สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ข้อมูลสาธารณะประชาธิปไตยและอนาคตที่เราเลือกได้

ข้อมูลสาธารณะประชาธิปไตยและอนาคตที่เราเลือกได้

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ในช่วงเดือนที่ผ่านมา คงไม่มีข่าวอะไรที่ฮิตไปมากกว่าการขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าว ผู้เขียนจะไม่ขอพูดถึงข้อมูลที่ถูกคืออะไรในที่นี้

แต่จะชี้ประเด็นที่น่าแปลกใจคือ หนึ่ง รัฐใช้งบประมาณมหาศาล แต่เวลาถามหาข้อมูลกลับตอบไม่ได้ สอง ข้อมูลของแหล่งรัฐบาลไม่ตรงกัน สาม ผู้บริหารแสดงความวิตกกังวลจนสะท้อนออกมาในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า ข้อมูลได้ “รั่ว” ไปถึงฝ่ายค้านได้อย่างไร

นักการเมืองที่กำลังบริหารประเทศอยู่คงลืมไปแล้วว่า ข้อมูลเหล่านี้ (รวมทั้งเงินที่เอาไปรับจำนำข้าว) เป็นเงินภาษีของประชาชน ประชาชนจึงเป็นเจ้าของไม่ใช่รัฐบาลและกระทรวง ทบวง กรม อะไรทั้งนั้น การใช้เงินมหาศาลผ่านอำนาจบริหารควรมีระบบข้อมูลที่โปร่งใสและ real time ด้วยซ้ำ ว่าขณะนี้มีข้าวอยู่ในสต็อกเท่าไหร่ ซื้อจากชาวนาที่ไหน และฝากไว้ที่โกดังโรงสีที่ไหนบ้าง การประเมินโครงการก็จะง่าย ความพยายามที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงก็จะลดลง อย่ามาอ้างเลยว่าเป็นผลเสียต่อการค้า พ่อค้าข้าวเขามีวิธีต่างๆ ที่จะประเมินทุกวันว่า รัฐบาลมีข้าวเท่าไหร่ ที่ทุกคนรู้ว่า รัฐบาลขายข้าวไม่ออกก็เพราะพ่อค้าเขาออกมาพูดว่า ถ้าขายออกทำไมขนส่งกับชิปปิ้งไม่คึกคัก การปิดบังข้อมูลแล้วคิดว่าคนอื่นจะได้ไม่รู้ มักทำให้เกิดผลประเภทตรงกันข้าม คือผู้ปิดบังสับสนระหว่างข้อมูลลับกับข้อมูลลวง จนในที่สุดก็เสียค่าโง่เอง

การไม่ให้ข้อมูลที่ใช้เงินภาษีนั้น ผู้เขียนถือว่าเป็นความผิดอย่างอุกฉกรรจ์และไม่เป็นประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไม่ได้หมายความแค่เรามีสิทธิไปลงคะแนนเลือกตั้งทุกสี่ปี แต่หมายความว่าประชาชนมีสิทธิ ชีวิตและอนาคตที่เลือกได้ การปิดบังข้อมูล หรือการบิดเบือนข้อมูล เพื่อให้ประชาชนสบายใจ ที่เรียกว่า “โกหกสีขาว” นั้น ทำให้ประชาชนไม่สามารถมีข้อมูลที่ถูกต้องในการตัดสินใจ ตั้งแต่ควรซื้อหุ้น ซื้อบ้าน ซื้อรถ เมื่อไหร่ ควรเลือกพรรคไหนที่ไม่เอาเงินภาษีที่เราหามาอย่างเหนื่อยยากไปผลาญ นโยบายสาธารณะเรื่องข้อมูลจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประชาธิปไตย ซึ่งในปัจจุบันเราก็มีกฎหมายรองรับแล้วพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ได้คุ้มครองสิทธิของประชาชนที่จะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากรัฐเพื่อที่ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นและใช้สิทธิทางการเมืองได้อย่างถูกต้อง

นอกจากข้อมูลจะต้องเป็นสาธารณะแล้ว รัฐบาลยังไม่ควรขายข้อมูลอย่างยิ่งโดยเฉพาะข้อมูลที่เก็บโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งก็ใช้เงินภาษีล้วนๆ แต่ถ้าประชาชนจะขอใช้ข้อมูลก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมข้อมูล มิหนำซ้ำรัฐบาลเรายังมีหัวการค้า คิดจะใช้หน่วยงานอื่นๆ ที่มีข้อมูลที่ภาคเอกชนอยากใช้ทำข้อมูลขาย แล้วใช้การขายข้อมูลเป็นตัวชี้วัดความสัมฤทธิผลอีกด้วย!!

