สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปิดปากเสียงวิจารณ์สัญญาณนับถอยหลัง

ปิดปากเสียงวิจารณ์สัญญาณนับถอยหลัง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

น่าสนใจไม่น้อยกับท่าทีล่าสุดของรัฐบาลในการรับมือเสียงวิจารณ์การทำงาน ด้วยการใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ว่าด้วยการหมิ่นประมาท หลังจากเกิดกรณี“ชัย ราชวัตร” ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี แบบตรงไปตรงมา จนเกิดการฟ้องร้องในภายหลังเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ออกโรงประกาศว่าจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างถึงที่สุดหากใครโพสต์ข้อความหมิ่น ประมาทผู้นำประเทศ

คำขู่ดังกล่าวถูกวิจารณ์ว่ารัฐบาลกำลังใช้กฎหมายปิดปากฝ่ายตรงข้าม

ปัญหาของการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทมาจัดการในทางการเมือง อาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ได้ถูกรับรองด้วยรัฐ ธรรมนูญ มาตรา 45

“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น”

แต่ถึงกระนั้นมาตรา 45 ได้มีข้อยกเว้นไม่คุ้มครองการแสดงความคิดเห็นในหลายกรณีเพื่อประโยชน์ในด้าน ต่างๆ เช่น เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคล และรักษาศีลธรรมอันดีของประชาชน

เป็นผลให้รัฐบาลสามารถใช้ช่องนี้ลุยฟ้องฝ่ายตรงข้ามผ่านกฎหมายอาญา มาตรา 326 เพื่อเป็นเกราะป้องกันนายกฯ จากเสียงวิจารณ์

เหมือนกับในอดีตที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งเป็นนายกฯ เคยฟ้อง “สนธิ ลิ้มทองกุล” แกนนำพันธมิตร ในข้อหาหมิ่นประมาทหลายคดี หลังถูกวิจารณ์ค่อนข้างหนัก ก่อนถูกรัฐประหารในปี 2549

มาในวันนี้ ยิ่งลักษณ์ กำลังใช้กฎหมายเพื่อจัดการกับปัญหาทางการเมืองเช่นเดียวกันกับที่พี่ชายเคยใช้เอาไว้

ไม่มีใครปฏิเสธว่า นายกฯ ย่อมมีสิทธิที่จะปกป้องศักดิ์ศรีของตัวเองได้ แต่ท่าทีของไอซีทีล่าสุดเป็นเรื่องที่ต้องขบคิดว่าเหมาะสมหรือไม่ถ้ารัฐจะ ใช้มาตรการกฎหมายเพื่อควบคุมการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

การใช้กฎหมายหมิ่นประมาทครั้งนี้มองได้ว่าเป็นความพยายามของรัฐบาลเพื่อ สร้างเกราะป้องกันทางการเมืองจากเสียงวิจารณ์ซึ่งถือว่ามีความสำคัญต่อนายกฯ ยิ่งลักษณ์เป็นอย่างมาก

อย่าลืมว่าในระยะยาวรัฐบาลจะต้องเร่งเดินหน้าโครงการภาครัฐอีกหลาย โครงการ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมภายใต้กฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งย่อมหนีไม่พ้นเสียงวิจารณ์

เอาแค่ประเด็นนี้ประเด็นเดียวปัจจุบันก็มีเสียงตำหนิจากหลายฝ่ายเป็น จำนวนมากว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ประเทศจะได้จะคุ้มค่ากับการเป็นหนี้ มากกว่า 2 ล้านล้านบาทที่ต้องชดใช้ไปอีก 50 ปีหรือไม่

แน่นอนว่า นายกฯ ไม่อาจหลบเลี่ยงจากการถูกตำหนิไปได้ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของรัฐบาล

หากปล่อยให้เสียงตำหนิรัฐบาลดังมากเกินไป ผลเสียย่อมตกกับรัฐบาลในระยะยาวเอง เพราะเหลืออีก 2 ปี ถ้าไม่ยุบสภาไปเสียก่อนก็จะมีการเลือกตั้ง สส.ครั้งใหม่ ฐานเสียงรัฐบาลที่เคยเข้มแข็งอาจถูกสั่นคลอนได้

