สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มองต่างมุม ธปท.คุมเงินบาท คำถามคาใจ...ทำยังไม่เต็มศักยภาพ

มองต่างมุม ธปท.คุมเงินบาท คำถามคาใจ...ทำยังไม่เต็มศักยภาพ

จากประชาชาติธุรกิจ

เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นรวดเร็วตั้งแต่ต้นปีมาถึงเวลานี้ จากต้นปีที่อยู่ระดับ 30.62 บาท/ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 28.57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ (ณ วันที่ 22 เม.ย.)



นับเป็นการแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาค โดยแข็งค่าถึงกว่า 2 บาท หรือ 6.69% แซงหน้าค่าเงินสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาคมายืนอยู่หัวแถว รับลมร้อนตั้งแต่ มี.ค. ถึง เม.ย.

ปล่อยบาทแข็งแซงภูมิภาค

กระทั่ง "ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กล่าวเพียงว่า "เงินบาทแข็งค่าขึ้นรวดเร็ว" เมื่อคราวค่าเงินบาทหลุดจาก 29.50 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นแนวต้านที่สำคัญ ล่วงเลยมาไม่กี่สัปดาห์ เงินบาทรูดลงมาอยู่ที่ 28.69 บาท/ดอลลาร์ เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ผู้ว่าการแบงก์ชาติจึงต้องยอมรับอีกครั้งว่า "เงินบาทแข็งค่าขึ้นรวดเร็วและเกินปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยแล้ว"

ตลอดเวลาเกือบ 4 เดือนที่ผ่านมา ท่าที ธปท.ที่อธิบายซ้ำ ๆ เพียงแค่มีมาตรการดูแลในมือ และย้ำกับผู้ประกอบการส่งออก เพียงว่า "จะดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทให้อยู่ในทิศทางที่ใกล้เคียงกับสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค" เท่านั้น แต่ถึงวันนี้ เงินบาทแข็งค่า 6.69% ขณะที่ริงกิต มาเลเซีย รูเปียห์ อินโดนีเซีย กลับแข็งค่าไม่ถึง 1% หรือแม้แต่เปโซ ฟิลิปปินส์ กับวอน เกาหลีใต้ ก็อ่อนค่าลงอย่างมาก

สถานการณ์วันนี้จึงเป็นคำถามถึง ธปท.ว่า ธปท. นิ่งเกินไปหรือไม่ เงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็วนี้ สะท้อนว่า ธปท.ปล่อยให้เงินบาทหลุดร่วงแข็งค่าไปตามกลไกตลาดจนไม่ได้เข้าไปดูแลอย่างที่เคยได้พูดให้ผู้ประกอบการส่งออกสบายใจหรือไม่

ติงธปท.ยังทำไม่เต็มศักยภาพ

แม้แต่ "ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์" นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ อดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังเห็นว่า 4 เดือน การทำหน้าที่ของ ธปท.ถือว่ายังไม่เต็มศักยภาพเท่าที่ควร เช่น การดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ากว่าคู่ค้าหรือสกุลเงินอื่น ๆ มากนัก ทั้งที่ ธปท.มีระดับที่กำหนดค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าหรืออ่อนค่าจนเกินกว่าภูมิภาคอยู่แล้ว แต่ ธปท.ด้วยข้อจำกัดที่จะเข้าไปแทรกแซงในตลาดเงินได้น้อย เพราะกังวลว่าถ้าเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาท จะทำให้ ธปท.ขาดทุนทางบัญชีเพิ่มขึ้น และทำอะไรไม่ได้มากเท่าที่ควร

ส่วนข้อสังเกตจาก "ผศ.ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ" รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า บทบาทของ ธปท.คือมุ่งรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน และที่ผ่านมา เชื่อว่า ธปท.คงมีการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนอยู่บ้าง แต่ถ้าดูที่ตัวเลขเงินสำรองระหว่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา ก็ได้สะท้อนว่า การแทรกแซงของธนาคารกลางเหมือนจะน้อยลง และให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น

ในประเด็นนี้ เมื่อพิจารณจากรายงานฐานเงินและเงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่ง ธปท.ออกรายงานทุกปลายสัปดาห์ พบว่าจากสิ้นปีที่ผ่านมา (28 ธ.ค. 2556)

เงินสำรองระหว่างประเทศมีมูลค่า 181.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5.56 ล้านล้านบาท ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 12 เม.ย. 2556 มีเงินสำรองระหว่างประเทศลดลงมาอยู่ที่ 177.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5.15 ล้านล้านบาท หรือลดลงจากสิ้นปีก่อน 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สอดคล้องกับ "กอบศักดิ์ ภูตระกูล" ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งระบุว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในเวลานี้เป็นเรื่องน่าเป็นห่วง เพราะอัตราแลกเปลี่ยนมีผลกับความสามารถในการแข่งขันทางการค้าสินค้าและบริการไทยในเวทีการค้าระหว่างประเทศ และมีผลต่อภาคเศรษฐกิจจริง

