สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธปท.ถอดรหัส 3 ประเทศ งัดมาตรการคุมเงินร้อน

จากประชาชาติธุรกิจ

ปัญหาเงินบาทแข็งค่า ยังคงเป็น "หนังยาว" ที่ต้องติดตามว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับกระทรวงการคลังจะเห็นพ้องต้องกันในการออกมาตรการใดมาดูแล ซึ่งในระหว่างที่ยังตกลงกันไม่ได้ กระแสเงินทุนไหลเข้า (ฟันด์โฟลว์) ก็ยังคงเป็นปมปัญหาสำคัญที่รอการแก้ไข แม้ข่าวลือการออกมาตรการ "สกัดเงินร้อน" จะช่วยสกัด "นักเก็งกำไร" ได้ระดับหนึ่ง จนค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจนใกล้ 30 บาทต่อดอลลาร์ จากที่เคยทำสถิติแข็งค่าสูงสุดที่ 28.50 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อช่วงกลางเดือน เม.ย.แต่ด้วยความน่าสนใจของเศรษฐกิจภูมิภาคนี้ จึงมีการคาดการณ์กันว่า หากรัฐไม่มีมาตรการใดออกมา เงินบาทก็จะกลับมาแข็งค่ามากขึ้นอีก

แม้ว่า ณ เวลานี้ ธปท.จะส่งมาตรการไปถึงมือ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังแล้ว แต่ก็ดูเหมือนยังไม่เป็นที่ "ถูกใจ" ของขุนคลังนัก แต่ฟาก ธปท.เองก็พยายามหยิบยกมาตรการต่าง ๆ มานำเสนอ อย่างล่าสุด มีการออกรายงานที่น่าสนใจเกี่ยวกับการลดแรงกดดันอัตราแลกเปลี่ยน สกัดเงินทุนเคลื่อนย้ายจากต่างประเทศ (Capital Control) โดยเป็นการหยิบยกตัวอย่างจากต่างประเทศ ซึ่ง ธปท.มองว่าเป็นมาตรการที่เคย "ใช้ได้ผลเป็นที่ยอมรับ" และไทยยังไม่เคยนำมาใช้

"มาตรการ Capital Control เพื่อสกัด "เงินร้อน" ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่หลายประเทศในโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่เป็น "ตลาดเกิดใหม่" มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีการหยิบยกมาตรการดังกล่าวออกมาพูด เพราะ IMF มองว่าเป็นมาตรการที่ได้ผล และเป็นทางเลือกหนึ่งของแต่ละประเทศในการดูแลเงินทุนไหลเข้าออกประเทศ โดยจะใช้มาตรการดังกล่าว ก็ต่อเมื่อนโยบายการเงินการคลังตามปกติ ไม่สามารถช่วยรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินได้"

ตัวอย่างแรก กรณีประเทศ "อินโดนีเซีย" ที่เผชิญกับกระแสเงินทุนไหลเข้าประเทศอย่างหนักเมื่อปี 2552 จากพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดีและดอกเบี้ยนโยบายที่สูงถึง 6.5% จึงจูงใจนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในตราสารหนี้ของธนาคารกลางอย่างมาก และมีการเทขายทำกำไรเป็นระยะ ค่าเงินรูเปียห์จึงผันผวนมาก ในเดือน มิ.ย.2553 ทางการจึงประกาศใช้มาตรการกำหนดระยะเวลาการถือตราสารหนี้ขั้นต่ำ ให้ผู้ลงทุนต้องถือตราสารอย่างน้อย 1 เดือน จึงจะขายได้ (และต่อมาเพิ่มเป็น 6 เดือน)