จึงเป็นที่มาที่ต้องหาทางป้องกันเอาไว้ก่อน

ทว่า มาถึงจุดนี้สิ่งที่รัฐบาลคิดว่าจะเป็นภูมิคุ้มกัน ปรากฏว่ากำลังจะย้อนมาทำร้ายตัวเองอย่างเห็นได้ชัด ไม่ต่างอะไรกับการจุดกระแสโจมตีให้เกิดขึ้นมาอีกระลอก

สะท้อนได้จากท่าทีจากหลายฝ่ายที่ไม่เอาด้วยกับแนวทางของรัฐบาล อย่าง นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มองว่า “หน่วยงานรัฐหรือฝ่ายบริหารไม่ควรที่จะใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขตในการห้าม ปรามการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในสังคมประชาธิปไตย เพราะถือเป็นการตัดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน”

ไม่เว้นแม้แต่กระแสโต้ตอบจากผู้ใช้เฟซบุ๊กบนกระดานข้อความในหน้าแฟนเพจของกระทรวงไอซีที

ไม่เพียงเท่านี้ เกราะทางกฎหมายที่คิดว่าจะช่วยให้ ยิ่งลักษณ์ ปลอดภัย เอาเข้าจริงก็อาจไม่เป็นอย่างนั้น

มาตรา 328 ของประมวลกฎหมายอาญาได้บอกถึงกระบวนการพิจารณาคดีหมิ่นประมาทโดยสังเขปว่า “จะต้องมีการพิสูจน์ข้อความที่หมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริงหรือไม่”

เท่ากับว่า ในอนาคตผู้ที่ถูกรัฐบาลฟ้องหมิ่นประมาทย่อมมีโอกาสพิสูจน์ว่ารัฐบาลมีข้อ บกพร่องอย่างไรต่อหน้าศาล นั่นหมายความว่าข้อพิสูจน์ทั้งหมดจะถูกเผยแพร่ออกไปยังสาธารณะในทางหนึ่งทาง ใดด้วย

ยิ่งถ้าเป็นกรณีที่รัฐบาลแพ้คดีโดยที่ผู้ถูกกล่าวหาสามารถพิสูจน์ว่า รัฐบาลมีข้อบกพร่องจริง ยิ่งเป็นผลให้รัฐบาลจะถูกตอกย้ำว่าได้บริหารราชการล้มเหลวไปในตัว

ดังนั้น ประโยชน์ที่รัฐบาลคาดว่าจะได้รับจากกฎหมายหมิ่นประมาทอาจไม่เป็นอย่างที่ หวังนอกจากจะไม่ช่วยให้เสถียรภาพรัฐบาลมั่นคงแล้วยังจะเป็นการทำลายภาพ ลักษณ์ของตัวนายกฯ มากกว่า

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาลควรจะทำในเรื่องที่ควรทำมากกว่าเอาเวลาไปทำในเรื่องที่ไม่ควรทำจนนำมาสู่ความบาดหมาง


“อนุดิษฐ์” รับไร้อำนาจปิดเว็บ ปัดละเลยฟันพวกหมิ่นสถาบัน อ้างหน้าที่ทุกคน

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศฯ รับไร้อำนาจปิดเว็บไซต์ ชี้ต้องอยู่กับดุลพินิจศาล ยันไม่ได้สองมาตรฐานเอื้อเฉพาะนายกฯ ปัดละเลยสกัดเว็บหมิ่นสถาบัน อ้างเป็นงานทุกภาคส่วน บอกแสดงความเห็นเป็นสิทธิ แต่ถ้ามีคนแจ้งความก็เป็นหน้าที่เจ้าหน้าที่จัดการ
       
