สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประสิทธิภาพกับความเป็นธรรมของตลาด (อีกที) : กรณี High-Frequency Trading (จบ)

ประสิทธิภาพกับความเป็นธรรมของตลาด (อีกที) : กรณี High-Frequency Trading (จบ)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ตอนที่แล้วพูดถึงการซื้อขายหลักทรัพย์ความถี่สูงผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า High-Frequency Trading (HFT)

ว่าเป็นประโยชน์ต่อตลาดหลักทรัพย์และนักลงทุนในแง่ที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาด และทำให้ส่วนต่างราคาเสนอซื้อและเสนอขาย (bid-offer spread) แคบลง แปลว่าต้นทุนธุรกรรมลดลงสำหรับนักลงทุนทุกคนด้วยเหตุนี้ตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ จึงแข่งกันปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์เพื่อดึงดูดนักลงทุน HFT อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เรื่องของ HFT ก็ไม่ต่างจากเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับตลาด นั่นคือ “ประสิทธิภาพ” ในแง่ปริมาณการซื้อขายและสภาพคล่องที่สูงขึ้นนั้นอาจต้องแลกมาด้วย “ความเป็นธรรม” ในแง่ความเท่าเทียมระหว่างนักลงทุนที่ใช้ HFT กับนักลงทุนที่ไม่ใช้ HFT มิหนำซ้ำในระยะยาวตลาดอาจสูญเสีย “ประสิทธิภาพ” มากกว่าได้ ในแง่ที่ราคาหุ้นอาจมีความผันผวนมากขึ้นและสื่อสารข้อมูลสำคัญน้อยลง

กำไรจากธุรกรรม HFT ถึงที่สุดแล้วมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้ซื้อขายใน “เวลาจริง” (real time) เป๊ะๆ อย่างที่เราคิด เพราะการ “คุยกัน” ระหว่างระบบคอมพิวเตอร์ต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อยก็หลักไมโครวินาที พูดอีกอย่างคือ real time นั้นไม่ real จริง

ช่องว่างเพียงเสี้ยววินาทีที่ HFT ฉวยโอกาสยิงคำสั่งซื้อขายได้เป็นพันๆ ครั้ง แต่นักลงทุนที่ไม่ใช้ HFT ทำไม่ได้ คือที่มาของ “ความไม่เป็นธรรม” ในสายตานักลงทุนจำนวนมาก โดยเฉพาะในเมื่อตลาดหลักทรัพย์บางแห่งเปิดให้นักลงทุน HFT ซื้อขายแบบสายฟ้าแลบก่อนนักลงทุนคนอื่น เรียกว่า “Flash Trade” โดยปกติจะให้ซื้อขายก่อนคนอื่น 30 มิลลิวินาที แลกกับค่าธรรมเนียมซึ่ง 30 มิลลิวินาทีก็นานพอแล้วที่จะทำกำไรความเร็วสูง

ผู้สังเกตการณ์หลายคนมองว่าในทางปฏิบัติ การอนุญาตให้นักลงทุนบางกลุ่มทำ Flash Trade เท่ากับแบ่งแยกตลาดหลักทรัพย์ออกเป็น “สองตลาด” เนื่องจากนักลงทุนทั่วไปไม่มีทางมองเห็นการส่งคำสั่งได้ด้วยตาเปล่า - ในชั่วขณะที่กะพริบตาหนึ่งครั้งระบบคอมพิวเตอร์ HFT สามารถส่งคำสั่งซื้อขายได้มากกว่า 1,750 ครั้งหนึ่งนาทีส่งคำสั่งได้เป็นล้านครั้ง

