สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บอนด์เอเชียเสี่ยงฟองสบู่ต่างชาติจ่อขนเงินออก ดันต้นทุนหนี้พุ่ง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ขณะที่ตัวเลขการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐเริ่มสะท้อนให้เห็นทิศทางที่ สดใสมากขึ้นเรื่อยๆ นักวิเคราะห์ทั้งหลาย โดยเฉพาะผู้ที่จับตามองความเคลื่อนไหวในภูมิภาคเอเชียมาอย่างต่อเนื่องต่าง อดหวาดวิตกไม่ได้

เหตุเพราะแนวโน้มข้างต้นย่อมส่งผลถึงการที่นักลงทุนจากชาติตะวันตกจะดึง เงินออกจากภูมิภาค เช่น ตลาดพันธบัตรหรือตราสารหนี้ (บอนด์) เพื่อนำไปลงทุนในตลาดสหรัฐที่เริ่มขยับขยายเติบโตแทน ซึ่งจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของบอนด์ในตลาดเอเชียพลิกกลับสูงขึ้นจนกลายเป็น ต้นทุนภาระที่บริษัทต่างๆ ในเอเชียต้องแบกรับเพิ่มเติม กระทั่งทำให้เกิดฟองสบู่ในตลาดหนี้ของเอเชียในที่สุด

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าในช่วงหลายปีก่อน ตลาดพันธบัตรถือเป็นทางเลือกยอดนิยมในการระดมทุนของหลายบริษัทในเอเชีย เนื่องจากเป็นแหล่งกู้เงินระยะยาวที่ไม่จำเป็นต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ใดๆ และการเติบโตของตลาดตราสารหนี้ดำเนินไปได้ด้วยดี เนื่องจากอานิสงส์ของนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ที่ทำให้เกิดกระแสทุนร้อนไหลเข้ามาเอเชียเพื่อหาผลตอบแทนที่สูงกว่า

เห็นได้จากข้อมูลของซิตี้ กรุ๊ป ที่ระบุชัดว่า ผลจากนโยบายคิวอีทำให้มีเงินไหลเข้ามาในเอเชีย เฉพาะในตลาดตราสารหนี้มากกว่า 5,600 ล้านเหรียญสหรัฐ นับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2555 ขณะเดียวกัน การประเมินจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ยังพบว่า ชาวต่างชาติมีสัดส่วนในการถือครองตราสารหนี้ในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น โดยในอินโดนีเซียคิดเป็นสัดส่วนราว 50% ขณะที่มาเลเซียและฟิลิปปินส์เป็นสัดส่วนราว 40%

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ข้างต้นเริ่มมาถึงจุดพลิกผัน โดย เทียม ฮี อึ้ง นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) อธิบายว่า รัฐบาลของเอเชียจำเป็นต้องเฝ้าระวังทั้งปริมาณเงินที่ไหลเข้ามาในเอเชีย และเตรียมพร้อมรับความเป็นไปได้ที่เงินจะทะลักออก เมื่อเศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรปขยายตัวเติบโตกลับคืนมาอีกครั้ง

เนื่องจากเมื่อใดก็ตามที่ผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ของสหรัฐและยุโรปปรับ ตัวเพิ่มสูงขึ้น นักลงทุนย่อมไม่มีลังเลที่จะเคลื่อนย้ายเงินไปลงทุนในตลาดดังกล่าว เช่นเดียวกันกับที่ขนเงินเข้ามาลงทุนในเอเชียในช่วง 45 ปีที่ผ่านมา

และการตัดสินใจดังกล่าวย่อมจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินภายใน ภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ด้วยแน่นอน

เพราะปริมาณหนี้ที่ถือครองโดยต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปสกุลเงินสากลคือ เงินเหรียญสหรัฐจะกดค่าเงินท้องถิ่นนั้นๆ จนทำให้หนี้ที่อยู่ในรูปสกุลเงินเหรียญสหรัฐมีมูลค่าแพง สำหรับบริษัทเอเชียจนอาจทำให้เกิดการล้มละลายได้โดยง่าย เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงปี 2540 ที่ครั้งนั้นเพียงแค่ข้ามคืน ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนจาก 25 บาทต่อเหรียญสหรัฐ กลายเป็น 56 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

โธมัส เมียว หัวหน้าตลาดเครดิตจากธนาคารซีไอเอ็มบีในกรุงกัวลาลัมเปอร์ กล่าวว่า แม้ผลกระทบอาจจะไม่รุนแรงเท่าเมื่อครั้งวิกฤตในปี 2540 เพราะแทบทุกประเทศมีการวางมาตรการป้องกันไว้ระดับหนึ่งแล้ว แต่การไหลออกอย่างรวดเร็วจะส่งผลต่อราคาและอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ที่บริษัททั่วเอเชียมีระดับการกู้ยืมเพื่อขยับ ขยายกิจการของตนเองผ่านการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้เพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต โดยมีบริษัทในจีนและเกาหลีใต้ที่ได้รับการประเมินว่ามีการกู้ที่อยู่ในระดับ ที่เรียกว่าหนี้ท่วม

แถมระดับการก่อหนี้โดยรวมของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชีย เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า เมื่อครั้งก่อนที่จะเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 เสียอีก

