สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปากคำ ชัย ราชวัตร กับ ภารกิจสุดท้าย

จาก โพสต์ทูเดย์

ปากคำ"ชัย ราชวัตร"กับ"ภารกิจสุดท้าย"

เรื่อง...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม / ภาพ...นสพ.ไทยรัฐ

ใครล่ะจะคิดว่า "ชัย ราชวัตร" จะวางปากกา ปิดตำนาน "ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน" ที่อยู่คู่หน้า 5 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐมานานถึง 34 ปี

ที่พูดคือเรื่องจริงจากปากบรมครู"ชัย ราชวัตร" หลังเจ้าตัวยืนยันกับโพสต์ทูเดย์ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้จะเลิกเขียนแน่เพราะอายุมาก เหนื่อยและล้าเต็มที

"ผมลากสังขารมานานเต็มที และก็ 72 อายุมากแล้วด้วย การ์ตูนมันก็เหมือนตัวคนเขียนแหละ คือ มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันควรจะวางมือตั้งนานแล้ว ถึงแม้ใจผมชอบการเขียนการ์ตูน แต่พอเขียนนานๆ เข้ามันกลายเป็น หน้าที่ที่ต้องทำ ชอบไม่ชอบก็ต้องทำ ไม่มีอารมณ์จะเขียนก็ต้องทำ มันบังคับไปแล้ว และมันก็ไม่สนุกเหมือนเดิมแล้ว ที่ผ่านมาโรงพิมพ์ก็ต่ออายุให้เราเรื่อยๆปกติไทยรัฐเขาเกษียณอายุ 60 ตอนนี้ต่ออายุมา 72 แล้ว ไหนยังต้องคอยหลบภัยจากเรื่องการเมืองนี่มันไม่สนุกหรอก ผมคง หาทางลงที่มันค่อยๆ ลง แต่ไม่ใช่ปุ่บปั๊บ โดดลงจากเวทีเลย"

อาการเหนื่อยที่"ชัย ราชวัตร" หมายถึง คือ ทำงานช้าลงกว่าจะเขียนงานแต่ละชิ้นเสร็จ คิดนานไม่เหมือนเมื่อก่อน

"ความจริง กว่าจะเป็นการ์ตูนช่องแต่ละชิ้น ใช้เวลาครึ่งค่อนวัน เพราะหนึ่ง เราต้องตามข่าวเพื่อหาประเด็นมาเขียน ต้องอ่าน หนังสือพิมพ์ อ่านคอลัมน์วิจารณ์แทบทุกฉบับ อ่านเพื่อสะสมเอาข้อมูล แล้วก็มาจดไว้ว่า สิ่งไหนเป็นประเด็นที่เราจะเอามาวิจารณ์ได้บ้าง แล้วก็คิดมุก มันไม่ใช่การเขียนภาพประกอบนะ เพราะอันนั้นมันง่าย อ่านเสร็จปั๊บ ก็เลือกเอาตอนนึงมา แล้วก็เขียนภาพไปเลย อันนี้มันต้องคิดมุก คือ การ์ตูนที่มีมุกหักมุม ในช่องสุดท้าย มันเป็นกับดักตัวเอง คือ มันคิดอะไรมันยากนะ เพราะบางทีเรามีประเด็นจะเขียน แต่เราไม่มีมุก เพราะมันไม่มีมุกตลก เสน่ห์ของการ์ตูนช่อง มันอยู่ที่มุกตลก ต้องหักมุมช่องสุดท้าย บางทีเราคิดมุกอยู่ 2-3 ชั่วโมง 

"ส่วนฉบับวันอาทิตย์ มันยากตรงที่ว่า มันต้องมีหัวข้อ แค่คิดหัวข้อก็ยากแล้ว แล้วก็หาเรื่องทุกเรื่องคือ 6 เรื่องกับเหตุการณ์ที่เกิดในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่ามีเรื่องไรบ้างที่จะเข้ากับ หัวข้อที่เราตั้งไว้  บางทีคิดได้ 3 เรื่องที่เหลือคิดไม่ออก ตัน ก็นั่งอยู่ครึ่งวัน กว่าจะหาอะไรมายัดให้มันเต็ม 6 เรื่องได้ มันก็เหนื่อยไปอีกแบบ  ดังนั้น ใครบอกว่า เขียนง่ายๆ ผมโกรธมากเลย"

