สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ครั้งสุดท้ายกับเซอร์ เมอร์วิน คิง

ครั้งสุดท้ายกับเซอร์ เมอร์วิน คิง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สัปดาห์ที่แล้ว ถือเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายสำหรับคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารอังกฤษของเซอร์ เมอร์วิน คิง ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ

ภายหลังดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารอังกฤษเป็นเวลากว่า 9 ปี แน่นอนว่านายคิงเป็นหนึ่งในตัวละครเด่นที่อยู่ต่อสู้กับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 จนอังกฤษสามารถผ่านเหตุการณ์ดังกล่าวได้ดีในระดับหนึ่งเพื่อเป็นการรำลึกถึงหนึ่งในตำนานผู้ว่าการธนาคารกลางผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลก ผมขอย้อนรอยเหตุการณ์เด่นๆ อยู่ 3 เหตุการณ์ ของ เซอร์ เมอร์วิน คิง ดังนี้

หนึ่ง เหตุการณ์ที่นายคิงโหวตสวนกับมติเสียงข้างมาก เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2009 สำหรับการเลือกว่าจะซื้อพันธบัตรในปริมาณ 5 หมื่นล้านปอนด์ หรือ 7.5 หมื่นล้านปอนด์ โดยมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เลือกซื้อพันธบัตร 5 หมื่นล้านปอนด์ ในขณะที่คิงโหวตให้กับการซื้อพันธบัตร 7.5 หมื่นล้านปอนด์ ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในวงการธนาคารกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังเหตุการณ์วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 ที่สมาชิกแต่ละท่านในคณะกรรมการธนาคารอังกฤษดูจะทำงานได้เข้าขากันเป็นอย่างดีในการออกนโยบายการเงินใหม่ๆ เพื่อต่อสู้กับผลพวงของวิกฤตดังกล่าวที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอังกฤษ

ก่อนอื่นต้องบอกว่าบรรยากาศในการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ แตกต่างจากของธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางยุโรปซึ่งมีบุคคลเข้าร่วมการประชุมอย่างมากมาย อีกทั้ง ในแต่ละขั้นตอนก็มีการวางแผนล่วงหน้าไว้อย่างเป็นระบบ รวมถึงการโหวตก็มักจะออกมาในลักษณะที่เป็นเอกฉันท์เสียส่วนใหญ่

นอกจากนี้ สำหรับธนาคารกลางสหรัฐนั้น ดร.เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ อดีตเพื่อนร่วมห้องของนายคิงสมัยสอนหนังสือด้วยกันที่อเมริกา ถือได้ว่ามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเสียงส่วนใหญ่ภายในคณะกรรมการเฟดมาเป็นเวลานานแล้ว ส่วนกรณีธนาคารกลางยุโรป นายชองค์ คลอดด์ ทริเชต์ อดีตประธานธนาคารกลางยุโรป ก็มักจะจำกัดสมาชิกคณะกรรมการที่ไม่เห็นด้วยกับเขาไม่ให้พูดเกิน 5 นาที ในขณะที่ของธนาคารกลางอังกฤษ การพูดคุยจะเป็นไปในลักษณะที่เป็นกันเอง มีคนเพียงไม่กี่คนในห้องประชุมรวมถึงการโหวตจะเป็นไปในลักษณะที่ให้อิสระของสมาชิกแต่ละท่านอย่างเต็มที่ ที่สำคัญ วัฒนธรรมของอังกฤษมักจะเปิดโอกาสให้ผู้คนแสดงความเห็นแบบเปิดเผยและตรงไปตรงมา

