สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปมขัดแย้ง ประสาร-กิตติรัตน์ เกมเดิมพัน เศรษฐกิจประเทศ

จากประชาชาติธุรกิจ

ปัญหา ความขัดแย้งทางความคิดในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในเรื่องการจัดการกับปัญหา "บาทแข็ง" ที่เรื้อรังมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังพยายามกดดันผ่านธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อให้มี การลดดอกเบี้ยนโยบาย จนกระทั่งมารุนแรงอีกครั้งในช่วงที่ผ่านมาที่เงินบาทของไทยแข็งค่าอย่างรวด เร็วและแรงแซงหน้าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค กลายเป็นเกมการเมืองที่เข้ามาเขย่าเก้าอี้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ของ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าในฝั่ง ธปท.ได้พยายามอธิบายผ่านผลศึกษาตัวแปรเปรียบเทียบผลต่อการไหลเข้าของเงินทุน ต่างชาติในหลักทรัพย์ไทย โดยชี้ว่า การไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน ทั้งภาวะเศรษฐกิจที่สะท้อนมุมมองของนักลงทุน ที่มีผลถึง 18% ขณะที่การเปลี่ยนแปลงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะมีผลต่อเงินทุนไหลเข้าเพียง 3% จนนำไปสู่

ข้อสรุปว่า "การใช้นโยบายลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดการไหลเข้าของเงินลงทุนในหลักทรัพย์จาก ต่างประเทศ จะมีผลน้อยและมีผลเพียงระยะสั้นเท่านั้น"

แน่นอนว่าความ ยืดเยื้อในการแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า ส่งแรงกดดันไปถึงการให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบ 29 พ.ค.ที่กำลังจะมาถึงนี้

ขณะที่เสียงเรียกร้องจากทุก ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ นักวิชาการ ให้ ธปท.และกระทรวงการคลังร่วมมือกันเพื่ออกมาตรการดูแลค่าเงินก็เสียงดังขึ้น หลังจากที่ช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วแซงหน้าประเทศเพื่อนบ้าน

แม้ว่า เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" จะมีการเรียกทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, ผู้ว่าการ ธปท. และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อหารือถึงการรับมือกับสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่สามารถมีมติอะไรออกมาร่วมกันได้ แต่ก็มีท่าทีว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำงานร่วมกันและประสานการแก้ปัญหา มากขึ้น

โดยที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีคลังก็ออกมาระบุว่า พร้อมให้ความร่วมมือ ธปท.ในการที่จะมีมาตรการอะไรออกมา และล่าสุดก่อนเดินทางไปประชุมธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ที่อินเดีย เมื่อ 2 พ.ค. "รองนายกฯกิตติรัตน์" ก็ระบุว่า ธปท.ได้เสนอมาตรการดูแลมาให้พิจารณาแล้ว แต่ไม่มีแนวทางลดดอกเบี้ย และไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะมีการประทับตรา "ลับ"

"เขาทำหนังสือมา ว่า เมื่อวันที่ 30 เม.ย.มีแนวทางบอกว่า ถ้าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เขาอาจจะพิจารณาดำเนินการอะไร แต่การจะดำเนินการอะไรนั้น เขาบอกว่าจะหารือกับกระทรวงการคลัง ก็บอกมาอย่างนั้น ถึงเวลาจะหารือหรือเปล่าไม่รู้"

พร้อมกับยืนยันว่า การประชุม ครม.วัน ที่ 30 เม.ย.นั้น ไม่ใช่การประชุม "ลับ" เพื่อปลดผู้ว่าการ ธปท.เพียงแต่ตัวเองมีหน้าที่รายงานต่อ ครม.เป็นวาระ "ลับ" เพื่อให้สอดคล้องกับเอกสารที่ ธปท.ประทับตรามา

ขณะที่แหล่งข่าวจาก ธปท.ระบุว่า มาตรการที่ ธปท.เตรียมการก็เป็นมาตรการเดิม ๆ ที่ผู้ว่าการ ธปท.พูดไปตั้งแต่ต้นปี อย่างมาตรการแรก ๆ ก็อาจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทะเบียนเวลาเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งแนวทางเหล่านี้จะสามารถสกัดเงินลงทุนระยะสั้นได้พอสมควร ส่วนนโยบายด้านดอกเบี้ย ก็ถือว่าเป็นมาตรการหนึ่งที่อยู่ในแผน ธปท.อยู่แล้ว แต่การจะลดหรือไม่นั้น ก็ต้องดูความเหมาะสม และการเห็นชอบของ กนง.ด้วย