“มีพรรคพวกมาขอให้ช่วยเขียนการ์ตูนลงแม็กกาซีนให้ ก็บอกไม่ไหวแล้ว เขาก็บอก เฮ้ยอะไรหว่ะ  เขาคงคิดว่า หยิบขึ้นมาแล้วเขียนได้เลย เป็นงานที่ไม่ต้องใช้สมอง ความจริงเขียนการ์ตูนมันไม่ได้หนักตรงเขียนเส้น แต่มันหนักตรงที่ใช้ไอเดีย  แล้วเมื่อเขียนมาถึงจุดหนึ่งเป็นที่รู้จักแล้ว ก็มั่วไม่ได้เราก็ไม่อยากฆ่าตัวตาย คือ เขียนไปแล้วจืดชืด ไม่มีอะไร มันก็ฆ่าตัวตายเปล่า         

....อย่างสมัยก่อนเราเขียนการ์ตูนใหม่ๆ เราก็พยายามว่า วันนี้ เขียนได้เท่านี้ พรุ่งนี้ต้องเขียนให้ดีกว่านี้ มะรืนนี้จะต้อง เขียนให้ดีกว่าพรุ่งนี้ แต่พอถึงจุดหนึ่งแล้วมันกลายเป็นว่า วันนี้ต้องพยายามเขียนให้ได้เหมือนเมื่อวานมันกลับกัน เพราะมันถึงจุดสูงสุดของเราแล้ว เราจะเขียนให้ดีกว่านี้ ไม่ได้แล้ว”

ชัย ราชวัตร บอกว่า ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่เลิกรา ในที่สุดมันก็ต้องปิดฉาก หยุดงานประจำ แต่อาจเป็นนานๆ อาจปล่อยของออกมาที

"ถึงผมจะหยุดไปก็ไม่ได้หมายความว่า เหนื่อยอ่อนเพราะเราเบื่อการเมืองแล้วบ้านเมืองเป็นยังไงช่างมัน แต่ผมอยากให้คนอื่นได้แสดงบ้างส่วนตัวขอมาเป็นกองเชียร์อยู่ข้างๆ แล้วก็มีโอกาสตอดนิดตอดหน่อยบ้าง ก็คงมี นักเขียนการ์ตูนคนต่อไปที่จะสร้างการ์ตูนชุดใหม่ขึ้นมา"

ที่มาไอ้จ่อย-ผู้ใหญ่มา

34 ปีกับการ์ตูนล้อการเมือง "ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน" ได้ทำหน้าที่สะท้อนเหตุบ้านการเมืองในแต่ละยุคสมัยเป็น อย่างดีจุดกำเนิดเริ่มที่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ แต่ไม่กี่ปี จากนั้นก็ย้ายวิกมาอยู่ไทยรัฐกระทั่งปัจจุบัน ส่วนที่มาของ ตัวละคร "ผู้ใหญ่มา" กับ "ไอ้จ่อย" สนทนากันเรื่องปัญหาบ้านเมือง "ชัย ราชวัตร" เล่าเบื้องหลังว่าได้ไอเดียมาจาก ช่วงที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เขียนเรื่องสั้นวิจารณ์ระบอบเผด็จการทหารโดยใช้สัญลักษณ์จดหมายจาก นายเข้ม เย็นยิ่ง ถึง นายทำนุ เกียรติก้อง นายเข้ม คือ ตัวอาจารย์ป๋วย ซึ่งเป็นชื่อจัดตั้งตอนเป็นเสรีไทยต้านญี่ปุ่น ทำหน้าที่เป็นชาวบ้านวิจารณ์การปกครองของหัวหน้าหมู่บ้านชื่อทำนุ เกียรติก้อง แปลมาจาก ถนอม กิตติขจร นั่นเอง

