สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ศึก บาทแข็ง พักรบรอประทุรอบใหม่

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

การแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทแข็งดูคลี่คลาย เมื่อค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลง ทั้งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และรัฐบาลยังไม่ได้ออกมาตรการอะไรออกมาควบคุมก็ตาม

ค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี แข็งค่าไปถึง 28.55 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และลงมาอยู่ที่ 2930 บาทต่อเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน ซึ่งเป็นระดับที่มีการแข็งค่าสอดคล้องกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค

การที่ค่าเงินบาทอ่อนลงยังทำให้ศึกค่าเงินบาทระหว่างกระทรวงการคลัง และ ธปท.ดูจะสงบลงด้วยเช่นกัน ไม่เหมือนตอนที่ค่าเงินบาทแข็งค่าผ่าน 29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ รัฐบาลโดยกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ไล่บี้ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ทุกวันให้มีการลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อแก้บาทแข็งค่า

ขณะที่ ธปท.ก็ไม่ยอมอ่อนโอนตามฝ่ายการเมือง ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ 2.75% เพราะเป็นห่วงเสถียรภาพเศรษฐกิจที่เกิดจากหนี้สินภาคครัวเรือน และฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มมีสัญญาณก่อตัวขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้มาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

การตัดสินใจและเหตุผลของ ธปท.ในการคงดอกเบี้ย สร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายการเมืองอย่างมาก ถึงขนาดกิตติรัตน์หลุดปากว่าอยากจะปลดผู้ว่าการ ธปท.ทุกวัน ที่ไม่ยอมลดดอกเบี้ยนโยบายให้

แม้แต่ฝ่ายการเมืองอย่าง วราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ยังพยายามออกมากดดันให้ผู้ว่าการ ธปท.รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการไม่ลดดอกเบี้ย และทำให้ค่าเงินบาทแข็งไม่หยุด

หลังจากนั้นก็เกิดสหสามัคคี คนในฝั่งรัฐบาลดาหน้าออกมากดดัน ธปท.ให้ลดดอกเบี้ย

ความพยายามของฝ่ายการเมือง ถึงขนาดมีการคิดแก้กฎหมาย ธปท. เพื่อให้ปลดผู้ว่า ธปท. ได้ง่ายเหมือนเด็ดกล้วยที่ผ่านมา เนื่องจากกฎหมายใหม่ของ ธปท. การจะปลดผู้ว่าออกจากตำแหน่งจะต้องมีความผิดชัดเจน ไม่สามารถอ้างพอเป็นพิธีว่าเพื่อความเหมาะสมไม่ได้

แม้แต่กลุ่มคนเสื้อแดงยังร่วมวงกับรัฐบาล ทั้งรวมตัวกันไปขับไล่นายประสารออกจากตำแหน่งถึงหน้า ธปท. เพราะไม่ยอมลดดอกเบี้ยนโยบายทำให้บาทแข็ง ส่งผลให้รัฐบาลขายข้าวที่จำนำมาไม่ได้ แม้แต่ วีรพงษ์ รามางกูร ประธาน ธปท.ยังออกมาขย่มองค์กรของตัวเองว่า การที่ ธปท.ไม่ลดดอกเบี้ยจะทำให้ผลขาดทุนของ ธปท.สูงถึง 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะกลายเป็นวิกฤตเหมือนปี 2540

ความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างรัฐบาล และ ธปท.ดูเหมือนไม่มีทางออก เพราะต่างฝ่ายต่างมีจุดยืนที่ไม่ตรงกัน รัฐบาลต้องการให้ลดดอกเบี้ย แต่ ธปท.ต้องการให้ออกมาตรการอื่นที่ไม่ใช่ลดดอกเบี้ย

โดย ธปท. ได้เสนอให้ 4 มาตรการในการดูค่าเงินบาท ให้รัฐบาลพิจารณา ประกอบด้วย

1. ไม่ให้นักลงทุนต่างประเทศซื้อพันธบัตร ธปท.