สอง ในระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางอังกฤษ เมอร์วิน คิง ถูกมองว่าเอียงไปทางพรรคอนุรักษนิยมของรัฐบาลนายเดวิด คาเมรอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีการโทรศัพท์สนทนากับนายจอร์จ ออสบอร์น รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของอังกฤษอยู่บ่อยครั้ง ถึงขนาดมีข่าวลือกัน ในช่วงปลายปี 2010 ต่อต้นปี 2011 ว่า ทั้งสองทำการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกัน โดยนายออสบอร์น ตกลงดำเนินนโยบายการคลังแบบเข้มงวด ด้วยการลดการขาดดุลการคลังถึงร้อยละ 6 ของจีดีพี ภายในเดือนเมษายน 2014 รวมทั้งมอบหมายให้การดูแลสถาบันการเงินทั้งหมดมาให้เป็นหน้าที่ของธนาคารกลางอังกฤษนอกเหนือจากดูแลนโยบายการเงินในปัจจุบันแล้ว แทนที่จะอยู่กับหน่วยงานเฉพาะเจาะจงสำหรับการดูแลสถาบันการเงินโดยเฉพาะ เพื่อแลกกับการที่ธนาคารกลางอังกฤษ จะดำรงนโยบายการเงินที่คงอัตราดอกเบี้ยต่ำ ถึงขนาดต้องมีการเคลียร์ข้อสงสัยดังกล่าวต่อหน้าสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษกันเลยทีเดียว

ท้ายสุด มีข้อมูลรั่วไหลจาก Wikileak ว่านายคิงเคยมีการนัดหมายที่จะร่วมประชุมกับทูตของรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งการติดต่อกับคนของรัฐบาล หลายคนมองว่า ความเป็นกลางของการเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษจะลดลง ถึงขนาดที่ นายแดนนี แบลงแคนฟลาวเวอร์ คู่ปรับของนายคิงตั้งแต่สมัยเป็นสมาชิกคณะกรรมการธนาคารกลางอังกฤษ เรียกร้องให้นายคิงลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าธนาคารกลางเลยทีเดียว ซึ่งก็ถือว่าแรงเกินไปสำหรับการพบกันที่ถือว่าเป็นการสนทนาแบบส่วนตัว

นอกจากนี้ ความโน้มเอียงของนายคิงที่มีแนวโน้มสนับสนุนต่อนโยบายการคลังแบบรัดเข็มขัดของนายออสบอร์น ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อสมาชิกคณะกรรมการธนาคารกลางอังกฤษบางท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายอดัม โพเซน นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวสหรัฐ ที่กล่าวถึงประเด็นอย่างค่อนข้างตรงไปตรงมาในการประชุมธนาคารกลางอังกฤษเมื่อตอนต้นปี 2011 แม้บันทึกการประชุมจะไม่ได้เขียนในโทนที่รุนแรงแต่อย่างใด จนเป็นข่าวร้อนในอังกฤษ ถึงขนาดต้องมีการเคลียร์กันในสภาของอังกฤษเพื่อให้มีความชัดเจน

ในช่วงปลายวาระการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษของนายคิง จุดยืนในประเด็นระดับการผ่อนคลายของนโยบายการเงิน มักจะเห็นแย้งกับสมาชิกในคณะกรรมการอยู่บ่อยครั้ง จึงนับได้ว่าเป็นงานที่ไม่ง่ายนักของนายมาร์ค คาร์นีย์ ว่าที่ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษท่านใหม่ ชาวแคนาดา ที่จะมาสานงานต่อ

แม้การออกจากตำแหน่งของเซอร์ เมอร์วิน คิง จะไม่โด่งดังเหมือนเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ทว่าก็ควรค่าแก่การกล่าวถึงครับ

หมายเหตุ หนังสือด้านการลงทุนด้วยข้อมูลเชิงมหภาคของผู้เขียน “จิบกาแฟ ท่องเน็ต เล่นหุ้น...ก็รวยได้” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 มีวางจำหน่ายทั่วประเทศ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นการลงทุน ได้ที่ www.facebook.com/MacroView และ bonthr.blogspot.com ครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ครั้งสุดท้าย เซอร์ เมอร์วิน คิง

view