"ถึงวันนี้ต้องถามว่า สิ่งที่แบงก์ชาติบอกว่าดูแลอัตราแลกเปลี่ยนอยู่นั้น ดูแลอย่างไร เพราะถ้าดูแล ทำไมเงินสำรองระหว่างประเทศและฟอร์เวิร์ด (ฐานะซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ) จึงไม่เปลี่ยนแปลงเลย และถ้าดูแล ส่วนนี้ก็น่าจะขึ้น ไม่ได้ลดลงอย่างวันนี้" กอบศักดิ์กล่าว

มองผ่านมุมคนการเงินต่างชาติ

แม้ว่าในมุมของนักการธนาคารอย่าง "เจนิส แวน เอ็กเคอเรน" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เชื่อว่า ที่ผ่านมาถือว่า ธปท.ดำเนินการมาได้ถูกทาง ขณะที่ธนาคารโฟกัสว่าค่าเงินอาจจะมีผล กระทบต่อลูกค้าธุรกิจเป็นหลัก ทั้งธุรกิจเอสเอ็มอีและธุรกิจรายใหญ่ที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากค่าเงินบาท ซึ่งก็ต้องให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยง

ด้าน นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) มีมุมมองว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่า สะท้อนพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่เทียบกับสหรัฐที่อ่อนแอกว่า สถานภาพการคลังของสหรัฐเกือบเหมือนล้มละลาย ภาคเอกชนก็อ่อนแอ การว่างงานที่สูง ขณะที่ไทยมีวินัยการเงินการคลังที่ดีกว่าภาคส่งออก กำลังซื้อก็ยังดีกว่า และยังเห็นการเติบโตของธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่ ดังนั้น เมื่อพื้นฐานเศรษฐกิจไทยแข็ง ค่าเงินบาทแข็ง และยังจะแข็งต่อไปด้วย

"ถามว่าแบงก์ชาติควรลดดอกเบี้ยหรือไม่ ไม่ควร เพราะในมุมมองของต่างชาติ เวลามองค่าเงินหรือความเสี่ยงในการ

นำเงินเข้าประเทศ ถ้าความเสี่ยงเปลี่ยนเร็วมาก พวกนี้จะนำเงินออกนอกประเทศเร็ว ยกตัวอย่างอินโดนีเซีย ที่ค่าเงินเคยแข็งมากและแข็งกว่าใครเพื่อนเมื่อ 4-5 ปีก่อน แต่พอเริ่มขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ค่าเงินอ่อนฮวบ และเงินเฟ้อก็มา ตอนนั้นเขาตัดดอกเบี้ย มุมมองความเสี่ยงเปลี่ยนได้เร็วมาก เพราะฉะนั้น เรื่องวินัยการเงินของแบงก์ชาตินั้น ต่างประเทศชอบมากและชมผู้ว่าการประสารที่มีวินัยการคลัง และอยากให้อยู่ต่อนาน ๆ ต่างชาติมองว่าแบงก์ชาติมีความเป็นอิสระในการทำงาน"

เสียงสะท้อนจากคนนอกวังบางขุนพรหม เป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่เป็นเสมือนกระจกส่องการทำงานของ ธปท.ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ในเวลาที่ค่าเงินบาทแข็งค่ารวดเร็วแซงหน้าเพื่อนบ้านมากจนน่าห่วงขนาดนี้


รมว.คลัง ยืนยันต้องลดดอกเบี้ย แก้เงินบาท

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ปฏิเสธว่าไม่ทราบกระแสข่าวที่ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) อาจจะออกมาตรการในการดูแลเงินบาทที่แข็งค่าด้วยการเก็บค่าธรรมเนียมการถือ ครองตราสารหนี้ระยะสั้น โดยนายกิตติรัตน์ กล่าวเพียงว่า ข่าวลือก็เป็นแค่ข่าวลือ โดยยังยืนยันว่าแนวทางที่จะช่วยชะลอไม่ให้เงินบาทแข็งค่าได้นั้นคือการปรับ ลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเงินบาทที่แข็งค่าอยู่นี้ยังไม่สอดคล้องกับภาวะดุลการค้าและดลุบัญชี เดินสะพัดของประเทศอย่างไรก็ดี เงินบาทที่แข็งค่าก็มีข้อดีต่อผู้ประกอบการที่ต้องการนำเข้าเครื่องจักรมา ผลิตสินค้า รวมทั้งการนำเข้าพลังงานที่ทำให้ได้ราคาถูกลง

