สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คลัง-แบงก์ชาติ งัดข้อประเทศมีแต่เจ๊ง!

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ศรัณย์ กิจวศิน



ต้องชื่นชมในความพยายามของ “รัฐบาล” รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ที่พยายามอย่างแข็งขันในการหาแนวทาง

จัดการกับ “ค่าเงินบาท” ที่แข็งค่าเร็วและแรงเกินไป เพียงแต่ “ความพยายาม” อย่างเดียว “มิอาจ” ยุติปัญหาได้ หากทุกฝ่ายยังคงไม่ยอมลด “ทิฐิ” ของตัวเองลง

ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น “กระทรวงการคลัง” หรือ “แบงก์ชาติ” ทราบดีว่า สาเหตุการแข็งค่าของเงินบาท เกิดจากเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าประเทศไทย โดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้ที่เข้ามาจำนวนมาก เพียงแต่ว่าแต่ละหน่วยงานมีมุมมองความเห็นต่อ “ปัจจัย” และ “ต้นเหตุ” ของเงินที่ไหลเข้าแตกต่างกัน

กระทรวงการคลัง มองว่า การไหลเข้าของเงินทุนเหล่านี้ “ต้นเหตุหลัก” เกิดจาก “ส่วนต่าง” อัตราดอกเบี้ยของไทยที่สูงกว่าดอกเบี้ยของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.75% เทียบกับประเทศอุตสาหกรรมหลักที่ต่ำกว่า 1% แทบทุกประเทศ

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยค่อนข้างมาก เพื่อกินส่วนต่างที่ห่างกัน ที่ผ่านมาเราจึงเห็น กระทรวงการคลัง ออกมาเรียกร้องให้ “แบงก์ชาติ” ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อดับแรงจูงใจดังกล่าว

ในขณะที่ฝาก “แบงก์ชาติ” ก็หยิบยกผลศึกษาเชิงวิชาการจากทั้งในและต่างประเทศมากางแผ่ให้เห็นในรอบด้าน โดยระบุว่า “ดอกเบี้ยนโยบาย” มีอิทธิพลดึงดูดให้เงินทุนไหลเข้า “น้อยมาก” คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เพียงแค่ 3% เท่านั้น ซึ่งตัวแปรที่แบงก์ชาติมองว่า เป็นตัวดึงดูดให้เงินทุนเหล่านี้ไหลเข้ามามากสุด คือ ความเชื่อมั่นในพื้นฐานเศรษฐกิจ

ดังนั้นในมุมของ “แบงก์ชาติ” จึงมองว่า การลดดอกเบี้ยไม่ใช่กระบวนยุทธ์ที่ถูกต้องในการรับมือกับเงินทุนไหลเข้ามากนัก ในทางตรงกันข้ามแบงก์ชาติกลับห่วงด้วยว่า หากดอกเบี้ยลดลง จะยิ่งไปเพิ่มความเสี่ยงด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจแทน เพราะเวลานี้สินเชื่อเองก็เติบโตร้อนแรง จนไปสร้างความเสี่ยงว่าจะเกิดปัญหา “ฟองสบู่” ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่ระดับหนี้ของภาคครัวเรือนก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ข้อเสนอของ “แบงก์ชาติ” ในการรับมือกับเงินทุนเคลื่อนย้าย จึงมุ่งเป้าไปที่การเพิ่มต้นทุนหรือความยุ่งยากใจในการลงทุนให้กับนักลงทุนต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บ “ค่าธรรมเนียม” หรือ “ภาษี” ในลักษณะขั้นบันได ตลอดจนกำหนดช่วงเวลาในการลงทุน เพียงแต่เครื่องมือเหล่านี้ “แบงก์ชาติ” ไม่มีอำนาจจัดการด้วยตัวเองเพียงคนเดียว เพราะกฎหมายไม่เอื้อให้ทำ จึงจำเป็นต้องขออนุญาตจากกระทรวงการคลัง

แต่เจ้ากระทรวงอย่าง “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คัดค้านแนวคิดนี้มาโดยตลอด เพราะมองว่าเป็นวิธีที่ “ผิดธรรมชาติ” และเกรงว่าจะส่ง “ผลเสีย” มากกว่า “ผลดี” เนื่องจากประเทศไทยเคยมีประสบการณ์ตรงในอดีต จากการออกมาตรการกันสำรองเงินทุนระยะสั้น 30% ที่เคยใช้เมื่อปลายปี 2549 ซึ่งขณะนั้นทำตลาดหุ้นไทยร่วงระเนระนาด ทั้งประเทศเพื่อนบ้านยังพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

ความเห็นที่ต่างกันระหว่าง “คลัง” และ “แบงก์ชาติ” จึงกลายเป็น “โอกาสฟันกำไร” ของนักลงทุนต่างชาติไปโดยปริยาย เพราะการที่ทั้ง 2 หน่วยงาน ออกมาประกาศจุดยืนของตัวเองว่า “ดอกเบี้ยไม่ลด-มาตรการไม่ให้ออก” ..เท่ากับ “ไม่มีก้าง” มาขวางการทำกำไร เงินทุนต่างชาติจึงทะลักเข้าประเทศไทยเหมือนอย่างที่เห็นในช่วงที่ผ่านมา

ดังนั้นแล้วหากจะให้ประเทศพ้นจากวิกฤติเงินบาทแข็งค่า ทั้ง 2 หน่วยงาน จึงควรต้องหันหน้าเข้าเจรจา และหาทางออกของเรื่องนี้ร่วมกัน ไม่ใช่เอา “ผู้ส่งออก” มาเป็น “ตัวประกัน” บีบให้อีกฝ่ายดำเนินนโยบายตามที่ตัวเองต้องการ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นประเทศมีแต่เจ๊ง!


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คลัง แบงก์ชาติ งัดข้อ ประเทศ มีแต่เจ๊ง

view