สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คำต่อคำ ประสาร แจงกมธ.กู้2ล้านล้าน

คำต่อคำ"ประสาร"แจงกมธ.กู้2ล้านล้าน

จาก โพสต์ทูเดย์

คำต่อคำ "ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ผู้ว่าฯธปท.เข้าชี้แจงต่อ กรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท

หมายเหตุนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ให้ อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ของประเทศพ.ศ. ....หรือ พ.ร.บ.การกู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ที่มีนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีเนื้อหาที่กรรมาธิการของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านซักถาม และคำตอบจากผู้ว่าการ ธปท.ที่น่าสนใจดังนี้

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ถาม – การกู้เงินในระยะเวลา 7ปี เฉลี่ยปีละ 3แสนล้านบาท ซึ่งจะมีการเริ่มกู้จริงในปลายปี 2556 ตามที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)บอกว่าไม่กระทบการจัดงบประมาณสมดุลตามแผนที่วางไว้นั้น ในมุมมองของธปท.ประเมินผลกระทบในเรื่องนี้อย่างไร รัฐบาลจะจัดสมดุลงบประมาณได้จริงหรือไม่

นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ถาม – การกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทจะกระทบต่อสภาพคล่องในระบบหรือไม่ ถ้าสภาพคล่องเปลี่ยนแปลงจะมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอย่างไร สมมติฐานภาระดอกเบี้ยของสบน.ที่ 5% ต่อปีจะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะในอดีตถ้าเศรษฐกิจมีการขยายตัว(จีดีพี)ดีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อาจจะ เพิ่มเป็น 8% หรือ9% หรือ 10% ก็ได้  มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่การขาดทุนของธปท.จะเพิ่มมากไปถึง 1 ล้านล้านบาท

นายประสาร ตอบ - การดูแลสภาพคล่องของธปท. ตามหลักจะดูแลปริมาณเงินให้สมดุลกับเศรษฐกิจจริง เพราะถ้าปล่อยให้ปริมาณเงินในระบบเพิ่มมากเกินไป เงินเฟ้อหรือราคาอาจจะเปลี่ยนแปลง สินค้าจะเพิ่มขึ้น ธปท.จึงต้องดูแลให้เหมาะสม ในทางกลับกันถ้าสภาพคล่องขาดธปท.ก็จะคลายเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งธปท.จะทำแบบตั้งรับ คือ ให้น้ำหรือปริมาณเงินในระบบเอ่อล้นขอบสระ ไม่ใช่ตั้งเครื่องสูบน้ำดูด เพราะธปท.ไม่ใช่ภาคธุรกิจเอกชนหรือธนาคารพาณิชย์ที่ต้องหากำไรเป็นหลัก

ธปท.จะรอจนสิ้นวันธนาคารปิด ดูว่ามีเงินเหลือหรือล้นมาจากขอบสระหรือไม่ แล้วค่อยดูดซับสภาพคล่องเฉพาะส่วนที่ล้นออกจากขอบสระเท่านั้น โดยการออกพันธบัตร ธปท.มาดูดซับระยะ 7 วัน 3 เดือน ฯลฯ เพื่อไม่ให้สภาพคล่องมีมากเกินไปจนเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ปัจจุบันธปท.ก็ดูดซับไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อรักษาสมดุล

ถ้ามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น มีการลงทุนจริง ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อซื้อสินค้าในประเทศ หรือซื้อสินค้าจากต่างประเทศที่ต้องนำเข้า ก็มีส่วนช่วยในการดูแลปริมาณสภาพคล่องในระบบเช่นกัน ยิ่งในช่วงที่ปริมาณเงินไหลเข้ามามากการลงทุนจะช่วยสร้างสมดุลเงินไหลเข้า ได้

แต่กิจกรรมที่พูดถึงนี้ คือ การลงทุนการซื้อไป ต้องเป็นไปเพื่อก่อให้เกิดผลิตผล ซึ่งการกู้เงินเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของ ประเทศเป็นเรื่องที่ดี ในหลักการนี้ธปท.เห็นด้วย แต่การใช้การใช้เงินลงทุนให้มีประสิทธิภาพก็ต้องดูให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในที่นี้ ในระยะ 10 -50 ปี สมมติฐานดอกเบี้ยที่ 5% จะเป็นไปได้หรือไม่นั้น คงไม่มีใครทายได้แม่นยำ แต่ถ้าจะดูพอเป็นแนวทางก็พอดูได้ ซึ่งถามว่าดอกเบี้ยที่สมมุติฐาน 5% หากดูจากอัตราผลตอบแทนดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 48 ปี ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทประกันชีวิตเป็นผู้ลงทุนนั้น มีอัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนอยู่ที่ 4.27% ถ้าวันนี้ซื้อพันธบัตรล็อคดอกเบี้ยผลตอบแทนยาวไว้ 48 ปี ก็จะได้ดอกเบี้ยที่ 4.27%