ด้วยเหตุนี้ การอนุญาตให้นักลงทุนบางกลุ่มซื้อขายสายฟ้าแลบได้จึงน่าจะชัดเจนว่าไม่เป็นธรรมต่อนักลงทุนที่เสียเปรียบด้านเทคโนโลยี นอกจากจะไม่เป็นธรรมแล้วยังเอื้ออำนวยให้โบรกเกอร์ที่มีระบบ HFT สามารถส่งคำสั่งซื้อขายของตัวเองตัดหน้าลูกค้า (front-run) ซึ่งผิดกฎหมายได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ บริษัทจดทะเบียนก็อาจเป็นกังวลว่าธุรกรรม HFT ส่งผลให้ราคาหุ้นของตัวเองผันผวนปรวนแปรผิดปกติ ทั้งที่ปัจจัยพื้นฐานไม่ได้เปลี่ยนแปลงเร็วขนาดนั้น ส่วนนักลงทุนรายย่อยก็อาจเกิดความกังวลระคนหดหู่ว่า จะเอาอะไรไป “สู้” นักลงทุนสถาบันที่ใช้ระบบ HFT ราคาแพงได้

ความกังวลเรื่อง HFT กับการเปิดให้ทำ Flash Trade ปะทุเป็นประเด็นถกเถียงขนานใหญ่ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาประเทศที่การซื้อขายแบบ HFT พุ่งสูงกว่าสามในสี่ของปริมาณการซื้อขายทั้งตลาด ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2010 เพียงวันเดียว การระดมเทรดของนักลงทุน HFT ส่งผลให้ราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กตกฮวบ ดัชนีดาวโจนส์สูญมูลค่ากว่าร้อยละ 10 ของมูลค่าตลาดทั้งหมด เพียงห้านาทีดัชนีก็ลดลงเกือบ 600 จุด

ก่อนจบวันตลาดก็เด้งกลับเกือบเท่ากับที่มันตก แต่เหตุการณ์นี้ก็เป็นเชื้อไฟให้ผู้ที่คัดค้าน HFT ออกมาเรียกร้องให้ ก.ล.ต. สั่งแบนการทำธุรกรรมประเภทนี้ โดยอ้างว่า HFT ละเมิด “การคุ้มครองสิทธิของนักลงทุนทุกกลุ่มในการเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน” อันเป็นพันธกิจข้อสำคัญของ ก.ล.ต.

ปัจจุบันการถกเถียงเรื่องว่า HFT ให้คุณหรือให้โทษมากกว่ากันยังคงดำเนินต่อไปอย่างดุเดือด ขณะที่ ก.ล.ต. สหรัฐยังไม่ออกกฎระเบียบมากำกับดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง ตลาดหลักทรัพย์หลายตลาดก็ยอมโอนอ่อนตามคำประท้วงของนักลงทุนที่ไม่ใช้ HFT แล้ว เช่น ตลาดแนสแดกปัจจุบันห้ามไม่ให้ใครซื้อขายแบบ Flash Trade (แต่ตลาดอิเล็กทรอนิกส์หลายตลาด อย่างเช่น Direct Edge ในอเมริกา ยังทำได้อยู่)

ก.ล.ต. บางประเทศ อาทิเช่น ออสเตรเลีย ฮ่องกง และญี่ปุ่น ได้เริ่มออกกฎมาควบคุมการเทรดด้วยโปรแกรมอย่างเฉพาะเจาะจงเมื่อกลางปี 2012 ก.ล.ต. ของยุโรปคือ European Securities and Markets Authority (ESMA) ก็ออกกฎมาควบคุมการเทรดโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์กำหนดและส่งคำสั่ง (Algorithmic Trading) ทั้งหมด รวมถึง HFT ด้วย โดยบัญญัติว่า นักลงทุนทุกรายที่เทรดแบบนี้จะต้องมีความสามารถที่จะจำกัดการเข้าถึง ยกเลิก หรือแก้ไขธุรกรรมต่างๆ อย่างทันท่วงที และห้ามไม่ให้ส่งคำสั่งซื้อขายถี่จน “ท่วมตลาด” ณ ขณะใดขณะหนึ่ง

กฎใหม่ของ ก.ล.ต. ยุโรปกำหนดด้วยว่า นักลงทุนที่ซื้อขายด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะต้องมีกลไกที่ใช้การได้ ในการป้องกันไม่ให้ส่งคำสั่งที่มองว่าเป็นการ “บิดเบือนตลาด” อย่าง “ไม่เป็นธรรม” ดังต่อไปนี้

