สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สูบบุหรี่ เสียเงินวันนี้ สูญเงินวันหน้า

สูบบุหรี่ เสียเงินวันนี้ สูญเงินวันหน้า

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




รายงาน World Tobacco Atlas 2012 ประมาณการว่า ในศตวรรษนี้ จะมีผู้คนเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ประมาณ 1 พันล้านคน

สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจโลกสูงถึง 2% ของรายได้ประชาชาติมวลรวมของโลกในแต่ละปี สำหรับประเทศกำลังพัฒนา ความเสียหายทางเศรษฐกิจจะมีค่าสูงกว่านี้อีก โดยความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้ แบ่งได้เป็นสองประเภท คือ ความเสียหายทางตรง ซึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ที่เจ็บป่วยจากโรคที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ และความเสียหายทางอ้อม ซึ่งเกิดจากการขาดงานและการลดลงของผลิตภาพในการผลิต สำหรับประเทศไทย หากใช้ตัวเลขความเสียหายข้างต้นมาเป็นฐานในการประมาณค่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการสูบบุหรี่ของไทยจะไม่น้อยกว่า 21,650.7 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว

หากมองความเสียหายในระดับบุคคล แนวคิดเกี่ยวกับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ที่มีต่อรายได้ ถูกพัฒนาขึ้นมาบนฐานของทฤษฎีทุนมนุษย์ (Human Capital) ซึ่งมองว่าสุขภาพ (Health Capital) เป็นส่วนหนึ่งของทุนมนุษย์ มีความสัมพันธ์กับผลิตภาพในการผลิตของแรงงาน ถ้ามีทุนนี้มากก็ทำงานได้ดี รายได้สูง ถ้าทุนส่วนน้อยมีน้อยรายได้ก็ลดลงตามไปด้วย รายได้ที่ลดลงนี้เกิดจากสาเหตุ 4 ประการด้วยกัน

เหตุผลประการแรก คือ การสูบบุหรี่ส่งผลต่อสุขภาพ ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ ขาดงานบ่อยขึ้น และยังเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่

เหตุผลประการที่สองเป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากเหตุผลก่อนหน้านี้ เมื่อการสูบบุหรี่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของผู้สูบเพิ่มขึ้น หากผู้สูบเป็นพนักงานของหน่วยงานที่มีการทำประกันสุขภาพ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้จะกลายเป็นต้นทุนของหน่วยงาน เนื่องจากเบี้ยประกันของผู้สูบบุหรี่มีค่าสูงกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากเบี้ยประกันที่สูงขึ้น จะถูกนำไปหักกับค่าตอบแทนที่จ่ายให้กับผู้สูบบุหรี่ ทำให้มีรายได้ที่ต่ำกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่

เหตุผลประการที่สาม เกี่ยวข้องกับการกีดกันความก้าวหน้าในที่ทำงาน การที่มีพนักงานสูบบุหรี่อยู่ในหน่วยงาน ทำให้มีต้นทุนจัดหาและดูแลสถานที่ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้สูบบุหรี่โดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้ควันบุหรี่ไปบั่นทอนสุขภาพของพนักงานคนอื่น นอกจากนี้แล้ว การสูบบุหรี่ยังส่งผลต่อบุคลิกภาพของผู้สูบ ทำให้ไม่ได้รับการยอมรับจากผู้บริหารและเพื่อนร่วมงาน จึงส่งผลต่อความก้าวหน้าในอาชีพการงาน

เหตุผลประการสุดท้ายเกี่ยวข้องกับลักษณะนิสัยส่วนตัวของผู้สูบ เนื่องจากการสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว แต่ผู้สูบก็ยังเลือกที่จะสูบต่อไป เพราะสามารถให้ความสุขในระยะสั้น สะท้อนให้เห็นว่า ตีค่าของประโยชน์ในอนาคตไว้น้อยกว่าผลประโยชน์เฉพาะหน้า