       วันนี้ (7 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.30 น. น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แถลงถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์ระบุกระทรวงไอซีทีใช้อำนาจหน้าที่ทำการปิดกั้น เว็บไซต์ที่เสนอความเห็นแสดงความคิดเห็นหมิ่นประมาทนายกฯ ว่า ไอซีทีไม่มีอำนาจตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในการปิดกั้นเว็บไซต์ ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลอาญา กระทรวงไอซีทีไม่ได้ปฏิบัติสองมาตรฐานที่ให้ความสำคัญกับเฉพาะนายกฯ เท่านั้น ดำเนินการทุกกรณีที่มีผู้เสียหาย ส่วนที่กล่าวหาว่ากระทรวงไอซีทีละเลยปิดเว็บไซต์หมิ่นสถาบันนั้นไม่เป็นความ จริง เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งไอซีที กองทัพไทย สตช.
       
       อย่างไรก็ตาม กรณีประชาชนแสดงความคิดเห็นบนช่องทางโซลเชียลเน็ตเวิร์กเป็นสิทธิที่ทำได้ แต่หากกล่าวหาให้ร้ายดูถูกดูแคลนเป็นเท็จต่อบุคคลอื่นทำให้เกิดความเสียหาย เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายอาญา หากมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความ เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย
       
       ทั้งนี้เมื่อเวลา 17.40 น. น.อ.อนุดิษฐ์ ได้เขียนข้อความขยายความเพิ่มเติมลงบนเว็บไซต์เฟซบุ๊กส่วนตัว น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ,สำนักงานปราบโกง Anti-corruption ระบุว่า จากพฤติกรรมการบิดเบือนข้อเท็จจริงจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายการเมืองจาก พรรคฝ่ายค้านที่กล่าวหากระทรวง ICT ว่า ใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบในการปิดกั้นเว็บไซต์ ที่แสดงความเห็นทางการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล มีการกระทำที่ลุแก่อำนาจและไม่เป็นประชาธิปไตย
       
       จากพฤติกรรมการบิดเบือนข้อเท็จจริง และกล่าวความเท็จดังกล่าว มีการแอบตีกิน แอบอ้างว่าผมให้สัมภาษณ์ว่า หากมีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและฯพณฯนายกรัฐมนตรี ผมจะสั่งปิดเว็บไซค์ ทำให้พี่น้องประชาชนที่ติดตามข่าวสารเกิดความเข้าใจผิดและบางส่วนเกิดความ เกลียดชัง โดยเข้าใจว่า กระทรวง ICT ใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ชอบ
       
       ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ผมในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลกระทรวง ICT ขอเรียนชี้แจงพี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนที่เคารพดังต่อไปนี้
       
       1. กระทรวง ICT เป็นผู้รักษาการ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ปี 2550 ดังนั้น จึงไม่มีอำนาจใดๆ ในการสั่งปิดกั้นเว็บไซต์ อำนาจในการสั่งปิดเว็บไซต์นั้น อยู่ในดุลยพินิจและคำสั่งของศาลอาญาเท่านั้น โดยหลังจากศาลอาญามีคำพิพากษาให้ทำการปิดกั้นเว็บไซต์นั้น กระทรวง ICT จะเป็นผู้แจ้งคำสั่งศาลดังกล่าวให้กับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตทุกราย เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งต่อไป ดังนั้น การกล่าวหาว่ากระทรวง ICT ใช้อำนาจในการปิดกั้น เว็บไซต์และเป็นการกระทำที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จึงไม่เป็นความจริง
       
       2. การใช้ช่องทางเว็บไซต์ และ Social network ในการแสดงความเห็นของพี่น้องประชาชนในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เป็นสิทธิเสรีภาพที่พี่น้องประชาชนทุกคนสามารถทำได้ และไม่มีใครหรืออำนาจใด ๆ มาก้าวล่วงได้ แต่อย่างไรก็ดี การใช้ช่องทางดังกล่าวกระทำผิดกฎหมายใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการคุมคาม กล่าวหา ให้ร้ายดูถูกดูแคลน หรือใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อบุคคลอื่น และทำให้บุคคลนั้นเกิดความเสียหาย อาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2550 หรือเข้าข่ายการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว หากมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือบุคคลที่มีอำนาจตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องมีการดำเนินการ ให้เป็นไปตามกระบวนการตามกฎหมายต่อไป
       
