สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดร.โกร่ง ชวนให้คิด เหตุการณ์หลังต้มยำกุ้ง 2540

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ คนเดินตรอก โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

เหตุการณ์ต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นที่นำความเสียหายอย่างใหญ่หลวงมาสู่ประเทศไทย เมื่อมีการประกาศให้ค่าเงินบาทลอยตัวเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ค่าเงินบาทที่เราต่อสู้กับ "กองทุนตรึงค่า" หรือ Hedge Funds เมื่อเราประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ค่าเงินบาทก็ดำดิ่งลงทันทีจาก 25 บาทต่อดอลลาร์ ลงไปถึง 56 บาทต่อดอลลาร์ เพราะเราเอาทุนสำรองไปต่อสู้จนทุนสำรองเกือบหมด เหลือเพียง 800 ล้านเหรียญเท่านั้น แล้วเราก็ต้องขอกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ 17,000 ล้านเหรียญ และต้องยอมรับเงื่อนไขมหาโหดจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ความผิดพลาดก่อนหน้านั้นคงไม่ต้องพูดถึง

หลังจากนั้นเศรษฐกิจก็ซบเซาอย่างหนัก อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหดตัวลงอย่างน่าใจหาย ธุรกิจสถาบันการเงิน ห้างร้านต่าง ๆ ประสบกับการขาดทุนจนต้องปิดตัวเองลงเกือบหมด มีคนเคยเปรียบเทียบความเสียหายครั้งนี้เทียบเท่ากับการเสียกรุงศรีอยุธยาในปี 2310 เมืองถูกเผาราบเป็นหน้ากลอง

เศรษฐกิจซบเซาอย่างหนัก การนำเข้าลดลงอย่างฮวบฮาบ ธุรกิจภาคอุตสาหกรรมและบริการพังพินาศราบเรียบ เหลือแต่ภาคเกษตรกรรมเท่านั้นที่ยังยืนยงคงอยู่ได้ แถมขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะค่าเงินที่ตกต่ำลงทำให้สินค้าภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากการ เกษตรสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้นกว่าเท่าตัวแรงงานที่ถูก"ลอยแพ"จากภาค อุตสาหกรรมและภาคบริการหลั่งไหลกลับบ้านไปสู่ภาคเกษตรอีกครั้งหนึ่ง



ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งเคยขาดดุลถึง8เปอร์เซ็นต์ก่อนวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งกลับมาเกินดุลถึง 8 เปอร์เซ็นต์ภายในระยะเวลาอันสั้น คือประมาณ 12 เดือนหลังจากนั้นทางการพยายามแก้ไขโดยการลดอัตราดอกเบี้ยลงจนต่ำติดดิน เพื่อหวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การณ์กลับมิได้เป็นอย่างที่คาดหวังเอาไว้ แทนที่จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินที่ได้จากการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดกลับไหลออก

เข้า มาเท่าไหร่ก็ไหลออกหมด เพราะดอกเบี้ยข้างนอกสูงกว่าดอกเบี้ยข้างในมีเรื่องเรียกร้องให้ขึ้นอัตรา ดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยข้างนอกทางการก็ไม่ฟังเคยเปรียบเทียบ ว่า"เงิน" ก็เหมือน "น้ำ" น้ำไหลจากที่สูงไปที่ต่ำ เงินไหลจากที่มีผลตอบแทนต่ำไปยังที่ให้ผลตอบแทนสูง ตนเป็น "นายประตูน้ำ" น้ำไหลออกแทนที่จะตำหนิตัวเอง กลับไปต่อว่าด่าทอ "น้ำ" ค่าเงินก็แข็งค่าขึ้น ไม่มีเสถียรภาพจนเริ่มกระทบต่อการส่งออกอีกครั้งหนึ่ง ทางการที่กำหนดนโยบายการเงินก็ไม่ฟัง ไม่มีใครสนใจลงทุนที่นี่ ไปลงทุนต่างประเทศดีกว่า ผลตอบแทนสูงกว่า สภาพคล่องในประเทศแห้งผาก

การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในปี 2544 จากรัฐบาลประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาลไทยรักไทย รัฐบาลไทยรักไทยจึงตัดสินใจเปลี่ยนตัว

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ว่าการคนใหม่จึงประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นขั้นเป็นตอน เงินจึงหยุดไหลออก สภาพในตลาดการเงินจึงฟื้นคืนมาอีกครั้งหนึ่ง และอีกปีต่อมาคือปี 2545 เศรษฐกิจก็เริ่มฟื้นตัว ดุลบัญชีเดินสะพัดก็ยังเกินดุลมาเรื่อย ๆ เพราะเราลงทุนต่ำกว่าเงินออมที่เราทำมาขายได้ด้วยลำแข้งเราเอง ไม่ได้ไปกู้หนี้ยืมสินจากต่างประเทศ ค่าเงินบาทก็แข็งตัวเรื่อย ๆ มา สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ส่งออกและเกษตรกรเป็นระยะมาเรื่อย ๆ ผู้ส่งออกและเกษตรกรก็ต้องปรับตัวเรื่อยมา

มาบัดนี้ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป ลดอัตราดอกเบี้ยของตนลงจนใกล้ศูนย์ เศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้น จึงเพิ่มปริมาณเงินขึ้นมาจำนวนมหาศาล เงินก็หลั่งไหลมาหาที่ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า จีนนั้นยังไม่เปิดเสรีทางการเงิน ประเทศบางประเทศก็ไม่น่าลงทุน เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ แม้แต่มาเลเซียที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่า ก็เหลือแต่ไทย เกาหลีใต้ และไต้หวัน ส่วนฮ่องกงก็มีระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ตรึงไว้กับดอลลาร์สหรัฐ