- Ping Order หมายถึงคำสั่งซื้อขายขนาดเล็กจิ๋วที่ไม่ได้ตั้งใจจะซื้อขายจริงๆ แต่ยิงคำสั่งเพื่อค้นหาคำสั่งซื้อขายของคนอื่น

- Quote Stuffing หมายถึงการยิงคำสั่งคราวละมากๆ แล้วสั่งยกเลิกอย่างรวดเร็วเพื่ออำพรางกลยุทธ์การซื้อขายที่แท้จริงของตัวเอง

- Momentum Ignition หมายถึงการยิงคำสั่งซื้อขายรัวๆ ตามคำสั่งซื้อขายของคนอื่นเพื่อริเริ่มหรือซ้ำเติมกระแส (ก.ล.ต. สหรัฐพบว่า กรณีนี้คือสาเหตุหลักของกรณีที่หุ้นดาวโจนส์ตกฮวบเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2010)

- Layering and Spoofing หมายถึงการส่งคำสั่งหลายชุดทั้งฝั่งซื้อและฝั่งขายเพื่อทำกำไรจากส่วนต่างเสี้ยววินาที

นอกจาก HFT กับ Flash Trade จะสุ่มเสี่ยงว่าอาจสร้างความไม่เป็นธรรมในตลาดแล้ว ผู้สังเกตการณ์บางคนยังมองว่ามันจะส่งผลให้ระดับ “ข้อมูล” ในตลาดแย่ลงในระยะยาว โจเซฟ สติกลิทซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล อธิบายประเด็นนี้ในหนังสือเรื่อง The Price of Inequality (ราคาของความเหลื่อมล้ำ) ว่า -

“มีหลายเหตุผลให้เชื่อว่า Flash Trade ไม่ได้ทำให้ตลาดผันผวนกว่าเดิมอย่างเดียว แต่ยังทำให้ “มีข้อมูล” น้อยลงด้วย คอมพิวเตอร์พยายามใช้โปรแกรมที่ซับซ้อนทางคณิตศาสตร์ ดึงข้อมูลอะไรก็ตามที่อยู่ในตลาดออกมาใช้ เทรดตัดหน้าตลาด (front-run) อย่างซับซ้อนกว่าเก่า ...แน่นอนว่าผู้เล่นในตลาดคนอื่นก็รู้เรื่องนี้ดี ถ้าหากนักวิเคราะห์ตลาดบางคนค้นพบว่าบางบริษัทกำลังจะไปได้สวย เขาอาจวิ่งไปซื้อหุ้นล็อตใหญ่ แต่เทรดเดอร์ที่ใช้โปรแกรมเทรดจะรับรู้ทันทีและพยายามใช้ข้อมูลนั้น [ทำกำไรก่อน]

...แน่นอนว่าวันนี้เทรดเดอร์คนแรกรู้แล้วว่าคนอื่นจะรู้ไต๋ เลยไม่มีวันสั่งซื้อหุ้นล็อตใหญ่ๆ แต่จะซื้อหุ้นหลายล็อต ล็อตละไม่กี่หุ้น เกิดการวิ่งแข่งในแง่คนที่ทำงานวิเคราะห์อย่างหนักพยายามเก็บข้อมูลที่ได้มาให้อยู่ห่างไกลจากเงื้อมมือของนักเทรดด้วยโปรแกรม ส่วนนักเทรดด้วยโปรแกรมก็พยายามจับไต๋ให้ได้ เราอาจมองว่าทั้งสองฝ่ายสิ้นเปลืองทรัพยากร เพราะเพียงแต่แย่งชิงส่วนเกินทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการมีข้อมูลก่อนคนอื่น แต่ที่จริงมันแย่กว่านั้นอีก ยิ่งนักเทรดด้วยโปรแกรมช่วงชิงกำไรได้มากกว่าคนที่ศึกษาวิเคราะห์จริงๆ เท่าไร ผลตอบแทนจากการลงทุนวิเคราะห์ยิ่งลดลง การลงทุนค้นข้อมูลจะน้อยลง และตลาดก็จะสื่อข้อมูลที่เราสนใจจริงๆ น้อยลง”


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ประสิทธิภาพ ความเป็นธรรม ตลาด High-Frequency Trading

view