ความคิดเช่นนี้อาจจะดูดีเชิงธุรกิจ แต่ผิดหลักเศรษฐศาสตร์โดยสิ้นเชิง เพราะ หนึ่ง ข้อมูลเป็นสินค้าประเภทใช้แล้วไม่สึกหรอ ยิ่งมากคนใช้ต้นทุนก็ยิ่งต่ำ ดังนั้น ตัวชี้วัดของหน่วยราชการไม่ควรเป็นมูลค่าการขายข้อมูล แต่เป็นตัวชี้วัดจำนวนครั้งที่มีผู้ขอใช้ข้อมูล หากเปลี่ยนตัวชี้วัดเป็นจำนวนครั้งของการให้บริการ บริการที่ให้กับประชาชนก็จะดีขึ้นด้วย การให้ประชาชนจ่ายค่าข้อมูลในอัตราต่างกัน เช่น นักศึกษาหรือหน่วยราชการใช้ในราคาต่ำกว่า เป็นวิธีการสร้าง “สอง” หรือ “หลายมาตรฐาน” ทำให้ผู้ที่จ่ายน้อยกว่ากลายเป็นลูกค้าชั้นสองไปโดยปริยาย ยิ่งไปกว่านั้นการใช้ข้อมูลในแต่ละครั้งจะเกิดผลขยายเป็นวงกว้าง (spillover effect) เพราะข้อมูลที่ถูกต้องที่ใช้อย่างถูกต้องจะลบล้างข้อมูลเดิมที่เข้าใจกันผิดๆ ตลอดมา ทำให้เกิดผลดีเป็นทวีคูณ เกิดการเพิ่มขึ้นของรายได้ประชาชาติ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน การตั้ง “ราคา” ให้ข้อมูลสาธารณะ ทำให้เกิดการใช้ในระดับที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ลดผลทวีคูณ

สอง รัฐใช้เกณฑ์อะไรที่จะมาคิดค่าธรรมเนียมการใช้ข้อมูลจากประชาชน ในเมื่อข้อมูลเก็บโดยข้าราชการ จัดทำในเวลาราชการ และรับเบี้ยเลี้ยงและค่าปฏิบัติการนอกเวลา (ค่า OT) จากเงินภาษีของประชาชน ที่แปลกไปกว่านั้นก็คือ ไม่นานมานี้หน่วยงานของผู้เขียนขออนุเคราะห์ใช้ข้อมูลเพื่อใช้แปลภาพถ่ายทางดาวเทียม เพื่อนำมาวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงจากหมอกควัน ก็ได้รับความกรุณาจากหน่วยงานนั้นอย่างดียิ่ง แต่ปรากฏว่าต้องเสียค่าภาษี VAT ซึ่งก็แปลกใจอยู่เหมือนกันว่า กระทรวงการคลังจะเก็บค่า VAT จากหน่วยราชการด้วยกันทำไม เพราะมันเป็นการย้ายจากกระเป๋าซ้ายไปเข้าขวา ทำให้เกิดต้นทุนธุรกรรมเพิ่มขึ้นโดยใช่เหตุ

รัฐมักจะกล่าวอ้างว่าที่ต้องมีค่าธรรมเนียมการใช้ข้อมูลก็เพราะมีค่าใช้จ่าย เช่น ต้องขอซื้อภาพถ่ายดาวเทียมจากต่างประเทศหรือค่าสำเนาเอกสาร ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายที่แต่ละปัจเจกควรรับผิดชอบ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นประชาชนก็สมควรต้องจ่าย แต่ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เช่น ข้อมูลสำรวจอุตสาหกรรม ข้อมูลเศรษฐกิจและสังคมรายครัวเรือน ควรให้ประชาชนเข้าถึง on-line ด้วยซ้ำไป

มันก็เป็นเรื่องน่าแปลกที่เรามีนโยบายสาธารณะที่ประชาชน นิสิตนักศึกษา ต้องควักกระเป๋าซื้อข้อมูลไปจัดทำองค์ความรู้เพื่อพัฒนาประเทศ ในขณะที่เราก็มีนโยบายสาธารณะเอาเงินไปอุดหนุนชนชั้นกลางให้ซื้อรถหัวละแสน ทั้งๆ ที่รถใน กทม. ติดเป็นตังเมอยู่แล้ว

ถ้าไปดูเอกสารงบประมาณของรัฐจะพบว่า เราใช้งบจัดทำฐานข้อมูลมหาศาลเป็นหมื่นล้าน เช่น การจัดการน้ำ เดิมเราก็มีข้อมูลทุกลุ่มน้ำคิดเป็นน้ำหนักเอกสารก็น่าจะหลายตันอยู่ แต่กลับไม่ได้นำมาใช้หรือนำมาบูรณาการให้ใช้ได้ การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะให้เข้าถึงง่ายจะทำให้เกิดความคุ้มทุนและการใช้จะทำให้เกิดการตอบกลับ (feedback) ที่จะนำไปปรับปรุงข้อมูล รวมไปถึงการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานด้วยกัน และการปรับนิยามของข้อมูลให้เหมาะสมกับการใช้งานหลักอีกด้วย การมอบข้อมูลสาธารณะที่ถูกต้องให้เป็นสาธารณะจริงๆ เป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน

ประชาชนที่ถูกปิดหูปิดตาแต่ไปเลือกตั้งทุกสี่ปีเพราะความเชื่อจะเป็นประชาชนที่ถูกขโมยอนาคตเอาข้อมูลของเราคืนมา!!!


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ข้อมูลสาธารณะ ประชาธิปไตย อนาคต เราเลือกได้

view