ฉะนั้น การใช้สมมติฐานดอกเบี้ย 5% ก็พอคิดได้ มีที่มาที่ไป ถ้าถามว่าพอใช้ระยะเวลากู้ 50 ปี ดอกเบี้ยนี้จะเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ ต้องยอมรับว่ามีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ทั้งสูงขึ้นและต่ำลง เพราะหากความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจเปลี่ยนไปกลัวว่าเงินเฟ้อใน อนาคตจะสูงขึ้นได้อีก เขาก็อาจจะไม่พอใจดอกเบี้ยที่ 4.27% ก็ได้  เพราการซื้อลงทุนยาว 48% เหมือนซื้อสัญญาล่วงหน้าจากความเชื่อมั่น แต่ถ้าไม่เชื่อมั่นมันย่อมเปลี่ยนแปลงได้

การที่นักลงทุนจะมองดอกเบี้ยไปในทางสูงขึ้น คือ มองเศรษฐกิจโตดีตามคาด เศรษฐกิจมีวินัยทางการเงิน ก็มีโอกาสที่ดอกเบี้ยจะสูงเกิน 5% ได้อย่างมากกมาย หรือถ้าตลาดการเงินมีสัญญาณมากระทบนักลงทุนขาดความน่าเชื่อถือในเศรษฐกิจและ การคาดการณ์เงินเฟ้อข้างหน้าว่าอาจจะไม่อยู่ในระดับที่คาด ดอกเบี้ยก็อาจจะกระโดดจาก 4.27% ได้เช่นกัน แต่ขอเรียนว่าภาวะการเงินในปัจจุบันมีความเชื่อมั่นสูงและตราบใดที่นักลงทุน มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ โครงสร้างเศรษฐกิจ และภาวะเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยระยะยาวก็อาจจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

ส่วนดอกเบี้ยนโยบาย 1 วันเป็นดอกเบี้ยระยะสั้น ที่ส่งสัญญาณต่อตลาดการเงิน แต่ดอกเบี้ยไว้กู้ลงทุนจะเป็นการดอกเบี้ยระยะยาว ซึ่งการลดดอดเบี้ยระยะสั้นไม่ได้แปลว่าดอกเบี้ยระยะยาวจะลดลง ถ้าคำอธิบายไม่ดี เช่น ถ้าเศรษฐกิจร้อนแรงไปลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ถามว่าว่าดอกเบี้ยระยะยาวจะลงไหม มันน่าจะขึ้นมากกว่า ฉะนั้น สิ่งสำคัญเราต้องรักษาความเชื่อมั่นให้ได้เพราะเป็นสิ่งที่นักลงทุนมองและ ให้ความสำคัญ

นายเจือ ราชสีห์ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ถาม - ถ้าเป็นสถาบันการเงินการจะให้กู้โครงการนี้หรือไม่ ดูจากอะไรเป็นสำคัญ และโครงการ 2 ล้านล้านบาท ที่จะเอาไปลงทุนเช่นนี้ ถือว่าคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือน่าจะให้กู้หรือไม่ 

นายประสาร ตอบ - การให้กู้เงินสิ่งสำคัญที่สถาบันการเงินจะเลือก คือ เลือกเงื่อนไขที่ดีที่สุด ให้ได้เงินคืนและได้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ อย่าไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาเงินทุนไหลเข้ามาในไทยเยอะ ถ้าเอาเงินนี้มาใช้ก็น่าจะช่วยแบ่งเบาภาระการดูแลสภาพคล่องของธปท.ได้ด้วย แต่การจะเอามากู้ลงทุนหรือไม่ คงต้องดูต้นทุนการกู้ที่เหมาะสมด้วย แต่สำหรับผมการจะกู้มาลงทุนหรือไม่ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ประโยชน์และ ประสิทธิภาพที่จะได้จากการลงทุนที่จะมาเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิผลของประเทศ การยกระดับการแข่งขันของประเทศมากกว่า