"มาตรการ ที่ ธปท.จะออกไป คงไม่ใช่มาตรการเดียว จะเป็นการออกหลาย ๆ มาตรการควบคู่กัน เพื่อตลาดจะไม่กระทบจนเกินไป และการออกมาตรการ ก็ต้องมีความสอดประสานกัน เพราะการแก้ไขปัญหาครั้งนี้จะมีประสิทธิภาพได้ต้องอาศัยทุกส่วนเกี่ยวข้อง ด้วย" แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่ทุกฝ่ายกำลังจับตาว่ามาตรการที่ ธปท.และคลังจะงัดมาใช้นี้มีอะไรบ้าง ด้านสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ก็ได้มีการประชุมร่วมกับสมาชิก 7 องค์กรเมื่อวันที่ 3 พ.ค. เพื่อเสนอมาตรการ โดย "ไพบูลย์ นลินทรางกูร" ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า สภาเห็นว่าหากภาครัฐต้องการแก้ปัญหาให้ตรงจุดควรจะออกมาตรการที่เกี่ยวข้อง กับการจำกัดการเก็งกำไรในตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่เพียงพอและมีผลต่อค่าเงินบาท อีกทั้งยังเป็นมาตรการสากลที่ได้รับการยอมรับ

"ไม่สนับสนุนให้ออก มาตรการที่ลดความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจและตลาดทุน ทั้งมาตรการที่จำกัดการลงทุนในตลาดหุ้นและจำกัดการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว เพราะประเทศไทยยังต้องการเม็ดเงินลงทุนระยะยาวจากจากต่างประเทศอีกจำนวนมาก ในภาวะที่ไทยกำลังเข้าสู่โหมดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และเอกชนไทยต้องการลงทุนเพิ่มขึ้น" ไพบูลย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อ 2 พ.ค. "ดร.วีรพงษ์ รามางกูร" ออกให้สัมภาษณ์กับสื่อประจำทำเนียบรัฐบาลจุดประเด็นความขัดแย้งของรัฐมนตรี คลังและผู้ว่าการ ธปท.อีกระลอก โดยระบุว่า จากประสบการณ์ทำงานในประธานบอร์ดแบงก์ชาติมาปีเศษ เห็นว่าการทำงานของ รมว.คลัง และ ธปท.มีปัญหา ทั้งที่ความจริงนโยบายการเงินและการคลังต้องมีความสอดคล้องประสานกัน เพื่อให้เกิดเสถียรภาพต่อเศรษฐกิจและประเทศชาติ

"ต่างคนต่างโยนความ รับผิดชอบ ธปท.โยนให้ กนง.ขณะที่คลังก็โยนให้ ธปท.เป็นอย่างนี้เลยทำให้เกิดผลเสียต่อประเทศชาติต่อประชาชน โดยไม่รู้ว่าความรับผิดชอบจริง ๆ อยู่ที่ไหน"

ทั้งยังระบุว่า ในไตรมาส 1 ปีนี้ ธปท.ขาดทุน 8 แสนล้านบาท จากสิ้นปีมียอดขาดทุนอยู่ที่ 5.3 แสนล้านบาท แสดงว่า 3 เดือนขาดทุนเพิ่มอีก 3 แสนล้านบาท และคาดว่า ณ สิ้นปีการขาดทุน ธปท.จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงความเสียหายในช่วงที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ ธปท.ขาดทุนถึง 1.4 ล้านล้านบาท

"ผมก็ได้แต่ฝากเสียงเตือนผ่านสื่อ รมว.คลังก็ต้องรับผิดชอบงบดุลของประเทศ ขณะที่คณะกรรมการ ธปท.ก็ต้องรับ ผิดชอบด้วย และเรื่องจดหมายที่ รมว.คลังส่งมาเตือน ธปท.ผมในฐานะประธานบอร์ด ธปท.ก็ได้นำจดหมายเหล่านั้นขึ้นมาพูดในที่ประชุมบอร์ดทุกครั้ง ก็ไม่มีผล กนง.ก็ไม่ได้มีการหยิบข้อมูลเหล่านี้มาพิจารณา ดังนั้น หากจะเอาโทษอย่างไรกับผม ผมก็ต้องยอมรับ" ดร.วีรพงษ์กล่าว

ขณะที่ในฐานะผู้นำรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี ซึ่งน่าจะเป็นผู้ เข้ามามีบทบาท ไกล่เกลี่ยสถานการณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าบานปลายจนส่งผลกระเทือนต่อเสถียรภาพ ทางเศรษฐกิจของประเทศ ยอมรับว่า ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทเป็นปัญหาที่รัฐบาลติดตาม และเป็นกังวลใจ โดยเฉพาะผลกระทบต่อภาคธุรกิจส่งออก ซึ่งเรื่องนี้ต้องแก้ไขเร่งด่วนในการใช้นโยบายการเงินการคลังที่ควบคู่กันไป

เวลา นี้จึงเป็นช่วงเวลานับถอยหลังของการแก้ปัญหาค่าเงินก่อนที่จะสร้างความเสีย หายจนสายเกินแก้ และหาก ธปท.และคลัง ยังไม่ประสานความร่วมมือเพื่อดำเนินมาตรการออกมาได้ ก็คงถึงเวลาที่นายกรัฐมนตรีจะต้องออกมาเล่นบทผู้นำ ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งระบบอย่าง ที่ ดร.วีรพงษ์เตือนไว้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปมขัดแย้ง ประสาร กิตติรัตน์ เกมเดิมพัน เศรษฐกิจประเทศ

view