สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นักเศรษฐศาสตร์เห็นต่างสกัด บาทแข็ง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารพาณิชย์ประเมินการประชุม กนง.จะลดดอกเบี้ยแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า แต่ช่วยได้แค่ระยะสั้น

น.ส.อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า แถลงการณ์ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมนัดพิเศษเมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา สามารถตีความหมายได้ในหลายประเด็น แต่นักลงทุนส่วนใหญ่เลือกที่จะเชื่อว่า กนง. อาจใช้วิธีปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อดูแลภาวะเงินทุนไหลเข้า สะท้อนได้จากแรงซื้อที่เข้ามาในพันธบัตรระยะสั้นอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่ผลตอบแทน (ยีล) ปรับลดลงค่อนข้างมาก

"แถลงการณ์ของ กนง.ที่ออกมา ดูเหมือนว่ามีหลายทางเลือก ซึ่ง กนง.อาจจะเลือกใช้มาตรการควบคุมในตลาดบอนด์ก็ได้ หรืออาจจะใช้วิธีลดดอกเบี้ยก็ได้เช่นกัน เพียงแต่ถ้าลดดอกเบี้ยก็คงจะมีมาตรการอื่นเสริมขึ้นมาด้วย เช่น มาตรการด้านกำกับดูแลผ่านสถาบันการเงิน (Macro Prudential) เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่ไปสร้างแรงกดดันด้านฟองสบู่ได้ ซึ่งแม้จะมีหลายทางเลือกที่ กนง. สามารถนำมาใช้ได้ แต่ดูเหมือนเวลานี้ตลาดเลือกที่จะเชื่อว่า กนง.จะลดดอกเบี้ย สะท้อนจากผลตอบแทนในตลาดบอนด์ที่ลดลงค่อนข้างมากในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา"น.ส.อุสรากล่าว

ดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.ในปัจจุบัน แม้จะมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อดูแลเสถียรภาพด้านเงินเฟ้อ แต่สถานการณ์ในปัจจุบันถือว่าไม่ปกติ ดังนั้น การใช้ดอกเบี้ยเพื่อดูแลอัตราแลกเปลี่ยนจึงน่าจะนำมาใช้พิจารณาเป็นการพิเศษ ซึ่งอาจใช้ดูแลเพียงแค่ช่วงสั้นๆ ก็ได้ เพราะขณะนี้ เงินเฟ้อเองไม่ได้สร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ น.ส.อุสรา กล่าวด้วยว่า ตลาดเงินในเวลานี้กำลังจับตาท่าทีจากทั้ง ธปท. และกระทรวงการคลังเป็นพิเศษ ซึ่งระหว่างนี้ไปจนถึงวันประชุม กนง.นัดปกติที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 พ.ค.56 หาก ธปท. ยังไม่มีการประกาศใช้มาตรการใดออกมา ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ กนง.ในวันนั้นจะตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลง และตอนนี้ดูเหมือนว่าตลาดเงินคาดการณ์กันว่าจะลดมากกว่า 0.25% สะท้อนจากยีลในตลาดบอนด์ที่ลดลงค่อนข้างมาก

"ถ้าดูยีลบอนด์ตัวสั้น 1-2 ปี ตอนนี้ price in ไปประมาณ 0.2% แต่ถ้าเป็นตัว Interest Rate Swap ตอนนี้ Price in ไปแล้วประมาณ 0.5% และกลุ่มที่เข้ามาซื้อหลักๆ นำโดยนักลงทุนในประเทศ ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศเองก็ตามเข้ามาเช่นกัน"น.ส.อุสรากล่าว

นางสาวสุทธาภา อมรวิวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) กล่าวว่าค่าเงินบาทแข็งค่าตั้งแต่ต้นปี มากที่สุดในค่าเงินภูมิภาค เป็นผลจากภาวะเงินทุนไหลเข้าจากการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินในปริมาณมากของธนาคารกลางของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ทำให้ในไตรมาสแรกมีเงินไหลเข้าในตลาดพันธบัตรเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวจาก 1.39 แสนล้านบาทเป็น 2.8 แสนล้านบาท

แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) การลดบทบาทในการแทรกแซงค่าเงินลง เห็นได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับทรงตัวตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยศูนย์วิจัยคาดว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าไปอยู่ที่ระดับ 28.50 - 29.00 บาท/ดอลลาร์ในช่วงสิ้นปีนี้

"ทางเลือกของ ธปท.ในการดูแลค่าเงินบาทมีหลายช่องทาง และที่สามารถทำได้ง่ายที่สุดคือการดำเนินนโยบายในการสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชน หรือการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ส่งสัญญาณให้ตลาดจะเป็นการแทรกแซงที่ไม่มีต้นทุน เพราะการลดอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่เครื่องมือในการลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้"

การลดดอกเบี้ยแม้จะเป็นมาตรการแก้ที่ต้นเหตุ คือ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง แต่ไม่ว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยมากเพียงใดก็ยังอยู่ในระดับสูงอยู่ดี และยังส่งผลต่อความเสี่ยงให้เกิดการเร่งตัวของสินเชื่อและอัตราเงินเฟ้อตามมาด้วย โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับ 2.75% ถือเป็นระดับที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจในปัจจุบันแล้ว ซึ่งจะเห็นได้จากการขยายตัวของสินเชื่อที่ยังอยู่ในระดับที่ดี จึงเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับดังกล่าวไปจนถึงสิ้นปีนี้
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ โดยการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ส่งผลถึงอัตราเงินเฟ้อน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ศูนย์วิจัยจึงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.8% และเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.6% จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.0% และ 2.1% ตามลำดับ

"มาตรการในการดูแลค่าเงินมีตั้งแต่ขั้นเบาไปหาหนัก เช่นการกำหนดเวลาการถือครองพันธบัตรระยะสั้น ด้วยการคิดค่าธรรมเนียมซึ่งอินโดนีเซียเคยทำมาแล้วในปี 2553 หรือระดับปานกลางเช่นการเก็บภาษีเงินลงทุนที่ประเทศบราซิลเคยนำมาใช้ ไปถึงขั้นรุนแรงคือการเก็บภาษีเงินทุนไหลเข้า แต่การออกมาตรการคุมเงินทุนจะมีผลกับความตื่นตระหนกของนักลงทุน แม้จะเลือกทำแค่ในสินทรัพย์ประเภทหนึ่งก็ตาม นักลงทุนก็จะโยกไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นแทนในที่สุด ดังนั้นมาตรการที่ทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพที่สุดคือการสื่อสาร ที่เป็นการส่งสัญญาณกับตลาดว่าจะทำ ก็ได้ผลโดยไม่ต้องออกมาตรการมาจริง และที่ทางการทำก็เห็นผลมาแล้ว"

อย่างไรก็ตามการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งสวนทางกับสกุลเงินในอาเซียนน่าจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น และในระยะต่อไปทาง ธปท.น่าที่จะมีการดูแลค่าเงินบาทให้กลับมาเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินสกุลอื่นของอาเซียน เนื่องด้วยปัจจัยพื้นฐานที่คล้ายคลึงกัน ขณะเดียวกันหากพิจารณาความสามารถทางการแข่งขันโดยดูจากดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) แล้วพบว่าความสามารถทางการแข่งขันของไทยยังอยู่ในระดับปานกลาง

นอกจากนี้การแข็งค่าของเงินบาทจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกแตกต่างกันไปในแต่ละภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเมื่อพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ อันได้แก่สัดส่วนการพึ่งพาการส่งออก อัตรากำไรสุทธิ ความอ่อนไหวของปริมาณการส่งออกต่อระดับราคา และผลประโยชน์จากต้นทุนน้ำเข้าที่ลดลงแล้ว

สำนักวิจัยฯประเมินว่าภาคอุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดได้แก่ ยางพารา อาหารทะเลแปรรูป ผักและผลไม้แปรรูป เครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ และข้าว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : นักเศรษฐศาสตร์ เห็นต่าง สกัด บาทแข็ง

view