ทั้งนี้ ในปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจโลกมีหลายดุลยภาพ พอแบ่งได้ 3 ดุลยภาพ คือ 1.กลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวในระดับที่ดี เช่น ไทย  จีน ที่ยังสามารถเติบโตได้ 2.กลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่เติบโต 0% เช่น ยุโรป และ3.กลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว อย่างสหรัฐ และญี่ปุ่น ที่โตระดับ 1-2% ในภาวะนี้ที่โลกมีดุลยภาพที่แตกต่างกัน

ไทยก็อยู่ในกลุ่มแรกทำให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลมาไม่น้อย การจะทำให้เงินทุนไหลเข้ามาน้อยลง การจะให้ดอกเบี้ยรับภาระตรงนี้อาจจะไม่ได้ผล การรับมือควรมีการผสมผสานหลายเครื่องมือ  ซึ่งในส่วนนี้กระทรวงการคลังและธปท.ไม่ได้เห็นแตกต่างกัน เพียงแต่การให้น้ำหนักในแต่ละเครื่องมือ อาจจะแตกต่างกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทั่วโลก

ในภาวะนี้จะใช้ดอกเบี้ยหรือมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าเป็นเครื่องมือใน การดูแลให้เกิดสมดุลเงินทุนไหลเข้าออกไม่ให้กระทบอัตราแลกเปลี่ยนั้น ต้องดูให้เกิดความสมดุล เพราะโลกแยกเป็น 3 ดุลภาพ และดอกเบี้ยถูกใช้ให้รับภาระกิจสำคัญในการดูแลดุลยภาพในประเทศ การจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่านั้น อย่าลืมว่า แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ที่จะสามารถใช้ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายได้

แต่ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยมีภาระหนักที่จะต้องดูแลเศรษฐกิจในประเทศ และถือเป็นความยากลำบากของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ที่ปัจจุบันต้องพยายามรักษาดุลยภาพในประเทศ ขณะเดียวกันเงินทุนไหลเข้าก็ถูกมองให้เป็นภาระหนักของดอกเบี้ยด้วย เพราะต้องไปดูแลเงินทุนไหลเข้าด้วย

อย่างไรก็ตาม เงินทุนเคลื่อนย้ายต้องดูจากหลายปัจจัย  ดอกเบี้ยก็เป็นตัวหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน แต่มองว่าเรื่องการเข้ามาเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนคิดเป็นเปอร์เช็นต์ผลตอบ แทนเทียบกับดอกเบี้ยแล้วสูงกว่ามาก 

ส่วนการกู้มาลงทุน 2 ล้านล้านบาทควรกู้ในประเทศหรือต่างประเทศนั้น อาจจะไม่แตกต่าง เพราะดอกเบี้ยในประเทศไม่ได้ต่างจากดอกเบี้ยในต่างปนะเทศมากนัก หากต้องบวกการซื้อสัญญาความเสี่ยงล่วงหน้าจากอัตราแลกเปลี่ยนจากความผันผวน ของเศรษฐกิจโลกเข้าไปด้วย เหมือนที่ธุกิจขนาดใหญ่ยอมซื้อป้องกันความเสี่ยงการไปลงทุนในธุรกิจขนาดใหญ่ ในสิงคโปร์เป็นต้น ซึ่งคิดว่าการกู้ต้นทุนที่เหมาะสม สบน.น่าจะดูต้นทุนและทางเลือกที่เหมาะสมอยู่แล้ว

นายสมชัย จิตสุชน ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึงสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)  ถาม – การกู้เงินตามพ.ร.บ.ดังกล่าวนี้จะมีผลต่อสภาพคล่องในระบบและอัตราดอกเบี้ย อย่างไร และ การเข้าสู่สมดุลตามแผนที่สบน.ชี้แจงนั้น จะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะภาระดอกเบี้ยจากการกู้อาจจะเพิ่มขึ้นได้

นายประสาร ตอบ - สำหรับการกู้เงินจำนวนมากจะเป็นภาระกับงบประมาณประจำหรือไม่ ทำให้การจัดงบเข้าสู่สมดุลไม่ทำงบขาดดุลได้หรือไม่นั้น ถ้ามีการกู้และใช้งบประจำก็ยังทำได้ตามแผน แต่ถ้าไม่ได้ตามที่คาดก็อาจจะเกิดการผิดคาดได้ ส่วนจะเกิดการเบียดแย่งสภาพคล่องเงินกู้ระหว่างรัฐกับเอกชนหรือไม่นั้น ธปท.ยังไม่ได้ดูละเอียดต้องขอไปดูในรายละเอียดก่อน