"ผมได้ไอเดียจากตรงนั้น เพราะรัฐบาล พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ซึ่งมาจากการปฏิวัติ แม้จะให้เสรีภาพกับประชาชน แต่การจะเขียนอะไรก็ได้ไม่เต็มที่ ผมเลยสมมติประเทศขึ้นมาเป็นหมู่บ้าน ใช้ชื่อว่าทุ่งหมาเมิน แล้วก็สมมติตัวผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งก็คือนายกฯ ที่เป็นผู้ปกครอง หมู่บ้าน และก็มีไอ้จ่อยเป็นลูกบ้าน คอยทักท้วงกับผู้ใหญ่มาซึ่งเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน วันแรกก็คิดแค่ตัวละครสองตัว ถกเถียงปัญหาบ้านเมือง แล้วก็มีตัวอื่นๆตามมาทีหลัง แล้วแต่เหตุการณ์แต่ละเรื่อง"

"ชัย ราชวัตร" ชื่อจริงสมชัย กตัญญุตานันท์ เป็นชาว จ.อุบลราชธานี เดิมทำงานธนาคาร ก่อนลาออกมาเข้า สู่วงการหนังสือพิมพ์เมื่อปี2515 ขณะที่บ้านเมืองอยู่ภายใต้ เผด็จการทหาร เริ่มเขียนการ์ตูนที่แรกให้หนังสือพิมพ์มหาราษฎร์ จากนั้นไม่นานเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ประชาธิปไตยเบ่งบาน มีหนังสือพิมพ์ออกมาหลายฉบับ มหาราษฎร์ปิดตัวเองลง "ชัย ราชวัตร" ย้ายไปอยู่หนังสือ พิมพ์เดลินิวส์ โดยวาดภาพประกอบ "งิ้วการเมือง" กระทั่ง เกิด 6 ตุลา 2519 เขาไม่ต่างจากนักหนังสือพิมพ์รายอื่นที่ต้องหลบลี้หนีภัยอำนาจมืด เพราะ "รัฐบาลหอย" ไล่จับกุม ปิดหนังสือพิมพ์ที่วิจารณ์รัฐบาล

หลบภัยไปสหรัฐยุคเผด็จการ

"ยุคปฏิวัติมีการจับกุมนักศึกษากับกลุ่มปัญญาชน นักหนังสือพิมพ์ สมัคร สุนทรเวช เป็น รมว.มหาดไทย สมัครก็เรียก บก.เข้าไป แล้วก็สั่งห้ามฉบับนั้น คนนั้นคนนี้ เขียน แต่ละฉบับก็จะมีลิสต์ถูกห้ามเขียน ผมเองก็ถูกห้ามด้วย มันก็ต้องหนี ถ้าไม่หนีก็ไม่รู้จะโดนตั้งข้อหาอะไร เพราะตอนนั้นพอจับกุมแล้วก็ขึ้นศาลทหารไม่ใช่ศาลปกติ ซึ่งศาลทหารก็ขังลืมไปเลย ไม่มีใครฟ้องร้อง"

"ชัย ราชวัตร" ตัดสินใจหนีไปอยู่สหรัฐ ต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการล้างถ้วยชามในบาร์ ผับ แต่ก็ไม่ทิ้งเลือดผู้รักความเป็นธรรม เพราะยังเข้าร่วมงานกับชมรมชาวไทยเพื่อประชาธิปไตยรณรงค์ต่อสู้ช่วยเหลือนัก ศึกษาที่ถูกจับตอน 6 ตุลา 2519 พร้อมกับทำหนังสือพิมพ์ไทย ชื่อสันติภาพ ซึ่งเป็นแนวต่อต้านรัฐบาล อยู่อเมริกาได้ 2 ปี พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ปฏิวัติ รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร เริ่มคืนเสรีภาพให้ประชาชน หนังสือพิมพ์สามารถวิจารณ์รัฐบาลได้ จึงวางแผนกลับเมืองไทย

