สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บาทแข็งออกฤทธิ์ขย่มส่งออกไทย

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ดำรงเกียรติ มาลา

ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากและต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2556 มีการแข็งค่าไปแล้วถึง 67% ซึ่งเป็นการแข็งค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปไม่ใช่น้อย

ค่าเงินบาทของไทยจากระดับ 30.55 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แข็งค่ามากที่สุดที่ 28.82 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกของไทยรายได้หาย กำไรหด ไปเป็นจำนวนมาก

ที่หนักไปกว่านั้นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากที่สายป่านสั้นเริ่มเข้า เนื้อขาดทุนและอาจจะอยู่ไม่ได้ หากค่าเงินบาทยังแข็งค่าไม่ยอมหยุด

โดยการแข็งค่าเงินบาทที่เกิดขึ้น มีสาเหตุหลักมาจากการอัดฉีดสภาพคล่องกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐและญี่ปุ่น ส่งผลให้ไหลทะลักเข้ามาหากำไรในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงไทย จนทำให้ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง

แน่นอนว่าการแข็งค่าในระดับดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกอย่างหลีก เลี่ยงไม่ได้ ตราบใดที่ประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจยังไม่หยุดใช้มาตรการอัดฉีดเงินเพื่อ ฟื้นเศรษฐกิจ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ได้ทำการศึกษาผลกระทบค่าเงินบาทต่อภาคอุตสาหกรรมของไทย ระบุว่า อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด 3 กลุ่มแรก ได้แก่

1.อุตสาหกรรมพึ่งพาการส่งออกค่อนข้างมาก โดยข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม แสดงให้เห็นว่า อาหารทะเลแปรรูป เครื่องนุ่งห่ม ผักและผลไม้แปรรูป ยางพารา อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออกมากกว่า 60% ของการผลิตทั้งหมด

2.กลุ่มอุตสาหกรรมมีอัตรากำไรสุทธิต่ำ จำเป็นต้องปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้นเพื่อรักษาระดับรายได้ให้อยู่ในระดับ เดิม เพื่อป้องกันปัญหาภาวะขาดทุน ประกอบด้วย อุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ข้าว ยางพารา และอาหารทะเลแปรรูป

3.กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความอ่อนไหวของปริมาณการส่งออกต่อการเปลี่ยนแปลง ราคาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง รวมถึงได้รับประโยชน์จากการนำเข้าวัตถุดิบน้อยจะทำให้ผู้ส่งออกสูญเสียความ ได้เปรียบด้านราคา และอาจจะทำให้ปริมาณการส่งออกลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่สามารถหาสินค้าทดแทนจากประเทศอื่นได้ง่ายและการแข่ง ขันอยู่ในระดับสูง เช่น ข้าว ยางพารา และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น จะมีความอ่อนไหวต่อราคาในระดับที่สูง

เมื่อพิจารณาจากทั้ง 3 ปัจจัย รวมถึงผลประโยชน์จากต้นทุนนำเข้าที่ลดลงแล้ว จะพบว่าอุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทมากที่สุด คือ ยางพารา อาหารทะเลแปรรูป ผักและผลไม้แปรรูป เครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ และข้าว

จากเหตุที่อุตสาหกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออกค่อน ข้างมาก มีอัตรากำไรสุทธิต่ำ ความอ่อนไหวของปริมาณการส่งออกต่อระดับราคาสูง และใช้วัตถุดิบในประเทศในการผลิตสินค้า

สรุปได้ว่า อุตสาหกรรมดังกล่าวได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทไปเต็มๆ จนหาทางปรับกลยุทธ์เอาตัวรอดแทบไม่ทัน

แม้แต่รัฐบาลที่ตอนนี้เป็นพ่อค้าข้าวรายใหญ่จากโครงการรับจำนำ 1.52 หมื่นบาทต่อตัน มีข้าวอยู่ในสต๊อกจำนวนมาก ที่ผ่านมาแค่ปัญหาขายข้าวได้ราคาต่ำกว่าราคารับจำนำก็ขาดทุนเป็นแสนล้านบาท ยังมาเจอพิษค่าเงินบาทผสมโรงทำให้ได้เงินบาทน้อย ขาดทุนหนักขึ้นอีก จนต้องปรับแผนมาขายข้าวในประเทศหนีพิษบาทแข็งเพื่อให้ขาดทุนน้อยลง

