สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ค่าเงินบาท (3)

ค่าเงินบาท (3)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ครั้งที่แล้วผมเปรียบเทียบการแทรกแซงเงินบาทแบบไม่เพิ่มปริมาณเงินบาท (sterilized intervention)

กับการแทรกแซงเงินบาทแบบพิมพ์เงินบาทเพิ่ม (unsertilized intervention) ว่าการแทรกแซงในอดีตเป็นการแทรกแซงแบบแรกซึ่งจะได้ผลเฉพาะในระยะสั้นและหากจะให้ได้ผลในการชะลอการแข็งค่าของเงินบาทอย่างยาวนานกว่า ก็คงจะต้องเลือกการแทรกแซงประเภทหลังซึ่งทำไม่ได้ในกรอบของนโยบายการเงินแบบตั้งเป้าเงินเฟ้อที่ใช้อยู่ในขณะนี้

ตรงนี้ทำให้มองเห็นได้ว่ากรอบนโยบายปัจจุบันเป็นกรอบที่ทำให้ไทย (โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน) สามารถกำหนดดอกเบี้ยในประเทศได้เอง โดยจะปรับลดหรือเพิ่มก็ได้เพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือประเทศเจ้าของเงินสกุลหลักของโลกกดดอกเบี้ยของตนเหลือใกล้ศูนย์ ทำให้ดอกเบี้ยของไทยสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับดอกเบี้ยในประเทศดังกล่าว ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าส่วนต่างดอกเบี้ยดังกล่าวไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เงินทุนไหลเข้ามายังประเทศไทย สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือเมื่อดอกเบี้ยไทยไม่ปรับลง ตัวแปรที่จะต้องรับภาระในการปรับตัวก็คืออัตราแลกเปลี่ยนนั่นเอง

ในทางตรงกันข้าม ในอดีตก่อนวิกฤติปี 1997 ประเทศไทยพยายามตรึงอัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่กับเงินดอลลาร์ (มีการปรับลดค่าเงินเป็นระยะๆ จาก 20 บาทต่อ 1 ดอลลาร์เป็น 23 บาท เป็น 25 บาท ฯลฯ) ทำให้ในสมัยก่อนค่าเงินมีเสถียรภาพ แต่ดอกเบี้ยไทยต้องปรับตัวขึ้น-ลงตามดอกเบี้ยสหรัฐค่อนข้างมาก (เพราะเมื่อเราผูกค่าเงินกับเขาก็ต้องปรับดอกเบี้ยตามเขาด้วย) กล่าวคือในอดีตดอกเบี้ยต้องปรับตัวเพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ แต่ปัจจุบันดอกเบี้ยค่อนข้างจะต้องคงที่ อัตราแลกเปลี่ยนจึงต้องเป็นตัวปรับทำให้ค่าเงินบาทผันผวนได้อย่างมาก ดังนั้น ตราบใดที่ยังยึดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยอาศัยดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือหลัก ประเทศไทยก็จะต้องยอมรับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

ในอีกมิติหนึ่งนั้นก็อาจสรุปได้ว่าค่าเงินบาทไม่ได้เพียงแต่จะผันผวนเพียงอย่างเดียว เพราะประเทศเจ้าของเงินสกุลหลัก (สหรัฐ ญี่ปุ่น อังกฤษ และยุโรป) ตั้งใจจะพิมพ์เงินออกมาเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เศรษฐกิจของตนฟื้นตัว โดยผ่านการอ่อนค่าของเงินของตน ทำให้ภาคส่งออกของประเทศดังกล่าวเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมภายในประเทศสามารถฟื้นตัวได้ ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วเคยพูดเสมอว่าต้องการให้เกิดการปรับความสมดุลของเศรษฐกิจโลก (global economic rebalancing) แปลว่าเขาต้องการให้เงินของเขาอ่อนค่า จะได้เพิ่มการส่งออกและลดการนำเข้า ซึ่งการพิมพ์เงินของเขากำลังทำให้เขาบรรลุเป้าหมายดังกล่าว แม้จะถูกตำหนิจากประเทศในตลาดเกิดใหม่ว่าเป็นการทำสงครามเงินตรา (currency war) แต่ก็ดูเสมือนว่าเขาเพิกเฉยต่อคำตำหนิดังกล่าวและกำลังตั้งหน้าตั้งตาพิมพ์เงินต่ออย่างไม่ลดละ

กล่าวคือ การดำเนินนโยบายการเงินของไทยเช่นปัจจุบันจะทำให้ภาคการส่งออกและผู้ผลิตที่แข่งขันกับสินค้านำเข้าต้องเป็นฝ่ายที่ปรับตัวอย่างมาก เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่าเงินบาทจะแข็งตัวอย่างต่อเนื่องใน 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศเจ้าของเงินสกุลหลักจะยังพิมพ์เงินเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น หากทางการไทยจะยึดโยงกับนโยบายปัจจุบันก็ควรต้องบอกกล่าวและตักเตือนให้ผู้ที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจดังกล่าวรู้ตัวว่าตลาดของเขามีความเสี่ยงสูงที่จะไม่ขยายตัวและอาจหดตัวได้ในอนาคต ความรุ่งเรืองของภาคการส่งออกในอดีตซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 35% ต่อจีดีพี ในปี 1996 มาเป็น 65% ในปัจจุบันนั้นน่าจะจบลงแล้ว

ในทางตรงกันข้ามธุรกิจที่ไม่ต้องแข่งขันกับต่างประเทศ (non-traded goods) คือภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคบริการทางการเงิน น่าจะเฟื่องฟูอย่างก้าวกระโดดต่อไปอีก เพราะเป็นภาคเศรษฐกิจที่สามารถขึ้นราคาสินค้าของตนได้ แต่ผู้ส่งออกและผู้ที่แข่งขันกับสินค้านำเข้านั้นจะเผชิญกับภาวะราคาสินค้าปรับลดลงเมื่อคำนวณเป็นเงินบาท (ตารางประกอบ)

จะเห็นได้ว่าตั้งแต่สหรัฐประสบวิกฤติซับไพรม์เป็นต้นมาในปลายปี 2008 ราคาสินค้าส่งออกและนำเข้าปรับลดลงมาโดยตลอด แม้แต่เงินเฟ้อโดยรวมซึ่งดูจากดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคก็ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากนัก ขณะที่ราคาที่ดินและคอนโดปรับขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งการควบคุมการขยายตัวดังกล่าวด้วยดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวน่าจะทำได้ยาก เพราะสิ่งที่จูงใจคือการปรับขึ้นของราคา หากไทยยังดำเนินนโยบายการเงินอย่างปัจจุบันต่อไป ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าทรัพยากรและบุคคลที่มีศักยภาพสูงจะไหลเข้าสู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ (และภาคบริการทางการเงิน) ที่ไม่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากการแข็งค่าของเงินบาท

กล่าวโดยสรุปคือการดำเนินนโยบายปัจจุบันของไทยน่าจะช่วยให้ภาคการผลิตที่ไม่ต้องแข่งขันกับต่างชาติขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่เพื่อมิให้เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวร้อนแรงเกินไป ภาคเศรษฐกิจที่จะต้องรับภาระในการหดตัวลงน่าจะเป็นภาคการส่งออกและผู้ผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้า ซึ่งหากเป็นความเข้าใจร่วมกันของทุกภาคส่วนก็น่าจะจัดทำ-มาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกและส่งเสริมการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจไปสู่การขยายตลาดภายในประเทศ (โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์) และลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ค่าเงินบาท (3)

view