"ผมอยากกลับเมืองไทย เพราะการไปอยู่เมืองนอก มันก็เหมือนเป็นพลเรือนชั้นสอง พอดีทางเดลินิวส์ตอนนั้นมี เปลว สีเงิน เป็นหัวหน้ากอง บก. เขาโทรทางไกลไป หาผมว่า จะกลับเมืองไทยไหม ถ้ากลับก็มาเลย เพราะบ้านเมืองเริ่มมีเสรีภาพในการเขียนแล้ว จึงตอบตกลงทันที พออยู่เดลินิวส์ได้ 2-3 เดือน ก็มีปัญหาขัดแย้งกับนายทุนหนังสือเกี่ยวกับการบริหาร เมื่อเปลว สีเงิน ลาออก ผมก็ เลยลาออกตาม แต่โชคดีที่ไทยรัฐชวนไปเขียนการ์ตูนผู้ใหญ่มาต่อในปี 2522"

ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายยุค "ชัย ราชวัตร" ยอมรับว่าถูกคุกคามเป็นธรรมดา แต่ไม่ถึงกับสาหัส หรือ ถูกฟ้องร้อง ส่วนใหญ่จะเป็นจดหมายเตือนหรือขู่จะฟ้อง เพราะแต่ก่อนไม่มีเฟซบุ๊กเหมือนปัจจุบัน มีครั้งหนึ่งมี นายทหารออกมาขู่ว่า ทหารจะเอกเซอร์ไซส์ ความหมายคือ จะปฏิวัติอีก และโจมตีสื่อว่าขัดขวางไม่ให้ทหารมา บริหารประเทศทั้งที่ทหารเรียนจบ จปร.มา เขาเขียนการ์ตูน แซวว่า จปร. ย่อมาจากเจ๋งเป้งทุกเรื่องเท่านั้นแหละ เลขานุการกองทัพบกทำจดหมายมาว่า จะฟ้องร้องข้อหาหมิ่นสถาบัน เพราะ จปร.เป็นพระปรมาภิไธย เอามา ล้อเลียนไม่ได้ แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบ

ยุคไหนเขียนยาก-ง่าย

อย่างไรก็ตาม "ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน" เคยขาดหายไปจากไทยรัฐช่วงหนึ่ง คือ พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ถึงขั้นที่เจ้าตัวคิดจะหยุดเขียนไปตลอดชีวิต

"ช่วงนั้นทหารปฏิวัติ ก็หยุดเขียน เพราะไม่รู้ทิศทางลมเป็นอย่างไร ตอนนั้นนึกว่าจะหยุดเลย ไม่นึกว่าจะเอากลับมาแล้ว ชิ้นสุดท้ายที่เขียนก็เขียนในลักษณะว่า ตอนนี้ เกิดมีโรคห่าลงมาหมู่บ้าน เสียงหัวเราะสรวลเสเฮฮาที่เคย มีอยู่ก็เงียบหายไป หมู่บ้านทุ่งหมาเมินกลายเป็นทุ่งร้าง ผมก็ทิ้งปริศนาไว้อย่างนั้น แต่เมื่อทุกอย่างเริ่มสงบไม่มีการจับกุม พอเปิดหนังสือพิมพ์ผมก็เริ่มกลับมาเขียนใหม่ เพราะคนอ่านที่เป็นแฟนเรียกร้องอยากอ่านผู้ใหญ่มาต่อ ก็กลับมาเขียนผู้ใหญ่มาอีกครั้ง เรียกได้ว่าขาดช่วงไปแค่สัปดาห์เดียว"

ช่วงไหนเครียดสุด? เขาตอบว่า มักอยู่ในช่วงปฏิวัติ เพราะปฏิวัติแต่ละครั้งเราไม่รู้ว่ารุนแรงแค่ไหน หลายครั้งเขาก็ไล่จับกุม ปิดหนังสือพิมพ์บ้าง พอปฏิวัติทีเราก็ต้องคอยสังเกตทิศทางลม และต้องเบรกตัวเองพักหนึ่งเพื่อดูว่าเขาเล่นงานแค่ไหนถ้าเขาปล่อย เราก็เริ่มเขียนเหมือนเดิม