นอกจากนี้ แม้นักวิเคราะห์จากหลายสำนักจะเห็นตรงกันว่าสถานะเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอาเซียนในปัจจุบันจะแตกต่างจากเมื่อปี 2540 แต่เอเชียและอาเซียนยังคงมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญให้ต้องเฝ้าระวังอย่างการก่อ หนี้ในภาคครัวเรือน หรือหนี้ที่เกิดมาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคภายในประเทศ

ต้องยอมรับว่า 15 ปี หลังจากเกิดวิกฤตการเงินในภูมิภาค อาเซียนมีการพึ่งพาตนเองและมีแรงสนับสนุนขับเคลื่อนจากภายในมากขึ้น ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียนอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทยต่างจับมือรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง สร้างปราการป้องกันคัดกรองความเสี่ยงจากภายนอก และขยายพื้นที่ตลาดหันมาทำการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินว่า มูลค่าการค้าภายในกลุ่มอาเซียนมีปริมาณสูงกว่าการค้าของแต่ละประเทศกับคู่ ค้าภายนอกกลุ่มเสียอีก ดังนั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จึงเห็นว่าบรรดาสารพัดโครงการสาธารณธูปโภคทั้งหลายที่ กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการค้าภายในอาเซียน พอๆ กัน หรืออาจมากกว่าการค้าระหว่างอาเซียนกับตลาดโลก ยกตัวอย่างเช่น โครงการท่าเรือในเมืองเกรสิกของประเทศอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางการค้าที่ส่งผลให้กำลังการบริโภคของประชากรในประเทศขยายตัว เพิ่มขึ้น นักวิเคราะห์หลายสำนัก รวมถึง พอล เจ เดวีย์ส จากหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ อดออกโรงเตือนให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนหามาตรการที่จำเป็น เพื่อเป็นหลักประกันให้แน่ใจว่าอาเซียนจะไม่เดินซ้ำรอยโลกตะวันตกที่การใช้ จ่ายอย่างไม่ระมัดระวัง ส่งผลให้เกิดการก่อหนี้เกินตัว

เนื่องจากสถานการณ์ของตลาดอาเซียนในปัจจุบันนี้ล้วนบ่งชี้ไปในทิศทาง เดียวกันว่า ผู้บริโภคมีแนวโน้มจะก่อร่างสร้างหนี้เกินความสามารถที่จะใช้คืนได้โดยง่าย จนกลายเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพทางการเงินของภูมิภาคอาเซียนโดยรวม

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุดคือ ประเทศไทยที่บริษัทรถยนต์หลายค่ายสามารถทำสถิติขายรถยนต์รุ่นใหม่ได้มากถึง 1.4 ล้านคัน เมื่อปีที่ผ่านมา ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2556 ค่ายรถยนต์ต่างๆ ยังขายรถรุ่นใหม่ได้สูงถึง 1.56 แสนคัน เช่นเดียวกันกับประเทศมาเลเซียที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศทำสถิติสูงสุดในปี 2555 ที่ 5.52 แสนคันเช่นกัน

แม้เหตุผลส่วนหนึ่งของยอดขายรถที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็น เพราะนโยบายยกเว้นภาษีในโครงการรถคันแรกของรัฐบาลไทย ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าการสิ้นสุดของโครงการข้างต้นเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาจะ ช่วยทำให้ยอดขายรถยนต์ลดลงได้ไม่ยาก แต่กระนั้นเมื่อพิจารณาข้อมูลผู้บริโภคโดยรวมจะเห็นได้ว่าปริมาณหนี้ของผู้ บริโภคในแต่ละประเทศของอาเซียนมีการขยายตัวเติบโตเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ ปีที่ผ่านมา

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งเริ่มวิตกกังวลกันแล้วว่า หนี้ของผู้บริโภคที่พอกพูนมากขึ้นอาจกระเทือนต่อเสถียรภาพทางการเงินของอา เซียนอีกระลอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้ที่การเติบโตของภูมิภาคเริ่มมีการชะลอตัวลง ยืนยันได้จากรายงานของทางการไทยที่ระบุชัดว่าเศรษฐกิจประเทศเติบโตช้าลงแล้ว ขณะที่ในมาเลเซียผู้เชี่ยวชาญหลายรายเริ่มหวาดหวั่นมากขึ้น เมื่อรายได้ของประเทศที่เพิ่มขึ้นมาเกือบจะเทียบเท่ากับรายจ่ายของผู้บริโภค ในประเทศที่ใช้จ่ายออกไป

เพราะปัจจัยข้างต้นจะส่งผลให้ครัวเรือนรายได้ต่ำต้องแบกรับภาระหนี้จากความต้องการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งเตือนว่า การพยายามยุติการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนในประเทศ โดยไม่คิดพินิจให้รอบคอบก็อาจจะกลายเป็นปัจจัยขัดขวางไม่ให้เศรษฐกิจของ ประเทศเติบโตตามที่หวังไว้ก็เป็นได้

ดังนั้น คำถามที่ประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องใส่ใจก็คือ ปริมาณขอบเขตที่จะยอมให้ผู้บริโภคก่อหนี้ได้ โดยไม่กระทบต่อปัญหาฟองสบู่ และระดับหนี้ของผู้บริโภคในปัจจุบันยังปลอดภัยแข็งแกร่งดีใช่หรือไม่ เพื่อรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : บอนด์เอเชีย เสี่ยงฟองสบู่ ต่างชาติ ขนเงินออก ต้นทุนหนี้ พุ่ง

view