ลักษณะเฉพาะตัวข้อนี้ นอกจากจะทำให้ผู้สูบให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพน้อยลงแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับตัดสินใจลงทุนเพื่อสะสมทุนมนุษย์โดยรวมของผู้สูบอีกด้วย งานวิจัยหลายเรื่องให้ข้อสรุปตรงกันว่า เมื่อกำหนดให้ปัจจัยอื่นๆ เช่น รายได้ ระดับการศึกษาของผู้ปกครอง เป็นต้น มีค่าคงที่ ผู้ที่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ในระยะสั้นมากกว่าระยะยาว มีระดับการศึกษาที่ต่ำกว่าผู้ที่มองการณ์ไกล ผลทั้งสองประการนี้ ส่งผลให้รายได้ของผู้สูบบุหรี่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ากว่ารายได้ของผู้ที่ไม่สูบ ยิ่งระยะเวลาผ่านไปมากเท่าใด ช่วงห่างระหว่างรายได้ของพนักงานสองกลุ่มนี้ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น

จากรูป จะเห็นได้ว่ารายได้ของผู้สูบบุหรี่ในประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะต่ำกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ประมาณ 2 ถึง 10% และในประเทศอัลบาเนียซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา ค่าที่ประมาณได้สูงถึง 20% สาเหตุสำคัญเชื่อกันว่าส่งผลผลที่เกิดขึ้นกับประเทศกำลังพัฒนาประเทศพัฒนาแล้ว เพราะความเข้มข้นของสารที่อยู่ในบุหรี่ที่มีมากกว่าในประเทศกำลังพัฒนา ความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายที่น้อยกว่า และลักษณะเฉพาะในวิถีชีวิต จากข้อมูลข้างต้น ถ้าเอามาหาค่าเฉลี่ยได้ค่าประมาณ 8%

จากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรไตรมาสที่ 4 ปี 2555 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ารายได้เฉลี่ยของลูกจ้างเท่ากับ 11,336.91 บาทต่อเดือน ถ้าการสูบบุหรี่ทำให้รายได้ลดลงไป 8% แสดงว่า แต่ละเดือนจะสูญเงินไปประมาณ 910 บาท เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำจากการทำงาน 3 วัน หรือปีละประมาณ 10,900 บาท สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน การสูบบุหรี่นอกจากจะต้องเสียเงินในวันนี้เพื่อซื้อบุหรี่มาสูบแล้ว เงินวันหน้าที่ต้องสูญไปในอีก 30 ปีข้างหน้า รวมกันแล้วประมาณ 3.3 แสนบาท นี่ยังไม่นับค่าใช้จ่ายการดูแลสุขภาพที่จะเพิ่มขึ้นตามอายุ ความเสียหายทางจิตใจที่จะเกิดขึ้นกับตนเองและคนรอบข้างจากการเห็นผู้สูบต้องทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วย

บุหรี่ทุกมวนที่จุด ไม่ได้แค่เผาไหม้กระดาษ และใบยาสูบ แต่ยังผลาญเงินกระเป๋าทั้งที่มีอยู่ในวันนี้และที่จะเข้ามาในวันหน้า หากมองในแง่ของการลงทุน งานนี้มีแต่เสียกับเสีย ก่อนจะจุดบุหรี่มวนต่อไป อย่าลืมนึกถึงเงินในวันหน้าที่จะสูญไป และโอกาสที่เงินเหล่านี้จะมอบให้กับตัวเองและครอบครัวเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เดือนละ 910 บาทที่หายไป สามารถนำไปทำอะไรได้ตั้งเยอะแยะ


หมายเหตุ เนื้อหาในบทความนี้ เป็นการสรุปมาจากงานวิจัยของผู้เขียนเรื่อง “การทบทวนวรรณกรรมเรื่องการสูญเสียผลิตภาพจากการสูบบุหรี่” ผู้เขียนขอขอบคุณศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ที่ให้การสนับสนุนทุนในการวิจัยเรื่องนี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สูบบุหรี่ เสียเงิน วันนี้ สูญเงิน วันหน้า

view