แล้วช่วงไหนเขียนการ์ตูนสบายที่สุด? "มันมีอยู่สองช่วง คือ ช่วง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และ บรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกฯ เพราะมันมีเรื่องให้ล้อเลียนตลอดและประชาชนก็มีอารมณ์ร่วมด้วย เขียนอะไรไปก็ถูกอกถูกใจ ฉะนั้นในช่วง พล.อ.ชวลิต กับ บรรหาร ถึงขั้นที่เขียนล่วงหน้าทิ้งได้หลายชิ้นเลย ทำให้ผมเที่ยวต่างจังหวัด ไปต่างประเทศได้บ่อย เพราะสามารถเขียนทิ้งไว้หลายชิ้น โดยที่ว่าผลงานก็ออกมามีคุณภาพ เขียนไปแล้วคนก็ยังชอบอยู่ ทั้งที่เขียนล่วงหน้าหลายวัน

ความยากในการเขียนการ์ตูนแต่ละยุคแตกต่างกันหลายลักษณะ "ชัย ราชวัตร" สรุปให้ฟัง โดยยกตัวอย่างช่วง 3 อดีตนายกฯ "อานันท์-ชวน-ทักษิณ" ว่า เขียนยาก กันคนละแบบ

"ตอนนายกฯ อานันท์ มันยากตรงที่ว่า แกเป็นนายกฯ ในดวงใจ ซึ่งเราก็ชอบ เราศรัทธา อยากได้คนอย่างนี้มาเป็นนายกฯ และเราก็ไม่อยากโจมตี ก็เลยเขียนไม่ออก หรือ อย่างคุณชวนเป็นนายกฯ เราก็เห็นว่าเป็นนายกฯ ที่เราอยากได้ เป็นคนซื่อสัตย์สุจริตก็เลยเขียนไม่ออก เลยไม่มีมุขจะล้อ เพราะนักเขียนการ์ตูนถ้าจะให้เขียนให้สนุกก็คือ นักการเมืองขี้โกงในยุคคอร์รัปชั่น แต่พอไม่มีสิ่งเหล่านี้เราก็เขียนไม่ออก"

"แต่ยุคทักษิณนี่ มาเขียนยากอีกอย่าง ตรงที่ว่า ทั้งประชาชน ทั้งสื่อถูกแบ่งแยกเป็นสองขั้ว ไม่เหมือนยุคเผด็จการในอดีต ยุคถนอม ซึ่งประชาชนกับสื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือ ต่อต้านรัฐบาล เราเขียนอะไรไปคนอ่านก็ชอบ แต่ว่าพอยุคทักษิณเขียนไป คนจำนวนหนึ่งชอบ แต่อีกจำนวนหนึ่งเกลียด โกรธ แปลกมาก เพราะการทำงานหนังสือพิมพ์ เราก็ไม่อยากให้คนออกมาต่อต้านหนังสือพิมพ์ที่เราสังกัดอยู่ พอต่อต้านมากๆ นายทุน เจ้าของหนังสือพิมพ์ เขาก็ต้องคิดมาก เราก็ต้องพยายามเขียนอะไรให้มันเบาลง ไม่รุนแรง อย่างทุกวันนี้ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ คนจำนวนมากสนับสนุนอยู่ เขียนอะไรบางทีก็ต้องเบรกเหมือนกัน คือ เขียนได้แต่ไม่เต็มที่ ในวงการสื่อด้วยกันก็ไม่ได้สามัคคีเป็นทิศทางเดียวกัน มันก็เลยยาก"

ผมไม่เป็นกลาง-เกลียดคนโกงกิน

ปรัชญาการเขียนการ์ตูนล้อการเมืองในทัศนะของ "ชัย ราชวัตร" คือ ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับคนทุจริตโกงกิน ลิดรอนเสรีภาพสื่อไม่ว่านักการเมืองคนนั้นจะมาจากการเลือกตั้งคะแนน เสียงมหาศาลแค่ไหนก็ตาม

