สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทฤษฎียางลบ กับ งบดุลแบงก์ชาติ!

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ศรัณย์ กิจวศิน



การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพรุ่งนี้ (29 พ.ค.) คงเรียกได้ว่าเป็น “นัดหยุดประเทศ”

เพราะทุกหน่วยงานไม่ว่าจะทั้งภาครัฐหรือเอกชน ต่างเฝ้ารอดูผลการตัดสินของ กนง. ทั้ง 7 ท่าน ว่าจะมีความเห็นต่ออัตรา “ดอกเบี้ยนโยบาย” ที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยอย่างไร ...จะปรับ “ลด” ตามที่รัฐบาลอยากเห็นหรือไม่ พรุ่งนี้รู้กันครับ!

แต่ก่อนอื่นผมอยากเขียนถึงเรื่องการ “ขาดทุน” ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” เล็กน้อย เพราะช่วงนี้มีคนถามกันมากว่า การที่แบงก์ชาติขาดทุนเป็น “แสนล้านบาท” แสดงว่าประเทศไทย “กำลังจะเจ๊ง” แล้วใช่หรือไม่ และด้วยคำถามลักษณะนี้มั้ง ที่ทำให้แบงก์ชาติต้องออกแถลงการณ์ชี้แจงซึ่งมีความยาวถึง 9 หน้าออกมา

เข้าใจว่าคนที่ถาม คงได้ฟังคำให้สัมภาษณ์ของประธานคณะกรรมการแบงก์ชาติ “ดร.วีรพงษ์ รามางกูร” ที่แสดงความเป็นห่วงถึง “งบดุล” ของแบงก์ชาติไตรมาสล่าสุด ที่มีส่วนทุนติดลบพุ่งไปถึง 8 แสนล้านบาท จากปลายปีก่อนที่อยู่เพียง 5.3 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ดร.วีรพงษ์ ยังห่วงด้วยว่า ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปส่วนทุนของแบงก์ชาติอาจติดลบถึง 1 ล้านล้านบาทได้ ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขขาดทุนในสมัยวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ที่ตอนนั้นพุ่งสูงถึง 1.14 ล้านล้านบาท

เมื่อ “ซือแป๋” เศรษฐกิจอย่าง ดร.วีรพงษ์ แสดงความเป็นห่วงแบบนี้ แล้วจะไม่ทำให้ชาวบ้านอย่างเราๆ หวาดวิตกได้อย่างไร?

ผมเองมีโอกาสได้ฟังคำอธิบายจาก “แบงก์ชาติ” อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะคำชี้แจงของ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” เมื่อฟังแล้วก็เข้าใจในหน้าที่การทำงานของแบงก์ชาติมากขึ้น และคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์หากหยิบยกมาบอกเล่าผ่านบทความชิ้นนี้อีกครั้ง

ดร.ประสาร เคยอธิบายว่า งบดุลแบงก์ชาติที่ติดลบ ไม่ว่าใครมาทำงานในแบงก์ชาติก็ต้องเจอสถานการณ์นี้ เพราะด้วยเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างในด้านการขยายตัว ทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลเข้า จนเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็ว ดังนั้นเพื่อไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป จนผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน แบงก์ชาติก็มีความจำเป็นต้องเข้าไปดูแล

การดูแลของแบงก์ชาติก็ คือ การเอา “งบดุล” เข้าไปลดทอนผลกระทบ กล่าวคือ ในกรณีที่เงินบาทแข็งค่าเร็ว แบงก์ชาติจะเข้าแทรกแซงผ่านตลาดเงิน โดยพิมพ์เงินบาทออกไปแลกเงินดอลลาร์ เพื่อให้ปริมาณเงินบาทเพียงพอกับความต้องการของตลาดเงินในขณะนั้น

เพียงแต่เงินบาทที่แบงก์ชาติปล่อยออกไปนั้น เพื่อป้องกันภาวะเงินเฟ้อจากปริมาณเงินในระบบที่เพิ่มขึ้น แบงก์ชาติจึงต้องออกพันธบัตรเพื่อดูดซับเอาเงินบาทเหล่านี้กลับเข้ามา ซึ่งก็มีต้นทุนในเรื่องดอกเบี้ยจ่าย และเป็นดอกเบี้ยที่สูงกว่าดอกเบี้ยรับจากการที่นำเงินดอลลาร์ไปลงทุนในต่างประเทศ ประกอบกับเงินดอลลาร์ที่รับซื้อไว้ เมื่อแปลงกลับมาเป็นเงินบาทที่มีมูลค่าแข็งขึ้น จึงทำให้เกิดการขาดทุนจากการตีราคา

ทั้งหมดนี้จะเห็นว่า การขาดทุนของแบงก์ชาติ เป็นการขาดทุนเพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ หากแบงก์ชาติไม่เอา “งบดุล” ตัวเองเข้าไปรองรับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนตรงนี้ ผลขาดทุนก็คงไม่เกิดขึ้นกับแบงก์ชาติ แต่จะไปเกิดกับภาคธุรกิจ ถ้าเป็นธุรกิจที่สายป่านไม่ยาวพอก็คงต้องปิดกิจการไปอย่างแน่นอน

ดร.ประสาร บอกว่า ถ้าจะเปรียบ “งบดุล” ของแบงก์ชาติ ก็คงเหมือนกับ “ยางลบ” ที่มีความยืดหยุ่น สามารถรองรับแรงกระแทกได้ในระดับหนึ่ง เมื่อแรงกระแทกเบาคง ยางลบก็จะค่อยๆ คลายตัวออกมาเช่นสภาพเดิม ที่สำคัญการขาดทุนของแบงก์ชาติไม่กระทบการดำเนินงานแต่อย่างใด เพราะพันธกิจของธนาคารกลางทั่วโลก คือ การดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ มิใช่การแสวงหากำไร!


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทฤษฎียางลบ งบดุลแบงก์ชาติ

view