ก็เหลือไทยเราที่พื้นฐานดีกว่าคนอื่นขณะเดียวกันทางการก็กำหนดอัตราดอกเบี้ยทางการไว้ที่2.75เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ดอกเบี้ยดอลลาร์สหรัฐ เยน และยูโร มีอัตราดอกเบี้ยต่ำแค่ 0.0 ถึง 0.25 เปอร์เซ็นต์ เงินก็ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ค่าเงินบาทจึงแข็งขึ้นมาเรื่อย ๆ จนบัดนี้

เมื่อค่าเงินแข็งขึ้น ทางการก็ออกมาเอาเงินบาทซื้อดอลลาร์ไปเก็บ พร้อม ๆ กับออกพันธบัตรดอกเบี้ยแพงตามที่ตนกำหนด เอาดอลลาร์และเงินอื่น ๆ เช่น เยนและยูโร เข้ามาเก็บเป็นทุนสำรองซึ่งมีดอกเบี้ยต่ำ ก็เกิดการขาดทุนมโหฬาร เรื่องมันก็ง่าย ๆ อย่างนี้

ที่อ้างว่ากลัวเงินจะเฟ้อถ้าลดดอกเบี้ยลงเพราะค่าเงินบาทจะไม่แข็ง อย่างนี้ก็อาจจะจริงอยู่บ้าง แต่ทางการก็ไม่ต้องการให้เงินบาทแข็งเกินไปไม่ใช่หรือ จึงออกมาแทรกแซงตลาดจนขาดทุนมากมายอย่างนี้ ส่วนเงินเฟ้อนั้นมันไปกับอัตราเงินเฟ้อของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันที่คิดเป็นเงินบาทเป็นหลัก

มีสื่อมวลชนบางคนออกมาโจมตี หรือมาถามตรง ๆ ต่อหน้าว่า เมื่อก่อนปี 2544 เห็นพูดดัง ๆ ว่าให้ทางการขึ้นดอกเบี้ย แล้วทำไมผ่านมา 10 ปีจึงกลายมาเป็นคนบ้าเลือดมาตะโกนให้ลดดอกเบี้ย จะเอาอย่างไรแน่ ถ้าเมื่อ 10 ปีก่อนถูก เที่ยวนี้ก็ต้องผิด ที่เคยเชื่อถือก็เชื่อถือไม่ได้แล้ว เพราะดูจะเปลี่ยนไป สงสัยมีเหตุผลการเมือง

ฟังแล้วก็เหนื่อย ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรกับ คนไม่รู้สถานการณ์แต่ละช่วงเวลา รู้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ สุก ๆ ดิบ ๆ และไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้

"ต้มยำกุ้ง" เมื่อระหว่างปี 2540-2544 กับปัจจุบัน สถานการณ์มันไม่เหมือนกัน มันกลับตาลปัตร ก่อนปี 2540 เราไปกำหนดดอกเบี้ยเอาไว้ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินดอลลาร์ ดอกเบี้ยเงินดอลลาร์มันไม่ได้คงที่ตายตัว เงินที่ไหลออกหมดเราทำมาหาได้เท่าไหร่ก็ออกไปกินดอกเบี้ยสูง ๆ นอกประเทศ เงินในประเทศจึงเหลือน้อย สภาพคล่องไม่มี ดอกเบี้ยต่ำก็จริงแต่ไม่มีใครกู้ การลงทุนก็ไม่เกิด การจ้างงานก็ไม่มี การบริโภคในเมืองก็หด เพราะความต้องการไม่มี การค้าระหว่างประเทศก็ซบเซา

หลังจากนั้นมาดุลบัญชีเดินสะพัดก็เกินดุลมาตลอด เหตุการณ์ขณะนี้กลับกันกับเมื่อหลังปี 2540 กล่าวคือ อเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป ทยอยกันลดอัตราดอกเบี้ยลงเรื่อย ๆ มิหนำซ้ำก็เพิ่มปริมาณเงินดอลลาร์ เงินเยน เงินยูโรเป็นจำนวนมาก เรากลับตรึงดอกเบี้ยไว้สูง เงินก็ไหลเข้าจากการเกินดุลเพิ่มขึ้น ๆ เงินก็แข็งขึ้น ๆ ทำให้ผู้ส่งออกเดือดร้อน เกษตรกรได้ราคาต่ำลง โครงการรับจำนำสินค้าเกษตรก็ต้องขาดทุนมากกว่าที่ควรจะเป็น แถมราคาสินค้าเกษตรเราในต่างประเทศก็แพงเกินเหตุ

อุตสาหกรรมรายย่อยที่ผลิตวัตถุดิบ ชิ้นส่วนส่งโรงงานใหญ่ก็เดือดร้อน เพราะโรงงานใหญ่ก็สั่งวัตถุดิบชิ้นส่วนจากต่างประเทศ ราคาถูกกว่าชิ้นส่วนวัตถุดิบในประเทศ เดือดร้อนกันไปหมด

ความคิดและจุดยืนทางเศรษฐศาสตร์ไม่ได้เปลี่ยนไป แต่เหตุการณ์ของโลกมันเปลี่ยนไป นโยบายการเงินก็ต้องเปลี่ยนไป ไม่ใช่หยุดอยู่กับที่อย่างที่ถูกต่อว่า

สังคมไทยเป็นสังคมเปิด เสรีภาพในเรื่องความคิดความเห็นเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องสำคัญ ต้องอย่าหยุดคิด การเปลี่ยนแปลงล้วนมีเหตุปัจจัย ตามหลัก "อนิจจัง" เราอย่าหยุดอยู่กับที่


ตรรกะนั้นไม่เปลี่ยน ไม่มีอะไรแอบแฝง อธิบายได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ดร.โกร่ง ชวนให้คิด ต้มยำกุ้ง 2540

view