สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ร่วมกันทำกิจการ อาจเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ โดยไม่ตั้งใจ

ร่วมกันทำกิจการ อาจเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ โดยไม่ตั้งใจ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




การร่วมกันทำกิจการของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อหารายได้แบ่งกัน หลายกรณีผู้ร่วมกันทำกิจการไม่ได้คิด

หรือตั้งใจจะจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนแต่อย่างใด เช่นเรียกชื่อเป็นเป็นการร่วมค้าหรือร่วมลงทุนบ้าง โดยไม่ได้เรียกว่าเป็นห้าง บางกรณี มีเจตนาเพียงร่วมกันทำกิจการเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น เมื่อเสร็จกิจการนั้นก็เป็นอันเลิกกัน หรือไม่ได้คิดว่ากิจการที่ทำนั้นจะเข้าลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วน อย่างไรก็ตาม แม้ผู้เข้าร่วมกันทำกิจการไม่ได้คิดหรือตั้งใจจะตั้งเป็นห้างหุ้นส่วน แต่ถ้าหากกิจการที่ร่วมกันทำนั้น มีลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ก็จะมีผลทางกฎหมายเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญแม้จะไม่ได้เรียกชื่อว่าห้าง ผลจากการเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญมีหลายประการ เช่นสิทธิที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจะได้รับจากการเป็นหุ้นส่วน ในทางกลับกันก็ต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดที่ห้างหุ้นส่วนไปก่อต่อบุคคลอื่น และ หากจะยุติการร่วมประกอบกิจการแล้วจะแบ่งทรัพย์สินกัน ก็ต้องดำเนินการตามบทบัญญัติของการเลิกห้างหุ้นส่วนที่สำคัญคือต้องมีการชำระบัญชี เป็นต้น

การร่วมกันทำกิจการโดยไม่ได้ตั้งใจให้เป็นห้างหุ้นส่วน แต่มีผลเป็นห้างหุ้นส่วน อันก่อให้เกิดสิทธิ หรือ หน้าที่ หรือความรับผิด ต่อการเป็นหุ้นส่วน มีคำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจที่น่าจะถือเป็นบรรทัดฐานได้ เช่น

๐ ตกลงเข้าประกันภัยการขนส่งร่วมกัน คือ คำพิพากษาฎีกาที่ 3199/ 2543 ในคดีนี้มีข้อเท็จจริงโดยสรุป คือโจทก์และผู้รับประกันภัยรายอื่นรวม 12 ราย ตกลงเข้าประกันภัยการ ขนส่งร่วมกัน โดยระบุชื่อและกำหนดสัดส่วนความรับผิดชอบของแต่ละคนไว้แน่นอน โดยมุ่งหวังแบ่งปันกำไรอันพึงได้ตามสัดส่วนดังกล่าว ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าย่อมเข้าลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ โจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายทั้งหมดเพื่อประโยชน์แก่ผู้รับประกันภัยรายอื่นซึ่งเป็นหุ้นส่วนทุกคนด้วย โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้รับประกันภัยรายอื่นจะทำหนังสือมอบสิทธิของตนให้แก่โจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 4 มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องดูแลและรับผิดชอบสินค้าที่ถูกขนส่งทางเรือและถูกขนถ่ายลงจากเรือมาที่หน้าท่า การขนถ่ายเคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าจากบริเวณหน้าท่าไปยังโรงพักสินค้า ย่อมเป็นกระบวนการซึ่งอยู่ในหน้าที่และความรับผิดชอบของจำเลยที่ 4 ด้วย แม้การขนย้ายตู้สินค้ารายนี้จะกระทำโดยรถบรรทุกที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดหามา แต่ก็โดยการอนุญาตของจำเลยที่ 4 การดำเนินการของจำเลยที่ 3 จึงเท่ากับเป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 ในฐานะตัวการจึงต้องรับผิดชอบเช่นเดียวกับการกระทำของตนเอง