"สิ่งที่อยากพูด คือ ผมมักถูกโจมตีว่าไม่เป็นกลาง ซึ่งผมเกลียดที่สุดคำนี้ เพราะผมไม่เห็นว่าหนังสือพิมพ์จะต้องเป็นกลาง หนังสือพิมพ์ คือ คนชี้นำประชาชน คอยบอกประชาชนว่า อะไรถูก อะไรดี อะไรชั่ว แล้วมันจะเป็นกลางได้อย่างไร หนังสือพิมพ์เป็นสุนัขเฝ้าบ้าน เมื่อโจรมันปีนรั้วเข้ามาสุนัขมันก็ต้องเห่า ดังนั้น ผมไม่เคยเป็นกลางตั้งแต่วันแรกที่ผมเข้าสู่วงการเลย วันแรกนั้นเป็นยุคเผด็จการทหาร ยุคที่ศูนย์นิสิต นักศึกษาออกมาเดินขบวนต่อต้านรัฐบาล ผมก็ยืนข้างนิสิต นักศึกษา เพราะเห็นว่านั่นคือความถูกต้อง และทุกยุคมารัฐบาลก็โกงกินคอร์รัปชั่นจนเอิกเกริก ผมก็ต้องมายืนอยู่ฝ่ายตรงข้าม ผมจะเป็นกลางได้อย่างไร"

"แต่ถ้าไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์โดยอ้างว่าต้องเป็นกลาง ถ้าอย่างนั้นใครก็มาเป็นนักหนังสือพิมพ์ได้ จบ ป.4 ก็มาเขียนได้ เพื่อรักษาสถานภาพการเป็นกลางอย่างเดียว แล้วอย่างนี้มันถูกต้องหรือไม่ ฉะนั้นความเป็นกลางมันคือหลุมหลบภัยของคนขี้ขลาด"

การเขียนการ์ตูนบนความขัดแย้งสองขั้วเหนื่อยแค่ไหน?"มันเหนื่อยหลายแง่ เช่น เหนื่อยตรงที่ว่าบางทีเราจะรู้สึกโดดเดี่ยวเหมือนกันเพราะบางชิ้นที่เขียนไป เป็นเรื่องที่หนังสือพิมพ์ไม่มีใครกล้าเขียน ไม่เหมือนสมัยก่อน ร่วมมือร่วมใจกัน ต่อสู้เรื่องอะไรก็ไปในทิศทางเดียวกัน"

"การเขียนเราก็ต้องเกรงใจเจ้าของหนังสือพิมพ์ เพราะหนังสือพิมพ์ เขาก็ต้องอยู่รอดด้วยโฆษณาที่คนอ่านจำนวนเยอะๆ แต่ถ้าเสียงจำนวนมากคัดค้านทัศนะของเรา เราก็คงลำบาก อีกอย่างถ้าหนังสือพิมพ์ ถูกปิดก็จะลำบาก หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่เขาก็จะคอยห้ามปรามไม่ให้นักเขียนเขียนอะไรจนเลยขอบ เขต"

ไม่เคยทรยศคนอ่าน

กลัวอันตรายกับชีวิตบ้างไหม? "ก็มีนะ ... มันปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า ไม่กลัว เพียงแต่เรามั่นใจว่า สิ่งที่เราเขียนคือความถูกต้อง ถ้าเราไม่กล้าเขียน เพราะเรากลัว เราก็ควรเลิกเขียน หันไปทำอาชีพอื่นซะ แต่ถ้ารักที่จะทำอาชีพนี้ มันก็ต้องเสี่ยงเอา ไปถามทหารที่รบตามชายแดนเขาเสี่ยงไหม เขาก็กลัว แต่ในเมื่อมันเป็นหน้าที่เขาเขาก็ต้องเสี่ยง ทุกอย่างมันขึ้นกับยุคสมัย บางครั้งมันก็แค่ขู่ๆ หรือถ้าหนักที่สุดในยุคเผด็จการทหาร ก็จับขังคุก มันก็แค่นั้น แต่เดี๋ยวนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว อย่างตอนอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ก็เห็นอยู่แล้วว่า ขนาดนายกฯ ยังแทบเอาชีวิตไม่รอด ถูกรุมทำร้าย ฉะนั้นประชาชนอย่างเราธรรมดาก็ยิ่งอันตรายหนัก"ยิ่งอันตรายหนัก"

ถามไปว่า อยากฝากอะไรกับสังคม "ชัย ราชวัตร" ตอบเพียงว่า "ตลอดที่ผ่านมา ผมได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่ายืนอยู่ข้างความถูกต้อง"