สำหรับระดับหนี้สาธารณะ ถ้าดูจากแผนการลงทุนที่จะกู้เงินเฉลี่ยปีละ 3 แสนล้านบาท ในระยะเวลาประมาณ 7 ปี ตามที่ สบน.บอก ขณะนี้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องน่ากังวลอะไร แต่ถ้าเรามีรายจ่ายอื่นในอนาคตที่ไม่ปรากฏหรือที่เรียกการคลังแอบแฝง เช่น การประกันสุขภาพถ้วนหน้าในวันข้างหน้าอาจจะต้องจัดงบเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประ สิทิภาพการรักษาในส่วนนี้ หรือการที่ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งส่วนนี้อาจจะมีงบประมาณชดเชยให้ ซึ่งตัวเลขระดับหนี้อาจจะเปลี่ยนได้ ขณะที่ผลการจัดเก็บงบประมาณก็เปลี่ยนได้ ซึ่งปัญหานี้เคยทำให้บางประเทศมีภาวะคาดไม่ถึงมาแล้วก็มี เช่น สหรัฐที่เดิมมีหนี้สาธารณะเพียง 46% ของจีดีพี แต่มีปัญหาเลเมนบาร์เทอร์หนี้พุ่งเป็นเกิน 80%กว่า จนต้องมีเครื่องมือการเงินพิเศษมาใช้ถึงทุกวันนี้

นายเทวัญ ลิปตพัลลภ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ถาม – หลังจากมีเงินทุนไหลเข้าจำนวนมากแล้ว มีโอกาสหรือไม่ ที่เงินทุนต่างชาติจะไหลออก และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบันที่จะพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตของ ประเทศควรลงทุนในด้านใด และธปท.คิดว่าการลงทุนจะช่วยมีผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศปีนี้อย่างไร

นายประสาร ตอบ - เงินทุนมีโอกาสเคลื่อนย้ายได้เสมอ เป็นไปตามความเชื่อมั่น ตราบใดที่นักลงทุนยังเชื่อมั่นเงินทุนอาจจะยังไม่เคลื่อนย้ายแก ส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศมีการลงทุนดีๆในหลายด้สย ธปท.อาจจะมีความรู้จำกัด แต่ทุกอย่างที่เพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับการพัฒนาประเทศถือเป็นเรื่องที่ดี เช่น การพัฒนาการศึกษา ระบบขนส่ง ฯลฯ

ส่วนผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศอาจจะยังไม่เห็นในปีนี้ เพราะโครงการน่าจะเริ่มได้ประมาณปลายปี และในปี 2557 ตามที่สบน.บอก เพราะยังอยู่ในช่วงเริ่มดำเนินการ

นายชัย ชิดชอบ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ถาม - ปัจจุบันเงินสำรองประเทศมีจำนวนเท่าไร เพียงพอหรือไม่ ธปท.สามารถอนุมัติเบิกจ่ายได้เท่าไหร่ และมีกฎหมายให้นำเงินสำรองฯออกมาใช้ลงทุนทำถนนพัฒนาประเทศได้หรือไม่ และเงินคงคลังของหลวงตามหาบัวฯปัจจุบันมีเท่าไหร่

นายประสาร ตอบ - สำหรับเงินสำรองฯปัจจุบันไม่รวมภาระซื้อล่วงหน้ามีประมาณ 1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และทองคำในทุนสำรองมีประมาณ 150 ตัน และทองคำของหลวงตามีประมาณ 13 ตัน การรักษาทุนสำรองประเทศมีการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ และถือในสกุลหลัก6 สกุล เพื่อจากเดิมที่ถือ 4 สกุล คือ เงินเหรียญสหรัฐ ยูโร ปอนด์ และเยน และเพิ่มมาถือดอลลาร์ออสเตรีย และดอลลาร์แคนนาดาด้วย เพราะ 4 สกุลหลักที่ถืออยู่เดิมผลตอบแทนต่ำ  ลงทุนปัจจุบันได้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ประมาณ 3%  