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ทางด้าน พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ได้ยื่นหนังสือถึง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง โดยระบุว่าขณะนี้มีผู้ประกอบการรายใหญ่จำนวนมากได้รับผลกระทบจากค่าบาทเพิ่ม มากขึ้น และจะรุนแรงมากขึ้นในครึ่งหลังของปีหากไม่มีการแก้ไข

สิ่งที่ ส.อ.ท.เป็นห่วงอย่างมากคือ ผู้ประกอบการที่เป็นห่วงโซ่อุปทานของการผลิตหรือซัพพลายเชนภายในประเทศจะ อยู่ไม่ได้ เพราะเมื่อค่าเงินบาทแข็งผู้ผลิตได้มีการสั่งซื้อสินค้าจากซัพพลายเชนนอก ประเทศ เพราะค่าบาทแข็งทำให้มีราคาที่ถูกกว่า

สอดคล้องกับค่ายรถยนต์รายใหญ่บางแห่ง ได้มีการปรับแผนการผลิตเพื่อการส่งออกหนีเงินบาทแข็งค่า โดยลดการผลิตในประเทศไทยเพื่อการส่งออกในต่างประเทศลดลง และไปใช้ฐานการผลิตในประเทศอื่นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินที่แข็งค่า ขึ้นแทน

การปรับแผนของค่ายรถยนต์ย่อมส่งผลกระทบกับซัพพลายเชนในประเทศไม่น้อย เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์มีซัพพลายเชนในกระบวยการผลิตจำนวนมาก

ทั้งหมดจะเห็นว่าผลกระทบค่าเงินบาทขยายวงกว้างมากขึ้นชนิดหลีกเลี่ยงไม่ ได้ เริ่มตั้งแต่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มาถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ กระทบผู้ประกอบการที่เป็นซัพพลายเชน ซึ่งหากค่าเงินบาทแข็งค่าไม่หยุด ผลกระทบจะทวีความรุนแรงมากขึ้นจนกระทบเศรษฐกิจภาพรวมในที่สุด

แม้ว่าที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมจะปรับตัว โดยผู้ส่งออกและผู้นำเข้าเริ่มมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริหารความเสี่ยงจาก อัตราแลกเปลี่ยน เพื่อรักษารายได้จากการขายสินค้าสำหรับผู้ส่งออก และลดต้นทุนการซื้อสินค้าสำหรับผู้นำเข้า

กล่าวอย่างง่ายๆ คือผู้ส่งออกมีการเทขายเงินเหรียญสหรัฐที่ได้มาจากการขายสินค้าเร็วขึ้น ในขณะที่ผู้นำเข้าจะชะลอการเข้าซื้อเงินเหรียญสหรัฐ

แต่ทว่าพฤติกรรมการซื้อขายเงินเหรียญสหรัฐของผู้ส่งออกและผู้นำเข้าเช่น นี้ ประกอบกับการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการชะลอการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลให้เงินบาทยิ่งแข็งค่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นดาบสองคมทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ ธปท.ยังได้ทำการสำรวจผลกระทบค่าเงินบาทแข็งจากผู้ประกอบการ โดยพบว่ามีผู้ประกอบการ 6070% มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวปฏิเสธไม่ได้ ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการมากขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย

ส่งผลให้ผลกระทบค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นออกฤทธิ์ทำให้หลายอุตสาหกรรม กลืนไม่เข้าคายไม่ออก การป้องกันตัวหนีไม่พ้นต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่การไม่ดำเนินการอะไรเลยก็เสี่ยงให้ธุรกิจอยู่ไม่ได้ในที่สุด

เพราะต้องไม่ลืมว่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการทุกภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ จากการเพิ่มขึ้นของค่าแรงทั่วไทย 300 บาทต่อวัน ตามนโยบายของรัฐบาล ทำให้ต้นทุนเพิ่ม ขณะที่มาตรการเยียวยาจากรัฐบาลก็ไม่ตรงจุด

มาวันนี้ภาคอุตสาหกรรมยังมาเจอพิษค่าเงินบาทแข็งผสมโรง ขณะที่รัฐบาลก็ยังมะรุมมะตุ้มกับ ธปท. ในการแก้ไขค่าเงินบาทที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะไปทางไหน ทำให้ภาคอุตสาหกรรมระงมกับพิษค่าเงินบาทแข็งต่อไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : บาทแข็ง ออกฤทธิ์ ขย่มส่งออก ไทย

view