"แม้จะมีคนอื่นบอกว่าผมเป็นฝ่ายอำมาตย์ล้าหลัง แต่ในอดีตถึงปัจจุบัน ผมก็ยืนในแนวทางของผมชัดเจน ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งหนึ่งผมขอบอกคนอ่านว่า ผมไม่เคยทรยศต่อคนอ่าน แล้วก็ไม่เคยทรยศต่อจุดยืนของตัวเอง และเมื่อไรวันไหนวางมือไปผมก็จะวางมือลักษณะนี้ ไม่ใช่วางมือไปเพราะเปลี่ยนจุดยืนตัวเอง"

"ไม่เหมือนนักการเมืองบ้านเราเปลี่ยนแปลง ตลอด ทุกวันนี้ไม่ได้โกงกินอย่างเดียว แต่มีลักษณะยึดครองประเทศไทยไปถาวรเลย ขนาดคิดจะเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง มันร้ายกาจกว่าเมื่อก่อนนี้เยอะแต่ประชาชนไม่ได้ตื่นตัวขึ้นจำนวนมากก็ยัง พร้อมขายเสียงเหมือนเดิม คล้ายๆ ว่าค่าตัวแพงขึ้น แต่ก่อนซื้อ 20 บาท เดี๋ยวนี้ซื้อกันเป็นพัน"

ปิดท้าย "ชัย ราชวัตร" ไม่ขอพูดถึงคดีที่ตำรวจตั้งข้อหาหมิ่นประมาทนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากที่โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก กระทั่งกลุ่มเสื้อแดงไปชุมนุมประท้วงที่หน้าอาคารไทยรัฐ เขาบอกเพียงว่า "ขอขอบคุณทุกคนที่ให้กำลังใจ บางคนก็ช่วยเยอะ เสนอจะให้บ้าน ให้รถใช้ เปลี่ยนที่หลบภัย มันทำให้ผมรู้สึกไม่โดดเดี่ยวจริงๆ"

ไม่โดดเดี่ยวในวัย 72 ปี ...

ความภาคภูมิใจในชีวิต

ผลงานที่สร้างความภูมิใจในชีวิตของ "ชัย ราชวัตร" คือ การได้เขียนการ์ตูนฉบับพระมหาชนกและคุณทองแดง ทูลเกล้าฯ ถวายในหลวง โดยเฉพาะการ์ตูนคุณทองแดง สามารถทำยอดขายได้สูงถึง 3 ล้านเล่ม

"การ์ตูนพระมหาชนกฉบับขาวดำ ยอดพิมพ์ประมาณ 3 ล้านเล่ม ผมว่าไม่ใช่สูงสุดของประเทศไทยเท่านั้น แต่เมืองนอกด้วย ตอนนั้นพระองค์ท่านเห็นว่า หนังสือการ์ตูน พระมหาชนกเล่มใหญ่ คนที่ซื้อกลับไปเอาขึ้นหิ้งเก็บใส่ตู้เพราะหนังสือแพงมาก ไม่กล้าให้ใครแตะ ในหลวงเลยรับสั่งให้ทำฉบับที่ ย่อมเยากว่านี้ ก็เลยพิมพ์ฉบับพ็อกเกตบุ๊กย่อส่วนลงมา ราคาเหลือ 35 บาท จน หนังสือทำยอดได้ 3 ล้านเล่ม ช่วงนั้นในหลวง ตรัสว่า หนังสือพระมหาชนกขาวดำ ถูกก็จริง แต่มันไม่สวย พระองค์เลยมีรับสั่งให้ทำอีกฉบับหนึ่งให้เป็นฉบับสี่สี การ์ตูนก็เลยมีสองเวอร์ชั่นขาวดำกับสี่สี ราคาแพงขึ้นมานิด 65 บาท ส่วนคุณทองแดงก็ขายได้ เพราะเป็นช่วงที่คนเอาไปซื้อแจกปีใหม่ค่อนข้างเยอะ บริษัท องค์กรใหญ่ๆ การบินไทย ให้คนอ่านบนเครื่องแล้วหยิบไปได้ด้วย"