2. นักลงทุนต่างประเทศซื้อพันธบัตรได้เฉพาะพันธบัตรของกระทรวงการคลัง และพันธบัตรของรัฐวิสาหกิจ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน หรือ 6 เดือน

3. เก็บค่าธรรมเนียมและภาษีจากนักลงทุนต่างประเทศที่ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน ในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งมาตรการนี้ ธปท.จะต้องเสนอกระทรวงการคลังให้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

4. ให้นักลงทุนที่นำเงินมาลงทุนต้องทำป้องกันความเสี่ยง รวมถึงให้มีการสำรองระดับหนึ่ง

ปรากฏว่า นายกิตติรัตน์ ไม่พอใจมาตรการที่ ธปท. เสนอมา เพราะไม่มีมาตรการลดดอกเบี้ย ที่รัฐบาลยืนยันให้ ธปท. ดำเนินการมาตลอด อีกทั้งยังไม่เห็นด้วยกับมาตรการกันสำรอง เพราะจะทำให้นักลงทุนตื้นตระหนกเหมือนในอดีตที่ ธปท. เคยออกมาตรการสำรอง 30% เมื่อตอนปี 2549

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลกับ ธปท.จะมีความขัดแย้งยังรุนแรงในการหามาตรการแก้ไขบาทแข็ง แต่ค่าเงินบาทก็เริ่มมีการอ่อนค่าลง เพราะนักลงทุนเริ่มเห็นว่า ธปท.มีมาตรการที่ชัดเจนจะนำมาใช้ดูแลหากมีความจำเป็น แม้ว่ายังไม่ได้นำมาใช้เพราะยังมีความเห็นต่างกับรัฐบาลก็ตาม

ในส่วนของรัฐบาลก็ยังมีการรุกไล่ ธปท.อีกคำรบ เมื่อกิตติรัตน์ได้เรียกคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของ ธปท.มาประชุมร่วมกันกับฝ่ายรัฐบาลและเอกชน ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ไม่เคยมีการปฏิบัติมาก่อน

ก่อนการประชุมมีการคาดการณ์กันว่า รัฐบาลต้องการให้ภาคเอกชนมากดดันให้ กนง.ลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้แก้ไขค่าเงินบาทแข็ง

ขณะที่ ธปท.ก็ตั้งการ์ดสู้ มีการออกหมายชี้แจงการดำเนินการดูแลค่าบาทแข็งของ ธปท.ผ่านทางเว็บไซต์ของ ธปท. ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ดำเนินการเช่นนี้

สาระสำคัญของการชี้แจงบทบาทหน้าที่และความเป็นอิสระของ ธปท. ได้รับการยอมรับการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.มีความน่าเชื่อถือและโปร่งใส ขณะที่การดูแลความผันผวนของอัตรา ธปท. ได้ยืนยันว่ามีการดูแลให้สอดคล้องกับประเทศคู่แข่งและผู้ประกอบการปรับตัว ได้

นอกจากนี้ ธปท.ยังชี้แจงการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ย พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนหากมีความจำเป็น และเห็นว่าการลดดอกเบี้ยอาจจะกระตุ้นหนี้ภาคครัวเรือน และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้ร้อนแรง ซึ่งต้องการใช้มาตรการควบคุมสินเชื่อของสถาบันการเงินช่วย ซึ่งการดำเนินการต้องใช้ทั้งกับธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เพราะมีสัดส่วนการปล่อยกู้สูงถึง 1 ใน 3 ของ ธปท.ยังชี้แจงในจดหมายว่า การขาดทุนของ ธปท.ไม่ส่งผลให้เกิดวิกฤตเหมือนปี 2540 เพราะสถานการณ์ไม่เหมือนกัน และการขาดทุนของธนาคารกลางเป็นเรื่องปกติ และ ธปท.หาทางแก้ไขอยู่

การออกจดหมายชี้แจงละเอียดยิบของ ธปท. ถึง 9 หน้ากระดาษ ถูกมองว่าเป็นการตีกันแรงกดดันก่อนการประชุมร่วมนัดพิเศษกับภาคเอกชนที่มี รัฐบาลเป็นตัวกลาง

อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กลับผิดความคาดหมาย ไม่มีการพูดถึง 4 มาตรการ ที่ ธปท.เสนอในการดูค่าเงินบาท ขณะที่รัฐบาลรวมทั้งเอกชนก็ไม่มีการกดดันให้ ธปท.ลดดอกเบี้ย ต่างออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่าทุกฝ่ายเห็นฟ้องต้องกัน

ที่สำคัญฟากเอกชนได้มีการยื่นข้อเสนอแก้บาทแข็ง 7 ข้อ ก็ไม่มีการเสนอให้ลดดอกเบี้ย โดยมาตรการที่ส่วนใหญ่ให้มีการขอให้ ธปท.ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวน และไม่ให้แข็งค่ากว่าคู่แข็ง ก็เป็นเรื่องที่ ธปท.ดำเนินการอยู่แล้ว

มีการประเมินกันว่า การที่สงครามค่าเงินบาทระหว่างรัฐบาลกับ ธปท.สงบลงแบบกะทันหันมาจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย เพราะค่าเงินบาทอ่อนลงแล้ว การดื้อรันให้ ธปท.ลดดอกเบี้ยอยู่เหมือนเดิม จะถูกมองว่ารัฐบาลมีนัยแอบแฝง ทั้งต้องการลดต้นทุนเงินกู้ของรัฐบาลเอง หรือว่ามีกลุ่มธุรกิจบางกลุ่ม โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ได้รับประโยชน์จากการลดดอกเบี้ย

นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องการสยบกระแสรัฐบาลหาเรื่องปลดผู้ว่าการ ธปท. เพื่อส่งคนของตัวเองเข้าไปนั่งแทน รวมถึงกระแสภาพลบว่ารัฐบาลสร้างข่าวการลดดอกเบี้ยและค่าเงินบาท เพื่อให้คนลืมประเด็นจำนำข้าวที่มีปัญหารุมเร้าทั้งระบายข้าวไม่ออก ขาดทุนจำนวนมาก และเงินขาดมือไม่พอรับจำนำข้าวรอบใหม่

ทว่า ศึกค่าเงินบาทของรัฐบาล และ ธปท.เป็นการสงบศึกเพียงชั่วคราวเท่านั้น รัฐบาลยุติศึก เพื่อออมกำลังไว้เปิดศึกกับ ธปท.รอบใหม่ เมื่อสถานการณ์เอื้อมากกว่านี้

เพราะเป็นที่รู้กันว่า ค่าเงินบาทของไทยจะต้องแข็งค่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีอันดับต้นๆ ในภูมิภาค ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นและมีการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล ทำให้มีเงินจำนวนมากไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง และ ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่ามาตลอดช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่า ธปท. ปี 2544-2549 ค่าเงินบาทจาก 45.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เป็น 37.56 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แข็งค่าขึ้น 20.87% เฉลี่ยปีละ 4%

ต่อมาสมัย นางธาริษา วัฒนเกส เป็นผู้ว่า ธปท. ปี 2549-2553 ค่าเงินบาทจาก 37.56 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แข็งค่าเป็น 30.36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แข็งค่าขึ้น 23.72% เฉลี่ยปีละ 5% กว่า

มาถึงยุคนายประสารเข้ามาเป็นผู้ว่าค่าเงินอยู่ที่ 30.36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ถึงปัจจุบันค่าเงินแข็งขึ้น 4% ซึ่งค่าเงินบาทไทยก็ยังมีแนวโน้มที่แข็งจากเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่องหากไม่มี มาตรการออกมาคุมซึ่งการแข็งค่าเงินบาทรอบใหม่ก็จะทำให้ศึกระหว่างรัฐบาลกับ ธปท.ปะทุขึ้นอีกครั้ง และมีแนวโน้มรุนแรงกว่าเดิม เพราะรัฐบาลมีเป้าอยู่ในใจว่าดอกเบี้ยต้องลด และต้องเปลี่ยนผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ให้ได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : บาทแข็ง พักรบ รอประทุ รอบใหม่

view