ด้านนาย วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)กล่าวว่า การออกมาตรการสกัดกั้นการแข็งค่าของเงินบาทควรจะพิจารณาอย่างรอบคอบว่าต้อง ไม่เกิดผลกระทบรุนแรงต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย เพราะหากเป็นมาตรการสกัดกั้นมากเกินไปก็จะทำให้เงินทุนไหลออก และกลายเป็นภาพจดจำของนักลงทุน เพราะไม่มีประเทศไหนใช้มาตรการกีดกันเงินทุนไหลเข้า การที่เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในประเทศค่อนข้างมากในขณะนี้ เป็นผลจากสองประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบทำให้สภาพคล่องมี มาก และมีการหาพื้นที่ลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของนักลงทุน เนื่องจากมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดี และมีความเชื่อมั่น ประกอบกับ นักลงทุนต่างชาติมองว่าการลงทุนในประเทศไทยมีความเสี่ยงน้อยและได้ผลตอบแทน ที่ดี


“เสื้อแดง” บุก “ธปท.” จี้ปลด “ประสาร” พ้นเก้าอี้ผู้ว่าฯ ชี้ทำงานบกพร่อง-ตั้งธงรับใช้การเมือง

จาก โพสต์ทูเดย์

“เสื้อแดง” ตบเท้าหนุน “กิตติรัตน์” ยกพวกบุก “ธปท.” ยื่นหนังสือกดดัน “ประสาร” ออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ ชี้บกพร่องในการทำหน้าที่ดูแลค่าเงิน แถมยังไม่ยอมลด ดบ. แก้ปัญหาบาทแข็ง พร้อมแนะให้เห็นประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ อย่าทำงานแบบมีธง หรือทำหน้าที่รับใช้ฝ่ายการเมือง

       
       นายหนึ่งดิน วิมุตตินันท์ เลขานุการ สหกรณ์เกษตรอินทรีสุพรรณบุรี และในฐานะทนายความชมรมผู้รักความเป็นธรรม ผู้สนับสนุนกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มเสื้อแดง พร้อมคณะรวม 3 คน เดินทางมายื่นหนังสือถึง นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (บอร์ด ธปท.) เพื่อเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่ง โดยอ้างว่าบกพร่องในการทำหน้าที่ดูแลค่าเงินบาท เนื่องจากปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าจาก 30 บาท ขึ้นไปถึง 28 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จนทำให้ภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นเศรษฐกิจหลักกำลังจะล้มละลายโดยไม่ดูแล ทั้งที่มีอำนาจในมือ
       
       “การทำหน้าที่ของผู้ว่าการ ธปท. ควรเห็นประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ ต้องทำอะไรให้ประชาชนอุ่นใจ อย่าทำงานแบบมีธง หรือทำหน้าที่รับใช้ฝ่ายการเมือง ผมเห็นว่าถ้าท่านทำหน้าที่ไม่ได้ ไม่ทำหน้าที่ในการลดดอกเบี้ยลงเพื่อดูแลค่าเงินบาทตามข้อเสนอของ รมว.คลัง ถ้าลดดอกเบี้ยสักอาทิตย์ หรือ 2 อาทิตย์ค่อยปรับขึ้นก็ได้ ไม่ใช่ไม่ทำอะไรเลย หรือทำมาตรการออกมา 4 ข้อ เพื่อดูแลก็ไม่เป็นผล ท่านก็ควรลาออกไปเปิดทางให้คนอื่นที่มีความสามารถมาทำหน้าที่แทน ผมว่าเงินบาทแข็งค่ามันกระทบภาคอุตสาหกรรม ทำให้ขาดทุน และอาจจะทำให้เกิดการตกงานเป็นแสนๆ คน ประชาชนเดือดร้อน ไม่มีกำลังจับจ่ายใช้สอย และทำให้ชาวนาขายข้าวไม่ได้ และทำให้ราคาปุ๋ยแพง” นายหนึ่งดินระบุเหตุผลที่เดินทางมายื่นหนังสือขับไล่ผู้ว่าการ ธปท.
       
       อย่างไรก็ตาม รายงานเพิ่มเติมระบุว่า นายประสาร และนายวีรพงษ์ ไม่ได้เดินทาง หรือแม้แต่ส่งตัวแทนมารับหนังสือเรียกร้องของนายหนึ่งดิน ทำให้นายหนึ่งดินได้ฝากหนังสือแถลงการเรียกร้องไว้กับเจ้าหน้าที่รับส่ง เอกสาร ธปท.เพื่อนำส่งให้ต่อไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มองต่างมุม ธปท. คุมเงินบาท คำถามคาใจ ยังไม่เต็มศักยภาพ

view