาณ 200,000-300,000 ล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง หาก ธปท.ลดดอกเบี้ยจะเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อมากและการจับจ่ายในประเทศ จนอาจเกิดปัญหาสินเชื่อและฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ได้

ทั้งนี้ หากดูการทำงานของ ธปท. ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าถือว่า ธปท.ทำงานได้อย่างอิสระ อีกทั้งนโยบายส่วนใหญ่มาจากคณะกรรมการบริหารโดยตรง แม้จะมีกระแสข่าวหรือคำพูดจากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ระบุว่าต้องการปลดผู้ว่าการ ธปท. เพราะไม่ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลนั้น ข้อเท็จจริงระบุว่าการปลดผู้ว่าการ ธปท.โดยใช้สาเหตุความขัดแย้งด้านการทำงาน ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากในข้อกฎหมายใหม่ระบุว่าผู้ว่าการ ธปท.ที่มาจากการเลือกตั้งจะถูกปลดได้ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ ธปท. และต้องเกิดจากบริหารงานที่ผิดพลาดเท่านั้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กนง. ถกฉุกเฉิน ดูแลบาท อุ้มส่งออก

view