       ซึ่งจากกรณีนี้ เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจว่า การแสดงออกหรือความเห็นอย่างไรที่ไม่ควรกระทำ ผู้แสดงความเห็นเพียงคิดถึงสิทธิเสรีภาพของตัวเองหรือ ครอบครัว ที่ไม่ต้องการให้ผู้ใดล่วงละเมิด เฉพาะประเด็นนั้นๆ ท่าน ก็ไม่ควรไปล่วงละเมิดบุคคลอื่น ในเรื่องนั้นๆ เช่นเดียวกัน
       
       3. กระทรวงไอซีทีไม่มีสิทธิในการเลือกปฏิบัติหรือกระทำการใดๆ แบบสองมาตรฐาน การกล่าวหาว่า กระทรวง ICT ที่ให้ความสำคัญเฉพาะกรณีของฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จึงเป็นเรื่องที่บิดเบือนและไม่เป็นความจริง
       
       ตลอดเวลาที่ผ่านมากระทรวง ICT ได้ดำเนินการกับผู้กระทำความผิดและผู้ที่ได้รับความเสียหาย ทุกคน ทุกกรณีอย่างเท่าเทียมกัน ตามอำนาจหน้าที่ ที่ได้รับตามกฎหมาย เพราะการดำเนินการใดๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าทำเกินอำนาจหน้าที่ หรือการดำเนินการใดๆ ที่ละเลยไม่ปฏิบัติ กระทรวง ICT ไม่สามารถดำเนินการได้ทั้ง 2 กรณี เพราะผู้เสียหายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็สามารถดำเนินการตามกฎหมาย กับกระทรวง ICT ได้เช่นเดียวกัน
       
       ดังนั้น การกล่าวหาด้วยคำพูดว่ากระทรวง ICT ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่ นอกเหนือจากอำนาจที่ได้รับจึงไม่เป็นความจริง
       
       4. การดำเนินการกับเว็บไซต์หมิ่นสถาบัน เป็นการดำเนินการร่วมกันของทุกภาคส่วน ซึ่งกระทรวง ICT เป็นองค์ประกอบหนึ่งในคณะกรรมการ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ที่ทุกคนที่รับผิดชอบให้ความสำคัญสูงสุด ไม่ว่าจะ เป็นกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น
       
       ผู้รับผิดชอบทุกคนเป็นข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองที่จงรัก ภักดีและเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้น การกล่าวหาว่า ข้าราชการทั้งการเมือง และประจำที่รับผิดชอบเหล่านี้ ปล่อยปละละเลย ไม่ดำเนินการกับเว็ปหมิ่น จึงไม่เป็น ความจริง และคงไม่มีใครผู้ใดสามารถบงการข้าราชการทุกคน ไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ ของตัวเองได้อย่างแน่นอน
       
       การชี้แจงทั้ง 4 ประเด็นถือว่า เป็นข้อเท็จจริงที่กระทรวง ICT ขอเรียนชี้แจง เพื่อสร้าง ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อพี่น้องประชาชน สื่อมวลชน สำหรับใครก็ตามที่แสดงความเห็น เพื่อสร้างความเกลียดชังให้แก่กระทรวง ICT ก่อนหน้านี้ ด้วยความไม่รู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กระทรวง ICT ก็ขอเรียนชี้แจงให้ทราบด้วยความเต็มใจในทุกๆกรณี แต่ใครคนใดคนหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็น เพื่อสร้างความเกลียดชังด้วยความตั้งใจ หรือมีพฤติกรรม ตีกินทางการเมือง ด้วยการบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อสร้างความเข้าใจผิด
       
       กระทรวงฯ ขอประนามการกระทำดังกล่าวและขอเรียกร้องให้หยุดพฤติกรรมที่สร้างความแตกแยก และสร้างความเกลียดชังในสังคมเหล่านี้ และควรหันมาช่วยกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์ต่อไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปิดปาก เสียงวิจารณ์ สัญญาณ นับถอยหลัง

view