เช่นเดียวกับ "เกาหลีใต้" ที่ใช้มาตรการเก็บภาษี (Levy) จากหนี้ต่างประเทศภาคธนาคาร โดยมีแนวคิดว่า "ยิ่งกู้สั้นยิ่งเสียภาษีมาก" ซึ่งเก็บแบบขั้นบันได คืออายุสัญญาไม่เกิน 1 ปี จะเก็บ 0.2% ของวงเงินกู้ อายุ 1.3 ปี เก็บ 0.1% อายุ 3-5 ปี เก็บ 0.05% และอายุ 5 ปี เก็บ 0.02% ทั้งนี้ เพื่อจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์กู้เงินตราต่างประเทศที่มีอายุสัญญายาวขึ้นให้สอดคล้องกับการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Forward) ซึ่งมาตรการนี้ IMF วิเคราะห์ว่า มีผลไม่มากเพราะเก็บภาษีค่อนข้างต่ำ แต่การกู้ยืมเงินต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ลดลงอย่างชัดเจน และการกำหนดให้นักลงทุนต่างประเทศต้องลงทะเบียนเพื่อลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ ก็ช่วยให้สามารถติดตามพฤติกรรมการลงทุนได้เป็นอย่างดี

ด้าน "อินเดีย" มีการออกมาตรการกำกับดูแลการลงทุนในหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติคล้ายกับเกาหลีใต้ แต่เข้มงวดกว่า คือกำหนดให้ต้องลงทะเบียนก่อนลงทุน พร้อมกำหนดโควตาเงินลงทุนต่างชาติสำหรับนักลงทุนสถาบันให้ลงทุนตราสารรัฐบาลได้ไม่เกิน 1 พันล้านดอลลาร์ และต่อมากำหนดให้ลงทุนได้ไม่เกิน 25 พันล้านดอลลาร์ รวมถึงลงทุนในตราสารเอกชนได้ไม่เกิน 51 พันล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ "สุธาศินี นิมิตกุล" ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและกำกับการแลกเปลี่ยนเงิน ธปท. ระบุว่า ธปท. ได้เสนอแผนเงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อส่งเสริมการออกไปลงทุนต่างประเทศไปให้กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผ่อนเกณฑ์ให้ไปลงทุนต่างประเทศง่ายขึ้น อาทิ เปิดเสรีสำหรับวงเงินของบุคคลธรรมดาที่ออกไปลงทุนโดยตรง หรือไม่จำกัด จากเดิมกำหนด 100 ล้านดอลลาร์ต่อปี การเปิดให้รับฝากเงินในบัญชีเงินตราต่างประเทศ (FCD) แบบมีภาระผูกพันได้อย่างเสรี จากเดิมกรณีมีภาระผูกพัน นิติบุคคลมียอดคงค้างที่ 100 ดอลลาร์ และไม่มีภาระผูกพันที่ 5 แสนดอลลาร์

ยังมีการเปิดให้มีการทำป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (Unwind Hedging) อย่างเสรี สำหรับธุรกรรมที่มี Underlying กรณีลงทุนโดยตรง และเงินกู้กิจการในเครือ จากเดิมอนุญาตแค่การทำ Unwind เฉพาะค่าสินค้าและบริการ นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอการผ่อนคลายคุณสมบัติของธุรกิจและผู้รับอนุญาตเป็นตัวแทนซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตรา (MC/MT) เพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้แก่ผู้ประกอบการ จากเดิมกำหนดรับซื้อเงินตราไม่จำกัด แต่ขายเงินตราได้ไม่เกิน 5,000 ล้านดอลลาร์ต่อครั้ง และสุดท้าย การอนุญาตถือเงินสดข้ามแดนประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น เป็น 2 ล้านบาทต่อคน จากเดิมที่กำหนดเพียง 5 แสนบาทต่อคนเท่านั้น

อย่างไรก็ดี การออกมาตรการเหล่านี้ ล้วนต้องอาศัยความร่วมมือจากฟากกระทรวงการคลังทั้งสิ้น ซึ่งต้องติดตามกันต่อไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ธปท. ถอดรหัส ประเทศ งัดมาตรการ คุมเงินร้อน

view