ส่วนเงินสำรองจะเอามาใช้ได้หรือไม่นั้น ถ้ามีเงินมาแลกก็เอาไปใช้ได้ เพราะสินทรัพย์ที่ธปท.ถืออยู่เป็นสินทรัพย์ต่างประเทศ ปัจจุบันมีกรรมสิทธ์ที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนในหุ้น พันธบัตร หรือลงทุนโดยตรงรวมทั้งหมดที่แลกเป็นเงินบาทเข้ามามีประมาณ 3 แสนล้านบาท ส่วนสำรองที่หนุนหลังธนบัตรออกใช้มีประมาณ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ถามว่าถ้าเกิดวิกฤตจะรับไหวหรือไม่ เข้าใจว่าถ้าเกิดจริงในส่วนของ 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐคงไม่ออกพร้อมกันทันที เพราะส่วนที่เป็นโรงการเป็นธุรกิจลงทุนโดยตรงที่ต่างชาติเข้ามคงไม่สามารถ ขายกิจการเอาเงินออกได้ทันที ฉะนั้น เงินออก 1 ใน 3 น่าจะรับ

ส่วนบัญชีเงินสำรองของรัฐบาลที่เปิดบัญชีฝากไว้ที่ธปท. ส่วนใหญ่จะมีจำนวนที่ค้างไว้ไม่มาก เพราะเหมือนบัญชีเผื่อเรียก จะเข้ามาฝากมากเฉพาะช่วงที่มีเก็บภาษีได้มาก

อย่างไรก็ตาม ปริมาณเงินสภาพคล่องหมุนเวียนในระบบมีเพียงพอ เพราะถ้าจีดีพีโต 5% บวกเงินเฟ้อที่ 3 % ก็เท่ากับว่าเศรษฐกิจจริงจะมีความต้องการเงินเพิ่มขึ้น 8% ซึ่งธปท.จะดูแลให้เพียงพอกับเศรษฐกิจจริงเท่นั้น เพราะถ้าให้มีมากไปก็กระทบต่อเศรษฐกิจในอนาคตได้

การช่วยให้ดอกเบี้ยพันบัตรไม่เพิ่ม ให้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 4.27% จะช่วยลดต้นทุนรัฐบาลได้มากทีเดียว แต่ในความเป็นจริงดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กบความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งสิ่งที่ธปท.ทำได้ คือ รักษาความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้มีความน่าเชื่อถือ เพื่อไม่ให้การคาดการณ์ดอกเบี้ยหรือเงินเฟ้อในอนาคตเปลี่ยนแปลงมากเกินไป

อย่างไรก็ตามดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับความสมดุลของดีมานด์และ ซัพพลายของเงินในอนาคตด้วย ซึ่งถ้านักลงทุนเชื่อมั่น เศรษฐกิจมีวินัย ดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 48 ปี ก็อาจจะอยู่ที่ระดับ 4.27% ได้ แต่โอกาสก็เป็นไปได้น้อย แต่ดอกเบี้ยระดับนี้ถือว่าต่ำ ถ้าเทียบการเติบโตที่ระดับ 5% และบวกเงินเฟ้อที่ระดับ 3% เพราะเศรษฐกิจมีโอกาสเติบโตได้ในระยะต่อไป เช่นเดียวกันการที่เศรษฐกิจดีค่าเงินบาทก็มีโอกาสที่จะแข็งค่าขึ้น อย่างเมื่อปี 2539 -2540 ที่ค่าเงินบาทอยู่ที่ 50 กว่าบาท แต่ปัจจุบันผ่านไป 15-16 ปี เงินบาทกลับมาอยู่ที่ 28- 29 บาทใกล้ระดับที่เคยอยู่ที่ 27 บาทกว่าๆเมือนก่อนวิกฤตปี 2540 ก็เป็นไปได้ เพราะเงินมันสวิงได้ เปลี่ยนแปลงได้

ไม่แน่ว่าอีก 15 ปีข้างหน้า มีผู้ว่าการคนใหม่ที่ไม่ใช่ผมแล้วอาจจะมานั่งชี้แจงการเปลี่ยนของค่าเงินใน ลักษณะนี้อีกก็เป็นได้   ดังนั้น สิ่งที่ธปท.ทำได้ดีที่สุดคือการรักษาความน่าเชื่อถือทางการเงินเพื่อไม่ให้ คนหรือนักลงทุนคาดการณืไปมากกว่าความจริงจนเกิดการรืเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เกินไป