๐ Joint venture หรือกิจการร่วมค้า คือคำพิพากษาฎีกาที่ 3848/2531 คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กับบริษัท ด. และบริษัท อ. ได้จดทะเบียนการค้าสำหรับงานก่อสร้างสะพานไว้กับกรมสรรพากรว่า "สาธรบริดจ์ จอยเวนเจอร์" โดยมี อ. เป็นผู้มีอำนาจทำการแทน เช่นนี้ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่ากิจการ "สาธรบริดจ์ จอยเวนเจอร์" ก็คือห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลซึ่งจำเลยที่ 1 กับบริษัทในต่างประเทศอีกสองบริษัทร่วมกันกระทำให้ประเทศไทยนั่นเอง ดังนั้น เมื่อรถยนต์บรรทุกของโจทก์ตกลงไปในหลุมที่ "สาธรบริดจ์ จอยเวนเจอร์" ขุดไว้อันเป็นการละเมิดตามฟ้อง เกิดขึ้นในกิจการที่เป็นธรรมดาของ "สาธรบริดจ์ จอยเวนเจอร์" จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชอบโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นที่เกิดขึ้นจากการละเมิดนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1050 โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ ทั้งการที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยค้ำจุน "สาธรบริดจ์ จอยเวนเจอร์" สัญญาประกันภัยก็ผูกพันจำเลยที่ 1 ด้วยเมื่อจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบต่อวินาศภัยที่เกิดขึ้นตามฟ้องโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ให้ร่วมรับผิดชอบ

๐ ร่วมกันทำการค้าฝ่ายหนึ่งออกเงินลงทุน อีกฝ่ายเป็นผู้ดำเนินกิจการ คือ คำพิพากษาฎีกาที่ 2167/2544 คดีนี้ โจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตกลงร่วมกันทำการค้าโดยโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ออกทุนด้วยเงินสด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นผู้ลงทุนด้วยแรงงานคือเป็นผู้ดำเนินกิจการค้า จึงมีลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญโดยไม่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1025 และมาตรา 1026 แม้จะเรียกข้อตกลงนั้นว่าเป็นสัญญาร่วมค้าขาย ก็หาทำให้มิใช่เป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่ เมื่อโจทก์ทั้งสองเลิกการเป็นหุ้นส่วนโดยยังไม่ได้จัดให้มีการชำระบัญชีก่อนตามมาตรา 1061 วรรคหนึ่ง ด้วยวิธีการดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1062 เพียงแต่ทำการเคลียร์บัญชีแล้วพบว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ต้องคืนทุนและกำไรบางส่วนให้โจทก์ทั้งสองเท่านั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

๐ ร่วมกันตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อกู้ คือคำพิพากษาฎีกาที่ 1389-1393/2551 คดีนี้มีข้อเท็จจริงโดยสรุปคือ โจทก์ทั้งห้าสิบสอง จำเลยทั้งห้า กับราษฎรอื่น รวมกันไม่น้อยกว่า 154 คน ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อกู้ โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการจำเลยที่ 2 เป็นรองประธานกรรมการ จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นกรรมการ ดำเนินกิจการให้สมาชิกถือหุ้นโดยส่งเงินฝากสะสมเป็นรายปีและรายเดือน แล้วนำเงินดังกล่าวออกให้สมาชิกกู้ยืม เมื่อครบกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่สมาชิกฝากเงินสะสมแล้วจะได้รับเงินฝากสะสมคืนพร้อมเงินปันผลเป็นดอกเบี้ย โดยหักเงินปันผลที่จะได้รับไว้เป็นค่าใช้จ่ายของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อกู้ในอัตราที่กำหนด ศาลฎีกาเห็นว่า การรวมกลุ่มทำกิจการดังกล่าว เป็นการตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น จึงมีลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญโดยไม่จดทะเบียน เมื่อมีเหตุเลิกห้างหุ้นส่วนก็ต้องมีการชำระบัญชี การที่โจทก์ทั้งห้าสิบสองฟ้องเรียกเอาเงินฝากสะสมและเงินปันผล อันมีลักษณะเป็นการคืนทุนโดยยังมิได้มีการชำระบัญชีหรือข้อตกลงให้จัดการทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนด้วยวิธีอื่นระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว โจทก์ทั้งห้าสิบสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาข้อนี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแม้จำเลยทั้งห้ามิได้ให้การต่อสู้และไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาในปัญหาข้อนี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ร่วมกันทำกิจการ ห้างหุ้นส่วนสามัญ ไม่ตั้งใจ

view