"ผมถือว่าเป็นมงคลอย่างยิ่งที่ได้ทำงานรับใช้พระองค์ และมีโอกาสเข้าเฝ้าฯ หลังจาก เสร็จงานแล้ว พระองค์ก็พระราชทานเครื่องราชฯ มาให้ ก็ถือว่าทำงานเป็นที่โปรดปราน"ราชฯ มาให้ ก็ถือว่าทำงานเป็นที่โปรดปราน"

เหตุถูกเลือกให้ทำงานครั้งสำคัญชิ้นนี้ "ชัย ราชวัตร" เล่าว่า เพราะตอนนั้นทางอมรินทร์ ซึ่งดูแลเรื่องพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีโครงการจะทำฉบับการ์ตูน โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งกับทางอมรินทร์ว่า อยากได้การ์ตูนที่ดูแล้วตลกแบบขายหัวเราะ อมรินทร์ก็เลยทาบทามให้มาวาด ก็ได้ทดลองเขียนตัวอย่างกันอยู่ 2-3 ครั้ง ก็นำทูลเกล้าฯ ถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินใจ เมื่อทรงโปรดกับที่ผมเขียนขึ้นไปดูเลยมอบหมายผม พอเขียนเสร็จ จากนั้นอีก 2-3 ปี ทรงมีพระราชประสงค์อยากได้คุณทองแดงเป็นการ์ตูน ทางอมรินทร์เขาก็ตั้งทีมขึ้นมาช่วยให้ผมเป็นหัวหน้าทีม

ความยากง่ายระหว่างพระมหาชนกกับคุณทองแดง "ชัย ราชวัตร" อธิบายว่า คุณทองแดงค่อนข้างยาก เพราะพระมหาชนกเป็นเรื่องในพระไตรปิฎกฉะนั้นเราสามารถจินตนาการทุกอย่างขึ้น มาได้ ทั้งเรื่องฉากการแต่งกาย ขณะที่คุณทองแดงยากตรงที่ว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงต้องหาข้อมูล ไปในพื้นที่จริง ตามท้องเรื่อง

"คุณทองแดงเป็นสุนัขจรจัด อยู่ในซอย ข้างศูนย์การแพทย์ ผมก็ต้องไปสถานที่จริง เอากล้องไปถ่ายอาคารบ้านช่องแถวนั้น เพราะเวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรแล้ว พระองค์ท่านจะได้ว่า ใช่ๆ ตรงนี้ ไม่ใช่เราจินตนาการไปเอง หรือฉากตรงนี้ ไม่ใช่เราจินตนาการไปเอง หรือฉากตอนเข้าไปอยู่ในวัง แล้วเราก็ต้องดูว่าเลี้ยงยังไง แล้วกรงอยู่ยังไง เป็นกรงสุนัขแบบชาวบ้าน หรือเป็นกรงพิเศษ แล้วการฝึก มีเครื่องแต่งกายไหม ก็ต้องไปถ่ายข้อมูลจากในวัง"

"ทุกอย่างต้องมีข้อเท็จจริง แล้วสุนัข ทุกตัวที่เป็นลูกของคุณทองแดงทั้งหมด 9 ตัว แต่ละตัวจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ มีสี ลาย ไม่เหมือนกัน เราก็ต้องถ่ายแต่ละตัว หน้าตรง ด้านข้าง ต้องเก็บเป็นแฟ้ม เวลาวาด ก็ต้องเปิดเลยตัวไหนลักษณะเป็นอย่างไร พอดูปั๊บ ในหลวงจะได้ทรงรู้เลยว่าตัวนี้ใช่ เพราะมันเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาไม่ได้เลยมันเลยยากตรงนี้"

"เขียนเสร็จก็ต้องส่งให้ในหลวงทรงดู เป็นระยะ ตอนนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่หัวหิน ผมก็ส่งไปอาทิตย์สองอาทิตย์ ก็ต้องมีคนประสานงานนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แล้วพระองค์จะหมายเหตุกลับมาว่า ตรงนั้น ตรงนี้ ต้องแก้ ผ่านขั้นตอนค่อนข้างเยอะ แต่ละเล่มทั้งคุณทองแดง พระมหาชนก ก็ใช้ เวลากว่าครึ่งปี"

*******************************


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปากคำ ชัย ราชวัตร ภารกิจสุดท้าย

view