ธปท.แจงกู้2ล้านล้าน รัฐต้องมีวินัยการเงิน

แบงก์ชาติแจง กมธ.กรณีกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ย้ำหากรัฐบาลอยากให้ดอกเบี้ยยาวอยู่ที่ 2% ต้องรักษาวินัยการเงิน สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน

วันนี้ (9 พ.ค.) คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... หรือ การกู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ที่มี นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เชิญ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาให้ความเห็นและมุมมองที่มีต่อโครงการดังกล่าว

ในที่ประชุมมีคำถามถึง นายประสาร มากมาย ส่วนใหญ่เป็นคำถามที่แสดงถึงความเป็นห่วงเรื่องอัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมที่รัฐบาลประเมินไว้ที่ 5% ต่อปีว่ามีโอกาสปรับขึ้นหรือไม่ เพราะถ้าดอกเบี้ยในอนาคตขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 8-9% อาจทำให้วงเงินที่รัฐบาลต้องใช้ในการลงทุนรวมดอกเบี้ยมีแนวโน้มว่าจะสูงถึง 5 ล้านล้านบาทตลอดอายุโครงการกู้ 50 ปีได้ รวมทั้งมีคำถามที่แสดงถึงความเป็นห่วงต่อระดับหนี้สาธารณะของรัฐบาล ตลอดจนมุมมองต่อความคุ้มค่าของโครงการ และการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ

นายประสาร กล่าวว่า ในส่วนของดอกเบี้ยจากภาระการระดมทุนที่รัฐบาลประเมินไว้ที่ 5% นั้น ธปท.คงไม่สามารถตอบได้ว่าอนาคตต้นทุนดอกเบี้ยส่วนนี้จะเป็นเท่าไร เพราะต้องขึ้นกับความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งถ้าธปท.ดำเนินงานโดยไม่ขัดต่อหลักวินัยทางการเงิน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดเงินได้ อัตราดอกเบี้ยตรงนี้ก็คงไม่ปรับขึ้น

"ดอกเบี้ย 5% เข้าใจว่า รัฐบาลคงอ้างอิงจาก บอนด์รัฐบาลอายุ 48 ปี ซึ่งตอนนี้ดอกเบี้ยอยู่ที่ปีละ 4.27% ถือเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก สาเหตุที่นักลงทุนยอมลงทุนในอัตราดอกเบี้ยเท่านี้ ส่วนหนึ่งเพราะเขาเชื่อว่าเงินเฟ้อในอนาคตจะไม่เพิ่มขึ้นรุนแรงนัก แต่ตราบใดที่นักลงทุนไม่เชื่อมั่นว่า แบงก์ชาติจะคุมเงินเฟ้อได้อยู่ เขาก็คงไม่กล้าลงทุน ทำให้อัตราดอกเบี้ยต้องปรับเพิ่มขึ้นเพื่อจูงใจให้เขาเข้ามาลงทุน"นายประสารกล่าว

สำหรับข้อเสนอที่อยากให้ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อลดต้นทุนการกู้ยืมเงินระยะยาวลงนั้น นายประสาร กล่าวว่า ดอกเบี้ยนโยบายเป็นดอกเบี้ยระยะสั้น แม้จะถูกใช้เป็นการส่งสัญญาณกับตลาดเงิน แต่ในแง่ความสัมพันธ์กับดอกเบี้ยระยะยาวนั้น แม้จะมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันบ้าง แต่ไม่จำเป็นว่าต้องไปในทางเดียวกันเสมอ

นายประสาร กล่าวด้วยว่า การลดดอกเบี้ยระยะสั้น ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวลดลงตาม ซึ่งที่ผ่านมามีกรณีตัวอย่างในหลายประเทศที่สะท้อนชัดเจนว่า แม้ดอกเบี้ยระยะสั้นจะปรับลดลง แต่ดอกเบี้ยระยะยาวกลับเพิ่มขึ้น เพราะนักลงทุนห่วงว่าจะเกิดเงินเฟ้อ จึงไม่กล้าลงทุนในพันธบัตรระยะยาวเนื่องจากเกรงว่าจะไม่คุ้มค่าการลงทุน โดยหันไปลงทุนในตราสารประเภทอื่นแทน ทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวต้องปรับขึ้นเพื่อดึงดูดให้คนกลับมาลงทุน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

คำต่อคำ"ประสาร"แจงกมธ.กู้2ล้านล้าน

Tags : คำต่อคำ ประสาร แจงกมธ. กู้2ล้านล้าน

view